Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงถาม-ตอบในงานแถลงการณ์ของ ‘เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา’ ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2557 ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะผู้ร่วมแถลงได้ตอบคำถามมีเนื้อหาบางตอนว่า

“ถ้าคุณสุเทพได้อำนาจรัฐไป ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ได้อำนาจรัฐกลับมา...โปรดเคารพเสียงข้างน้อยด้วย”

ข้อความนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ ‘เสียงข้างน้อย’ สิ่งที่น่าสนใจคือ ดร. สมเกียรติกำลังกล่าวถึงอำนาจรัฐสองแบบซึ่งไม่เหมือนกันและจะทำให้พฤติกรรมของรัฐที่มีต่อ ‘เสียงข้างน้อย’ แตกต่างกันไปด้วย คือรัฐแบบคุณสุเทพ-ไม่ผ่านการเลือกตั้ง และรัฐแบบคุณยิ่งลักษณ์-ผ่านการเลือกตั้ง คำถามคือ รัฐทั้งสองแบบนี้จะสามารถ ‘เคารพต่อเสียงข้างน้อย’ ได้หรือไม่ อย่างไร?

เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นต้องมีการระบุว่า ‘เสียงข้างน้อย’ คือใครบ้าง และน่าจะสามารถใช้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับ ‘เสียงข้างน้อย’ ในอดีตเป็นเครื่องมือประเมินพฤติกรรมของรัฐต่อ ‘เสียงข้างน้อย’ ในอนาคต

ใครคือ ‘เสียงข้างน้อย’?

ถ้า ‘เสียงข้างน้อย’ เน้นเชิงปริมาณ ‘เสียงข้างน้อย’ ก็คือ คนจำนวนน้อยหรือคนจำนวนน้อยกว่า

‘เสียงข้างน้อย’ ดังกล่าวอาจหมายถึง ชนชั้นนำทางประเพณี กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เหล่าข้าราชการระดับสูงโดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายตุลาการในปัจจุบัน, ‘ชนชั้นปริญญาบัตร’ ได้แก่ นักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะและเทคโนแครต ที่โดยธรรมชาติจะมีจำนวนน้อยกว่าประชาชนทั่วไป รวมทั้งเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้ง เช่น สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 เสียงข้างน้อยคือเสียงของผู้ลงคะแนนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดส่วนใหญ่ในภาคใต้

หากย้อนไปดูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ ‘เสียงข้างน้อย’ ในลักษณะดังกล่าวนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยพิจารณาจากการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบาย โครงสร้างทางกฎหมาย ผลลัพธ์เชิงสถานะทางเศรษฐกิจสังคม สัดส่วนการกระจายงบประมาณ การรับฟังความเห็นและความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นของกลุ่มคนเหล่านี้ของรัฐบาลชุดต่าง ๆ มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้คือ

ในทางนโยบาย รัฐใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่สมดุลตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 เลือกพัฒนาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม (ประชากรน้อยแต่มูลค่าสูง) มากกว่าภาคเกษตร (ประชากรมากแต่มูลค่าต่ำกว่า)

ในทางโครงสร้างกฎหมาย งานวิจัยเรื่อง “การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลระบุว่ารัฐธรรมนูญที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี “ทำให้ประชาชนในส่วนล่างของสังคมเผชิญกับปัญหา...ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางกฎหมาย...ทั้งยังไม่ต้องเอ่ยถึงท่าทีของรัฐซึ่งยึดถือพันธกิจต่อภาคธุรกิจมากกว่า” (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2553, น. 178) 

ผลลัพธ์เชิงสถานะทางเศรษฐกิจแสดงว่าคนจำนวนน้อยมีความมั่งคั่งมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ จากข้อมูลเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 ผู้มีบัญชีเงินฝากร้อยละ 86.59 มีสัดส่วนเงินฝากเพียงร้อยละ 3.36 ในขณะที่ผู้มีบัญชีเงินฝากจำนวนไม่ถึงร้อยละ 2 มีสัดส่วนเงินฝากถึงร้อยละ 74.34 (ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่าน ภาวิน ศิริประภานุกูล, “การถือครองสินทรัพย์ในประเทศไทย,” พ.ศ. 2555)

ในด้านสัดส่วนการกระจายงบประมาณ คนกรุงเทพซึ่งเป็นจังหวัดที่เลือกผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีจำนวนประชากรประมาณร้อยละ 17 ของประเทศ แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณถึงประมาณร้อยละ 72 ของประเทศ (The World Bank, “Thailand Public Finance Management Review Report 2012) 

ทั้งนี้มิต้องพูดถึงความเป็นอิสระจากรัฐในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของกองทัพ รวมถึงความเห็นของผู้บัญชาการกองทัพและตุลาการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายหรือละเมิดอำนาจของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน

หาก ‘เสียงข้างน้อย’ เน้นไปที่การมีหรือไม่มีอำนาจและหมายถึงผู้ที่มีอำนาจน้อย ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ (จน) อำนาจทางการเมือง (ไม่มีเครือข่ายเข้าถึงอำนาจ) และอำนาจทางสังคม (ถูกเหยียดชนชั้น เพศ ข้อจำกัดทางกายภาพ ฯลฯ) ข้อคัดค้าน ข้อเสนอและข้อเรียกร้องของผู้มีอำนาจน้อยเหล่านี้มักจะถูกละเลยได้ง่ายจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อเรียกร้องนั้นขัดแย้งกับนโยบายรัฐแม้แต่ในสมัยของรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเองก็ตาม เพราะรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยออกมติคณะรัฐมนตรีกำชับให้เจ้าหน้าที่รัฐถือหลักปฏิบัติการตามกฎหมายจัดการกับผู้ชุมนุมเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2553, น. 179) ผลที่ตามมาคือ การจับกุมคุมขังและใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลหรืออย่างน้อยเรียกร้องให้รัฐอย่าร่วมรังแกพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูล โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กรณีชาวนาลำพูน กรณีเกษตรกรสวนปาล์มสุราษฎร์ธานี (เล่มเดียวกัน, น. 183)

‘เสียงข้างน้อย’ ที่ด้อยอำนาจจึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนกลุ่มเล็กของประเทศ กระทั่งอาจเป็นคนส่วนใหญ่เพียงแต่ถูกรัฐทอดทิ้งหรืออย่างน้อยก็ปล่อยให้เข้าคิวรอความเจริญอยู่ท้ายแถวอย่างถาวร

ค่อนข้างชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐให้ความเคารพอย่างสูงต่อ ‘เสียงข้างน้อย’ ของชนชั้นนำและละเลย ‘เสียงข้างน้อย’ ที่ด้อยอำนาจ พูดง่าย ๆ คือ รัฐไทยไม่เคยล่วงล้ำเข้าไปในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของ ‘เสียงข้างน้อย’ ในเชิงปริมาณดังกล่าวมากไปกว่าที่กระทำต่อภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม

ถึงที่สุดแล้วอำนาจ เป็นสิ่งกำหนดเสียงที่ส่งไปยังรัฐ เสียงที่รัฐมักไม่ค่อยจะรับฟังคือเสียงที่มีอำนาจน้อย โดยเฉพาะเสียงอำนาจน้อยที่เห็นต่างทางการเมือง เพราะการเมืองคือการต่อรอง-ต่อสู้เพื่อปรับสถานะสูงต่ำทางอำนาจในสังคมใหม่ เหตุการณ์ที่น่าจะประเมินศักยภาพในการ ‘เคารพเสียงข้างน้อย’ ของรัฐได้ดีที่สุดคือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน

รัฐไทยปฏิบัติต่อ ‘เสียงข้างน้อย’ อย่างไร?

ความเคารพต่อเสียงข้างน้อยของรัฐแสดงออกในรูปแบบของการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยเฉพาะในสิทธิพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของพลเมืองคือสิทธิในร่างกายและชีวิตของตนเอง ระดับความยับยั้งชั่งใจของรัฐในการล่วงละเมิดร่างกายและชีวิตของประชาชนจึงเป็นดัชนีประเมินความสามารถของรัฐที่จะเคารพเสียงประชาชนได้

ดังนั้น ความสามารถในการเคารพ ‘เสียงข้างน้อย’ ของรัฐ สามารถประเมินได้จากความอดทนอดกลั้นของรัฐและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองสุดขั้วระหว่างรัฐกับประชาชน

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2557) คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลทักษิณ พ.ศ. 2549  พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลสมัครและสมชาย พ.ศ. 2551 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติกับรัฐบาลอภิสิทธิ์สองรอบ รอบแรก พ.ศ. 2552 รอบสอง พ.ศ. 2553  และระหว่าง กปปส. กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พ.ศ. 2556- ปัจจุบัน ผลปรากฏดังนี้

ลำดับ เหตุการณ์และคู่กรณี หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการควบคุมการชุมนุม รวมระยะเวลาในการชุมนุม จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
1 พ.ศ. 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลทักษิณ ตำรวจ ประมาณ 8 เดือนระหว่าง ก.พ. – ก.ย. 2549 ไม่ปรากฏข้อมูล
2 พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลสมัครและสมชาย ตำรวจ ประมาณ 8 เดือนระหว่าง พ.ค. – ธ.ค. 2551 บาดเจ็บ 737 ราย เสียชีวิต 8 ราย
3 พ.ศ. 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทหาร ประมาณ 1 เดือน มี.ค. – เม.ย. 2552 บาดเจ็บ 120 ราย เสียชีวิต 6 ราย
4 พ.ศ. 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทหาร ประมาณ 3 เดือน มี.ค. – พ.ค. 2553 บาดเจ็บ 1,700 ราย เสียชีวิต 92 ราย
5 พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน ระหว่าง กปปส. กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตำรวจ ตั้งแต่ 4 พ.ย. – ปัจจุบัน กปปส. บาดเจ็บประมาณ 26 ราย เสียชีวิต 2 ราย จนท. ตำรวจบาดเจ็บ 28 ราย เสื้อแดงเสียชีวิต 3 ราย

