Skip to main content
sharethis
‘เอก’ หนุ่มชูป้าย Respect my vote ‘บก.ลายจุด′ ร่วมวงด้วย ‘ยิ่งลักษณ์’ แจงประเด็นหารือ ขั้นตอนการทำงานเพื่อการปฏิรูป-โครงสร้าง-สาระสำคัญในการปฏิรูป ด้านตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชนชูตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศ ส่วนสภาพัฒนาการเมืองแนะนายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล
 
ภาพจาก: Yingluck
 
มติชนออนไลน์รายงาน 16 ม.ค.2557 เมื่อเวลา 13.50 น. ที่หอประชุมกองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง มีการจัดประชุมการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557 โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธานการประชุม โดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพ  
 
พร้อมเชิญ 28 องค์กรเข้าร่วม อาทิ  องค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี  โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม  เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มวลมหาประชาคุย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ 2 เอา 2 ไม่เอา
 
สถาบันพระปกเกล้าฯ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล TDRI ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ
 
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล สมาคมธนาคารไทย โดยนายธวัชชัย ยงกิตติกุล  สภาธุรกิจตลาดหุ้นไทย โดยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนายจรัมพร โชติกเสถียร สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยน.ส.เพ็ญศรี  สุธีรศานต์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดย นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิการส่งเสริมการออกแบบอนาคต
 
นอกจากนี้ยังมี นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด นายเอก อัตถากร ผู้ที่ชูป้าย Respect my vote ใส่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเอกชัย ไชยนุวัติ และนายเกษม เพ็ญภินันท์ เข้าร่วมวงปฏิรูปด้วย
 
ในส่วนของรัฐมนตรีที่เข้าร่วมหารือประกอบด้วย อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษา โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังตลอดการประชุม
 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า ต้องขอขอบคุณหน่วยเอกชนทุกหน่วยงานทั้ง 12 องค์กรรวมทั้งนักวิชาการ รวมทั้งเราได้มีโอกาสเชิญผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการปฏิรูปเข้ามาร่วมพูดคุยในวันนี้ด้วย วัตถุประสงค์ในการร่วมกันหารือในวันนี้ สิ่งแรกคือการปฏิรูปประเทศที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันทำการปฏิรูป ต้องขอขอบคุณเวทีภาควิชาการหลายๆ เวที และหลายคนที่ได้กรุณาทำแผนปฏิรูปประเทศมาทั้งที่มีแผนเดิมตั้งแต่แรกด้วยและแผนใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา จะพบว่าเรามีข้อมูลการปฏิรูปประเทศค่อนข้างมาก
 
ตนเองเชื่อว่าเวทีนี้จะทำให้เวทีปฏิรูปเกิดขึ้นจริงให้เร็วที่สุด และเราจะทำอย่างไรให้แผนปฏิรูปทั้งหลายเป็นแผนใหญ่และแผนเดียวในที่สุด จึงขอเรียนว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่จะใช้เวททีนี้ในการหารือ ตนจึงขอเปลี่ยนบทบาทของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะบีบหรือโน้มนำในเรื่องของเนื้อหาการปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น ตามที่รัฐบาลได้รับข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้าง แต่สิ่งที่เราจะสรุปในที่นี่คือเราจะทำอย่างไรให้แผนการปฏิรูปที่เรามีอยู่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นจริง
 
“รัฐบาลพร้อมที่จะใช้เวทีนี้รับฟัง และขออนุญาตไม่ใช้สิทธิ์เสนอ และจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวม ส่วนข้าราชการประจำนั้นจะเป็นแม่งานหลักนี่คือวัตถุประสงค์แรก และเมื่อเราได้หารือกันแล้ว  เราก็พร้อมที่จะให้เวทีต่อๆ เป็นกลไกในการพูดคุย เพราะการที่เราเชิญมาวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องการปฏิรูป ซึ่งในอนาคตเราจะได้เชิญผู้ที่มีส่วนร่วมอื่นๆ จึงขอความกรุณาผู้ร่วมประชุมได้เชื่อมความต้องการของผู้ชุมนุม หรือกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้เวทีนี้เกิดเป็นเวทีกลางในการปฏิรูปต่างๆ เพื่อที่จะทำให้น้ำหนักในการหารือเกิดขึ้นกับทุกส่วน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอความกรุณาสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่การหารือครั้งนี้ เพราะอาจมีหลายภาคส่วนที่ไม่ได้เข้าฟังจึงขอให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการนำเวทีดังกล่าวไปสู่สาธารณะชน เพื่อที่ข้อมูลของทุกภาคส่วนจะได้ไม่ตกหล่น และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังและสื่อสารไปยังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ
 
สำหรับประเด็นหารือคือขั้นตอนการทำงานเพื่อการปฏิรูป และโครงสร้าง เช่นจำนวนของผู้ที่จะมาปฏิรูปต้องมีจำนวนเท่าไร ส่วนตัวอย่างที่รัฐบาลได้เสนอว่าจะคณะกรรมการปฏิรูป 11 คน และสรรหาอีก 499 คนนั้นวันนี้รัฐบาลจะยังไม่เสนอ และสุดท้ายคือสาระสำคัญหลักในการปฏิรูปที่ทุกภาคส่วนต้องการ เช่น เรื่องทุจริตคอรัปชั่น เราจะทำอย่างไรให้ขั้นตอนทุกอย่างมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม หรือใครมีผลของการศึกษาการปฏิรูปตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วก็สามารถนำเสนอได้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มประชุมนายเอกได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า วันที่ตนได้เดินทางไปเวทีพิมพ์เขียวของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไปด้วยเสียงของประชาชนที่ไม่อยากเห็นพรรคการเมืองทำอะไรเช่นนั้น ซึ่งถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตนก็คงไม่ตะโกนคำสุดท้าย เพราะตนไม่ใช่คู่ขัดแย้งและต้องการให้ทุกคนเห็นว่าประชาชนทุกคนไม่ใช่จะถูกจ้างได้ แล้วถ้าปล่อยให้บ้านเมืองปกครองโดยชนชั้นกลางที่ไม่มีความยุติธรรม ใช้เสียงดังจากนกหวีดเข้ามาเราก็คงไม่ยอม ทุกคนควรจะเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย อย่าคิดว่าเสียงดังแล้วทุกคนต้องเชื่อ ถ้าเอาคนดีที่พิสูจน์ไม่ได้ประเทศนี้ก็คงจะมีปัญหา
 
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า ในการประชุมตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหมด ต้องอยู่บนประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อน จึงจะสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เช่นเดียวกับตัวแทนภาคประชาชน ระบุว่า การเลือกตั้งอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่สถานการณ์ปัจจุบันต้องจัดการเลือกตั้ง เพื่อเคารพสิทธิของประชาชน แม้จะมีความเห็นต่างในสังคม
 
ขณะที่ นายยุทธพร อิสรชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมือง มสธ.ระบุว่า รัฐบาลควรจัดทำพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศ และให้ทุกพรรคการเมืองทำสัตยาบันร่วมกัน และควรใช้แนวทางการปฏิรูประยะสั้น ด้วยการแก้ไขโครงสร้างสถาบันการเมือง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เน้นการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงควรมีกลไกรับฟังเสียงข้างน้อย
 
ส่วนภาคธุรกิจ เช่น นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานสภาหอการค้าฯ ในฐานะประธานคณะทำงาน 7 องค์กรภาคเอกชน กล่าวว่า องค์กรภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันเสนอให้จัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศโดยตรงที่มีกฎหมายรองรับทำหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูป และต้องทำงานเชื่อมโยงกับฝ่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนกรอบแนวทางการปฏิรูปมุ่งเน้นปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ การปกครอง การขจัดคอรัปชั่น ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจ พร้อมเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง จากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและความรุนแรง แต่เพื่อให้มีเวลาเพียงพอต่อการวางแผนแนวทางปฏิรูปประเทศ
 
สอดคล้องกับตัวแทนจากสภาพัฒนาการเมือง ที่เสนอให้มีการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยผ่านบุคคลกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม และนายกรัฐมนตรี ควรเสียสละด้วยการลาออก เพื่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ไม่อยากถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา และที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รับผิดชอบ ก็ได้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว และต้องอยู่รักษาการณ์จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ได้ต้องการอยู่ในตำแหน่งเพื่อสร้างความขัดแย้ง แต่อยู่เพื่อจะส่งมอบกติกานี้ให้กับรัฐบาลใหม่ และประคับประคองให้ประเทศเดินหน้า จะได้ไม่กระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ ซึ่งหากเห็นว่าไม่ควรเลือกตั้งในขณะนี้ก็ต้องศึกษาว่าจะมีทางออกวิธีใด ที่ช่วยลดความขัดแย้งและถูกต้องตามกฎหมาย
 
พร้อมยืนยันว่าการจัดทำเวทีปฏิรูปไม่ใช่การเปิดเวทีหารือซ้ำซาก แต่เป็นการสร้างกลไกเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมามีส่วนร่วม นอกจากนี้เชื่อว่าเวทีวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศอย่างสันติ ดังนั้นจึงมอบหมายให้นายวราเทพ รวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดให้กับทุกพรรคการเมืองเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายให้สอดคล้องกับการปฏิรูป
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net