เลือกตั้งคือทางตัน ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนบทความในหัวข้อ “เลือกตั้งเลื่อนหรือไม่เลื่อน ?”[1] เพื่อแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนธรรมดาผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งที่มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ในการที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จะถึงนี้

เมื่อได้รับข่าวสารที่แสดงถึงท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีข่าวเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์เชื้อเชิญให้ประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันดังกล่าวเท่าใดนัก จะมีก็แต่ความพยายามที่จะเข้ามาเป็นคู่เจรจาในสถานการณ์ความขัดแย้ง อันไม่ใช่หน้าที่ของตนเองแต่ประการใด  นอกจากนั้น ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการที่จะเสนอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งโดยการพยายามเจรจากับรักษาการนายกรัฐมนตรีถึงกรณีดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ถึงขั้นที่ กกต. รายหนึ่งเริ่มใช้วาทะกรรมที่ค่อนข้างส่งผลลบแก่รักษาการนายกรัฐมนตรีโดยการพูดถึงกรณีทีว่าหากนัดหารือที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์รักษาการนายกรัฐมนตรีก็อาจจะมาหารือกับ กกต. นั้น[2]

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเห็นว่าการใช้วาทะกรรมดังกล่าวเป็นวาทะกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรในฐานะกรรมการการเลือกตั้งที่ต้องเป็นกรรมการในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่แน่ใจว่าท่านคิดว่าท่านกำลังอยู่บนเวทีปราศรัยหรือไม่ ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า กกต. รายดังกล่าวควรออกมาขอโทษในการที่กล่าววาทะกรรมดังกล่าวต่อไป

ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นที่ผู้เขียนได้เขียนถึงเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับของเงื่อนไขในเรื่องของจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ โดยที่มีข้อวิตกกังวลจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นว่าเนื่องจาก 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากเลือกตั้งไปและประกาศผลการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น

ผู้เขียนเห็นว่าข้อวิตกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลยหาก กกต. ปฏิบัติหน้าที่ของตนและได้ใช้อำนาจในการจัดการเลือกตั้งของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากตั้งสมมุติฐานว่าใน 28 เขตดังกล่าวไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วนั้น จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป  ทั้งนี้ หากพิจารณาพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้

“สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยเจ็ดสิบห้าคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน (วรรคหนึ่ง)

ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่ (วรรคหก)”

จากบทบัญญัติของมาตรา 93 ดังกล่าวข้างต้นกฎหมายกำหนดให้

- สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวน 500 คน

- หากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วมีจำนวนสมาชิกไม่ครบ 500 คน แต่สมาชิกที่ได้มามีจำนวนไม่น้อยกว่า 475 คน ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร และ

- กกต. มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้ได้สภาผู้แทนราษฎรครบตามจำนวน 500 คน ภายใน 180 วัน

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วปรากฏว่าได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดไม่ถึง 475 คน แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ?

ปัญหาดังกล่าวมีทางออกโดยอาศัยการพิจารณาหลักประชาธิปไตย หลักการใช้การตีความกฎหมายให้กฎหมายใช้บังคับได้ หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะมาประกอบการพิจารณา ได้ดังต่อไปนี้

ประการแรก เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วมีจำนวนสามาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ครบ 475 คนจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ?

เมื่อมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่มีกรณีที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรได้กำหนดเอาไว้ในที่นี้ สามารถตีความได้สองทางคือ

การตีความในทางลบ คือ การตีความไปในทางที่ทำให้กฎหมายนั้นไม่มีผลใช้บังคับ ได้แก่การตีความว่าการเลือกตั้งนั้นไม่มีผลในทางกฎหมายใดๆ เลย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเสียเปล่าไป และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

การตีความในทางบวก คือ การตีความไปทางที่ทำให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ ได้แก่การให้ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ให้ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เป็นองค์ประกอบขั้นต่ำของสภาผู้แทนราษฎรนั่นคือ 475 คน ภายใน 180 วัน

ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าการตีความไปในทางบวกจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ประการที่สอง หากเมื่อครบ 180 วันแล้วปรากฏว่า กกต. ยังไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ครบ 475 คนได้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ?

เมื่อมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่มีกรณีที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรได้กำหนดเอาไว้ในที่นี้ สามารถตีความได้สองทางคือ

การตีความในทางลบ คือ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ การเลือกตั้งที่กระทำมาเสียเปล่าไป และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

การตีความในทางบวก คือ กรณีต้องพิจารณาเป็นไปตามหลักทั่วไปที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรกลุ่มนั่นคือประกอบด้วยสมาชิกตามที่กำหนด 500 คน ก็จะต้องกลับไปพิจารณาหลักทั่วไปในทางกฎหมายมหาชนที่ว่าหากไม่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้กรณีจะถือว่ามีองค์กรกลุ่มเกิดก็ต่อเมื่อมีสมาชิกในองค์กรนั้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งขององค์กรดังกล่าว(พิจารณาในแง่ขององค์ประกอบ) ในกรณีของสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 คน

นั่นคือ หากปรากฏว่าเมื่อพ้น 180 วันแล้วมีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 250 คน ก็ย่อมต้องถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนทั้งสิ้น 500 คน กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของ กกต. ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้สมาชิกครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป โดยถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มาภายหลังนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่

ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าการตีความไปในทางบวกจะเป็นประโยชน์มากกว่า

เหตุผล หากไม่ตีความไปในทางที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วนั้น ย่อมส่งผลให้

1. สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การตรากฎหมายออกมาใช้บังคับในบ้านเมืองจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่มีรัฐบาลรัฐบาลรักษาการก็ย่อมต้องรักษาการต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การบริการสาธารณะติดขัดมีปัญหาไม่ต่อเนื่อง (ด้วยสภาพของรัฐบาลรักษาการ) ส่งผลกระทบถึงประชาชนได้

2. การตีความตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไม่ได้ละทิ้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ของเขตเลือกตั้งที่ไม่มีการเลือกตั้งเห็นได้จากการเสนอให้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งต่อไปจนกว่าจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนนั่นเองซึ่งเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

3. หากถือเอาความเห็นแบบเถรตรงตามตัวอักษรว่าถ้าไม่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามที่มาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญกำหนด จะส่งผลให้การเลือกตั้งนั้นสิ้นผลไปนั้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินและเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

4. การจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ทั้งประเทศนั้น ด้วยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนควรจะเกิดขึ้นในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปแล้วปรากฏว่าได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดนั่นเอง

เหตุที่ผู้เขียนเห็นว่าการตีความในกรณีปัญหาดังกล่าวข้างต้น ควรตีความไปในทางบวกในทั้งสองประเด็นนั้น ผู้เขียนอาศัยหลักการตีความที่ทำให้กฎหมายใช้บังคับได้และหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะประกอบกับหลักประชาธิปไตยมาพิจารณานั่นเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท