Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยกคำร้องผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ที่ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ชี้สมาชิกแต่ละพรรคการเมืองยังไม่ผ่านขั้นตอนการสมัครของ กกต. จึงไม่เข้าข้อกฎหมายที่ศาลจะรับรองให้ได้ ด้าน กกต.เผย 2 แนวทางหลังศาลสั่งไม่รับคำร้อง      

9 ม.ค.2557 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า ศาลได้มีคำสั่งการวินิจฉัยสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง คดีหมายเลขดำ ลต.1/2557 ที่นายจิรยุทธ สุดจิตร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาสามัคคี ยื่นคำร้องเพื่อขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยมี ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 7 จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ถูกกล่าวหา

ตามคำร้องนายจิรยุทธ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.57 สรุปว่า ในวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ร้องได้เดินทางจะไปยื่นใบรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งสถานที่สมัครอยู่ภายในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 (ค่ายศรีนครินทรา) ม.7 ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แต่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าไปสมัครได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัคร ดังนั้นผู้ร้องจึงเข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.ทุ่งสง พร้อมกับได้แสดงหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคประชาสามัคคีที่ให้เห็นว่าเป็นผู้ส่งผู้ร้องเข้าสมัครรับเลือกตั้งและหลักฐานการสมัครอื่นครบถ้วน จึงขอให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้ผู้ร้อง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 7 จ.นครศรีธรรมราช

โดยศาลฎีกาฯพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 219 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติไว้เป็นการทั่วไป ส่วนการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็ได้บัญญัติไว้ว่า กรณีที่ผู้สมัครรายใดไม่มีชื่อ เป็นผู้สมัครในประกาศของ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมาตรา 37 ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา และถ้าศาลมีคำสั่งให้รับสมัครได้ก็ให้ประกาศชื่อผู้นั้น ตามมาตรา 37 แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำสั่งศาล

และมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติว่า เมื่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ได้รับใบสมัครของผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐาน และออกใบรับให้แก่ผู้สมัครพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับการยื่นใบสมัคร ตามที่บัญญัติในมาตรา 36 และให้ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร รวมทั้งสอบสวนว่าผู้สมัครมีสิทธิจะสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่โดยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันปิดการรับสมัคร ถ้าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งได้ก็ให้ประกาศรับสมัครไว้โดยเปิดเผย จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้มีคำสั่งตามมาตรา 39 นั้นต้องเป็นผู้สมัครที่ไม่มีชื่อตามประกาศของ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ตามมาตรา 37 ซึ่งหมายถึงผู้สมัครนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ได้รับใบสมัคร ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐานและออกใบรับให้แก่ผู้นั้นแล้ว ต่อมา เมื่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ตรวจสอบหลักฐานการสมัครและสอบสวนแล้วเห็นว่า ผู้นั้นไม่มีสิทธิที่จะรับสมัครเลือกตั้งและไม่ประกาศชื่อ ผู้นั้นจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้สมัครได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว

แต่กรณีของผู้ร้องดังกล่าว ยังไม่ผ่านขั้นตอนการยื่นใบสมัครจึงไม่มีการลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐานและไม่มีการออกใบรับรองให้ อีกทั้งผู้ร้องยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นหรือไม่ เมื่อผู้ร้องยังไม่ใช่ผู้สมัครที่ผ่านขั้นตอนการรับสมัครโดยครบถ้วนตามมาตรา 37 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา

ส่วนที่ผู้ร้อง ขอให้ศาลถือรายงานประจำวัน ของ สภ.ทุ่งสง เป็นการยื่นใบสมัครนั้น เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ซึ่งมาตรา 235 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ส.ส.ฯ มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ยื่นใบสมัครต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้น ณ สถานที่ที่กำหนด ภายในระยะเวลาสมัคร ดังนั้นการที่ผู้ร้อง ไม่สามารถยื่นใบสมัครต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จากเหตุที่มีผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องควบคุมและดำเนินการจัดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมต่อไป ไม่ใช่กรณีที่ผู้สมัครจะมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามรัฐธรรมนูญฯ ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคำขอให้ศาลฎีกา มีคำสั่งถือเอารายงานประจำวัน ของ สภ.ทุ่งสง เป็นการยื่นใบสมัครนั้น ก็ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณา จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกาฯ วินิจฉัยและมีคำสั่งแล้ว ก็ได้ปิดประกาศคำสั่งไว้ที่หน้าศาล และให้คำสั่งดังกล่าวมีผลทันที ทั้งนี้ส่วนคำร้องของกลุ่ม ว่าที่ผู้สมัครพรรคชาติพัฒนา  พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคเล็กต่างๆ ที่ยื่นให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยกรณีเดียวกัน ที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 6 - 9 ม.ค.นี้ รวม 107 คดี ศาลฎีกาฯ จะทยอยแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งหมดทราบโดยเร็วต่อไป

 

กกต.เผย 2 แนวทางหลังศาลสั่งไม่รับคำร้อง
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวหลังทราบคำสั่งศาลฎีกาที่ไม่รับคำร้องของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร ส.ส.ใน 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจของ กกต.ต้องดำเนินการ ว่า ทราบว่าศาลมีคำสั่งเช่นนั้น ซึ่งคงต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือมายังกกต.ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เพราะเกรงว่างบประมาณจัดการเลือกตั้ง 3 พันล้านจะสูญเปล่านั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ตนเองยังไม่เห็นหนังสือ ทราบแต่ว่า สตง. มีหนังสือมาเท่านั้น ซึ่งสตง.ควรทำหนังสือไปยังรัฐบาลมากกว่า เพราะกกต.ไม่มีอำนาจที่จะเลื่อนการเลือกตั้งได้ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กกต. ก็ต้องจัดการเลือกตั้งต่อไป

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ทราบคำสั่งศาลฎีกาแล้ว แต่ กกต.คงไม่สามารถกำหนดวันรับสมัครส.ส.ใน 28 เขต 8 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้สมัครเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจากเลยกรอบระยะเวลามาแล้ว หากดำเนินการจะกระทบต่อแผนงานจัดการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีนี้กกต.คงต้องหารือกับรัฐบาล

นายสมชัย ระบุว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า แนวทางที่จะให้ 28 เขตเลือกตั้งสามารถรับสมัครได้ คือรัฐบาลต้องเสนอออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ.  หรือถ้ารัฐบาลเห็นว่า กกต.สามารถดำเนินการรับสมัครเองได้ ก็ให้กกต.ออกเป็นประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องเป็นหลังวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.ไปแล้ว โดยในการประชุม กกต.สัปดาห์หน้าคงได้มีการพูดคุยกันในประเด็นที่จะหารือกับ ครม. และการที่ กกต.จะหารือกับรัฐบาลก็น่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานกกต.ได้มีหนังสือไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้พิจารณาว่าสถานที่เลือกตั้งกลางที่แต่ละจังหวัดกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัดไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งแต่ละจังหวัดได้มีการเสนอมายังสำนักงานนั้น มีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากมีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งหากเห็นว่าไม่ปลอดภัยก็ให้จัดหาสถานที่ใหม่และเสนอเรื่องมายังกกต.พิจารณาภายในวันที่ 13 ม.ค. แต่ในทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) กกต.ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งส.ส.ให้กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งกทม. จึงเป็นไปได้ว่าจะได้มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าวรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ส่วนกรณีที่กลุ่ม กปปส.จะมาตั้งเวทีปราศรัยที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานกกต.ในวันจันทร์ที่ 13 ม.ค.นี้ ทางสำนักงาน กกต.ก็เตรียมสถานที่สำรองในการปฏิบัติงานไว้รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสำนักงาน กกต. จ.ชลบุรี  ซึ่งทางสำนักงานจะแยกหน่วยงานปฏิบัติในด้านต่างๆ ไว้ใน 4 สถานที่นี้ ซึ่งในส่วนของกกต. 5 คนหากจะต้องมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะมีการแจ้งสถานที่ประชุมให้ กกต.ทราบเป็นครั้งๆ ไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net