Skip to main content
sharethis
ปธ.สหภาพแรงงานสื่อฯเผยวิธีทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง แนะไม่แต่งกายคล้ายผู้ชุมนุมและจนท. ชี้ควรใส่ปลอกแขนส.นักข่าวฯมากกว่าปลอกแขนบช.น. ย้ำกรองข้อมูลก่อนนำเสนอ
 
19 ม.ค.2557 เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 11.40 น. นายสุเมธ สมคะเน ในฐานะประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย (NUJT)  ให้สัมภาษณ์ทางรายการ 100.5 คืบหน้าข่าว News update ช่วง “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการเตรียมความพร้อมของสื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุมว่า ก่อนออกไปทำข่าวต้องเตรียมข้อมูลก่อนออกไปทำข่าว โดยเฉพาะการทำการบ้านในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้ชุมนุม แกนนำ พื้นที่ชุมนุมว่าอยู่จุดใดมีทางเข้า-ออกใดได้บ้าง เพื่อคความสะดวกในการทำข่าว รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมในส่วนของอุปกรณ์เซฟตี้ อาทิ เสื้อกันกระสุน หมวกนิรภัยฯ ส่วนการแต่งกายไม่ควรแต่งกายให้กลมกลืนกับผู้ชุมนุมและคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดโดยเฉพาะกรณีที่มีเหตุชุลมุนที่อาจจะตกเป็นเป้าหมายของการทำร้ายได้
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ในการทำข่าวภาคสนามในกลุ่มกปปส.แนะนำให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพควรสวมปลอกแขนสีเขียวอ่อนที่ออกให้โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิม์แแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ที่แกนนำ การ์ด และผู้ชุมนุมให้การยอมรับมากกว่าสื่อที่ใส่ปลอกแขนที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)
 
“นอกจากในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องพกติดตัวแล้ว ผู้สื่อข่าวควรกลั่นกรองข้อมูลก่อนนำเสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรทำหน้าที่เป็น Gate keeper เและวิเคราะข้อเท็จจริงว่าเรื่องใดควรหรือไม่ควรนำเสนอ เพื่อเป็นการป้องกันการเร่งเร้าให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง เนื่องจากมีข่าวสารจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย” ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อฯ ระบุและว่า อย่างไรก็ตามสหภาพฯ ได้มีการทำงานร่วมกับอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการประสานติดตามให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกและเจรจาทั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐและแกนนำผู้ชุมนุมตลอดเมื่อมีเหตุการคุกคามสื่อ ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังจบการชุมนุมซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไร สหภาพฯ และสมาคมนักข่าวฯอาจจะมีการจัดงาน “เติมกำลังใจ” อีกครั้ง เพื่อเชิญนักข่าวภาคสนามมาพบพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาของการทำงาน ซึ่งเคยจัดงานลักษณะเช่นนี้มาแล้วเมื่อช่วงมิ.ย.53 หลังการชุมนุมเสร็จสิ้น และมีการทำข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ของนักข่าวภาคสนามผ่านองค์กรสื่อ ไปถึงต้นสังกัดสื่อแต่ละองค์กรในการดูแลนักข่าวในการทำข่าวการชุมนุมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net