สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2557 ได้พาดหัวข่าวว่า “พรึบทั่วประเทศ! ขบวนแรลลี่ต้านปฏิวัติ-หนุนเลือกตั้ง ปกป้องประชาธิปไตย” และได้รวบรวบข่าวรายงานถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่คัดค้านม็อบอันธพาล กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ และ สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รายงานข่าวนี้ ก็เป็นการย้ำให้เห็นว่า ในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีแต่มวลชนฝ่ายสนับสนุนนายสุเทพ ไม่มีได้มีเฉพาะศาล องค์กรอิสระ และชนชั้นนำ ไม่ได้มีแต่พวกอนารยะประชาสังคม(uncivil society) ที่มุ่งจะล้มล้างประชาธิปไตยของประชาชน แต่ยังมีชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมืองอีกจำนวนมาก ที่ยังสนับสนุนประชาธิปไตย และเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการต่อสู้ และประชาชนคนเหล่านี้ จะกลายเป็นพลังสำคัญในการรักษาประชาธิปไตยของประเทศ

ความจริงแล้ว ในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดการปิดกรุงเทพฯของม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีการเคลื่อนไหวของประชาชนที่สนับสนุนการเลือกตั้งและสนับสนุนสันติภาพหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น เวลาเย็นวันที่ 9 มกราคม มีการจุดเทียนเขียนสันติภาพต่อต้านความรุนแรง ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร พร้อมกับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ละแห่งก็มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมนับร้อยคน ต่อมา ในเวลาเย็นวันที่ 10 มกราคม ก็มีการเคลื่อนไหว”จุดเทียนเขียนสันติภาพครั้งที่3” ของกลุ่มกลุ่มพอกันที! ที่ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ได้เชิญชวนประชาชนที่รักสันติ และเคารพในกติกาประชาธิปไตย มาจุดเทียนเขียนสันติภาพ ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ซึ่งประชาชนมาเข้าร่วมหลายพันคน ประชาชนที่เข้าร่วมต่างตะโกนร้องสนับสนุนการเลือกตั้ง เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและคัดค้านการรัฐประหาร มีการ่วมกันสร้างสัญลักษณ์สันติภาพ และร้องเพลง เพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน ก่อนที่จะปิดงาน

เวลาเย็นวันที่ 12 มกราคม กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ในนามสภานักศึกษา ก็ได้จัดงาน “จุดเทียนเขียนสันติภาพ หยุดเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง" ที่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นกิจกรรมรณรงค์เพื่อยุติการสร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง กิจกรรมนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักศึกษาปัจจุบัน และอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปเดินทางมาร่วมเป็นจำนวนนับพันคน ในงานมีการทำป้ายขนาดใหญ่ให้ “Respect my Vote” แจกสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง และรณรงค์ให้เคารพหลักการความเสมอภาค และสิทธิของ 1 คน 1 เสียง รวมทั้งการปฏิเสธการรัฐประหารด้วย ประชาชนที่เข้าร่วมได้จุดเทียน และกล่าวคำว่า “เราไม่เอาความรุนแรง” แต่กิจกรรมนี้ยุติลง หลังจากที่ได้ข่าวว่า ม็อบ กปปส.ได้เริ่มเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯก่อนกำหนด

แต่การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่สร้างผลสะเทือนมาก คงต้องกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มนักวิชาการ เพราะในระยะก่อนหน้านี้ กลุ่มนักวิชาการที่รักประชาธิปไตย ได้ตั้งเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. โดยมีเครือข่ายนักวิชากาที่ร่วมลงชื่อเป็นสมาชิกในเบื้องแรก 151 คน ตัวแทนของกลุ่ม คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกษียร เตชะพีระ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม มีจุดร่วมเบื้องต้นคือ การคัดค้านสภาประชาชนแบบตั้งเอง ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารแทรกแซงการเมือง และนำเสนอให้รักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย

จากนั้น ในวันที่ 10 มกราคม กลุ่ม สปป.ก็ได้ประสานงานกับนักวิชาการกลุ่มอื่น แถลงข่าวในนามเครือข่าย “สองเอา สองไม่เอา” มีนักวิชาการและเอ็นจีโอที่เข้าร่วมเช่น นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักเขียนและนักวิชาการ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน นายศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายกฤษกร ศิลารักษ์ ตัวแทนจากลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์และนักสันติวิธี เป็นต้น ข้อเสนอสองเอา คือ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเมืองบนวิถีทางประชาธิปไตย สองไม่เอาคือ คัดค้านรัฐประหาร และคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ได้ทำให้กลุ่มนักวิชาการกลายเป็นพลังสำคัญในการต่อกรกับความไร้เหตุผลของม็อบอันธพาลของนายสุเทพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง และกลุ่มอนารยะประชาสังคมที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย

สำหรับการเคลื่อนไหวทั่วประเทศในวันที่ 13 มกราคม เท่าที่รวบรวมผ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด คือ ที่จัดโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 4 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี ส่วนที่อุดรธานี มีการเคลื่อนไหวแรลลี่รถจักรยานยน รณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวที่จังหวัดชัยภูมิ  นครราชสีมา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ  มหาสารคาม กำแพงเพชร และพิษณุโลก ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีประชาชนเข้าร่วมหลายพันถึงหมื่นคน

การเคลื่อนไหวของประชาชนที่รักประชาธิปไตยเหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ ดำเนินไปท่านกลางประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก หรืออาจจะกล่าวในอีกด้านหนึ่งได้ว่า มีประชาชนคนเสื้อแดง คนในกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดอีกเป็นจำนวนมาก ยังเป็น”ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก”คงให้การสนับสนุนอย่างมั่นคงต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่า การสนับสนุนที่มีต่อฝ่ายอำมาตย์ ศาลและองค์กรอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ และม็อบนายสุเทพมีแต่จะยิ่งลดลง และยังเป็นสัญญาณบอกเหตุด้วยว่า ถ้ากองทัพก่อการรัฐประหารเพื่อสนับสนุนฝ่ายนายสุเทพ การควบคุมประเทศไทยจะไม่เป็นเรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติแล้ว ก็จะเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนแทบทุกจังหวัดอีกด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงอยากจะบอกไปยังรัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีวันได้ชัยชนะ ขอแต่เพียงให้นายกรัฐมนตรียืนหยัดสู้ อย่าได้ถอดใจ หรือคิดยอมจำนนเกี้ยเซียะอย่างไร้หลักการตามคำแนะนำอันไม่หวังดี เช่นไปยอมจำนนให้องค์กรอิสระหรือคณะกรรมการเลือกตั้ง แล้วไปเลื่อนวันเลือกตั้งด้วยรัฐบาลเอง เป็นต้น การถอยที่ไม่มีหลักการจะทำให้ฝ่ายทำลายประชาธิปไตยรุกไล่ให้จนมุม และในที่สุด ก็จะเป็นการสร้างผลร้ายให้กับประชาธิปไตยไทย เป็นการทอดทิ้งประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุน และนำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมือง ที่ชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากจะต้องเสียสละ

 

ที่มา โลกวันนี้วันสุข  18 มกราคม 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท