Skip to main content
sharethis

<--break->

ต่อจากตอนที่หนึ่ง

 

ถาม : เริ่มมาเป็นการ์ดได้อย่างไร

วัลลภ : จังหวัดอุตรดิตถ์มีเสื้อแดงเยอะแต่ไม่มีคนคอยดูแลมวลชน  ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในมวลชนเล็กๆ ไปแอบฟังแอบดูเวลาเขาปราศรัยบ่อยๆ  เข้า  แกนนำจังหวัดเขาเห็นก็เลยเรียกไปสอบถาม  แล้วลองให้ทำดู  แรกๆ ก็แค่ดูแลคนเล็กๆ น้อยๆ  จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าการ์ดจังหวัดในปลายปี 52

ถาม : ดูจากที่เราเคยผ่านทหารเกณฑ์มาด้วยหรือเปล่า (วัลลภเคยสมัครเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารม้า (ม.พัน 7) จ.อุตรดิตถ์ เคยไปประจำการอยู่ชายแดน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก ปลดประจำการก็มาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยท่าเสา ที่บ้านเกิด)

วัลลภ : น่าดูจากหลายๆ อย่าง  อุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ที่มีป่าเยอะ  เวลาเขาจะตั้งเวทีเขาจะต้องเอาผมไปนั่งวางแผนด้วย  ผมไม่รู้ว่าแต่ละจังหวัดนี่เขาคัดเลือกการ์ดกันยังไง  แต่หลังจากผมขึ้นเป็นหัวหน้าการ์ด  ผมเน้นไปที่คนมีประสบการณ์   อย่างแรกที่เลือกคือเคยผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว  คนพวกนี้จะมีความอดทน  เขาจะมองออกว่าคนลักษณะไหนที่เป็นภัยกับพวกของเรา  รถของมวลชนผู้ชุมนุมมันเยอะ  ถ้ามีพวกไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพเข้ามา  หรืออาจจะมีการวางระเบิดแสวงเครื่อง  ในมุมมองของทหารเก่ามันไม่ได้วางยาก  เราต้องมีคนที่เป็นงานในเรื่องนี้มาดูแลด้วย

ถ่ายขณะเป็นทหารเกณฑ์อยู่ ม.พัน 7 (คนยืนขวาสุด)

ถาม : งานการ์ดเสื้อแดงต้องทำอะไรบ้าง

วัลลภ : คำว่าการ์ด  จริงๆ แล้วถ้าจะแปลออกมาเป็นไทยๆ เลยก็คือ “ยาม” นี่แหละ  คอยดูแลรักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ  ถามว่าทำไมจะต้องดูแล ทำไมจะต้องตรวจค้น  คือไอ้การที่จะใส่เสื้อแดงแล้วเข้าร่วมชุมนุมน่ะใครก็ทำได้  เราไม่รู้หรอกว่าเสื้อแดงจะต้องมีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้  ใครก็เข้ามาได้  เขาก็ต้องเลยมีการ์ดไว้เพื่อคอยดูแล  ถ้าเกิดมีการสร้างสถานการณ์ข้างใน  อย่างน้อยคนที่สร้างสถานการณ์มันจะได้ออกไม่ได้  ส่วนที่หลังเวทีต้องมีการ์ดเยอะก็เพราะถ้าเกิดมีใครเข้าไปทำอะไรแกนนำ  ถ้ามวลชนไม่มีแกนนำแล้วจะอยู่กันยังไง  จึงต้องดูแลทางเข้า  ดูแลหลายสิ่งหลายอย่าง  เผื่อจะมีการปลอมตัวเข้ามาก่อกวน

ที่อื่นผมไม่มั่นใจนะ  แต่จากตัวผมเอง คือ ถ้าเป็นระดับสูงๆ ระดับหัวหน้าการ์ดจังหวัดนี่ควรร่วมวางแผนกับแกนนำเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย  รถจอดตรงไหน  เวทีตั้งตรงไหน  มวลชนนั่งตรงไหน  เต๊นท์แกนนำตั้งอยู่ยังไง  ทางเข้าทางออกควรจะอยู่ตรงไหน  ควรจะมีการ์ดยืนตรงจุดไหนบ้าง  คอยบริการประชาชน  อะไรอย่างนี้  จะต้องทำได้กระทั่งโบกรถให้จอดเข้าที่  หรือคอยตรวจค้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมน่าสงสัย  คอยดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานที่เราจัดขึ้นมา

ถาม : เป็นการ์ดได้เงินเดือนไหม

วัลลภ : ไม่มีครับ  อย่างที่บอกไปแล้วว่า  ผมต้องควักกระเป๋าตัวเอง  ไม่เคยเรียกร้องจากส่วนใด

ถาม : ช่วงปี 52 เราทำอะไรบ้าง

วัลลภ : เมื่อก่อนผมติดตาม อ.สุรชัย (สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) กับ เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) เพราะแกจะอยู่ด้วยกัน  ช่วงต้นปีผมยังขายของหาเงินอยู่  ในวันที่เขายิงกันที่สามเหลี่ยมดินแดง  ตัวผมไปรับผ้าอยู่ที่ตลาดโบ๊เบ๊  ผมดูข่าว  ข่าวบอกว่าใช้ลูกซ้อมในการยิงขึ้นฟ้า  แต่ด้วยความที่เคยเป็นทหารมาก่อนก็เลยรู้ว่าปืนที่ใช้ลูกซ้อมจะต้องมีลักษณะแบบไหน  จะต้องมีการติดอะแดปเตอร์ที่ปากกระบอก  ปลอกกระสุนไม่เหมือนกัน  ผมก็เริ่มรู้แล้วว่าในข่าวไม่ใช่เรื่องจริง  เป็นการบิดเบือน  มีการฆ่าประชาชนจริงๆ  ก็เลยพลิกตัวเอง  จากที่มาร่วมชุมนุมเป็นบางครั้ง  กลายเป็นเข้าร่วมชุมนุมทุกครั้งเพื่อที่จะดูแลรักษาความปลอดภัย  เพราะในช่วงนั้นอาจจะมีการเอาระเบิดไปวาง  หรืออาจจะไปยิงสร้างสถานการณ์ก็เป็นไปได้

ถาม : ความเข้าใจสถานการณ์แบบนี้คือผลที่สั่งสมมาจากความสนใจเรื่องการเมืองมาหลายปี

วัลลภ : ตั้งแต่ปี 49 หลังจากรัฐประหาร  ก็เริ่มติดตามข่าวการเมืองมาตลอด  ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้สนใจการเมือง  เพราะในช่วงที่ผมเกิดมันหมดยุครัฐประหารแล้ว  ตอนปี 35 ผมก็ยังเด็กยังไม่รู้เรื่อง  หลังจากนั้นสถานการณ์บ้านเมืองมีการรัฐประหารผมก็เลยสนใจว่าทำไปเพื่ออะไร  ไล่ทำไม  ใครเป็นคนทำ  ใครวางแผน  ระบบปฏิบัติการทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง

ถาม : ส่วนตัวเรามีใครเป็นไอด้อลไหม

วัลลภ : เสธ.แดงคนเดียว (ตอบทันที) ผมคิดว่าแกเป็นนายทหารที่น่าเคารพนับถือ  ความคิดของเสธ.แดงนี่ผมเชื่อเลยว่าทุกคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแกจะกลัวแกหมด  เพราะแกเป็นนายทหารที่ฉลาดมาก  มีประสบการณ์จากสนามรบทั้งในเมืองทั้งในป่า

ถาม : ที่ว่าฝึกอาวุธกับเสธ.แดงนี่จริงไหม (ให้ดูภาพถ่ายจาก http://www.oknation.net/blog/prompzy/2010/11/26/entry-1)

วัลลภ : ไม่นะครับ  จริงๆ แล้วผมได้ทำงานร่วมกับแกก็คือในช่วงที่แกเริ่มมาปราศรัยในเขตภาคเหนือแค่นั้นเอง แล้วจากนั้นเขาเรียกว่าเลือดทหารด้วยกันก็เลยตามกันไป  คนในรูปนี้ไม่ใช่ผมแน่ๆ  ได้ยินว่าเจ้าตัวเคยออกมายืนยันแล้ว

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/prompzy/2010/11/26/entry-1
อ้างว่าเป็นภาพของวัลลภขณะร่วมฝึกอาวุธกับ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง

ถาม : เดินสายไปกับแดงสยามตลอดเลยหรือ

วัลลภ : ส่วนใหญ่จะเป็นในภาคเหนือ นับตั้งแต่สุโขทัยขึ้นมา  จะไปกับเขาตลอด  เริ่มอารักขาตั้งแต่สนามบิน  ปิดเส้นทางให้อะไรให้  ไปจนถึงสถานที่ชุมนุม  เสร็จปุ๊บก็จะกระจายกำลังไปดูแลพื้นที่การชุมนุม  ส่วนตัวผมจะดูแล อ.สุรชัย กับเสธ.แดงเอง  สมัยนั้นก็จะมี ดร.สุนัย และแกนนำอีกหลายๆ คน  แกนนำส่วนใหญ่จะนั่งอยู่ในเต๊นท์  แต่จะมีเสธ.แดงคนเดียวที่จะนั่งปะปนอยู่กับมวลชน  ไม่เข้าไปนั่งในเต๊นท์  ก็เลยต้องดูแลแกเป็นพิเศษ

ถาม : ตอนนั้นได้เข้าร่วมกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือยัง

วัลลภ : ในช่วงแรกๆ ยัง  ผมไม่มั่นใจว่าดีเจอ้อม (กัญญาภัคร มณีจักร) ไปเจอผมตอนไหน  คงไปถูกใจอะไรผมสักอย่างแล้วเอาผมมาทำงานร่วมกันอยู่กับรักเชียงใหม่ 51  ขึ้นมาก็ปลายปี 52 แล้ว  ตั้งแต่ชุมนุมขับไล่ (พล.ต.ท.) สมคิด บุญถนอม  ในช่วงนั้นการ์ดของทางภาคเหนือตอนล่างก็จะมีอยู่หลายกลุ่ม  จะมีนักรบพระแม่ย่าของสุโขทัย  มีนักรบพระองค์ดำของพิษณุโลก  แล้วของอุตรดิตถ์ก็จะเป็นทีมผม  ไม่ว่าจะเป็นเขายายเที่ยง เขาสอยดาว ก็จะไปด้วยกันหมด  ส่วนใหญ่เขาคงคิดว่ามาไกล  ในการวางแผนหลายๆ อย่างแกนนำเขาเลยรับฟังเรา

ถาม : พฤษภา 53 อยู่กรุงเทพใช่ไหม ทำอะไรบ้าง

วัลลภ : ใช่ครับ  ตั้งแต่เมษาแล้ว  เดิมทีตัวผมเองเป็นกู้ภัยอยู่แล้ว  แล้วคราวนี้เวลามีแก๊สน้ำตาคนแก่เขาจะรับไม่ไหว  มวลชนของรักเชียงใหม่ 51 ส่วนใหญ่เป็นคนแก่  อาจจะมีโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจอะไรอย่างนี้  ก็เลยเกณฑ์คนแก่เอาไปเก็บไว้ก่อน  อพยพไปหลบหลังตึกคุรุสภา  แล้วเอาคนหนุ่มมาปะทะกับทหารตำรวจ

ถาม : งานกู้ภัยนี่ทำอยู่ก่อนสนใจการเมืองอีกหรือ

วัลลภ : ผมเข้ามาทำกู้ภัยครั้งแรกเพราะมีเหตุการณ์สึนามิเป็นแรงบันดาลใจ  จำปีไม่ได้แล้ว  เข้ามาเป็นเด็กอาสาธรรมดา  ทำมาเรื่อยๆ จนมาเป็นหัวหน้าจุด  ปัจจุบันผมสามารถเปิดศูนย์กู้ภัยเองได้  ร่วมกับเทศบาล  กู้ภัยของผมค่อนข้างใหญ่  แล้วตัวผมเองก็เป็นกรรมการด้วย  ช่วยเหลือประชาชนทั่วไป  รถล้ม รถเสีย ก็ช่วยเหลือกันไป

ถาม : เวลาจัดการการปะทะนี่การ์ดเขาทำอย่างไรบ้าง

วัลลภ : ส่วนใหญ่การ์ดจะตรึงก่อน  ไม่ให้ฝั่งเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้ามาได้  เราต้องเคลียร์ภายในก่อน  ว่ามีคนที่ไม่ไหวไหม  มีคนแก่ไหม  ก็เคลียร์ออกจากพื้นที่ไปก่อน  แล้วส่วนจะปะทะกันยังไงก็ค่อยว่ากัน  คือเราไม่สามารถต้านเจ้าหน้าที่ได้อยู่แล้วเพราะเขามีทั้งโล่มีทั้งกระบอง

ถาม : เรามีแผนในการเข้าปะทะไหม  มีการจัดแถวอย่างไร

วัลลภ : มีครับ  ปกติแล้วการ์ดส่วนใหญ่จะผ่านการอบรมมา  จะรู้ลักษณะวิธีการต้าน วิธีทำลายแถวของทหาร  สามารถจะเจาะโล่เข้าไปในกลุ่มของทหารได้  สมมติว่าเขาปิดถนนหนึ่งเส้น  เราสามารถผ่าทหารออกเป็นสองฝั่งได้  แต่อยู่ที่ว่าในจังหวะที่ปะทะกันนั้นการ์ดของเราเจ็บเยอะขนาดไหน  ถ้าการ์ดของเรายังเจ็บน้อยอยู่เราสามารถทำตามแผนได้ทุกอย่าง  แต่ถ้าเจ็บเยอะแล้วก็ต้องถอยให้เขาบุกเข้ามา  อยู่ที่หัวหน้าการ์ดแต่ละจังหวัดด้วยว่าสามารถสั่งได้ไหม  หรือว่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก  ช่วงกลางวันวันที่ 10 เมษา ผมอยู่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกตรงข้ามยูเอ็น  ทีมผมอยู่บนสะพานมัฆวาน  ทีมผมสามารถสลายทหารกลุ่มนั้นได้  ทำให้แตกออกไปเลย  แต่ละคนที่อยู่ในทีมส่วนใหญ่จะเป็นของทางเหนือตอนล่างที่เคยผ่านการเป็นทหารกันมา  เรื่องแก๊สน้ำตาก็เลยไม่กลัวกันอยู่แล้ว  กระป๋องมันร้อน  แต่มีวิธีการจับ  จะเตะก็ได้  จะหยิบก็ได้  อาจจะเป็นจังหวะด้วยที่ลมไม่ได้มาทางเรา  พวกเราสามารถทำให้ทหารตรงนั้นแตก  ไม่อย่างนั้นทหารจะบุกเข้ามาฝั่งถนนทางยูเอ็นที่พวกเราอยู่ได้

