ประมวลภาพกิจกรรม เสื้อขาวลูกโป่งขาว ‘รวมพลคนไปเลือกตั้ง’

5 ม.ค.2557 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ  กลุ่มประชาชนสวมเสื้อสีขาวประมาณ 300 คน นำโดยกลุ่มศิลปวัฒนธรรม ANTs′ POWER จัดกิจกรรมชุมนุมแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์ด้วยการสวมเสื้อขาวและปล่อยลูกโป่งขาวพร้อมข้อความสนับสนุนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. นี้ 

โดยกลุ่ม ANTs′ POWER อธิบายถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า สังคมไทยท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร กำลังส่อเค้าความรุนแรงและความวุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ด้วยความเป็นคนตัวเล็ก เราทุกคนจึงต่างมีเสียงที่เบามากและไม่ว่าเราแต่ละคนจะมีความพยายามตะโกนดังแค่ไหน เราก็ยังเป็นแค่เพียงเสียงๆ เดียว ครั้นเมื่อเรามีเพียงเสียงเดียวที่อาจตะโกนดังเกินไป ก็อาจถูกทำร้ายหรือทำลายลงได้อย่างง่ายดาย ที่ผ่านมา มีเครือข่ายที่มีความพยายามแสดงออกเพื่อเรียกร้องซึ่งความเป็นประชาธิปไตยมากมาย แต่ยังคงกระจัดกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ ซ้ำยังมีอีกหลายคนที่ไม่แน่ใจว่าอยากจะเข้าร่วมกลุ่มนั้นๆได้อย่างไร จึงยังคงไม่มีที่ให้ยืนในสังคมนี้อย่างชัดเจน

กลุ่มจึงจัดให้มีกิจกรรมนี้ขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรวมตัวกลุ่มคนดังกล่าวและแสดงออกร่วมกัน ว่าเราต้องการระบบคัดกรองและตรวจสอบนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่า เรามิได้เชื่อว่าการเลือกตั้งจะสามารถตอบโจทย์ทุกอย่างถึงความเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้ง คือคำตอบ คือทางออก เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ที่สำคัญที่สุด เราไม่ต้องการเห็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวถือครองอภิสิทธิ์ หรือลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราชาวไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

วรารัตน์ กระแสร์ (คนกลาง)

วรารัตน์ กระแสร์ อายุ 24 ปี กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาเราอดทนมาโดยตลอด ทางฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งมีสิทธิที่จะทำได้ทุกอย่าง แต่เราก็ต้องการมาแสดงออก เพราะเราไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออก แล้วการที่มาในครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่ามีคนที่อดทนอดกลั้นแล้วซวยเหมือนเรา คืออยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา เพราะขณะนี้อยู่ในอินเทอร์เน็ตคนรอบข้างหรือที่ทำงาน ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็มีความคิดเห็นทางการเมืองอยู่อีกฝั่งหนึ่ง มันทำให้สังคมและประเทศเราแคบลง เพราะทำให้เราดูเหมือนไม่มีทางเลือกหรือไม่มีพื้นที่แสดงออกทางการเมือง

วรารัตน์ ยังตั้งคำถามด้วยว่า มันมีวิธีที่มันดีกว่าการเลือกตั้งไหม ถ้าหากจะปฏิรูปก่อน แล้วใครจะเลือกคนปฏิรูป ประชาชนควรมีสิทธิที่จะเลือกก่อนไม่ใช่หรือ เพราะเลือกตั้งแล้วจะปฏิรูปทีหลังก็ได้ มันแฟร์กว่าไหม

ชลิตา มณีธรรม

ชลิตา มณีธรรม อายุ 24 ปี กล่าวถึงเหตุผลของการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตของเธอว่า นอกจากเห็นว่าควรมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้แล้ว ก็อยากศึกษาการเคลื่อนไหวเนื่องจากทราบว่าเป็นกลุ่มศิลปินที่เป็นแกนนำ อยากมาดูว่าเขาดำเนินกิจกรรมอย่างไร

ชลิตา กล่าวด้วยว่าไม่เชื่อว่าทางออกอื่นจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งยังเป็นกระบวนการระยะยาวอีกด้วยสำหรับทางออกของปัญหาที่เป็นจริง แม้มันไม่ใช่เรื่องง่ายหรือแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญและต้องอดทนกับมันไปเนื่องจากมันเป็นสิ่งที่จะเห็นผลระยะยาวด้วย

 
ภาพบรรยากาศกิจกรรม : 
 

 

 

 

 

 

 

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท