Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี และมูลนิเอเชียจัดประชุมประเมินรายการวิทยุชุด “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We voice ตามหาสันติภาพ”เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ห้องมะเดื่อ ชั้น 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

การประชุมเริ่มด้วยการเปิดเทปเสียงรายการวิทยุดังกล่าว ตั้งแต่ตอน 1 - 10 ตอน จากทั้งหมด 20 ตอน ซึ่งได้ทยอยออกอากาศไปแล้วทางสถานีวิทยุในเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 13 สถานี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกับวิพากษ์วิจารณ์และประเมินเทปเสียงดังกล่าว

 

ควรมีเสียงของคนพุทธ-เหยื่อในชายแดนใต้

นางอัสรา รัฐการันต์ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า อยากให้รายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ เพิ่มเสียงของคนศาสนาพุทธในพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในพื้นที่ด้วย แต่เนื่องจากบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆในกรุงเทพ เช่น น้ำท่วม หรือความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้คนส่วนใหญ่ลืมคนไทยพุทธในพื้นที่ไป

นางโซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า อยากให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมได้พูดเรื่องของตัวเองหรือเล่าเรื่องตัวเองในรายการด้วย รวมทั้งได้พูดถึงเรื่องสันติภาพและความเป็นธรรม

 

ผู้ได้รับผลกระทบมีเสียงอันทรงพลัง

“คนเหล่านี้ ต้องการส่งเสียงสะท้อนออกมาเมื่อสามีถูกจับกุมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ อยากให้เสียงแหล่านี้มาเล่าถึงความต้องการของตนเอง ร่วมค้นหาสันติภาพร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้ง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงอันทรงพลังของการทำงานของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” นางโซรยา กล่าว

นางโซรยา เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้สถานีวิทยุในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นำเทปรายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We voice ตามหาสันติภาพไปออกอากาศทุกวันเสาร์- อาทิตย์ วันละ 4 ช่วงด้วย ถือเป็นการตอบรับที่ดีของผู้ฟังที่ติดตามรายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ดังนั้นเป้าหมายในอนาคตเสียงของคนในพื้นที่ต้องดังไกลไปถึงกรุงเทพมหานคร

 

10 ปีของความรุนแรงเป็นครูให้คนพื้นที่

นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานถึง 10 ปี ในช่วง 10 ปีดังกล่าว คนในพื้นที่ได้เรียนรู้และลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ทำให้พอจะมีข้อคิดหรือข้อเสนอสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพมหานครได้ เพราะเป็นความขัดแย้งที่เหมือนกับชายแดนใต้ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีตัวแทนของผู้หญิงแม้แต่คนเดียวที่จะขึ้นไปพูดคุย ถ้ามีก็คงทำให้บรรยากาศเย็นลงกว่านี้เยอะ

“ปัญหาความขัดแย้งที่กรุงเทพฯ มีเป้าหมายในการเรียกร้องทางการเมือง แต่เขามีวิธีการเรียกคนให้คนมารวมตัวกันได้เป็นจำนวนมากคือแค่เป่านกหวีด ซึ่งเราอาจต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยุทธวิธีการหาในการเรียกคนเพื่อมาหาทางออกของปัญหาร่วมกันบ้าง” นางเรืองรวี กล่าว

 

ไม่เจาะไข่แดงของปัญหา จึงหาทางแก้ไม่เจอ

“เพราะขณะนี้เราทำงานแบบรอบๆ ไข่แดง ไม่ได้เจาะไปตรงไข่แดงจริงๆ สันติภาพและความยุติธรรมก็เลยยังไม่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ยอมหยุดยั้งที่จะร่วมกันค้นหาสันติภาพทุกรูปแบบด้วยสันติวิธี และการที่ผู้หญิงต้องขยันไปร่วมวงเสวนาต่างๆนั้น จะทำให้ผู้หญิงมีการพัฒนายิ่งๆขึ้นไปอีก” นางเรืองรวี กล่าว

นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การนำเสียงของผู้ต้องขังมาออกอากาศได้หรือไม่นั้น ต้องไม่พาดพิงถึงบุคคลที่ 2 หรือที่ 3 เพื่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียชื่อเสียง นอกจากนั้นสามารถนำมาออกอากาศได้ทั้งหมด

 

ต้องให้ชาวบ้านรู้สิทธิของตัวเอง

นายอาดิลัน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ ประชาชนยังไม่รู้สิทธิของตัวเองหรือกฎหมาย เพราะความไม่รู้จึงทำให้เกิดความกลัว ชาวบ้านจึงไม่กล้าขยับตัวมากเลยเพราะไม่รู้สิทธิและกฎหมายจริงๆ และเกิดความกลัวเมื่อเกิดเหตุไม่ดีกับคนในครอบครัว

“อันที่จริงเรามีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้แค่ไหนตามกฎหมาย และสิทธิได้รับการรับรองและรองรับมีอยู่แห่งใดบ้าง ตรงนี้เราควรจะมาเรียนรู้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือแม้กระทั่งสื่อ” นายอาดิลัน กล่าว

 

ความไม่สงบสร้างผู้หญิงให้เข้มแข็งกว่า

นายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จากการประเมินเทปเสียงรายการในวันนี้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการสื่อสาร ทำให้เห็นความเข้มแข็งของผู้หญิงในพื้นที่ และพบว่าประชากรร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพและความเป็นธรรมในพื้นที่เป็นผู้หญิง ในบางภาวการณ์ต้องให้ผู้หญิงเป็นผู้ดำเนินการ เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนโยน สามารถช่วยลดอุณหภูมิความร้อนแรงของปัญหาได้และสามารถบังเกิดผลที่เย็นได้

 

สื่อมีเสรีแต่ต้องไม่กระทบคนอื่น

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวอีกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก ที่กฎหมายอื่นไม่สามารถมาขัดแย้งได้ และรัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิของคนที่ต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญจะระบุว่าสื่อมีสิทธิอะไรบ้าง ซึ่งระบุชัดเจนในหมวดที่ 3 ส่วนที่7 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนว่า สื่อมีสิทธิเขียนอะไรก็ได้แต่ต้องไม่กระทบบุคคลที่ 2 และบุคคลที่ 3 ในข้อหาล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในทางที่ไม่ดี

“แม้แต่รัฐธรรมนูญยังเขียนให้เรายังมีสิทธิที่จะสื่อสารเผยแพร่ เพื่อสร้างสันติภาพขึ้นในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจตรวจสอบสิ่งพิมพ์หรือสื่อแต่ต้องมีระเบียบที่ชัดเจน จะบังคับให้ส่งบทความไปตรวจสอบก่อนไม่ได้ แต่จะมีอำนาจตรวจสอบได้เฉพาะในช่วงเวลาสงครามเท่านั้น เพราะสื่อต้องเป็นอิสระ” นายอับดุลเลาะห์ กล่าว

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวอีกว่า ในวรรคที่สองของส่วนเดียวกัน ยังจำกัดการกระทำของภาครัฐหรือเอกชนว่า หากสื่อมีบทความใดที่ละเมิดบุคคลอื่นและองค์กรนั้นๆ จะสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ย่อมกระทำโดยพลการไม่ได้ เว้นแต่อาศัยบทอำนาจทางกฎหมายมารองรับว่า บทความนั้นมีผลต่อความมั่นคง เกียติยศ และควรป้องกันความเสื่อมทรามของผู้ถูกละเมิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net