Skip to main content
sharethis

ประกันสังคมจ่อเพิ่มสิทธิ์ผ่าตัด-ปลูกถ่ายอวัยวะ

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบาย สปส.ในปีนี้จะปรับปรุงสิทธิประโยชน์การให้บริการรักษาพยาบาลของประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนปอด ผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะขึ้นไป การเพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่ เป็นผู้ป่วยเสพยาเสพติด รวมทั้งการปรับปรุงรายการและอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทุพพลภาพและกรณี สูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปส.คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้

เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน สปส.จะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ทั้งทางเลือกที่ 1, 2 และ 3 ให้มากขึ้นเพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตและมีเงินออมไว้ใช้จ่ายใน ยามชราภาพ รวมทั้งจะส่งเสริมให้ผู้ประกันตนในต่างจังหวัดได้รับรู้สิทธิประโยชน์เกี่ยว กับกรณีชราภาพโดยเฉพาะเงินออมชราภาพที่ถูกหักเงินสมทบไว้ในกองทุนชราภาพใน กองทุนประกันสังคมซึ่งมีการหักสะสมไว้ทุกเดือน เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมีเงินสะสมจำนวนเท่าใด ณ วันที่เข้าไปตรวจสอบสิทธิโดยจะจัดรถโมบายลงไปตามชุมนุมในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บริการตรวจสอบสิทธิกรณีชราภาพ อีกทั้งประชาสัมพันธ์และรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ด้วย
      
“สปส.ขอเพิ่มอัตรากำลังในช่วง 5 ปีนี้จำนวน 293 คน โดยปีนี้จะเพิ่ม 160 คน เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 และปีต่อๆ ไป เพิ่มอีกปีละ 40 คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวงแรงงานแล้ว โดยส่วนตัวดิฉันและผู้บริหาร สปส.เห็นตรงกันว่าต่อไปในอนาคต สปส.น่าจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นองค์การมหาชนเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร จัดการกองทุนที่มีเงินสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ทำได้ยากเพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และติดขัดในแง่กฎหมายโดยคณะกรรมกฤษฎีกาเคยพิจารณาไว้ว่า องค์การมหาชนส่วนมากเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ แต่ สปส.เป็นหน่วยงานให้บริการและสิ่งที่ สปส.เคยทำ เช่น การยึดทรัพย์สินนายจ้างที่ค้างจ่ายเงินสมทบและนำออกจำหน่ายเพื่อนำมาใช้หนี้ กองทุน จะไม่มีอำนาจทำเช่นนี้ได้อีกเพราะองค์การรมหาชนไม่มีกฎหมายให้อำนาจเช่นนี้ ไว้” เลขาธิการ สปส.กล่าว
      
นางอำมร กล่าวด้วยว่า สปส.จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่กองทุนประกันสังคมโดยเห็นว่าแนว โน้มตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยสดใส เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนเริ่มชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จึงเห็นชอบแผนการลงทุนในปีนี้โดยให้คงสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่าเดิม ที่ร้อยละ 7-12 และทยอยลงทุนในหุ้นต่างประเทศสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 โดยลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น นอกจากนี้ จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือกซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และให้ผลตอบ แทนที่มั่นคงในระยะยาวได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ จะกระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-1-2557)

พนักงานสยามโภชนาการ ชุมนุมประท้วงนายจ้างจ่ายโบนัสไม่ตรงตามที่เคยเรียกร้อง

3 ม.ค. 2557 - ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ รายงานว่าพนักงานบริษัท สยามโภชนาการ ย่านถนนท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ รวมตัวประท้วงไม่พอใจนายจ้างจ่ายเงินพิเศษประจำปี หรือโบนัสไม่ตรงตามที่เรียกร้อง โดยนายอนุชิต แก้วต้น เลขาธิการสภาองค์กรลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พนักงานที่ประท้วงเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ไม่พอใจนายจ้างจ่ายโบนัสให้เพียง 3 วัน จากที่เรียกร้องไป 10 วัน รวมทั้งติดประกาศห้ามเข้าทำงาน โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างข้อพิพาท แต่กลับให้พนักงานที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพ และพนักงานสมทบ หรือ ซับคอนแทค เข้าทำงานตามปกติ ส่วนสาเหตุที่จ่ายโบนัสเพียง 3 วัน นายจ้างอ้างว่าขาดทุน ขณะที่ฝ่ายพนักงานยืนยันว่าผลประกอบการโรงงานมีกำไรกว่า 30 ล้านบาท

ล่าสุด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือ แต่ผู้บริหารโรงงานปฏิเสธเจรจา จึงยังหาข้อยุติไม่ได้ พนักงานทั้งหมดได้รวมตัวกันเดินเท้าไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากผู้ว่า ราชการจังหวัด และจะชุมนุมประท้วงจนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ

จ่อขอลดโควตาแรงงานเก็บผลเบอร์รีที่สวีเดน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาแรงงานเดินทางไปเก็บผลไม้ตระกูลเบอร์รีที่ประเทศ สวีเดน แล้วไม่ได้ค่าแรงตามที่ตั้งเป้าไว้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถานทูตสวีเดน เพื่อขอให้ลดจำนวนโควตาการเดินทางไปเก็บผลไม้ตระกูลเบอร์รีจากเดิมเมื่อปี ที่ผ่านมา 6,000 คน เหลือเพียง 4,000 คน โดยจะเน้นในส่วนของผู้ที่เคยเดินทางไปแล้ว รวมถึงการอบรมอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวก่อนที่จะมีการจัดส่งแรงงานในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม นี้
      
อย่างไรก็ตาม ต้องชี้แจงว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รีในประเทศสวีเดน เป็นเหมือนของป่าที่ใครก็สามารถเก็บได้ เมื่อมีการเก็บเป็นจำนวนมาก ทำให้ล้นตลาด ราคาตกต่ำ ทำให้แรงงานไม่ได้รายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้จนเกิดการประท้วง ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมการจัดหางานได้อบรมแรงงานก่อนจะเดินทางไปอยู่แล้ว แต่แรงงานส่วนใหญ่มักไม่ตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญาให้ครบถ้วนและหลงเชื่อนาย หน้า

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-1-2557)

กพร.เล็งชง รมต.(ใหม่) ดันร่าง กม.แรงงาน

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณา นำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่แล้วเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตรวจสอบเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.นำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1
      
ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดสาขาอาชีพ หรือตำแหน่งงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือ รับรองความสามารถเพื่อให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพและ ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพการประกอบอาชีพให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งนำมาใช้คัดกรองแรงงานช่างฝีมือจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในไทย ให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพรองรับประชาคมอาเซียน (เอซี)
      
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กพร.จะร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดสาขาอาชีพหรือตำแหน่งงานที่อาจเป็น อันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะต้องดำเนินการโดย ผู้ได้รับหนังสือรับรองความสามารถ ซึ่งเบื้องต้น กพร.คาดว่าจะมีหลายสาขาอาชีพ เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ และจะเร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงให้แล้วเสร็จและเสนอต่อ รมว.รง.เพื่อพิจารณาประกาศใช้ก่อนเปิดเอซีในปี พ.ศ.2558
      
“แรงงานช่างฝีมือทั้งคนไทยและต่างชาติในสาขาอาชีพที่ประกาศกระทรวงกำหนด ไว้ จะต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและได้รับใบรับรอง ความสามารถก่อน จึงจะทำงานได้โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย จะทำให้สถานประกอบการได้แรงงานช่างฝีมือที่มีคุณภาพ”นายนคร กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-1-2556)

แนะ ก.แรงงานตั้งทีมเฝ้าระวัง อุ้มคนตกงาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยในปีนี้ว่า ตนเชื่อว่าโดยภาพรวมอุตสาหกรรมต่างๆจะอยู่ในสภาพทรงตัวโดยอุตสาหกรรมรถยนต์ คงไม่เติบโตเท่ากับปี2556 เพราะไม่มีนโยบายรถคันแรกเข้ามาช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้า และอุตสาหกรรมอาหารยังพอไปได้เพราะเป็นสินค้าจำเป็นซึ่งประเทศต่างๆยังคง ต้องซื้อจากประเทศไทย

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากก็คือสิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้ แรงงานเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างของบริษัทรับเหมาช่วงการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังวุ่นวาย ทำให้ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทยและหันไปในประเทศที่มีค่าจ้างถูกกว่า เช่น เวียดนาม ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เช่น ไอแพด ไอโฟนรายใหญ่เข้าไปตั้งฐานการผลิตแล้ว และอุตสาหกรรมก่อสร้างก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอนเพราะโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ต้องชะลอออกไป รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและเกษตรก็คงอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าห่วงคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมต่างๆซึ่งมีเงินลงทุนน้อยและใช้แรง งานมาก อาจจะมีการเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นแต่คงไม่มากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง หากบ้านเมืองสงบเร็ว จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ธุรกิจเอสเอ็มอีก็อยู่ได้

"อยากให้กระทรวงแรงงานคอยเฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์แบบรายไตรมาส ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 และต่อเนื่องไปจนตลอดปีโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาในแต่ละจังหวัดเพื่อคอยเฝ้า ระวังอย่างใกล้ชิดและลงพื้นที่สำรวจว่ามีแรงงานในอุตสาหกรรมใดบ้างที่เสี่ยง ต่อการถูกเลิกจ้าง ซึ่งควรแยกออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงเลิกจ้างมาก ปานกลางและน้อย เมื่อพบว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้างก็เร่งให้ความช่วยเหลือให้ได้รับเงินชดเชยและ เงินสิทธิประโยชน์ต่างๆจากนายจ้างตามสิทธิที่ควรได้รับ รวมทั้งจัดหางานใหม่ที่เหมาะสมให้ทำด้วย"ประธานคสรท. กล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 6-1-2556)

ฟินแลนด์เตรียมออก กม.พิเศษคุ้มครองแรงงานไทย

(7 ม.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมานายมาร์กคู วอลลิน (Markku Wallin) อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงจัดหางานและเศรษฐกิจ ประเทศฟินแลนด์ ได้มาหารือกับ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) และตน ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อฟารือเกี่ยวกับการดูแลแรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์โดย ได้พูดคุยกันถึงสภาพปัญหาของแรงงานไทย ทั้งราคาผลไม้ป่าตกต่ำ เก็บผลไม้ไม่ได้ตามที่ตกลงกับนายจ้าง การจ่ายค่าจ้างเก็บผลไม้ป่า และการกำหนดโควตาแรงงานไทยที่จะไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอให้ฟินแลนด์ประเมินจำนวนผลไม้ป่าที่จะออกมาในแต่ละ ปี และกำหนดโควตาแรงงานไทยโดยการออกวีซ่าเท่ากับจำนวนแรงงานที่ทางฟินแลนด์ต้อง การ แต่ฟินแลนด์ไม่สามารถดำเนินการข้อเสนอได้ เนื่องจากจะกลายเป็นข้อจำกัดของการแข่งขันทางการตลาดในการเก็บและขายผลไม้ ป่า
      
อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานยังได้ขอให้ฟินแลนด์ช่วยดูแลคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ ป่าให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีรายได้เหมาะสม ซึ่งฟินแลนด์แจ้งเตรียมที่จะออกกฎหมายพิเศษเฉพาะสำหรับคนไทยที่จะเป็นเก็บผล ไม้ป่าเพื่อกำหนดในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจน เช่น ขั้นตอนการนำแรงงานไทยเข้าไปเก็บผลไม้ป่า การดูแลรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย การจ่ายค่าจ้าง โดยขณะนี้ฟินแลนด์กำลังศึกษาข้อมูลในเรื่องของราคาผลไม้ การกำหนดจำนวนแรงงานไทย การจ่ายค่าจ้างเพื่อนำมาพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย
      
นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีข้อกังวลเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ ตนจึงชี้แจงไปว่าไทยมีมาตรการดูแลการจัดส่งคนไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ ฟินแลนด์เป็นอย่างดี จึงไม่น่ากังวลในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่แรงงานไทยต้องขายผลไม้ป่าให้แก่บริษัทจ้างไปทำงานเพียงรายเดียว นั้นไม่น่าห่วง เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างกันล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเดินทางไป เพียงแต่ต้องดูแลให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ทั้งนี้ ตนและนายมาร์กคู วอลลิน ได้ลงพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น และ จ.ชัยภูมิ ไปพูดคุยกับแรงงานไทยที่เคยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ในวันที่ 7 ม.ค.เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากแรงงานไทยนำมาวางมาตรการแก้ปัญหาและดูแลแรงงานไทยต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-1-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net