Skip to main content
sharethis

นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน แสดงความกังวลว่าสถานการณ์ในเมืองไทยอาจบานปลายไปสู่สงครามกลางเมืองได้หากไม่มีการพิจารณาต้นตอความขัดแย้งที่มาจากการรวมศูนย์อำนาจ

3 ม.ค. 2557 เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันเขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยลงเว็บไซต์บางกอกโพสท์ แสดงความเป็นห่วงกลัวว่าสถานการณ์ในเมืองไทยกำลังดำเนินไปในลักษณะคล้ายสงครามกลางเมือง โดยสเตร็คฟัส เสนอว่าในเวลานี้ควรมีการถอยกลับออกมาจากการถกเถียงในเรื่องการปฏิรูปและการเลือกตั้งก่อน และให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าต้นเหตุของวิกฤติในครั้งนี้เกิดจากอะไรและจะมีหนทางแก้ไขอย่างสันติวิธีได้อย่างไร

สเตร็คฟัสกล่าวในบทความว่าประเทศไทยในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 พยายามสร้าง "เอกภาพ" ด้วยการรวมชาติแบบรวมศูนย์อำนาจจากแนวความคิดของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ มีการเชื่อมต่อประเทศเข้าด้วยกันด้วยถนนหนทาง ทางรถไฟ รวมถึงระบอบการบริหารส่วนข้าราชการ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างความเชื่อที่เรียกว่า "ความเป็นไทย" เพื่อเป็นการรวมศูนย์และหลอมรวมอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ มีการยับยั้งความขัดแย้งทางศาสนา ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทยภาคกลางถูกลดระดับให้กลายเป็นภาษาถิ่น (dialects) โดยในโรงเรียนมีการสอนแค่ภาษาไทยกลางและมีการสอนประวัติศาสตร์ฉบับเดียวคือฉบับที่ว่า "คนเชื้อชาติไทยภายใต้พระมหากษัตริย์หลายประองค์ที่ทรงปรีชาสามารถ"

สเตร็คฟัสกล่าวอีกว่าในกลุ่มนักวิชาการไทยมีการถกเถียงในเรื่องนี้โดยนักวิชาการจำนวนมากบอกว่านโยบายดังกล่าวเป็นการโต้ตอบลัทธิการล่าอาณานิคมของตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการล่าอาณานิคมภายในประเทศเสียเองโดยกระทำกับคนที่อยู่ในเขตรอบนอก

บทความของสเตร็คฟัสระบุว่า ในปี 2475 ประเทศไทยกลายเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) มีช่วงเวลาให้ถกเถียงกันเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและระบบจัดการรัฐไม่มากนัก รัฐ "สยาม" ทำให้มีการเปิดพื้นที่สำหรับคนหลากหลายเชื้อชาติ, วัฒนธรรม, ภาษา, ศาสนา และความแตกต่างด้านแนวคิดทางการเมืองในระดับหนึ่ง ทำให้กลุ่มที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามกองทัพที่จัดตั้งตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ระบอบกษัตริย์ที่ถูฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในช่วงราวปี 2500 - 2510 ก็ทำให้การถกเถียงจบลงด้วยประเทศ "ไทย" ที่มีนิยามความเป็นไทยแบบแคบๆ ได้รับชัยชนะ

สเตร็คฟัสกล่าวอีกว่า การรวมชาติแบบรวมศูนย์อำนาจประสบความสำเร็จในหลายแง่ โดยสามารถยับยั้งการขยายอาณานิคมตะวันตกได้ระดับหนึ่งและทำให้ประเทศไทย "พัฒนา" มากขึ้น แต่การให้ความสำคัญกับเมืองหลวงมาเป็นอันดับแรกทำให้การพัฒนาดังกล่าวถูกรวบรวมไปสู่กรุงเทพฯ ซึ่งในแง่การบริหารแล้วถือว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจอย่างมาก และภายใต้การปกครองแบบรวมศูนย์เช่นนี้ทำให้ผู้ประท้วงจากชนบทต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อกดดันรัฐเท่าที่พวกเขาทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนาน คณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาก็จะหายไปเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่อ่อนแอยุบสภา

อย่างไรก็ตาม สเตร็กฟัสบอกว่าพื้นที่ทางประชาธิปไตยเริ่มเติบโตขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งทำให้ท้องถิ่นดำเนินการพัฒนาตามหนทางของตนได้ มีการเลือกตั้งแทนท้องถิ่นเป็นสภาเทศบาล และในบางจังหวัดก็มีแผนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของตนเอง และมีการให้โรงเรียนอยู่ภายใต้สังกัดของอบต.

"เมื่อมีประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ต้นแบบของความเป็นไทยภายใต้รัฐรวมศูนย์อำนาจก็เริ่มสลายตัว" สเตร็กฟัสกล่าวในบทความ

"เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นการขัดขวางการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ กรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างเช่นที่เป็นมา" สเตร็กฟัสกล่าว

ในบทความ เขายังได้เสนออีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยมีความเป็นไปได้สองทาง ความเป็นไปได้อย่างแรกคือเกิดสงครามกลางเมือง หรือแม้กระทั่งการทำให้ประเทศแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ

โดยสเตร็คฟัสชี้ว่าคณะกรรมการสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยมีเจตนาต้องการยึดกุมอำนาจรัฐเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตามในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของสิงคโปร์ก็รายงานว่ากลุ่มเสื้อแดงทางภาคเหนือจะไม่ยอมรับการรัฐประหารเงียบของคณะปฏิรูป ในความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดคือเสื้อแดงและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลกลุ่มอื่นๆ ในภาคเหนือจะแยกตัวเองจากรัฐบาลกลาง ขณะที่ในขอนแก่นวิทยุเสื้อแดงก็เรียกร้องให้บอยคอตธุรกิจที่ถูกมองว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ และมีการโฆษณาให้ฟรีสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว

สเตร็คฟัส กล่าวอีกว่าการแบ่งแยกเชื้อชาติ, ชนชั้น, ภาษา และศาสนาก็มีมากขึ้น จากการที่ผู้ประท้วงสนับสนุนคณะปฏิรูปประเทศที่ส่วนมากเป็นคนรวยในกรุงเทพฯ และภาคใต้ เป็นผู้สร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้น ขณะที่คนพื้นเมืองทางภาคเหนือและภาคอิสานส่วนใหญ่คอยฟังข่าวอยู่ด้วยความอดทน แต่ความรู้สึกไม่พอใจก็เริ่มทวีมากขึ้น ขณะเดียวกันขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อไป

บทความของสเตร็คฟัสระบุอีกว่า ถ้าหากคณะปฏิรูปสามารถขึ้นสู่อำนาจได้ภายใต้สถานการณ์ความเป็นไปได้ดังกล่าว หรือขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีการปฏิวัติ กลุ่มเสื้อแดงก็จะตอบโต้เช่นที่คาดการไว้ และอาจทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ความไร้ขือไร้แป และการนองเลือดตามมา มันอาจจะกลายเป้นจุดจบของประเทศไทยอย่างที่รู้กัน

แต่สงครามกลางเมืองเป็นหนทางเดียวที่จะฝ่าทางตันนี้หรือไม่ และนี้คือสิ่งที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลต้องการจริงหรือ สเตร็คฟัสตั้งคำถาม

สเตร็คฟัสชี้ว่าความเป็นไปได้อย่างที่สองคือ ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ถูกเลื่อน และมีแผนการปฏิรูปใดๆ ก็ตามเกิดขึ้น มีหลายหนทางมากที่ทำให้การเลือกตั้งเป้นแค่หลุมพราง แต่มันก็ยังคงให้ความหวังแม้เพียงน้อยนิดว่าจะเป็นการป้องกันไม่ได้ความเป็นไปได้อย่างแรกเกิดขึ้น แต่แม้ว่าการเลือกตั้งจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี แต่รัฐบาลใหม่จะสามารถมีฉันทามตินอกเหนือไปจากศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ ที่ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้งได้หรือ โดยถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงความขัดแย้งตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็จะอยู่ในสภาพที่ "ผู้ชนะได้รับทุกสิ่งทุกอย่าง"

อย่างไรก็ตามสเตร็คฟัสก็มีข้อเสนอแบบ "ชนะทั้งสองฝ่าย" โดยในขณะที่คณะปฏิรูปอาศัยการเคลื่อนไหวของผู้ที่ต้องการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของพลเมืองมากขึ้น ขณะที่เสื้อแดงต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น

สเตร็คฟัสเสนอว่า ให้การปฏิรูปเน้นการให้รัฐบาลกลางสามารถถ่ายโอนอำนาจไปยังคระผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาได้ โดยมีการพิจารณาทุกเรื่องทั้งเรื่องการควบคุมสาธารณสุขในท้องถิ่น, การบริหารจัดการของรัฐ การศึกษา, เรื่องเชิงทางวัฒนธรรม, เรื่องภาษา, นโยบายสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัยของประชาชน (งานของตำรวจ) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับทุกเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และมีการตรวจสอบมากขึ้น

สเตร็คฟัสขยายความว่า ในแผนปฏิรูปที่ว่านี้ผู้ประท้วงไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลไปกรุงเทพฯ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องเดินทางเข้าไปบ่อยขึ้น รัฐบาลแห่งชาติจะปฏิบัติงานภายใต้รัฐธรรมนูญและรักษาสิทธิของพลเมืองทุกคน มีการนำความต้องการของทางท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคเข้าไปในขอบข่ายงานของรัฐไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะคอยดูแลในส่วนที่จำเป็นต้องมีการบริหารแบบรวมศูนย์เช่นเรื่องกิจการต่างประเทศ, การกระจายรายได้, เรื่องกลาโหม และนโยบายสิ่งแวดล้อมบางประเภท

สเตร็คฟัสบอกว่าการจัดการดังกล่าวนี้จะเป็นการแยกศูนย์เรื่องขัดแย้งต่างๆไปสู่ส่วนภูมิภาค ส่วนจังหวัด ส่วนท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจะตอบสนองได้เร็วกว่าและด้วยความเข้าใจที่มากกว่า เรื่องนี้เป็นมากกว่าการแค่ให้ส่วนท้องถิ่นถูกเก็บภาษีในอัตราที่มากกว่าหรือให้รัฐบาลส่วนจังหวัดได้รับเลือกตั้งเพื่อทำงานกับส่วนราชการศูนย์กลางในกรุงเทพฯ

"ความเป็นเอกภาพของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำหนดจากรัฐบาลกลางที่รวมศูนย์อำนาจอย่างมาก และมีการบีบบังคับในระดับหนึ่ง โมเดลนี้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปแล้ว" สเตร็คฟัสกล่าว "ถึงเวลาแล้วที่ต้องพิจารณาความเป็นเอกภาพแบบใหม่ บนพื้นฐานของความเท่าเทียม เคารพต่อความแตกต่างหลากหลาย และธรรมาภิบาลที่ดีขึ้นจากการควบคุมของส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค"

"มันอาจฟังดูยุ่งยาก แต่ก็ยุ่งยากน้อยกว่าและไม่ต้องนองเลือดแบบหนทางสงครามกลางเมืองและการแบ่งแยก" สเตร็คฟัสกล่าว

อย่างไรก็ตามบทความของสเตร็คฟัสก็ระบุว่า สังคมไทยจะสามารถตัดสินใจในเรื่องและข้อเสนออื่นๆ ได้ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะเดียวกันการเลือกตั้งอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรมีอีกคือการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกดดันเพื่อให้มีการปฏิรูปตามข้อเสนอนี้ และยังควรมีการตรวจสอบกระบวนการรวมถึงให้มีความครอบคลุมต่อความหลากหลายด้วย

สเตร็คฟัสกล่าวในบทความว่า ข้อเรียกร้องกระขายอำนาจรัฐเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งเท่านั้น มันจะทำให้พลเมืองที่มีส่วนร่วมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือกลุ่มเสื้อสีใดก็ตาม มีพื้นที่ในการจัดการเพื่อให้มองเห็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของประเทศไทยที่มีความสงบสุขมากขึ้น


เรียบเรียงจาก

Devolve state powers to stave off civil war, Bangkok Post, 03-01-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net