‘Dream South’ ฝันและทำเพื่อสันติภาพเบ่งบาน “ถ้าไม่คุยก็ไม่พบรากเหง้าความขัดแย้ง”

 

‘Dream South’ เป็นชื่อกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมที่เริ่มรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาโดยนักศึกษามหาวิทยาลัย 4 แห่งในชายแดนใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มหาวิทยาลัยฟาฏอนีย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีสมาชิกแกนหลัก 16 คน

นายดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาสาขาตะวันออกกลางศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ประธานกลุ่ม Dream South เล่าถึงการก่อเกิดของกลุ่มว่า ตั้งแต่ปี 2553 สมาชิกแกนหลักของกลุ่มมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ตามพื้นที่ต่างๆ มาตลอด จึงคิดรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการสร้างพื้นที่ในการพูดคุยกัน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิความรุนแรงท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

จาก Dream Thailand สู่ Dream South”

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ทางกลุ่ม Dream Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยได้ช่วยจัดกิจกรรมวาดฝันกับสิ่งที่จะให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต มีการระดมความคิดและความหวังที่มีอยู่ออกมา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมต่อไป

“เมื่อทีมกระบวนกรถามว่า จะตั้งชื่อกลุ่มว่าอะไร เราก็มานึกว่า กลุ่ม Dream Thailand เขามีคำถามประจำกลุ่มว่า คนไทยอยากเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทย กลุ่มเราก็อยากเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้าของชายแดนใต้ ก็เลยตั้งชื่อว่า Dream South”

ในการประชุมวันนั้นเอง สมาชิกแกนหลักของ Dream South ได้ร่วมกันเสนอโครงการ ทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ โครงการเสียงรากหญ้า, นักข่าวชายแดนใต้, ร้านน้ำชาสัญจร, อบรมเชิงปฏิบัติการแกนนำนักเรียนชายแดนใต้, ย้อนรอยประวัติศาสตร์ชายแดนใต้, เยาวชนสร้างฝัน และเสียงเพรียกจากเยาวชนชายแดนใต้

 

 “เปิดพื้นที่ส่งเสียง”

โครงการเสียงรากหญ้า เป็นกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชน 10 แห่งในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น กรือเซะ บางปู โสร่ง บันนังสตา ตากใบ ฯลฯ เพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุยของชาวบ้านในชุมชน ร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นทีมงานก็รวบรวมข้อเสนอของชาวบ้านนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะเดียวกันมีการเปิดพื้นที่การพูดคุยของเยาวชนนักศึกษาด้วย โดยอยู่ในโครงการร้านน้ำชาสัญจร โดยตระเวนในมหาวิทยาลัยต่างๆทั้ง 4 แห่ง เช่น เปิดพื้นที่การพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นพหุวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีย์ ประเด็นประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ประเด็นการจัดการตนเองในชายแดนใต้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสรุปประเด็นจากการพูดคุยจากทั้ง 3 วงที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

“ให้เยาวชนทำความเข้าใจตนเอง เชื่อมตนเองกับสาธารณะ”

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการแกนนำนักเรียนชายแดนใต้  เป็นกิจกรรมที่เชิญตัวแทนนักเรียนในกลุ่มสภานักเรียนประจำโรงเรียนต่างๆ ประมาณ 20 แห่ง เช่น โรงเรียนอิสลาฮียะห์ โรงเรียนมูลนิธิอาซิสสถาน โรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา โรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง โรงเรียนเบญจมราชูทิศ(ปัตตานี) ฯลฯ ร่วมกิจกรรมที่น้ำตกโตนงาช้าง จ.สงขลา ใช้เวลา 5 วัน 4 คืน

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้แกนนำนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ มองเห็นภาพของตนเองว่าอยู่ส่วนไหนของสังคมและสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างไร

ส่วนโครงการย้อนรอยประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ได้เชิญตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ประมาณ 90 คน มาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของปาตานี ผ่านสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ คือ มัสยิดกรือเซะ วังยะหริ่ง และมัสยิดลางาที่ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนเสียงมาว่า ได้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของปาตานีที่ไม่มีในหนังสือเรียน เช่น มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จเพราะถูกเผาหลังจากแพ้สงคราม ไม่ใช่เพราะคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และหลุมศพของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจริงๆ ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวปัตตานีที่ ต.ตันหยงลุโล๊ะ อ.เมือง ไม่ได้อยู่ข้างมัสยิดกรือเซะ 

ขณะที่วังยะหริ่ง อ.ยะหริ่งนั้น แท้จริงเป็นวังเจ้าเมืองที่ถูกแต่งตั้งโดยสยาม และไม่ได้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเจ้าเมืองปาตานีเดิม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกกลบด้วยหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยทั้งสิ้น

ส่วนโครงการนักข่าวชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมที่รวมตัวเยาวชนที่สนใจร่วมอบรมการทำข่าวกับคณะวิทยากรจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนมีทักษะนำเสนอข่าวสารด้านดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ได้มีโอกาสนำเสนอในช่วงนักข่าวพลเมืองไปแล้ว 3 – 4 ข่าว ส่วนที่เหลือก็นำเสนอในเฟสบุ๊ค

             

“เมื่อคือเหยื่อความรุนแรง ก็คือความเจ็บปวดที่เสมอกัน”

โครงการเยาวชนสร้างฝัน เป็นพื้นที่ของน้องเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มาทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การก้าวข้ามความเศร้า ปลดปล่อยความเจ็บปวด และการเดินหน้าต่อไป

ช่วงท้ายของกิจกรรม ทีมงานได้ให้น้องๆเขียนเรื่องที่เศร้าที่สุดในชีวิตลงในกระดาษ แล้วเผาทิ้งไปเพื่อเริ่มต้นใหม่ จากนั้นให้น้องเขียนความหวังในชีวิตไปแปะบนต้นไม้แห่งความหวังที่ทีมงานเตรียมไว้

หลายคนบอกว่า ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมคิดว่า ตนเองเศร้าอยู่คนเดียว แต่เมื่อได้เจอเพื่อนร่วมความรู้สึกเดียวกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและมอบกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน ทำให้มีความหวังในชีวิตมากขึ้น

นอกจากมีกำลังในชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขายังคิดทำอะไรสักอย่างเพื่อเพื่อนคนอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ขณะนี้สิ่งที่พวกเขาคิดนั้นยังอยู่ในขั้นดำเนินการเสนอโครงการ

“ไม่ว่าจะเป็นลูกของข้าราชการ ลูกของขบวนการ ลูกของเจ้าหน้าที่รัฐ ลูกของชาวบ้าน แต่เมื่อคือเหยื่อของความรุนแรง ก็คือความเจ็บปวดที่เสมอกัน”

 

เสียงเพรียกจากเยาวชนชายแดนใต้

โครงการเสียงเพรียกจากเยาวชนชายแดนใต้ จัดขึ้นที่เซ็นทรัลเวิร์ล ชั้น 8 ทีเคพาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิการยน 2556 ที่ผ่านมา โดยนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมทั้ง 6 โครงการดังกล่าว เพื่อสะท้อนความคิดความอ่านของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ในงาน มีการเสวนาในประเด็นเรื่องรากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้ และการแสดงเกี่ยวกับปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขความขัดแย้งอีกด้วย

 

เครือข่ายกิจกรรม

เครือข่ายที่ร่วมดำเนินกิจกรรมกับ Dream South มีทั้งกลุ่มในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ Deep South Watch, ศูนย์ฟ้าใส, กลุ่มลูกเหรียง, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI), PerMAS, เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี, พรรค มอ.เพื่อสังคม, สภาแตออ มอ.ปัตตานี และองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง

ส่วนกลุ่มกิจกรรมนอกพื้นที่ ได้แก่ สภากาแฟ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวร่วมปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์ประเทศไทย, วันใหม่, SABA และ Dream Thailand

 

พื้นที่พูดคุย เรียนรู้ความคิดที่หลากหลายและรอบด้าน

สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นที่พูดคุยที่มีความเป็นอิสระและปลอดภัย เพราะการพูดคุยกันอย่างเสรีนั้น เปรียบได้กับการขุดรากเหง้าของปัญหาต่างๆ ไปด้วย ถ้าเราไม่คุยกัน เราก็จะไม่พบรากเหง้าของความขัดแย้ง

เหตุผลของความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจากความอึดอัด ที่ระเบิดออกมาจากการเก็บกดเพราะพูดไม่ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเปิดพื้นที่พูดคุยแก่เยาวชน จึงแนวทางที่สำคัญมากต่อการสร้างความเข้าใจ และดำรงอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

“พื้นที่การพูดคุยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยขยายวงความคิด นอกจากมองเห็นความคิดของตนเองแล้ว ยังสามารถมองเห็นความคิดของคนอื่นด้วย เคารพความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้คนในสังคมได้ ”

การพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสียงถกเถียงข้อเท็จจริงในมิติต่างๆ จะช่วยสลายการผลิตซ้ำทางความคิดและความเชื่อ และมีความคิดที่รอบด้านยิ่งขึ้น

“หลายคนในพื้นที่ชายแดนใต้บอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน(พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)ไม่ดี ละเมิดสิทธิประชาชน แต่เมื่อถามต่อไปว่าไม่ดียังไง ละเมิดแบบไหน กลับมีไม่กี่คนที่ตอบได้ นั่นก็หมายความว่า เราเชื่อต่อๆ กันมา โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เพราะไม่เคยเรียนรู้ ดังนั้นพื้นที่การพูดคุยจึงเป็นสิ่งสำคัญในฐานะที่มันเป็นพื้นที่การเรียนรู้ไปด้วย”

           

ได้เห็น สันติภาพ ในมุมใหม่

ช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พวกเราได้เห็นมุมมองใหม่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เรามองกระบวนสันติภาพในมิติพื้นที่ทางการเมือง แต่เมื่อลงพื้นที่ทำกิจกรรม เรามองเห็นภาพที่ชัดเจนว่า กระบวนการสันติภาพจะขับเคลื่อนได้นั้นต้องอาศัยมิติอื่นด้วย ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ ต้องเล่นทุกอย่าง เพราะทุกอย่างคือองค์ประกอบของสันติภาพ

ครั้งหนึ่ง มีโอกาสลงพื้นที่ใน อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับรู้เกี่ยวกับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลในบริเวณพื้นที่หากินของชาวบ้านที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ชาวบ้านเดือดร้อนกันมาก ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือการทำลายสันติภาพอย่างแท้จริง

เราได้เห็นความหมายของสันติภาพในมุมใหม่ สันติภาพที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการที่มนุษย์สามารถดำรงอยู่ด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการอย่างปกติสุขนั่นเอง

อาหาร ก็ไม่ได้แค่หมายถึงความอิ่ม เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ได้หมายถึงเสื้อสูทเท่านั้น ยารักษาโรคก็ไม่ได้มีความหมายถึงยาทางเคมีอย่างเดียว ที่อยู่อาศัยก็ไม่ใช่แค่ที่ซุกหัวนอน แต่รวมถึงความปลอดภัยทั้งในบ้านและรอบบ้านไปด้วย

ถ้าปัจจัย 4 ประการเหล่านี้ถูกละเมิด นั่นก็เท่ากับว่าถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

“หากมนุษย์ในสังคมใด ได้ใช้ชีวิตด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการดังกล่าวอย่างปกติสุข นั่นก็หมายถึงผู้คนในสังคมนั้นได้มีชีวิตอยู่ในวิถีแห่งสันติภาพ นี่คือวงขยายความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้น”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท