นายกฯ สรุปผลหารือมีมติเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ.

รบ.นับหนึ่งเวทีปฏิรูปประเทศพรุ่งนี้ “เรืองไกร” ชี้ กกต.ส่งศาลรธน.ตีความปัญหาเลือกตั้งตามม.214ไม่ได้ ด้านศาล รธน.อุบตอบยื่นตีความปมเลื่อนเลือกตั้ง ขณะที่กกต.ต่างจังหวัดพร้อมจัดการเลือกตั้ง “ศุภชัย” คืนสิทธิ สมัคร ส.ส.

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra

15 ม.ค.2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สรุปผลการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงข้อเสนอของ กกต. ที่ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมือง หัวหน้าส่วนราชการแสดงความคิดเห็นคนละ 5 นาที

เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเดินหน้าเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ และที่สำคัญรัฐบาล หรือ กกต.ไม่มีอำนาจ หรือกฎหมายรองรับให้เลื่อนการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.

ส่วนการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะมีการหารือถึงโครงสร้างการปฏิรูป ควรจะเป็นอย่างไร โดยในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.57) จะเริ่มนับหนึ่งการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอยากเชิญทุกกลุ่ม รวมถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าร่วมหารือ

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวยืนยันว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ตามมาตรา 108 ต้องดำเนินการการเลือกตั้ง โดยเป็นหน้าที่ของ กกต. ทางสำนักงานกฤษฎีกา ไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น

ส่วนพลเอกนิพันธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า กองทัพพร้อมให้การสนับสนุนสถานที่ กำลัง และอุปกรณ์ ในการจัดการเลือกตั้ง ขอเพียง กกต.ทำหนังสือและรายละเอียดส่งมายังกองทัพ

เช่นเดียวกับพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกำลังพล 1 แสนสองหมื่นเก้าพันนาย พร้อมดูแลการเลือกตั้ง และยืนยันว่ากลุ่มบุคคลที่กระทำความผิด ขัดขวางการเลือกตั้งยังสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า จะนำความเห็นที่ได้ในวันนี้ (15 ม.ค.57) ไปรายงานประธานและคณะกรรมการ กกต.พิจารณาเพิ่มเติม พร้อมระบุว่ากรณีจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเลื่อนเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดการเลือกตั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมตรี และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวสรุปผลการหารือ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติสอดคล้องกันให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการทำงานของ กกต.อย่างเต็มที่ ส่วนพื้นที่ใดเกิดปัญหา ก็เป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องแก้ไข และจัดการเลือกตั้งจนกว่าจะได้จำนวน ส.ส.ครบ 500 คน

 

“เรืองไกร” ชี้ กกต. ส่งศาล รธน. ตีความปัญหาเลือกตั้งตาม ม.214 ไม่ได้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแนวทางแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่เห็นต่างกันอยู่ตาม มาตรา 214 ว่ากรณีมาตรา 214 เมื่อองค์กรรัฐมีความเห็นต่างเรื่องอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจของใคร

ทั้งนี้ อ้างอิงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 23/53 โดยศาลเคยวินิจฉัยว่ากรณีที่เป็นความขัดแย้งระหว่างหน้าที่ขององค์กรรัฐตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นต้องเป็นอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรณีการจัดการเลือกตั้งที่เป็นปัญหาอยู่นั้น ในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล รัฐบาลไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีข้อขัดแย้งกับ กกต.

 

ศาล รธน.อุบตอบยื่นตีความปมเลื่อนเลือกตั้ง

ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และทางฝ่ายรัฐบาลจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ เกี่ยวกับการเลื่อนเลือกตั้งว่าสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ ศาลต้องรอให้ 2องค์กร ยื่นเรื่องเข้ามาก่อน ส่วนกระบวนการในเบื้องต้น หากมีการยื่นเข้ามาแล้ว ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยตีความได้หรือไม่ จะต้องขึ้นอยู่คำถามขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ยื่นเข้ามาให้ศาลพิจารณาก่อน ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดจากความขัดแย้งหรือเห็นต่างกันเนื่องมาจากสาเหตุอะไร หลังจากนั้นในขั้นตอนต่อไป ศาลจะต้องพิจารณาว่า ศาลเองมีอำนาจรับคำร้อง หรือมีอำนาจวินิจฉัยได้หรือไม่ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนกรอบระยะในการพิจารณาจะใช้เวลาเท่าใดในการวินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนเลือกตั้งออกไปได้หรือไม่อย่างไรนั้น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอให้ยื่นเข้ามาก่อน และจะพิจารณาจากคำถามที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นสำคัญ

 

กกต.ต่างจังหวัดพร้อมจัดการเลือกตั้ง

นายอดิศร เพียงเกษ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ทางพรรคจัดปราศรัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครบ 19 จังหวัด และได้รับการสนับสนุนอย่างหนาแน่น ถือว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างยิ่ง สำหรับเนื้อหาคือเรื่องสถานการณ์การเมือง การใช้สิทธิเลือกตั้ง การต้านรัฐประหารด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยส่วนตัวมองว่าการรัฐประหารน่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะประชาชนจะไม่ยอมรับ ทั้งนี้ พรรคจะปราศรัยใหญ่ควบคู่กับการเปิดเวทีประชาชนรณรงค์ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไป

ด้าน กกต.จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ โดยเชิญประธาน กกต.เขตและ ผอ.กกต.เขต ประชุมชี้แจงแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณและการเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งให้ทั่วถึง

ส่วนด้าน กกต.จังหวัดบึงกาฬ จัดพิธีลงนามพันธสัญญาพรรคการเมือง ตามโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์  โดยจังหวัดบึงกาฬ  มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 2 เขต รวม 7 คน แต่เมื่อถึงเวลาลงนาม พบว่า มีเพียงผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยเขต 2 มาร่วมเพียงคนเดียว นอกนั้นผู้สมัครคนอื่นได้ส่งตัวแทนมาลงนามพันธสัญญาแทน

 

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่ง กกต.คืนสิทธิ “ศุภชัย” สมัคร ส.ส.

นายศุภชัย ใจสมุทร  รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (15 ม.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้นัดไต่สวนคำร้องที่ตนได้ยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งต่อ กกต.ให้คืนสิทธิ  ซึ่งตัวแทน กกต.ได้พิจารณาเอกสารก็ไม่คัดค้านอะไร  ดังนั้นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจึงมีคำสั่งให้ กกต.คืนสิทธิการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคภูมิใจไทยให้กับตนแล้ว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. และ Voice TV

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท