Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การเมืองไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หากจะตอบคำถามดังกล่าว เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องที่สังคมไทยประสบในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เริ่มจากการที่รายได้ประชากรต่อหัวของประเทศไทยเพิ่มขึ้นสามเท่าในระหว่างช่วงดังกล่าว อีกแง่หนึ่งก็คือ คนในปัจจุบันมีรายได้มากกว่าพ่อแม่ของพวกเขาสามเท่าตัว ดังนั้น ความหวังจึงบังเกิด พวกเขามีความคาดหวังต่อรัฐบาลและมุมมองต่อบรรทัดฐานทางสังคมก็เปลี่ยนไป พวกเขาต้องการความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ยี่สิบปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งในหลายระดับซึ่งมาพร้อมกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนต่างจังหวัดรู้สึกว่ามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น คนต่างจังหวัดเรียนรู้ว่าระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นอย่างไร และเรียนรู้ถึงวิธีนำเงินลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น สรุปก็คือ พวกเขาตระหนักถึงอำนาจของตนผ่านระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง

ก่อนปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) มีงบประมาณแผ่นดินเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นถูกจัดสรรลงสู่พื้นที่นอกกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

ก่อนปี 2001 (พ.ศ. 2544) จำนวนงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมดฟังดูไม่มากเท่าไร แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ได้รับในช่วงปี 1970 และ 1980

คนไทยในต่างจังหวัดทั่วประเทศซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ในฐานะผู้เสียภาษีเหมือนกับคนอื่นๆ (โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มรวมถึงภาษีจากการขายสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของรายได้จากภาษีทั้งหมด) ก็มีส่วนร่วมในงบประมาณประจำปีเช่นกัน

คนต่างจังหวัดจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับสัดส่วนงบประมาณที่เป็นธรรมมากขึ้นจากการเสียภาษีของเขา พวกเขาเริ่มที่จะได้สัดส่วนงบประมาณที่เป็นธรรมมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมือง จากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งให้สิทธิ์แก่ผู้คนคนละหนึ่งเสียงบนรากฐานความเท่าเทียม

คนเมืองบางคนพูดว่าระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงไม่เหมาะกับประเทศไทย แต่ในความจริง สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วระบบนี้เริ่มจะได้ผล แต่คนเมืองบางคนยังกล่าวว่าเขาควรจะได้รับสิทธิ์มากกว่าคนชนบทเนื่องจากเป็นผู้เสียภาษี แท้จริงแล้วคนชนบทก็เสียภาษีเหมือนกัน ความเห็นของคนเมืองจึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับคนต่างจังหวัดที่มีอำนาจต่อรองจากระบบนี้

คนเมืองบางคนกล่าวว่าคนชนบทด้อยความรู้ แต่ในความจริง คนต่างจังหวัดเรียนรู้หลายสิ่งมากขึ้นจากการศึกษาที่สูงขึ้น จากประสบการณ์ของตนเอง และจากสื่อสมัยใหม่ พวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ตระหนักในประเด็นที่มีคุณค่าเชิงสากล เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง และภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้พวกพ้องกันเอง

พรรคการเมืองก้าวตามหลังความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ และยังไม่ยึดโยงกับคุณค่าทางประชาธิปไตยในการดำเนินงานและการบริหารจัดการ บ่อยครั้งทำตัวเหมือนกลุ่มผลประโยชน์พิเศษที่ใฝ่หาอำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตน

พรรคการเมืองเหล่านั้นยังคงเป็นแบบเดิมจนกระทั่งปี 2001 จากการศึกษาวิจัยความต้องการของประชาชนชาวรากหญ้า ไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกที่เสนอนโยบายหาเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้คน พรรคไทยรักไทยยังคงชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองในปี 2005 เพราะทำนโยบายอย่าง “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้

ปัญหาคือรัฐบาลพรรคไทยรักไทยกลับคิดตื้นๆ ไม่ได้คิดให้ดีว่าจะนำเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้กับนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเพิกเฉยต่อความห่วงใยของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายที่จะเกิดขึ้นต่อหนี้สาธารณะ

พรรคไทยรักไทยไม่มีวิธีการปฏิรูประบบการเก็บภาษีหรือการวางแผนงบประมาณ แต่กลับใช้กลเม็ดทางการเงินหลายอย่างเพื่อหาเงิน ตั้งแต่บังคับธนาคารของรัฐให้ค้ำจุนนโยบายรัฐบาล ออกพันธบัตร หาเงินจากการแปลงสมบัติสาธารณะเป็นทุน ช่วงที่เป็นรัฐบาลสมัยแรก เม็ดเงินที่ลงทุนกับนโยบายต่างๆ ยังไม่สูงนัก ผลกระทบต่อหนี้สาธารณะก็ยังไม่มาก แต่เมื่อพรรคการเมืองอื่นๆ เริ่มเสนอนโยบายประชานิยมคล้ายคลึงกันนี้ซึ่งเป็นการสัญญาว่าจะทำเมื่อได้รับเลือก พรรคไทยรักไทย (รวมถึงพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย) จึงโต้กลับด้วยการทุ่มเงินหนักขึ้น

ในที่สุด ความวิตกกังวลในหมู่คนในโลกธุรกิจและหมู่คนชนชั้นกลางก็ก่อตัว

พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอย่างพรรคประชาธิปัตย์ตอบสนองอย่างเชื่องช้าต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ และเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้ง เมื่อคุณแพ้อยู่อย่างนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าจะแพ้อีก และเริ่มมองหาคำแก้ตัว พรรคประชาธิปัตย์โทษการซื้อเสียงว่าทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ แต่ไม่โทษความล้มเหลวของพรรคตนเองในการสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ ให้ถูกอกถูกใจประชาชน

ผู้เขียนงุนงงกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ลงสนามเลือกตั้ง ประเทศออสเตรเลียเพิ่งจะก้าวผ่านการแย่งชิงอำนาจครั้งสำคัญ พรรคแรงงานในออสเตรเลียรู้ตัวว่าอาจแพ้การเลือกตั้งจึงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ พรรคแรงงานยังคงลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งถึงแม้ว่าจะแพ้แน่นอน เพราะคิดไปข้างหน้าถึงชัยชนะที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกตั้งในอนาคต และเพราะเคารพกฎกติกาในระบบการเมือง

บางทีพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่เชื่อมั่นอย่างแท้จริงถึงกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแกนนำพรรคนี้เก่งในการเจรจากับกลุ่มอำนาจต่างๆ ในสังคม เช่น กองทัพ กลุ่มธุรกิจ และข้าราชการระดับสูง มุ่งแต่จะสานสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจ  มากกว่าจะเอาชนะใจชนชั้นรากหญ้านอกกรุงเทพฯ และนอกฐานเสียงหลักอย่างภาคใต้

ผู้เขียนกลัวว่าการบอยคอตการเลือกตั้งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมความนิยมลง ทำให้โอกาสในการชนะการเลือกตั้งน้อยลง และทำให้พรรคไม่ศรัทธาในประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนพยายามชักชวนคนในพรรคมาร่วมปฏิรูปพรรคแต่กลับล้มเหลว และตอนนี้กลับพูดถึงการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ผู้เขียนเห็นด้วยกับการปฏิรูประบบการเมือง มีหลายสิ่งที่ต้องปฏิรูป โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม กลไกตรวจสอบการทุจริต ระบบการเก็บภาษีและการวางแผนงบประมาณ รวมถึงตัวพรรคการเมืองเอง แต่คำถามคือจะทำอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งหมดในช่วงไม่กี่ปี ทั้งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการป้องปรามคอรัปชัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจ ไม่ได้เกิดขึ้นช่วงที่กระบวนการทางรัฐสภาหยุดชะงักภายหลังรัฐประหาร ทำไมพวกเราควรเชื่อว่าสถานการณ์ทุกวันนี้แตกต่างออกไป? เมื่อประชาธิปไตยถูกระงับไว้ชั่วคราว กลุ่มผลประโยชน์ส่วนน้อยซึ่งมีอำนาจก็จะเข้ามาและมีแนวโน้มก่อร่างสร้าง “การปฏิรูป” ที่เอื้อผลประโยชน์ต่อตนเอง

ผู้เขียนก็รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย นโยบายหลายอย่างฉาบฉวยและไม่ผ่านการคิดให้รอบคอบ ทางพรรครัฐบาลไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผลเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวซึ่งถูกวิจารณ์เซ็งแซ่

นอกจากนั้นยังทำลายความไว้วางใจของประชาชนด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเก็บภาษีและการวางแผนงบประมาณเลย ผู้เขียนจึงเข้าใจความรู้สึกโกรธเกรี้ยวของผู้ชุมนุม แต่ผู้เขียนก็มองไม่เห็นว่ากลวิธีในการประท้วงเช่นปัจจุบันจะนำไปสู่การปฏิรูปอย่างไร เป้าหมายของการประท้วงคือการสร้างวิกฤติซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และ “ระบอบทักษิณ” แล้วอย่างไรต่อ? ไม่มีแผนการปฏิรูปจากสภาประชาชนและจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในความตระหนักรู้และความหวังทางการเมืองท่ามกลางหมู่มวลในสังคมไทย ตราบใดที่ยังมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งตอบสนองต่อความหวังเหล่านั้น (แม้ว่ามีหรือไม่มีตระกูลชินวัตร) และอีกพรรคหนึ่งที่ยังไม่เรียนรู้อะไร ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นแบบเดิม  และความคับข้องใจของชนชั้นกลางก็ยังจะมีอยู่เหมือนเดิมเช่นกัน

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่อนทำลายระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งความหวังเหล่านั้นยุติลง ใครก็ตามที่รับฟังมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาควรรู้ว่าผู้คนไม่ยินยอมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

ยุทธวิธีการประท้วงจะนำไปสู่ความโกลาหลในระยะยาว โชคดีที่มีสัญญาณแห่งความหวังหลายครั้ง การยอมรับว่าประเทศต้องการการปฏิรูปเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในขณะนี้ ความพยายามของกองทัพ นักวิชาการ และโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ 7 องค์กรในการเข้ามาเป็นคนกลางแสดงถึงการเติบโตอีกก้าวของการเมืองไทย แต่การก่อร่างสร้างการปฏิรูปให้เกิดผลต้องใช้เวลา การหยุดกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยเพื่อการปฏิรูปซึ่งใช้เวลานานเป็นแนวคิดที่ไม่เข้าท่า เพราะเคยใช้ไม่ได้ผลมาแล้วเมื่อไม่นานนี้

การรักษาระบบรัฐสภาให้อยู่ในที่ทางและใช้พลังขับเคลื่อนในการประท้วงตอนนี้มากดดันให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงดูจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า องค์ประกอบหลักของการปฏิรูปควรประกอบด้วยวิธีที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โปร่งใสและรับผิดชอบตรวจสอบได้มากขึ้น และพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของความต้องการและความหวังของผู้คนทั่วไปมากขึ้น

อย่าลืมคำพูดของวินสตัน เชอร์ชิลล์ซึ่งเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษ์ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความขัดแย้งครั้งยิ่งใหญ่ ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวร้ายที่สุด ถ้าไม่รวมการปกครองรูปแบบอื่นๆ ที่เคยลองผิดลองถูกก่อนหน้านี้”

 

ที่มา: http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/389422/we-need-reform-but-the-question-is-how-to-achieve-it

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net