Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพราะนิธิมองเห็นมวลมหาประชาชนเป็น “ อณู” ที่ไร้ความรู้สึกนึกคิดและสติสัมปชัญญะ  จึงทำให้ความเห็นการเคลื่อนไหวทั้งหมดของกลุ่ม กปปส.เป็นอาชญากรรมและสุเทพเป็นอาชญากร   ที่รุนแรงมากก็คือการเสนอให้ผู้กุมอำนาจรัฐเข้า “ควบคุมสื่อ” ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นนิธิที่เขียนออกมาว่าเพื่อ “ใช้สื่อนั้นในการสื่อสารสถานการณ์ที่เป็นจริง ”เพราะนิธิก็รู้อยู่เต็มอกว่า “ความจริง” ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมอง จะให้สื่อเสนอแต่ความจริงจากมุมมองของผู้กุมอำนาจรัฐกระนั้นหรือ?

การเสนอความคิดเห็นลักษณะเช่นนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากบรรดานักวิชาการฝั่ง กปปส.  ในแง่ที่มองอะไรเป็นขาวกับดำ  และมีลักษณะพร้อมที่จะยอมรับการนองเลือดไปในที ดังที่นิธิเขียนว่า “ หากจำเป็นต้องใช้มาตราการที่รุนแรงเด็ดขาดก็ต้องใช้ “ การใส่วงเล็บว่า “(แต่อย่าทำ “เกินกว่าเหตุ” )”ก็เพียงเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่าย “ขาว” ที่มีความชอบธรรมจะใช้ความรุนแรงกับ “อาชญากร” เท่านั้นเอง

และด้วยกรอบการคิดที่มองจากด้านเดียว  ทำให้นิธิมองนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และรัฐบาลด้วยสายตาที่มีฉันทาคติอย่างแรงกล้าตามไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้แสดงการนำที่ชัดเจนหรือการ “แสดงทุกวิถีทางมิให้ “รัฐล้มเหลว” น่าแปลกที่นิธิทำเหมือนไม่เข้าใจว่าถึงอย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ก็ไม่สามารถที่จะแสดงบทบาทการนำได้จริง  เพราะมีทักษิณกำกับอยู่ข้างบนและมีเครือข่ายของกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์อยู่รอบกายนายกฯและที่สำคัญนั้น “รัฐล้มเหลว”ไม่ได้อยู่ที่ไม่สามารถปฏิบัติการต่างๆได้  แต่เกิดขึ้นเมื่อรัฐสูญเสียความชอบธรรมในการปกครองต่างหาก   นิธิทำเป็นลืมไปว่าจุดเริ่มต้นของการไร้ศักยภาพในการนำและการทำให้ “รัฐล้มเหลว” อยู่ที่การหลบเลี่ยงปัญหาของยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับลักหลับ  และความเชื่องช้าในการยุบสภาและการแสดงอาการล้มเหลวหนักขึ้นด้วยการเสนอการปฏิรูปที่ว่างเปล่ากลวงโบ๋  รวมไปถึงการให้ทักษิณเอาอดีต ส.ส.ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษฯ ฉบับดังกล่าวมาใส่ไว้ในรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อในลำดับต้นๆ อย่างไม่รู้สึกผิดต่อการ “ก่ออาชญากรรม” ต่อระบอบประชาธิปไตยเลย

การติดอยู่ในด้านเดียวของวิธีคิดที่ว่าไว้ข้างต้น ได้ทำให้ปราชญ์สามัญชนของสังคมไทยมองข้ามข้อเท็จจริงไปอีกมากมายและบทความหลายบทในระยะหลังก็ได้ทำร้ายผู้คนที่เคยศรัทธาปราชญ์ท่านนี้อย่างเจ็บปวดมากขึ้นๆ  คนจำนวนไม่น้อยไถ่ถามกันว่าเพราะอะไรทำให้นิธิเป็นเช่นนี้  เพราะคนเหล่านี้หวังว่าจะเห็นทางออกของประเทศที่งดงามและเป็นไปได้จากนักปราชญ์ที่ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์

แม้ว่าข้อเสนอของสุเทพและคณะจะเหลวไหลและเลวร้าย  แต่เชื่อได้ว่าคนอีกจำนวนมากมายที่เคลื่อนไหวตามคณะของสุเทพมีความจริงใจอยากจะแก้ปัญหาบ้านเมืองตามที่เขา “คิดและเข้าใจ” พวกเขาก็ปรารถนาให้บ้านเมืองดีขึ้น  ความจริงใจ บริสุทธิใจ  และการเสียสละ แม้ว่าอาจจะมีความโง่เขลาปะปนอยู่เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย อาจมองปัญหาบ้านเมืองตื้นๆ หรือมองว่าคนไม่เท่ากันแต่มันก็ยังพอมีคุณค่าอยู่ไม่ใช่หรือ  ความโง่เขลาทั้งหมดเหล่านี้สามารถที่จะปรับแก้ได้หรือไม่  ( ก็ต้องโทษทั้งนิธิ  และอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝ่ายที่เอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งเสียจนไม่สามารถชี้ทางออกให้แก่วิกฤตครั้งนี้)

หากนิธิทบทวนการมองคนเดินตามสุเทพและคณะด้วยแว่นอันใหม่ ไม่มองแค่ว่าพวกเขาเป็น “อณู”  ก็อาจจะเห็นทางออกทางอื่นที่งดงามกว่าการสนับสนุนให้รัฐควบคุมสื่อหรือใช้ความรุนแรง    สาวกของนิธิในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเองก็ได้โต้แย้งเรื่องนี้เอาไว้  แต่คาดว่าคงไม่กล้าพูดตรงๆ เลยไม่ได้ผลอะไร

ในอีกด้านหนึ่ง หากนิธิมองเห็นการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของ “ อณู” ก็ต้องนำการคิดนี้ไปใช้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงภายใต้การนำของ นปช. เช่นเดียวกัน  เพราะแกนนำ นปช. ก็ได้พยายามที่จะข้ามความผิดของการก่อ  “อาชญากรรม” ต่อระบอบประชาธิปไตย  โดยไม่มีใครสักคนเดียวที่ออกมาขอโทษคนเสื้อแดงในกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ

คนเสื้อแดงมีความบริสุทธิ์ใจเช่นเดียวกันในการที่จะรักษาประชาธิปไตย  แต่พวกเขาก็ถูกทำให้การมองปัญหาเหลือเพียงแค่ “อำมาตย์” คอยขัดขวางประชาธิปไตยของพวกเขา  พวกเขาถูกทำให้หลงลืมไปว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำอะไรเพื่อรักษาประชาธิปไตยของพวกเขา นอกจากโครงการที่ดูเหมือนทำให้พวกเขาได้รับส่วนแบ่งบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆขนมก้อนใหญ่อยู่ในปากของแกนนำในพรรคการเมือง   นิธิอาจจะมองเห็นด้านเดียวในแง่ที่ว่าจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เช่น โครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เป็นการทำให้ชาวนาได้รายได้ดีขึ้น เป็นการชดใช้จากที่รัฐเคยขูดรีดชาวนา แต่ความเสียหายจากนโยบายนี้ถูกนิธิมองข้ามไป

แตกต่างอะไรกันหรือระหว่างเสียงจากคนทั้งสองกลุ่มที่พร้อมจะทำร้ายกันในนามของความดีงามเฉพาะจากมุมมองของฝ่ายตนตามที่แกนนำได้เร้าสำนึกให้รุนแรง  แตกต่างอะไรกันมากมายจนนิธิถึงขนาดเลือกเข้าข้างฝ่ายหนึ่งแบบไม่กังวลเรื่องการนองเลือด และเข้าข้างนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถจะตัดสินใจอะไรเองได้เลย

ปัญหาสำคัญในการหาทางออกจากวิกฤติของสังคมไทยในวันนี้ คงไม่ใช่ทางออกที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มอยากจะเห็น หรือเป็นแนวทางตามอุดมคติแท้ๆ  ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเป็นจริงในสังคมโลกและในสังคมไทย   วันนี้หากใครพยายามผลักดันให้เป็นอย่างนั้น ก็หมายความจะต้องฆ่ากันอีกหลายยก ทางออกที่ต้องคิดควรจะต้องเป็นทางออกที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับกันได้  เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยค่อยๆ เดินไปข้างหน้าได้  และจัดการกับความขัดแย้งได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม

ในการต่อรองเพื่อประชาธิปไตยย่อมไม่มีใครได้หมดหรือเสียหมด ลองหาทางออกที่เป็น “ขั้นต่ำสุด” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จะดีกว่าไหม แน่นอนว่าแกนนำ กปปส.และแกนนำ นปช.ย่อมไม่เอาด้วยกับข้อเสนอลักษณะนี้ แต่มวลชนทั้งสองฝ่ายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ปัญญาชนที่หวังดีจะต้องพยายามช่วงชิงมาให้ได้  ไม่อย่างนั้น  ทางออกที่เสนอก็เป็นเพียงลมพายุที่พัดโหมให้เชื้อไฟที่คุกรุ่นอยู่แล้วลุกโชนขึ้นมาจนไม่อาจดับได้ง่ายๆ อีกต่อไป

สังคมไทยเคยคาดหวังจากปัญญาชนทั้งหลายว่าจะช่วยหาทางออกให้แก่ประเทศ  แต่วันนี้กลับพบแต่สภาพ ความเกลียดชังนำปัญญา ความเมตตาสูญสลายไปจากดวงตาและดวงใจของผู้คน เหลือแต่ไฟแห่งโทสะ

ขอร้องเถิด โปรดนิ่งสงบอยู่ในความเงียบกับตัวเองเพื่อให้ได้ยินเสียงมโนธรรมบ้าง  ก่อนที่เลือดจะไหลนองแผ่นดิน

ด้วยความหวังในสติปัญญาและความเมตตาของมนุษย์   ณ มุมมืดแห่งรัตติกาล

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net