ถาม : กระสุนนัดแรกยิงช่วงบ่าย

วัลลภ : หลังจากที่แนวทหารตรงนั้นแตก  ทหารฝั่งของกระทรวงศึกษาธิการก็มาช่วย  ทำให้ต้องแบ่งการ์ดแบ่งมวลชนเราออกไปโดยการใช้สองแถวขวาง  ตัวทหารเองกั้นระหว่างสะพานผ่านฟ้ากับฝั่งมัฆวานให้ออกจากกัน  แล้วมันก็ใช้กระสุนจริงแต่ยิงขึ้นฟ้ามากกว่าจะยิงตรงๆ  เพราะในช่วงกลางวันนักข่าวยังเยอะอยู่

ถาม : เราแยกกระสุนจริงออกจากกระสุนซ้อมได้ยังไง

วัลลภ : ปากกระบอกปืนสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นปืนที่ติดอะแดปเตอร์มาไว้เพื่อยิงกระสุนซ้อม  ถ้าใส่กระสุนซ้อมโดยที่ปากกระบอกไม่ได้เปลี่ยนจะต้องเป็นการกระชากแล้วยิงทีละนัด  เพราะปลอกลดแสงไม่สามารถถีบลูกเลื่อนให้กลับมาและคัดปลอกออกมาให้ลูกใหม่เข้าไปได้  มันก็เลยต้องกระชากแล้วยิง กระชากแล้วยิง  แต่อันนี้เป็นการยิงแบบชุด  เมื่อยิงแบบชุดจึงมีอยู่สองอย่าง  คือ หนึ่ง ปากลำกล้องของปืนต้องติดอะแดปเตอร์เพื่อบีบให้รูมันเล็กลงแล้วอัดแก๊สให้ลูกเลื่อนทำงาน  หรือ สอง ใช้กระสุนจริงในการยิงเลย  ส่วนเสียงนั้นในที่โล่งกว้าง กระสุนจริงกับกระสุนซ้อมจะใกล้เคียงกัน  แยกยาก  แต่แค่มองที่ปืนก็จะรู้กันแล้ว  และปลอกกระสุนซ้อมจะเป็นหัวจีบ  เมื่อยิงออกไปแล้วหัวจีบจะบานออก  กับปลอกกระสุนจริงที่กระเด้งออกมาจะเป็นหัวตัดเลย

ถาม : บทบาทของเราในช่วงการสลายการชุมนุมเป็นอย่างไร

วัลลภ : 11 มีนา 53 ผมลงกรุงเทพพร้อมมวลชนเชียงใหม่  หลังจากนั้นผมออกจากกรุงเทพวันที่ 19 พฤษภา 53 ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลคุ้มครองประชาชน  หลัง 10 เมษา  ก็จะเป็นการแยกมวลชนกลุ่มหนึ่งไปราชประสงค์  ส่วนตัวผมจะดูแลในส่วนถนนสารสินและถนนเส้นประตูน้ำ  ผมมีการ์ดของศรีสะเกษอยู่ในการดูแลประมาณ 70 กว่าคน  คอยดูแลประตูสองประตู  ช่วงนั้นแยกจากเสธ.แดงแล้ว  เพราะเสธ.แดงเองมีภาระต้องดูแลฝั่งลุมพินี  ผมต้องวางแผนเอง ดูแลเอง  ส่วนตรงผ่านฟ้าก็มีการ์ดสุโขทัยเขาดูแล

ถาม : มีความเห็นยังไงกับกรณีเสธ.แดงถูกยิง

วัลลภ : อันนี้ทหารชัวร์  ฝั่งรัฐบาลในขณะนั้นนะ  อย่างแรกถ้าไม่เก็บเสธ.แดงก่อนจะไม่มีทางสลายม็อบได้  เพราะเสธ.แดงแกเป็นคนที่วางแผนดี  เป็นคนรอบคอบ  เป็นคนที่ทำงานมีแบบแผน  ผมเชื่อเลยว่ารัฐบาลชุดนั้นไม่มีใครมีความสามารถเท่าเสธ.แดง  เพราะฉะนั้นการเก็บหัวก็จะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ  ถ้าคนที่ตายไม่ใช่เสธ.แดง  เหตุการณ์สลายการชุมนุมจะไม่เกิดขึ้น  เราไม่ต้องสูญเสียกันเป็นร้อย  เพราะมันไม่กล้ากันอยู่แล้ว

ถาม : มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทีมเสธ.แดงไม่มีอาวุธ  เพราะในภาพวิดีโอตอนเสธ.แดงถูกยิงไม่มีใครชักปืนออกมาเลย  ตามสัญชาตญาณของคนมีอาวุธเมื่อมีภัยมา  มีแต่คนไปล้อมด้วยมือเปล่า

