Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ต้องการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยท่าทีขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งขอแสดงความเห็นแย้งต่อหนังสือของ กกต. ดังกล่าวตามลำดับดังนี้

กกต.ได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 เห็นชอบให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ร่วมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีด้วยกัน 3 แผ่น เนื้อหาเป็นการอธิบายเหตุผล 6 ประการ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เกิดความขัดแย้ง 6 ประการ ดังนี้[1]

1.ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งในส่วนของการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2556 และรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2556-1 มกราคม 2557 ซึ่งในการรับสมัครเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ คณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่าได้มีเหตุผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งทำให้ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 จังหวัด 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเกิดความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งดังกล่าว หากดำเนินการเลือกตั้งต่อไปก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ยังมี 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งอาจจะต้องมีการเลือกตั้งหลายครั้ง อันจะเป็นการสิ้นเปลืองต่องบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ข้อโต้แย้ง กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกำหนดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในส่วนของเขตการเลือกตั้งที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้นั้นต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งใน 8 จังหวัด 28 เขต ? หากคำตอบที่ได้คือ

- กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

- กกต. ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้พร้อมกับเขตเลือกตั้งอื่นๆ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กรณีก็ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ในมาตรา 93 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญ นั่นคือ กกต.จะต้องดำเนินการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวเพื่อให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบตามจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ในที่นี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่กกต.อ้างเหตุผลในข้อนี้โดยมีความเห็นว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่าได้มีเหตุผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งทำให้ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 จังหวัด 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเกิดความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งดังกล่าว หากดำเนินการเลือกตั้งต่อไปก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ยังมี 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งอาจจะต้องมีการเลือกตั้งหลายครั้ง อันจะเป็นการสิ้นเปลืองต่องบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์” นั้น บทบัญญัติมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวนั้น กกต. ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเป็นเหตุในการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ มาตราดังกล่าวนี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ให้ กกต. มีหน้าที่ในการที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น จะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือบทบัญญัตินี้ผูกพัน กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง ส่วนจะมีเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียไปหรือไม่จะต้องไปพิจารณาบทบัญญัติและมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หาใช้มาตรา 235 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด

2.จากกรณีการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเหตุผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัครและมีการใช้ความรุนแรงทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ เกิดกรณีเจ้าพนักงานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ อันไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในการเลือกตั้งทั่วไป หลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้เล็งเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งในอนาคตน่าจะมีเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งรุนแรงอาจมีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไม่อาจยอมรับให้เกิดขึ้น โดยที่น่าจะป้องกันหรือบรรเทามิให้เกิดผลร้ายขึ้นได้

ข้อโต้แย้ง ต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย ? หากคำตอบที่ได้คือ กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

3.จากการรายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ในหลายจังหวัด ทำให้ทราบว่าการสรรหาและแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำ หน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการ ร่วมเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้ทั่วประเทศทั้งสิ้นเกือบหนึ่งล้านคน โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งกว่าหนึ่งหมื่นหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจำนวนเกือบหนึ่งแสนคน หรือแม้ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งเกือบหกพันหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจำนวนเกือบหกหมื่นคน เป็นต้น

ข้อโต้แย้ง การจัดหาบุคคลเพื่อมาทำหน้าที่ในการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. การอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้นั้น เป็นการอ้างที่มีน้ำหนักน้อย กรณีต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย ? หากคำตอบที่ได้คือ กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

4.มีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่บัญญัติให้วันเลือกตั้งต้องกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ลต.1/2557 ให้ยกคำร้อง กรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีไม่สามารถยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมีเหตุผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จึงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกับ 347 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ข้อโต้แย้ง มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้จริงว่าต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ กกต. ต้องไม่ลืมว่า มาตรา 108 ดังกล่าวนั้นเป็นกฎหมายทั่วไปที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปเอาไว้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่บทเด็ดขาดที่จะส่งผลให้การที่ กกต. จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายหลังวันที่กำหนดเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ หาไม่แล้วการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมไม่ชอบอย่างนั้นหรือ ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคหก ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่กำหนดไว้กรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบก็ให้ดำเนินการให้มีให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากถือตาม กกต. บทบัญญัติมาตราดังกล่าวย่อมไม่มีที่บังคับใช้ได้

การอ้างคำสั่งยกคำร้องของศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ ลต.1/2557[2] ให้ยกคำร้อง กรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีไม่สามารถยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมีเหตุผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งนั้น ผู้เขียนเห็นว่าศาลได้วินิจฉัยเอาไว้อย่างถูกต้องแล้ว แต่ กกต. ไม่ได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ว่า “ดังนั้นการที่ผู้ร้องไม่สามารถยื่นใบสมัครต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จากเหตุที่มีผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องควบคุม และ ดำเนินการจัดมีการเลือกตั้งส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมต่อไป ไม่ใช่กรณีที่ผู้สมัครจะมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ฯ ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคำขอให้ศาลฎีกา มีคำสั่งถือเอารายงานประจำวัน ของ สภ.ทุ่งสง เป็นการยื่นใบสมัครนั้น ก็ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณา จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว” จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นดังกล่าวซึ่งได้วินิจฉัยเอาไว้โดยชอบแล้วว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องควบคุม และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งนั่นเอง

5.การลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งจำเป็นต้องใช้สถานที่บริเวณกว้างเพื่อรองรับหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากมา รวมกันในที่เดียวในวันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งจำเป็นต้องหาสถานที่ที่ปลอดภัยและสามารถอำนวยความ สะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวอาจถูกปิดล้อมมิให้ประชาชนเข้าไปลงคะแนนใช้สิทธิเลือก ตั้งได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการรับสมัครเลือกตั้ง แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะเปลี่ยนสถานที่หรือเข้าไปขอใช้สถานที่ของหน่วย ทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวก็มิได้ลุล่วงหรือดำเนินการไปได้ด้วยความราบรื่น รวมทั้งอาจจะเกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อยในวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับที่เกิดในบางประเทศในขณะนี้

ข้อโต้แย้ง การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและสุจริตเที่ยงธรรมเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ กกต. ซึ่งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยเอาไว้แล้ว กรณีจึงต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย ? หากคำตอบที่ได้คือ กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

6. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 25 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีความกังวลและห่วงใยต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 3,885,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศ โดยเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมิได้ผลตามเป้าหมายของการเลือก ตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอาจต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลายครั้งในระยะเวลาอันใกล้เคียงกัน ซึ่งการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีการพิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ข้อโต้แย้ง การเลือกตั้งทั่วไปเป็นผลที่เกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เกิดขึ้น ข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่มีค่าเหนือกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในการจัดการเลือกตั้งประโยชน์สูงสุดจึงเกิดขึ้นโดยปริยายข้อกังวลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในกรณีนี้ย่อมไม่สามารถรับฟังได้

ทั้งนี้ หากมีการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งใดไม่ประสบความสำเร็จโดยมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้การเลือกตั้งในเขตใดไม่สามารถดำเนินการได้และส่งผลให้เสียค่าใช้จ่ายแก่งบประมาณแผ่นดิน กกต. ย่อมมีหน้าที่ในการที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น โดยเฉพาะในทางแพ่ง กกต. ย่อมสามารถเรียกค่าเสียหายในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินและความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ กรณีจึงต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย ? หากคำตอบที่ได้คือ กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

นอกจากนี้ตามที่ได้มีข่าวปรากฏออกมาทำนองว่า หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งออกไป กกต. จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณานั้น ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ (ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าในกรณีนี้ กกต. ไม่อาจใช้มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญได้) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรนั้น ซี่งผู้เขียนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งคือหน้าที่ของ กกต. หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาได้ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจแต่เพียงชี้ว่าอำนาจหน้าที่นั้นเป็นขององค์กรใดเท่านั้นจะสั่งเป็นประการอื่นหาได้ไม่ ซี่งในกรณีนี้คือการชี้ว่า กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันในคำสั่งยกคำร้องของศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ ลต.1/2557 นั่นเอง

ในส่วนประเด็นของเงื่อนไขในเรื่องของจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญนั้นผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป

กล่าวโดยสรุปในเบื้องต้นนี้ กกต. จึงมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญ พระราชกฤษฎีกากายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และบทบัญญัติของกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้วเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม หาไม่แล้วหาก กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

 




[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389695127&grpid=01&catid&subcatid

[2] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000003218การกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ กรณีจึงต้องพิจารณาว่า กกต. ได้ดำเนินการการอย่างเต็มความสามารถโดยใช้อำนาจและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้แล้วหรือไม่ในการที่จะพยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย ? หากคำตอบที่ได้คือ กกต.ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการจัดการเลือกตั้ง กกต. ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net