เมื่อไหร่จะจบ? และ จะจบยังไง ? ต้องตายไปข้างเลยหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดิฉันเองช่วงเทศกาลปีใหม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมญาติในต่างจังหวัดก็จะมีการพูดคุยเรื่องการเมือง และด้วยการที่ได้เรียนคณะรัฐศาสตร์มักจะถูกญาติหรือเพื่อนบ้านไม่พ้นแม่กระทั่งคุณแม่ของดิฉันเอง ถามว่า “เมื่อไหร่จะจบ?” มันเป็นคำถามที่ดูไม่มีอะไร แต่หลายๆคนก็ตั้งคำถามแบบนี้เสมอกับตัวเองและผู้คนรอบข้าง และคำถามนี้มักมาพร้อมกับคำว่า “จะจบยังไง?” เสมอ

ดิฉันเองก็ไม่รู้ว่าจะไปเอาหลักทฤษฎีและเหตุการณ์ใดมาเทียบเคียงได้ดีที่สุดหรือสร้างความเข้าใจให้ผู้คนรอบข้างได้ดีที่สุด ก็ได้แต่ตอบไปว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าจะจบเมื่อไหร่?” และ จะจบยังไงก็แทบหาทางออกไม่เจอ

ต้องจบแบบให้ตายไปข้างเลยไหม? แล้วค่อยมาอยู่กันปกติสุขบนกองเลือด กองคราบน้ำตา ไม่มีใครอยากตายหรอก ทุกชีวิตมีคุณค่า แต่การที่อยากเห็นฝ่ายตรงข้ามตาย ก็คือความใจร้ายอย่างหนึ่ง เราไม่อยากตาย เราก็ต้องไม่อยากให้คนอื่นตายเช่นกัน ในฐานะมนุษย์เหมือนกัน มีศักดิ์ศรีและเกียรติเท่ากันที่ได้ยืนอยู่บนโลกใบนี้ ไม่มีใครมีสิทธิ์พรากชีวิตไปจากเรานอกจากตัวเราเอง

แล้วเราจะหลีกหนีความตายยังไง? การเดินเข้าสู่ระบบตามประชาธิปไตย คือ พื้นที่แห่งการหนีความตาย นั่นคือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เราต้องเดินเข้าไปในคูหา นำบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปากกาและใจของเรา ที่เป็น อาวุธแห่งการรอดพ้นแห่งความตาย เพราะ เราจะได้มาตกลงร่วมกันทั้งประเทศว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร ผ่านการที่ใครจะมาเป็นผู้นำในการเดินต่อจากนี้ไป เป็นกติกาที่ทุกคนให้การยอมรับที่สุดในยุคสมัยนี้ แล้วผู้แทนเหล่านี้ก็จะไปทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบต่อไป ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายต่างๆ ประชาชนก็ต่างตรวจสอบได้และนำเสนอสิ่งต่างๆได้เพราะคือคนที่เราเลือกมาและรัฐธรรมนูญรองรับไว้  ระบบมันเปิดให้เราเดินกันเต็มที่ ไม่ได้ปิดแบบยุคสมัยเมื่อ 20-30ปีที่แล้ว ที่ต้องสู้ให้เปิด แต่วันนี้เปิดแล้ว ก็เดินเข้าไป แล้วสู้กันในระบบ  ไม่ต้องมีใครตาย อยู่ร่วมโลกกันต่อไป เพราะ ประชาธิปไตยคือระบอบของผู้แทน(ที่มาอย่างชอบธรรม) และต้องตรวจสอบได้(ชอบธรรมในการดำรงอยู่) ถ้าที่มาไม่ชอบธรรมก็ไม่ควรแก่การดำรงอยู่ จะให้เกลือเป็นน้ำตาลมันเป็นไปไม่ได้

ซึ่งคุณสุเทพกลับเรียกร้องหนทางแห่งความตาย คือ หนทางแห่งการการเกิดสงครามกลางเมือง ยิ่งสร้างพลังแห่งความเกลียดชังให้สังคม หนทางในอนาคตจึงไม่เจอทางออก ผู้คนเลยต่างพากัน “เบื่อหน่าย” และ ถามดิฉันว่า “เมื่อไหร่จะจบ?” “จะจบอย่างไร?” เพราะ คุณเดินหนีระบบที่เขายอมรับกันทั้งประเทศ

ดิฉันก็รู้สึกว่าต้องให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ “ตายในระบบ” คือ การพ่ายแพ้การเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดไม่ยอมรับสภาพการเป็นฝ่ายค้านได้ ก็ไม่สมควรเป็นพรรคการเมือง แล้วจะเป็นสถาบันพรรคการเมืองได้อย่างไร ตายในระบบคุณก็ยังมีที่ยืน เพราะ ระบบมันรองรับให้คุณมีที่ยืน แต่ถ้าคุณอยากชนะแบบไม่ให้ใครมีที่ยืนก็คงไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่เป็นระบอบเสียงข้างมากและปกป้องเสียส่วนน้อย ประชาชนไม่ว่าจะสนับสนุนฝ่ายก็ยังคงศักดิ์ศรีและเกียรติแห่งความเป็นคนที่เท่ากันอยู่ มีเสรีภาพและความเสมอภาคอยู่เท่ากัน

การไม่ลงรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์แสดงถึงการหยิบยื่นความตายมายังประชาชน ที่จะต้องนองเลือดไปถึงไหน จะต้องสู้นอกระบบให้เจ็บปวดกันทำไม เรามีระบบให้เดินมาสู้กัน อย่าสร้างเงื่อนไขในการหลีกหนีระบบ ทั้งที่ระบบมันเปิดให้คุณเดินเข้ามา คุณกำลังเอามวลมหาประชาชนของคุณมาเป็นกำแพงในการเรียกร้อง ประชาชนเหล่านี้เขาพร้อมเลือกตั้ง เขาพร้อมเข้าระบบถ้าคุณเข้าระบบ  การเลือกตั้งมันทำให้คำว่า มวลมหาประชาชนหายไป เสื้อแดงหายไป สลิ่มหายไป ไทยอดทนไทยเฉยหายไป ฯลฯ เพราะ เราจะมาในฐานะคนไทยด้วยกันทั้งหมด เพราะ ประเทศไทยนี้เป็นของเราเท่ากันทุกคน เราต้องร่วมมารับผิดชอบกัน รับผิดชอบที่มาของผู้แทน และ ไปสู้รับผิดชอบการดำรงอยู่ของผู้แทน มันคือหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ดิฉันไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรในอนาคต ถ้ามีคนไม่เดินตามระบบ  แต่ดิฉันยืนยันเสมอว่า ดิฉันจะเดินตามระบบ อยู่ในระบบ  ประคับประคองระบบ ให้ระบบจัดการตัวเอง เลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่ได้มีพลังเท่าปีพ.ศ.2554 ที่ทุกพรรคใหญ่ลงเลือกตั้งทั้งหมดหรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่านี้ แต่ดิฉันก็จะไปเลือกตั้ง เพราะ มันคือหนทางเดียวที่หลีกหนีความตายของผู้คนได้ ดิฉันไม่อยากให้เพื่อนมนุษย์เจ็บปวด เราไม่รู้จักกันหรอกค่ะ แต่เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาก็มีคนที่เขารักและรักเขา เช่นเดียวกับเรา การเลือกตั้งเข้ามาถึงแม้บรรยากาศมันจะเป็นอย่างไร ดิฉันก็จะยินดีอยู่กับบรรยากาศเหล่านั้น เพราะ  ดิฉันได้ตัดสินใจเลือกมาแล้ว และมันเป็นการเลือกของคนทั้งประเทศร่วมกัน ต้องรู้จักเคารพคนอื่นและเคารพการตัดสินใจของตนเอง

ไม่มีทางออกใดที่จะชัดเจนและสำเร็จรูป ณ เวลานี้ ที่จะกลับสู่สภาวะปกติ มีแต่คำตอบที่ว่าเดินไปเลือกตั้ง และ หลังจากนั้น เราก็มาถกเถียงกันค่ะ เพราะ เรายังอยู่กับระบบ ระบบมันหล่อเลี้ยงตัวเองตลอดเวลา ประชาธิปไตยไทยอายุ 80 ปี อายุเราก็ไม่น้อยค่ะ อย่าไปทำลายมันค่ะ เราสร้างมา 80 ปีแล้วต้องส่งมอบมรดกนี้ให้ลูกหลานเราต่อไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปรัชญา นงนุช ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มธ.   .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท