นักข่าวอเมริกันวิเคราะห์กระแสผู้สนับสนุนสุเทพ จากกรณีแห่โหวตบุคคลแห่งปีเว็บต่างประเทศ

เว็บไซต์ Asia Society แปลกใจมากที่จู่ๆ ก็มีคนระดมโหวตให้สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นบุคคลแห่งปีของเว็บไซต์ ทำให้มีการสัมภาษณ์นักข่าวที่รายงานเรื่องความขัดแย้งการเมืองไทย เพื่อหาคำตอบว่าสุเทพเป็นใคร และกระแสสนับสนุนส่วนนี้มาจากไหน

10 ม.ค. 2557 เว็บไซต์ Asia Society รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. หลังจากที่มีกลุ่มคนมาโหวตให้สุเทพเป็นบุคคลแห่งปี 2556 ในเว็บไซต์ของพวกเขาอย่างถล่มทลาย

เว็บไซต์ Asia Society ซึ่งเป็นองค์กรสร้างความเข้าใจเพื่อกระชับสัมพันธ์สหรัฐฯ กับประเทศในทวีปเอเชียระบุว่า หลังจากที่มีการเปิดโพลล์ให้ผู้อ่านโหวตบุคคลแห่งปี 2556 ในเอเชีย ก็มีผู้คนแห่เข้าไปโหวตให้สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. กันอย่างล้นหลาม

สุเทพได้รับคะแนนโหวตในเว็บไซต์ประมาณ 116,000 เสียง คิดเป็นร้อยละ 88 ของผลโหวตทั้งหมด ขณะที่มาลาลา ยูซาฟไซ ผู้เรียกร้องสิทธิให้กับการศึกษาของสตรีในปากีสถานได้รับคะแนนเสียงประมาณ 12,000 เสียง โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่การเปิดให้โหวตในวันที่ 20 ธ.ค. 2556 ดูเหมือนว่ามาลาลาน่าจะชนะคะแนนในการโหวตครั้งนี้แล้วเนื่องจากสุเทพมีคะแนนโหวต 0 คะแนน ก่อนช่วงปีใหม่

Asia Society ระบุว่าหลังจากเข้าสู่ปีใหม่ 2557 ได้ไม่นาน หน้าโพลล์สำรวจของพวกเขาก็มีผู้เข้าชม 172,000 ครั้ง โดยมี 165,000 ครั้งเป็นผู้เข้าชมจากประเทศไทย การเข้าชมส่วนใหญ่มาจากการคลิกเข้ามาทางเฟซบุ๊กและส่วนหนึ่งก็มาจากเว็บบอร์ดบางแห่งของไทย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นในการโหวตปี 2555 ที่มีผู้สนับสนุนอิมราน ข่าน ผู้นำกลุ่มพรรคฝ่ายค้านของปากีสถาน ใช้โซเชียลมีเดียในการเชิญชวนให้คนเทคะแนนโหวตให้

อย่างไรก็ตาม Asia Society ระบุว่าผลโหวตในครั้งนี้ทำให้พวกเขาตั้งคำถามว่าเป็นผลโหวตของจริงหรือไม่ หรือเว็บไซต์ของพวกเขาโดนแฮ็ก แต่เมื่อเทียบกับเลขสถิติอื่นๆ เช่นผู้เข้าชมจากประเทศไทย จำนวนไลค์ในเฟซบุ๊ก จำนวนผู้แสดงความคิดเห็น รวมถึงผู้ที่ลงคะแนนเสียงด้วยการเขียนชื่อแล้ว พวกเขาก็พบว่าการโหวตนี้มาจากคนจริงๆ ที่มีความจริงจังมาก

เรื่องนี้ทำให้ Asia Society เกิดความสนใจสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นมาถึงได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ แพทริค วินน์ นักข่าวอาวุโสประจำพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักข่าว GlobalPost ผู้ทำข่าวการประท้วงในไทยตั้งแต่ปี 2551

Asia Society คั้งคำถามว่าสุเทพเป็นใครและกำลังเคลื่อนไหวอะไรในไทย ซึ่งวินน์ตอบว่าบางคนอาจจะมองสุเทพเป็นกบฏ แต่บางคนก็อาจจะมองเป็นวีรบุรุษ เขามีอาชีพนักการเมืองมาตั้งแต่ราว 40 ปีที่แล้ว ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองไทยต้องนับว่าเขาเป็นคนที่เอาตัวรอดได้เก่ง

วินน์กล่าวว่า สุเทพผันตัวมาเป็นผู้นำการกำจัดการทุจริตในประเทศไทย แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง สุเทพได้รับการสนับสนุนยกย่องจากกลุ่มผู้ติดตามที่มีความเลื่อมใสมากแต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนทั้งหมด

วินน์กล่าวอีกว่าวิธีการที่สุเทพคิดจะใช้ในการกำจัดทุจริตคอร์รัปชั่นก็เป็นวิธีการสุดโต่งมากคือการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งสภาผู้ทรงภูมิปัญญาขึ้นมาแทน ซึ่งดูเหมือนว่าสุเทพและพรรคพวกของเขาจะได้รับสิทธิพิเศษจากกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งกันเองกลุ่มนี้ สำหรับวินน์แล้วฟังดูเหมือนพวก 'โปลิทบูโร' (คณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ในโซเวียต)

เมื่อ Asia Society ถามว่า สุเทพได้รับความนิยมขนาดไหน และอะไรที่ดึงดูดให้คนติดตามเขา วินน์ก็ตอบว่าก่อนหน้านี้สุเทพไม่เคยเป็นผู้นำมวลชนเช่นนี้มาก่อน เขาเหมือนเป็นคนคุมเกมการเมืองที่สามารถรอดข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาได้ เขาเป็นนักการเมืองแนวลุยๆ ที่ไม่สนว่าจะเหยียบเท้าใครเพื่อให้เป้าหมายลุล่วง ชวนให้นึกถึงดิก เชนีย์ (นักการเมืองพรรคริพับลิกันผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสมัยจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช)

วินน์กล่าวว่าความพยายามปราบปรามการคอร์รัปชั่นของเขามักจะถูกตีความไปในทางการต่อต้านกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามคือเครือข่ายตระกูลชินวัตรที่มีอำนาจมาก ซึ่งสามารถชนะการเลือกตั้งระดับประเทศได้มาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว แต่อดีตนายกฯ ทักษิณก็กำลังหลบหนีการดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นอยู่ที่ดูไบ ขณะเดียวกันฐานเสียงของทักษิณมักจะมาจากต่างจังหวัด โดยสุเทพก็อาศัยความเชื่อที่ว่าการให้อำนาจแก่คนในจังหวัดอื่นจะทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่ดีเป็นแรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของตน

จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชียระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงของสุเทพส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาและมีฐานะ ร้อยละ 85 จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมฯ และมากกว่าครึ่งมีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท

วินน์บอกว่าการที่คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ทำให้พวกเขาสะท้อนความคิดเห็นของตัวเองไปมาและอาจทำให้เกิดความคิดแบบสุดโต่งจากการอยู่รวมกันของคนที่คิดแบบเดียวกันอย่างเดียวได้ พวกเขายังสามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่หาเงินทุน จัดการประท้วงปิดถนน ตามฟลัดความคิดเห็นในเพจของเฟซบุ๊กด้วยท่าทีดูถูกคนอื่น รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Asia Society คือการทำให้ผลโพลล์ไปในทางที่พวกตนต้องการ

เมื่อถามวินน์ว่าเขารู้สึกแปลกใจหรือไม่ที่เกิดปรากฏการณ์คนยกขบวนโหวตให้สุเทพซึ่งดูจะจริงจังมากกับผลโพลล์ท้ายปี และปรากฏการณ์นี้แถลงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับสุเทพ วินน์ตอบว่ากลุ่มคนที่ร่วมโหวตเป็นคนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำอยู่แล้วและเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์ฟรีๆ

"จากการที่ผมทำข่าวการประท้วงตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ผมคงต้องบอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มนี้มีความคิดจิตใจที่มีลักษณะเฉพาะ คนส่วนมากมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็น 'ทหารเดินเท้า' ในการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทย" วินน์กล่าว

"การทำกิจกรรมของพวกเขายึดพื้นที่ชีวิตประจำวันของพวกเขาไปหมด แม้แต่ใน 'โลกความจริง' พวกเขาก็มักจะสวมของที่ใส่ในการประท้วง มักจะเป็นพวกริบบิ้นหรือนกหวีดเวลาออกไปกินข้าวเย็นหรือตอนทำงาน" วินน์กล่าว

หลังจากที่เขาได้รับคำถามจาก Asia Society แล้วเขาก็เกิดความสงสัยจึงได้สืบค้นเรื่องราวของผู้ชุมนุมที่ร่วมโหวตในพลล์ เขาพบว่าคนโหวตคนหนึ่งเห็นเพื่อนเขาโหวตให้สุเทพผ่านทางเฟซบุ๊ก และคิดว่าการโหวตโพลล์นี้เป็น "แค่เรื่องที่ทำตามเทรนด์" โดยที่ผู้โหวตคนนี้ไม่เคยรู้จักเว็บ Asia Society มาก่อนและรู้สึกดีที่วิธีนี้ได้ผล

เมื่อ Asia Society ถามว่าสุเทพเป็นคนที่สร้างกรณีให้เกิดข้อถกเถียง (controversial) หรือไม่ วินน์ยกเรื่องแผนการ 'ปิดกรุงเทพฯ' เพื่อล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งว่าเป็นสิ่งที่สร้างข้อถกเถียงอย่างมาก (hugely controversial) รวมถึงการที่สุเทพประกาศว่าตนเองเหมาะสมในการเข้าร่วมสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นตัวการอย่างดีในการสร้างข้อถกเถียง

Asia Society ยังได้ถามความคิดเห็นของวินน์ว่าสุเทพจะมีชะตากรรมเช่นใดในปีนี้ วินน์ตอบว่า "การเมืองไทยมีการหักมุมยิ่งกว่าละครน้ำเน่า การคาดเดาล่วงหน้าอาจทำให้คุณดูกลายเป็นคนโง่ได้"

อย่างไรก็ตาม วินน์บอกว่า เขาเสี่ยงทายไว้อย่างหนึ่งคือสุเทพจะยังไม่เข้าคุกง่ายๆ ภายในปีนี้จนถึง ม.ค. 2558 วินน์บอกว่าแกนนำผู้ชุมนุมที่แม้จะถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและก่อกบฏ พวกเขาต่างมีวิธีในการเลี่ยงคุกหรืออย่างน้อยก็ประกันตัวออกมาได้หลังจากติดคุกไปไม่นาน

"สุเทพเป็นคนที่มีเส้นสายและได้รับการสนับสนุนจากคนระดับสูง การมีเส้นสายเช่นนี้เป็นแรงผลักดันให้คนบางคนนำขบวนการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาล" วินน์กล่าว

วินน์ยังได้อ้างถึงคำกล่าวของสุนัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ที่กล่าวในการให้สัมภาษณ์วินน์เมื่อไม่นานมานี้

"แกนนำผู้ชุมนุมใช้คำขวัญในเชิงเผชิญหน้าและชาตินิยมในการปลุกระดมผู้ชุมนุม แต่ก็เป็นไปได้ยากที่แกนนำการชุมนุมจะได้รับผลกระทบโดยตรง แทบทุกครั้งที่มีการเผชิญหน้าพวกเขาจะหนีไปได้โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ" สุนัยกล่าว "ความเป็นจริงแตกต่างกันอย่างมากกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกสังหาร ได้รับบาดเจ็บหรือพิการ ...พวกเขาไม่ได้รับสิทธิพิเศษเช่นเดียวกับแกนนำของพวกเขา"

 

เรียบเรียงจาก

How Thailand's Suthep Thaugsuban Ran Away With Our Person of the Year Poll, Asia Society, 10-01-2014
http://asiasociety.org/blog/asia/how-thailands-suthep-thaugsuban-ran-away-our-person-year-poll

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท