Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่สุด และเราจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันทางการเมือง เพราะความขัดแย้งนี้ดำเนินมาในสังคมไทยกว่า 7 ปีแล้ว แม้ทำให้การเมืองไทยลุ่มๆ ดอนๆ แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ รวมแม้แต่การริเริ่มนโยบายใหม่เช่นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ อันอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการล้มล้างระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งมวล ที่ช่วยกำกับความขัดแย้งไม่ให้เหลือแต่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน จะดีจะชั่ว สังคมไทยก็มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ที่ทำให้เราต่างจากซ่องโจรที่คนกำปั้นใหญ่รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ หนักข้อกว่าการรัฐประหารของกองทัพเสียอีก

เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร กฎหมายที่คณะรัฐประหารทุกคณะล้มล้างทันทีคือรัฐธรรมนูญ แต่ยังรักษากฎหมายอื่นๆ ไว้ทั้งหมด ในครั้งนี้ นอกจากม็อบสุเทพจะล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังละเมิดกฎหมายอื่นๆ อีกหลายมาตรา ขัดขวางการทำงานโดยปกติของรัฐ เช่นยึดที่ทำการของรัฐ ปิดล้อมมิให้โรงพักรับแจ้งความ ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ขัดขวาง กกต.มิให้จัดการเลือกตั้งโดยสงบ ก่อวินาศกรรมกับรถตำรวจ ทำโจรกรรมในสถานที่ราชการที่ปิดล้อมไว้ ฯลฯ

ความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาหลายปี ได้แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างอาชญากรกับรัฐ

ผมคิดว่าผิดถนัดที่หลายองค์กรมองวิกฤตครั้งนี้ เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา การเสนอตัวเป็น "คนกลาง" เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างอาชญากรและรัฐ เป็นการเสนอตัวที่หลงประเด็น เพราะรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐแทนปวงชนชาวไทย ไม่มีอำนาจที่จะรอมชอมกับอาชญากรให้ละเมิดกฎหมายได้ตามใจชอบเช่นนี้ ทั้งกฎหมายและรัฐไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ที่จะเอาไปยื่นให้แก่ใครเพื่อยุติความขัดแย้งได้ เช่นหาก ครม.ทั้งคณะยอมลาออก นอกจากละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้ต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่แล้ว ยังเท่ากับยกประเทศไทยให้แก่อันธพาลการเมือง หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจนั้นแก่นายกรัฐมนตรี

ผิดถนัดอีกเช่นกัน ที่ไปคิดว่าสภาพจลาจลซึ่งกลุ่มอันธพาลการเมืองก่อขึ้นในการบุกรุกเข้าไปในสถานที่รับเลือกตั้ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา เป็นความน่าอับอายและทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสื่อมเสียในสายตาของต่างชาติ ตรงกันข้ามหากปล่อยให้อันธพาลเข้าไปยึดสถานที่ จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ต่างหาก ที่น่าอับอายและทำลายภาพพจน์ของสมรรถภาพของรัฐในการอำนวยความมั่นคงและปลอดภัยแก่สังคม ใครอยากมาเที่ยวในประเทศนี้ ใครอยากทำสัญญากับคนไทยซึ่งไม่มีรัฐให้หลักประกันใดๆ

เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักอีกมาก ที่รายงานข่าวฝ่ายอันธพาลทางการเมืองประหนึ่งวีรบุรุษ มองรัฐและกลุ่มอันธพาลว่ามีความชอบธรรมเท่ากัน หรือแม้แต่เห็นอันธพาลมีความชอบธรรมมากกว่า ทำให้สังคมหลงประเด็นว่า เรากำลังเผชิญทางเลือก 2 ทางที่มีความชอบธรรมเท่ากัน ทั้งๆ ที่ทางเลือกที่ฝ่ายอันธพาลการเมืองเสนอ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นคำสั่งที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างปราศจากเงื่อนไข โดยอาศัยฝูงชนเป็นเครื่องมือ ไม่ต่างจากในซ่องโจร ที่ผู้นำซึ่งรวบรวมกำลังโจรได้มากกว่า ย่อมสามารถประกาศิตความเป็นไปของซ่องโจรได้ตามใจตนเองแต่ผู้เดียวหรือฝ่ายเดียว

กลุ่มอันธพาลการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ท้าทายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ท้าทายกฎหมายและระเบียบแบบแผนทางการเมืองของสังคมไทยทั้งหมด

ที่น่าเศร้าก็คือ ประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯ (และที่ขนกันมาจากภาคใต้) คิดว่า นี่คือการแสดงความรักชาติ

ชาติจะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากพลเมืองของชาติไม่มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง หากกฎเกณฑ์ระเบียบของชาติถูกทำลายลงหมด เพื่อสนองตอบความทะเยอทะยานทางการเมืองของคนกลุ่มเล็กๆ หากกลไกของชาติพอใจจะนั่งดูเฉยๆ (หรือแอบเข้าข้างอันธพาล) เพื่อรอเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กับฝ่ายชนะ นี่คือชาติที่มีแต่ปัจจุบัน ไม่มีอนาคต เพราะไม่มีใครมองไกลไปกว่าการยกระดับวันต่อวันของอันธพาลการเมือง

หนทางที่จะออกจากวิกฤตนี้แคบ ข้อจำกัดในการใช้อำนาจรัฐก็มาก (ทั้งที่ควรและไม่ควร) ยากที่จะฝ่าฟันออกไปได้ นอกจากได้รับความร่วมมือจากสังคมในวงกว้าง

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้บางคนคิดหาทางออกที่ลัดและมักง่าย นั่นคือทำรัฐประหาร แต่รัฐประหารคือทางตันไม่ใช่ทางออก นอกจากต้องเผชิญกับการต่อต้านจากคนจำนวนมาก กระทำในหลายรูปแบบ และบางรูปแบบก็อาจทำให้รัฐยิ่ง "ล้มเหลว" หนักขึ้นไปอีก

คิดง่ายๆ แค่ว่า คณะรัฐประหารจะจัดการกับอันธพาลการเมืองอย่างไร แต่ละคนมีคดีติดตัวหลายสิบคดี หากออกคำสั่งนิรโทษกรรมทั้งหมด คณะรัฐประหารจะจัดการอย่างไรกับการละเมิดกฎหมายของฝูงชนใหม่ที่ต่อต้านการรัฐประหาร ฆ่าเขาอย่างที่ได้ฆ่ามาใน 2553 ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ปล่อยทิ้งไว้รัฐก็ล่มสลายไปในมือของคณะรัฐประหาร

จนถึงที่สุด ใครก็ตามที่ยังสามารถมองอะไรได้ไกลกว่าปลายจมูกของตนเอง จะให้การรับรองแก่การรัฐประหารที่ทำลายชาติให้ย่อยยับลงไปกว่านี้ได้

ทางออกเดียวที่เหลืออยู่จึงเป็นทางแคบ มีข้อจำกัดมาก ยากจะฝ่าฟันออกไป และต้องได้รับความร่วมมือจากสังคมในวงกว้าง และภาระเป็นของรัฐบาลรักษาการต้องทำให้สำเร็จ

คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงการนำที่ชัดเจน และเข้มแข็ง ชัยชนะจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะเงื่อนไขของวิกฤตครั้งนี้ ไม่ใช่การแข่งขันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นวิกฤตของชาติ จะรักษาชาติให้ดำรงอยู่สืบไปโดยไม่เสื่อมทรามลงเป็นซ่องโจรได้อย่างไร คุณยิ่งลักษณ์ต้องหวังว่าการนำของตนจะไม่ดึงเฉพาะคนไทยที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาร่วมรณรงค์เท่านั้น แต่ต้องรวมคนไทยทุกคนแม้แต่ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ ด้วย

ภาระสำคัญที่สุดของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือ ต้องทำทุกวิถีทางมิให้รัฐ "ล้มเหลว" การยอมถอยให้แก่อันธพาลในการยึดถนนและยึดสถานที่ราชการนั้น พอรับได้ เพราะพื้นที่ทางการเมืองของสาธารณชนไทยมีจำกัด ในขณะที่แม้จะถูกยึดที่ทำการรัฐบาล แต่รัฐยังทำหน้าที่ของตนต่อไปได้ ยังแจ้งความได้ ยังจัดการจราจรได้ เด็กยังได้ไปโรงเรียน เจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาลได้ ฯลฯ แต่เมื่ออันธพาลการเมืองปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง จนรัฐไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามกฎหมายได้ รัฐเริ่ม "ล้มเหลว" เป็นครั้งแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งโดยผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผ่านการใช้กองกำลังทั้งหมดของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่จำเป็น (ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำอย่างเหมาะสมในวันที่ 28 ธ.ค.) เพื่อประกันความปลอดภัยของผู้สมัครและกรรมการเลือกตั้ง จนทำให้กระบวนการรับสมัครดำเนินไปได้

กระบวนการเลือกตั้งเพิ่งเริ่มขึ้น รัฐบาลรักษาการต้องดูแลให้กระบวนการนี้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น แม้ต้องใช้มาตรการแข็งกร้าวก็ตาม (โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น) ทุกคนมีสิทธิหาเสียงอย่างถูกกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิเข้าคูหาเลือกตั้งอย่างปลอดภัย

สังคมไทยต้องมองเห็นอย่างชัดเจน ระหว่างทางเลือกการอยู่ในสังคมที่มีกฎหมาย และสังคมอันธพาล

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีต้องออกหน้าแทนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่นนายกฯต้องมีคำสั่งอย่างชัดเจนว่า ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินไปได้โดยราบรื่น หากจำเป็นต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเด็ดขาดก็ต้องใช้ (แต่อย่าทำ "เกินกว่าเหตุ") ตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกระทำไปตามกฎหมาย เขาไม่ต้องรับผิดชอบ แต่นายกฯ ผู้ออกคำสั่งจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมาย หรือทางที่ถูกอันธพาลก่นด่า

รวมทั้งออกคำสั่งให้กองทัพส่งกำลังอีกมาก มาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่อนุญาตให้กองทัพปฏิบัติงานโดยลำพัง เพราะกองทัพไม่มีสมรรถภาพในการควบคุมฝูงชน เขาไม่ใช่หน่วยงานที่มีภาระหน้าที่เช่นนี้ จึงไม่ถูกฝึกให้ทำเป็น สมรรถภาพของกองทัพอยู่ที่การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างเฉียบพลันรุนแรง จึงไม่เหมาะที่จะปฏิบัติงานเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องอยู่ในบังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ (เรื่องนี้ "เล็งเห็นผล" ได้ หากไม่โง่หรือโหดเหี้ยมจนเกินไป)

คำสั่งที่ให้แก่กองทัพเช่นนี้ ต้องประกาศให้สังคมรับรู้โดยทั่วกัน หากกองทัพไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ต้องแจ้งให้สังคมรู้เช่นกัน คุณยิ่งลักษณ์อย่าคิดเป็นอันขาดว่า จะควบคุมกองทัพได้ด้วยตนเอง โดยปราศจากการหนุนหลังของสังคม

หากการปฏิบัติงานเพื่อรักษากฎเกณฑ์และระเบียบของบ้านเมือง เป็นเหตุให้ กกต.ลาออกเกิน 3 คน ผมไม่มีความรู้ทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่เชื่อว่าต้องมีช่องทางที่จะจัดการเลือกตั้งตามกฎหมายจนได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับยกสังคมประชาธิปไตยของเราทุกคนให้แก่คนกะล่อนเพียง 3 คนเท่านั้น ใครก็ตามที่มีหน้าที่คัดสรรกรรมการของ กกต. ก็ควรรับผิดชอบต่อวิจารณญาณห่วยแตกของตนเองบ้าง

การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มแข็งดังกล่าวทั้งหมดนี้ จะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดแก่บ้านเมือง ก็ต้องใช้ เพื่อจะได้มีอำนาจในการควบคุมสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ ใช้สื่อนั้นในการสื่อสารสถานการณ์ที่เป็นจริง และจุดยืนของรัฐที่จะรักษากฎระเบียบที่ขาดไม่ได้ของความเป็นชาติ คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อาจเป็น ผอ.ของ ศอ.รส.ต่อไปได้ แต่ต้องจัดทีมประชาสัมพันธ์ที่มีความสามารถขึ้น เพื่อสื่อสารกับสังคมวงกว้างในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องเลือกตั้ง แต่เกี่ยวกับวิกฤตครั้งนี้ และความจำเป็นที่รัฐจะต้องนำสังคมฝ่าวิกฤตความชอบธรรมทางกฎหมายออกไปให้ได้ เพื่ออนาคตของชาติที่เป็นของเราทุกคน

หลังจากการถอยอย่างไม่มีหลักที่ผ่านมา (ตั้งกรรมการปฏิรูป, แสดงท่าทีพร้อมเจรจากับอันธพาล, และปล่อยให้อันธพาลปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง) จะสายเกินไปหรือไม่ที่จะพลิกนโยบายมาสู่การรักษา "ชาติ" ซึ่งต้องรวมถึงกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน ผมไม่แน่ใจ แต่ในวิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในครั้งนี้ ไม่มีอะไรที่สายเกินไป



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน :มติชนรายวัน 6 มกราคม 2557

ที่มา: www.matichon.co.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net