วัลลภ : ใช่ครับ  คือจะพูดถึงชายชุดดำในม็อบมันมีได้หลายอย่าง  ตั้งแต่การสร้างสถานการณ์  การสร้างภาพรุนแรง  ผมถามว่าทำไปแล้วได้ประโยชน์อะไร  คุณออกมาเรียกร้องอะไร  ถ้าคุณเป็นเสื้อแดงจริงคุณจะไปทำให้เขารู้ทำไม  คนที่ออกมาบอกว่าตัวเองเป็นชุดดำนี่  ผมว่าไม่น่าจะมีตัวตนจริง  (อ้างถึงข่าวไทยอีนิวส์ http://thaienews.blogspot.com/2013/11/exclusive1053.html)


        ขณะอ่านข่าว “ไทยอีนิวส์” เรื่องสัมภาษณ์ชายชุดดำ

ถาม : คิดว่าเสธ.แดงฮาร์ดคอร์จริงไหม

วัลลภ : จริงไหมนี่  โอเคครับ  แกเป็นคนที่ค่อนข้างแรง  แต่ทุกคำพูดที่จะได้ยินจากปากแก  ทุกครั้งที่เจอกัน  แกจะพูดว่าแกเป็นคนที่จงรักภักดีที่สุด  ยศแก ตำแหน่งแก  ในหลวงพระราชทานให้  เพราะฉะนั้นใครจะมาทำอะไรมาว่าอะไรในหลวงราชินีแกจะไม่ยอม  แต่ถ้าพูดถึงแนวการต่อสู้ทางการเมืองนี่ผมว่าแกค่อนข้างรุนแรง

ถาม : หลังเสธ.แดงถูกยิงวันที่ 13 พฤษภา บทบาทเราเปลี่ยนไปหรือเปล่า

วัลลภ : เป็นเรื่องที่เล่าไม่ได้เลย  ในช่วงที่เสธ.แดงล้มนะ  ตำแหน่งจริงๆ ของพวกผมส่วนใหญ่จะอยู่กันที่ลุมพินีแล้ว  เพราะทหารฝั่งลุมพินีมันค่อนข้างเยอะ  ก็ไปคอยต้านคอยดูกันอยู่แถวนั้น

ถาม  : คิดอย่างไรกับเรื่องปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้มาตรา 112

วัลลภ : สำหรับเรื่องปรองดองผมอยากให้เกิดขึ้นนะ  บ้านเมืองจะได้สงบ อยากให้เก็บเรื่องราวทุกอย่างไว้แค่ความทรงจำ  ไม่ต้องเอาคนไปกักขังไว้ให้มันเป็นตราบาป หรือทำให้เกิดความแค้น  ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ผมก็คงต้องเชื่อในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจเพราะคนเสื้อแดงนั้นมีความเป็นประชาธิปไตย และเคารพกฎกติกาของสังคมเสมอ

ถาม : คิดยังไงกับเรื่องความรุนแรง

วัลลภ : มันก็มีกันบ้างนะถ้าพูดถึงการปะทะกันนี่  ฝั่งนู้นเจ็บฝั่งนี้เจ็บ เจ็บนิดเจ็บหน่อย ก็เริ่มจากน้อยๆ กลายเป็นความรุนแรง  มันมีกันบ้าง  เป็นธรรมดาของระหว่างการปะทะ  มันควบคุมไม่ได้หรอก  มันต้องมีการใช้อารมณ์กัน  คนนี่มันจะมีอยู่สามสี่อย่างที่ห้ามตัวเองไม่เคยได้  หนึ่งหิว สองง่วง สามเหนื่อย  ทั้งหิวทั้งง่วงทั้งเหนื่อยทั้งร้อน  ไปยืนอยู่กลางแดดแล้วต้องไปยืนประจันหน้ากันนี่  มันจะเกิดอารมณ์ใส่กัน  ถึงจะไม่รุนแรงนะ  อาจจะเริ่มจากการเอาหินก้อนเล็กๆ ขว้างหัวกันมันก็กลายเป็นโมโหแล้วชกต่อยกันได้ในที่สุด

ถาม : ถามตรงๆ ว่าเคยเห็นชายชุดดำไหม

วัลลภ : ชายชุดดำมีเยอะแยะไป  กางเกงยีนเสื้อขายตัวละร้อย  เสื้อการ์ดนักรบพระองค์ดำเขาแขวนขายกันเต็มไปหมด

 

รอยสักที่แขนคงทำให้เขาดู “ร้าย” พอที่จะเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาคนทั่วไปได้ 
แต่วัลลภเล่าว่า เขาเป็นคนไม่ดื่มสุรายาเมา  และนับถือเจ้าแม่กวนอิม

ถาม : แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีรุนแรงคิดว่ามันจะเกิดต่อไปหรือเปล่า

วัลลภ : ถ้าเขาแรงมาผมก็ว่าควรจะแรงไป  ไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาทำเราข้างเดียว  ผมเชื่อเลยว่าถ้ามีการปฏิวัติเกิดขึ้นมันจะมีการนองเลือดทุกหย่อมหญ้า  ประชาชนที่มีอาวุธปืนอยู่ในตัวเขาก็จะออกมาต่อต้านทหาร  คือไม่ต้องมีใครเอาอาวุธไปแจกเขา  เขามีปืนลูกซองสั้นมีปืนแก๊ปเนี่ย  เขาก็เอาออกมาต่อต้านทหาร  ออกมาต่อต้านไอ้ระบอบชั่วๆ พวกนี้ออกไป  คือประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่รับกันแล้วเรื่องการปฏิวัติ  มันทำให้ประเทศไทยล้าหลังไปเยอะ  เรานี่เคยนำประเทศเพื่อนบ้านไปไกล  ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเขาตีเสมอเราได้แล้ว  แล้วก็จะไปไกลกว่าเราแล้ว  ประเทศไทยก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม  ไม่มีอะไรดีขึ้นมา

ถาม : คุณจัดบทบาทตัวเองในพื้นที่เชียงใหม่ยังไง  มีเสื้อแดงหลายกลุ่มเหลือเกิน

วัลลภ : ผมไม่ได้สนใจนะว่าแกนนำจะมีแนวทางยังไง  คืออย่างที่บอก  ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มไหน  อาจจะเป็นรักเชียงใหม่ 51  เป็น นปช.แดงเชียงใหม่  หรือเป็นอะไรก็ช่าง  จริงๆ แล้วแนวทางในการขับเคลื่อนก็คือแนวทางเดียวกัน  แต่จังหวะของการพูดให้มวลชนฟังนี่มันอาจจะไม่ตรงกัน  อย่างสมมติว่าตอนที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอยู่  แนวทางจริงๆ ก็คือขับไล่รัฐบาลนั้น ... ทุกๆ คนไม่ชอบแนวทางการปฏิวัติทำลายประชาธิปไตยเขาก็เลยออกมาต่อต้านกัน  ตัวผมเองอย่างที่บอกก็คือผมไม่ได้สนใจว่าแกนนำจะเป็นใคร  ไม่ว่าแกนนำจะเลวขนาดไหนก็ช่าง  แค่คุณมีมวลชนอยู่ในมือผมก็จะดูแลมวลชนในส่วนนั้นให้  เพราะผมไม่อยากจะให้มวลชนถูกหลอกเอาไปนู่นไปนี่  หรือเอาไปทำร้ายให้บาดเจ็บอะไรอย่างนี้  มันเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง  ช่วงหลังๆ มาผมไปยืนคุมเชิง  แต่เราไม่ได้เปิดเผยใครว่าตัวเองเป็นการ์ด ไปดูแค่ว่ามีเหตุการณ์อะไรไหม  ถ้าไม่มีก็กลับ  ถ้ามีก็จะวางแผนต่อต้านกันยังไงก็ว่ากันไป

ถาม : ตอนนี้ยังเหลือคดีที่อุตรดิตถ์อีกหนึ่งคดี  ต่อสู้คดีเหมือนกันกับที่เชียงใหม่หรือเปล่า

วัลลภ : เป็นคนละแนวทาง  ไม่มีของกลาง  ผมสู้เรื่องที่อยู่และรถ  ตอนถูกจับกุมก็ไม่มีการซ้อม

ถาม : ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นยังไง

วัลลภ : ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ปกติอยู่อย่างนี้ผมก็คิดว่าไม่น่าจะวางมือได้  จริงๆ แล้วผมก็อยากจะใช้ชีวิตเหมือนกับชาวบ้านทั่วๆ ไป  คืออยากอยู่กับลูกกับเมียในบ้านหลังเล็กๆ  อยากทำไร่ทำสวนเหมือนชีวิตในช่วงที่อยู่อุตรดิตถ์  ตอนนี้ผมคงรับเหมาก่อสร้าง ติดตั้งจาน ติดตั้งกล้องวงจรปิด  แค่หาเลี้ยงชีพกันกับพรรคพวกที่อยู่ด้วยกัน  แต่ด้วยความที่ว่าผมไม่สามารถทนดูประชาชนถูกรังแกได้  ผมก็คงวางมือไม่ได้    ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ควรไปก็ต้องไป

- - - - - - - - - - - - -

 

บทสนทนายามค่ำหลังเลิกงานประจำวันของเขาในวันนั้นจบลงเพียงเท่านี้  ขณะที่พูดคุยถามตอบกันตลอดสองชั่วโมงกว่าในวันนั้น ดูวัลลภมั่นใจว่าคดีที่ยังคงค้างอยู่จะยกฟ้อง  และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องเสื้อแดง  เราจึงไม่ได้ใส่ใจจะพูดคุยกันถึงรายละเอียด  แต่แล้วเรื่องก็ไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น  ดังข่าวเมื่อไม่นานมานี้ (http://prachatai.com/journal/2013/12/50569) จังหวะแรกที่ผู้สัมภาษณ์เดินเข้าห้องเยี่ยมเพื่อพบเขา (25 ธันวาคม 2556) จึงได้ย้อนถามเพื่อทบทวนคำพูดของเขาที่ว่า “..ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ควรไปก็ต้องไป” แล้วเหตุการณ์ชุมนุมปะทะที่บริเวณสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานเมื่อไม่นานมานี้เขาได้ไปอย่างที่เคยบอกว่าควรต้องไปหรือเปล่า  เขาบอกแต่เพียงว่ายังไม่สะดวกจะคุยเรื่องนั้น  แต่สิ่งที่ประจักษ์ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2556 คือวัลลภกลับมาที่อุตรดิตถ์เพื่อฟังคำพิพากษาที่อาจพรากอิสรภาพไปจากเขาตลอดชีวิต  จากคดีพยายามฆ่าที่บ้านเกิดของเขาเอง

เหตุคดีโดยสรุป - เช้าวันที่ 10 พฤษภาคม เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด M79 ใส่สำนักงานกู้ภัยมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์  เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุสาเหตุว่ามาจากการแย่งผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล  จึงออกหมายจับวัลลภ พิธีพรม และชลทิศ โพธิ์แย้ม เจ้าหน้าที่กู้ภัยและการ์ดนปช. ข้อหาพยายามฆ่าและครอบครองอาวุธสงคราม

(สรุปจาก มติชน http://www.matichon.co.th/webmobile/readnews.phpnewsid=1273584872&grpid=03&catid=00))

เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์

อีกครั้งในชุดนักโทษออกเยี่ยมญาติ  วัลลภแค่นเปิดบทสนทนาใหม่ว่า 

"ปีนี้คงเป็นปีที่สามที่ผมต้องดูเขาจุดพลุผ่านลูกกรง เว้นปีที่แล้วแค่ปีเดียว"

ถาม : เกิดอะไรขึ้นกับผลคดี  ไหนตอนแรกบอกว่ามั่นใจ

วัลลภ : ผมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่เขามีปากเสียงทะเลาะกัน  ผมกลับขึ้นมาจากชุมนุมไปร่วมประชุมกับมูลนิธิด้วย  ประชุมเสร็จแล้วผมก็กลับลงไปชุมนุมต่อ  มาหาว่าผมหนีคดี  ผมเป็นคนเข้าไปห้าม  เพราะเด็กที่มีเรื่องเคยเป็นลูกน้องผม  แต่สุดท้ายผมโดนคดีคนเดียว

ถาม : แล้วตกลงว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องเสื้อแดง

วัลลภ : ไม่เกี่ยวแน่ๆ แรกเริ่มไม่ได้อยากให้คดีนี้เป็นคดีการเมือง  ถ้าสู้กันเป็นคดีส่วนตัวนี่ผมมั่นใจอย่างที่เคยบอกไปแล้ว  แต่ที่ถูกโยงเป็นการเมืองเพราะสถานะของผมเองเป็นทั้งกู้ภัยเป็นทั้งการ์ดเสื้อแดง  แล้วอาวุธก็ดันเป็น M79 เหมือนกันอีก  มูลนิธิทุกวันนี้ยังทะเลาะกันอยู่  ยังแบ่งประโยชน์กันไม่ลงตัว  แต่ไปดูได้ว่าคนในมูลนิธิบางคนเป็นเสื้อเหลืองแล้วก็หาทางจัดการผม  เป็นความขัดแย้งส่วนตัวของคนอื่นที่โยนมาเป็นเรื่องการเมือง

ถาม : ศาลไม่ให้ประกันแล้วจะทำอย่างไรต่อ

วัลลภ : ถ้าไม่ได้ประกันผมต้องถูกย้ายไปเรือนจำกลางพิษณุโลก  ก็คงต้องยื่นอุทธรณ์ก่อน  ตำรวจไม่ส่งหลักฐานที่เป็นประโยชน์กับผมไปให้อัยการ  ตอนนี้กำลังปรึกษาทนายว่าจะเอาเรื่องกับตำรวจ  สุดท้ายโดนคดีเพราะเป็นเสื้อแดง  เขาพยายามจะโยงเรื่องอาวุธให้ได้ทั้งที่คดีที่เชียงใหม่ก็ยกฟ้อง  ไม่มีของกลาง  ความรุนแรงที่ฝ่ายผู้มีอำนาจทำกับประชาชนนั้นต้องรุนแรงกว่าที่ประชาชนทำต่อประชาชนด้วยกันเองอยู่แล้ว  เพราะจุดเริ่มต้นเกิดจากฝ่ายมีอำนาจปลุกเร้าให้ประชาชนแตกแยกแบ่งฝ่ายจนต้องทำร้ายกันเอง

ถาม : ถึงตอนนี้แล้วคุณคาดหวังอะไรบ้าง

วัลลภ : หวังว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาตามหลักฐานอย่างยุติธรรม  ไหนๆ ก็ถูกลากโยงให้เป็นคดีการเมืองแล้ว  ก็อยากขอย้ายไปอยู่หลักสี่ (เรือนจำชั่วคราวหลักสี่)  เพราะญาติจะดูแลได้สะดวกกว่านี้  หากต้องไปอยู่พิษณุโลกคงจะไม่มีใครไปเยี่ยม  ไม่มีคนช่วย  ขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยเหลือ  หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือในโอกาสนี้ด้วย

 

ด้วยข้อจำกัดของการพูดคุยผ่านลูกกรงและกระจก รวมทั้งระยะเวลาเยี่ยมที่เรือนจำนั้น  เราจึงได้สอบถามเพิ่มเติมจากทนายความ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ของวัลลภ ได้ความว่า  ได้ส่งเอกสารหลักฐานคำให้การเพิ่มเติมให้ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์แล้ว  แต่ตำรวจไม่ส่งให้อัยการ  จึงไม่มีอยู่ในสำนวนที่ศาลพิจารณา  มีการดึงเอกสารพยานที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลยออก  และศาลไม่ได้รับฟังที่จำเลยต่อสู้เรื่องพิรุธพยานหลักฐานของโจทก์เลย  โดยเฉพาะปากภรรยาเก่าของวัลลภ  หลังจากยื่นอุทธรณ์แล้วจะยื่นขอประกันอีกครั้ง  เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสมากขึ้น

ตลอดการสนทนาสั้นๆ ครั้งหลังสุดนี้  ดูวัลลภจะเฉยชาและเหมือนจะปลงกับชะตากรรมที่ถูกโยนให้เป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่ง  แม้ว่าเขาจะไม่เคยคิดคาดหวังจะได้รับประโยชน์อะไรจาก พรบ.นิรโทษกรรมที่ดับวูบไปพร้อมก่อวิกฤตใหม่ให้กับรัฐบาลที่เขาสนับสนุนอย่างที่ยังไม่มีวี่แววจะจบสิ้นง่ายๆ  ยังไม่มีใครรู้ว่าวัลลภจะได้ประกันตัวออกมาเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่  หรือแม้แต่หากได้ประกันตัว  ยังจะมีการเลือกตั้งให้เขาอยู่อีกหรือไม่.


อาคารมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ที่วัลลภถูกฟ้องเป็นคดี M79 อีกคดี

 

สรุปลำดับการยิงระเบิด M79 ที่วัลลภ พิธีพรมถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยิง 

(สรุปจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/today/view/129252)

 

#1 : 16 มี.ค.53 ยิงธนาคารกรุงเทพ สาขารัชโยธิน จำนวน 1 นัด กระสุนตกใกล้บ้านพักนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#2 : 4 เม.ย. 53  ยิงบริเวณลานจอดรถห้างแม็คโคร  ถนนเชียงใหม่-ลำปาง  ต.หนองป่าครั่ง  อ.เมืองเชียงใหม่ (ไม่มีการดำเนินคดี)

#3 : 4 เม.ย. 53  ยิงโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ตนานุวัฒน์ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ ด้านหลังห้างแม็คโคร สาขาหางดง (ไม่มีการดำเนินคดี)

#4 : 10 เม.ย.53 ยิงจากสะพานมัฆวาน เพื่อผลักดันทหาร ตำรวจ บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า และตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#5 : 28 เม.ย.53 ยิงใส่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาตลิ่งชัน จำนวน 1 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#6 : 8 พ.ค.53 ยิงใส่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนวิภาวดี แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จำนวน 1 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#7 : 10 พ.ค. 53 ยิงใส่สำนักงานกู้ภัยมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ จ.อุตรดิตถ์ (ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต)

#8 : 14 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นใต้สะพานยกระดับประตูน้ำ ไปทางบริเวณหน้าโรงแรมอินทรา แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี จำนวน 4 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#9 : 16 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นหลังสวน (แยกราชประสงค์ตัดถนนวิทยุ) ไปทางสวนลุมพินี (ไม่มีการดำเนินคดี)

#10 : 16 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นถนนอโศก ไปทางทิศที่มีป้ายบอกทางด่วนท่าเรือ จำนวน 60 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#11 : 18-19 พ.ค.53 ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ากระชับพื้นที่ในรอบทิศทางไม่ทราบแน่ชัด ว่าจุดใดบ้าง ประมาณ 120 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)

#12 : 6 ก.ย. 53 ยิงด้านหน้าค่ายกรมรบพิเศษ 5 ค่ายขุนเณร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ไม่มีการดำเนินคดี)

#13 : 12 ก.ย. 53 ยิงอาคารที่ทำการบริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายคะแนน สุภา (ศาลจังหวัดsเชียงใหม่ยกฟ้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net