Skip to main content
sharethis

10 ม.ค. 2557 - ในสัปดาห์ที่สอง ของเดือนมกราคมทุก ๆ ปี ถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังต้องประสบกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ ของเด็กๆ อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี ในปีพ.ศ.2556ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กบาดเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 899,817 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุจราจร มากเป็นอันดับหนึ่ง 319,794 คน อุบัติเหตุอื่นๆเช่น การพลัดตกหกล้ม 91,902 คน ถูกทำร้าย 29,946 คน  ไฟไหม้น้ำร้อนลวก สารเคมี ไฟฟ้าช๊อต 3,612  คน  บาดเจ็บทางน้ำ 1,598 คน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปี 2556 ที่ผ่านมาสถิติการให้ความช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน จากอุบัติเหตุจราจร มาเป็นอันดับหนึ่งมากถึงสามแสนกว่าคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเพราะเด็ก เมื่อประสบอุบัติเหตุแนวโน้มในการเสียชีวิตจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจะมีสูงมากเนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ ไม่สวมหมวกนิรภัย และในกรณีนั่งรถยนต์เด็กที่เล็กมากๆ จะนั่งท้ายเบาะหรือนั่งบนตักของผู้ปกครองจึงไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กๆ จึงได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะไม่มีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยให้กับเด็กเลย ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานในการโดยสารรถยนต์ด้วยความระมัดระวัง ครอบครัวที่ต้องนำเด็กซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ควรหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็กให้ใส่ หากเกิดอุบัติเหตุกับเด็กจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้ และหากจำเป็นต้องนำเด็กเล็กโดยสารไปกับรถยนต์ด้วย ก็ควรจัดหาเบาะนั่งสำหรับเด็กหรือคาร์ซีทที่มีเข็มขัด นิรภัยสำหรับเด็กติดกับที่นั่งมาไว้ใช้ก็จะเป็นการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทางรถยนต์ได้อีกวิธีหนึ่งด้วย

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวอีกว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับเด็กที่น่าเป็นกังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือไฟฟ้าช๊อต จากสถิติการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการถูกไฟฟ้าช๊อตมีมากถึงสามพันกว่าคน สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยผู้ปกครองควรหมั่นสำรวจและตรวจตราปลั๊กไฟในบ้านว่ามีการรั่วหรือไม่ หากพบเห็นไฟรั่วต้องรีบทำการซ่อมแซม ส่วนบ้านไหนที่มีเด็กเล็กมากๆ ควรวางปลั๊กไฟให้ห่างไกลจากเด็กไม่ให้นำมือมาแหย่ปลั๊กไฟเล่นได้ หรือควรหาฝาครอบปลั๊กไฟมาใช้ในกรณีที่ไม่สามารถย้ายปลั๊กไฟได้ ทั้งนี้เมื่อเราพบเห็นเด็กถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ให้รีบตัดกระแสไฟและหาวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนา จากนั้นผลักหรือฉุดตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าช๊อตให้หลุดออกมาโดยเร็ว และควรรีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพที่สายด่วน 1669 เข้าให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว

นพ.อนุชา ยังกล่าวถึงการช่วยชีวิตเด็กที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำซึ่งมีสถิติในปี 2556 ที่ผ่านมามากถึงพันกว่าคนอีกด้วย โดยระบุว่า ปัญหาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะส่งผลต่อการเสียชีวิตของเด็ก เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ลงไปเล่นน้ำโดยว่ายน้ำไม่เป็น วิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำในเบื้องต้นเมื่อประสบเหตุว่า หากพบเห็นเด็กกำลังจมน้ำสิ่งที่ต้องรีบทำ เป็นอันดับแรกคือต้องนำเด็กขึ้นจากน้ำให้ได้อย่างเร็วที่สุด และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ให้จัดส่งเจ้าหน้าเข้ามาช่วยเหลือเด็กให้ได้อย่างทันท่วงที สิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบาก ทั้งนี้เมื่อท่านนำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วให้รีบนำเด็กวางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ให้คลำชีพจร ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจ ( CPR) ซึ่งการทำ CPR ในเด็กเล็กจะแตกต่างกับการทำCPR ในผู้ใหญ่เล็กน้อย สำหรับขั้นตอนการทำCPR ดังนี้ คือเมื่อปลุกเรียกแล้วสังเกตว่าเด็กส่งเสียงหรือเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่ตอบสนอง ให้ทำการฟื้นคืนชีพทันทีจนครบ 2 นาที

“ไม่ว่าจะวันเด็กปีไหน ๆ เราก็อยากเห็นเด็กๆ ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขมากกว่าการที่จะต้องมาเจ็บป่วย ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นว่ากรณีไหนที่จะทำให้ลูกหลานของเราเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินเราก็ต้องดูแลและป้องกันเด็กๆ และต้องคอยสอนให้เด็กๆ สามารถดูแลตนเองเมื่อต้องพบเจอกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และจดจำสายด่วน 1669 เรียกใช้ทันทีเมื่อพบเหตุบาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ในวันเด็กปีนี้”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net