ที่มา: ข้อมูลในลำดับที่ 1,2, และ 4 จากการรวบรวมของอุเชนทร์ เชียงแสนใน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, สุนทรียศาสตร์กับการเมืองภาคประชาชน, 2554, น. 251-285. และ ศิวัช ศรีโภคางกุล, เผชิญภัยความรุนแรงด้วยปรองดอง? บทเรียนจากต่างแดน, 2555, น. 22. ข้อมูลในลำดับที่ 3 จาก วิกิพีเดีย, ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 (เข้าถึงวันที่ 13 ม.ค. 2557) ข้อมูลในลำดับที่ 5 สรุปจาก วิกิพีเดีย, วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 (เข้าถึงวันที่ 13 ม.ค. 2557)

 

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่าการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมได้ยาวนานและมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าคือการชุมนุมในสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชายและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งใช้ตำรวจเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมผู้ชุมนุม ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งใช้ทหารเป็นกลไกในการควบคุมสถานการณ์นั้น ผู้ชุมนุมมีเวลาในการชุมนุมสั้นกว่าและมีระดับความรุนแรงมากกว่า

การที่รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชายและรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีระดับความอดทนอดกลั้นและควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ดีกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นผลมาจากคุณลักษณ์ส่วนบุคคลของผู้นำรัฐบาล เพราะการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลในระบบการเมืองแม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลมาจากแรงกดดันจากกลุ่มอำนาจหลายแหล่ง

ในแง่นี้ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชายและรัฐบาลยิ่งลักษณ์แตกต่างกับรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ การยึดโยงกับประชาชนของรัฐบาล การที่รัฐบาลจำเป็นต้องขอเสียงจากประชาชนในการเข้าสู่อำนาจทำให้รัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะอดทนอดกลั้นต่อการเรียกร้องของประชาชนเพื่อหวังผลในการเข้าสู่อำนาจครั้งต่อ ๆ ไป ในขณะที่รัฐบาลที่สามารถเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและอำนาจวงเล็ก มีการยึดโยงกับประชาชนในระดับต่ำจึงมีแรงจูงใจน้อยกว่าในการอดทนอดกลั้นต่อประชาชนเพราะสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก

หากกลุ่ม กปปส. นำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณได้อำนาจรัฐไปจริงตามที่ ดร. สมเกียรติ ว่าไว้ โดยที่คุณสุเทพไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง หนทางเดียวที่คุณสุเทพจะได้อำนาจรัฐคือกระบวนการนอกระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่มีการยึดโยงกับประชาชนอย่างกว้างขวางครอบคลุม

เพื่อที่จะมีอำนาจรัฐและสืบอำนาจรัฐต่อไป รัฐแบบคุณสุเทพย่อมต้องเจรจาต่อรองกับคนกลุ่มเล็กที่มีอิทธิพลและอำนาจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้คุณสุเทพจะมีความต้องการที่จะปฏิรูปการเมืองเพื่อประชาชนจริง แต่การเข้าสู่อำนาจด้วยบารมีของคนกลุ่มเล็กทำให้คุณสุเทพย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมปฏิบัติตามความต้องการของคนกลุ่มดังกล่าวเพราะพวกเขาคือแหล่งที่มาของอำนาจรัฐของคุณสุเทพ ผลท้ายที่สุดคือรัฐของคุณสุเทพมีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวางหากผลประโยชน์ของประชาชนขัดแย้งกับคนกลุ่มดังกล่าว

เสียงที่รัฐบาลของคนอย่างคุณสุเทพจะฟังคือเสียงของชนชั้นนำจำนวนน้อย ไม่ใช่ ‘เสียงข้างน้อย’

ด้วยเหตุนี้รัฐที่ปฏิเสธการเลือกตั้งอันเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่แสดงออกถึงการยึดโยงกับประชาชนจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเคารพ ‘เสียงข้างน้อย’

ดีที่สุดเท่าที่ประชาชนจะคาดหวังได้จากอำนาจรัฐที่ตัดตอนประชาชนออกไป คือความกรุณาตามแต่ท่านจะให้ไม่ใช่ความเคารพ

********************

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net