Skip to main content
sharethis
สปสช.ผลักดัน 5 ยุทธศาสตร์ รุกเสริมการมีส่วนร่วมเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หลังพบคนไทยแม้มีอายุยืนยาวขึ้น แต่กลับป่วยโรคเรื้อรังมากขึ้น และส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังก่อนวัย
 
23 ม.ค.2557 นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวบรรยายภายใต้หัวข้อ “หลักการแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ในการประชุมพัฒนางานการมีส่วนร่วมเครือข่ายองค์กรประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การสร้างเสริมสุขภาพเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการจัดการและดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การฉีดวัคซีน แจกถุงยาง หรือการให้สุขศึกษา เท่านั้น แต่เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน โดยทำให้มีความรู้เพื่อดูแลตนเอง
 
ทั้งนี้การมีสุขภาพที่ดีต้องมีองค์ประกอบที่ดีตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 3 ด้าน ได้แก่ กาย ใจ และสังคม พร้อมบวกกับที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส ระบุเพิ่มเติม คือ จิตวิญญาณ ซึ่งสุขภาพที่ดีจะทำให้เกิดความสามารถในการสร้างผลผลิตต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ส่งผลให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี กลายเป็นสุขภาวะที่ดี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน
 
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การจะทำให้เกิดสุขภาพที่ดีจนเกิดสุขภาวะ ทิศทางที่ถูกต้องจะต้องเริ่มที่ปลายทาง จากเดิมที่เป็นการดำเนินการโดยส่วนกลาง โดยเริ่มจากตัวชาวบ้านก่อน และขยายไปยังครอบครัว ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จึงจะสำเร็จได้ แต่หากให้หน่วยงานกลางกำหนดและลงไปคงทำไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ปลายทางจะทราบปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่เกิดขึ้น และจะสามารถแก้ไขได้ถูกจุด
 
นอกจากนี้เมื่อดูผลตอบแทนด้านสุขภาพ หากต้องการได้ผลตอบแทนที่ดีด้วยการมีสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องมีการดูแลและสร้างสุขภาพที่ดีไปตลอดชีวิต ไม่แค่ช่วงใดช่วงหนึ่งของอายุ และยังต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา การตรวจและดูแลครรภ์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศได้คุณภาพประชากรที่ดี แต่ต้องเป็นการดูแลสุขภาพที่ต้องทำต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต
 
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่พบว่ากลับป่วยด้วยโรคเรื้อรังเร็วขึ้น อย่างโรคข้ออักเสบ หากเริ่มป่วยตั้งแต่อายุ 40 ปี นั่นหมายความว่าจะต้องทนเจ็บป่วยด้วยโรคข้อไปจนกว่าจะเสียชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องถามว่าการมีชีวิตที่ยืนยาวเป็นตัวชีวัดสุขภาวะที่ดีหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีการผลักดันให้เกิดดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพราะเป็นสุขภาพของตนเอง เพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพในระยะยาว” ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กล่าว
 
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีต้องใช้การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากเครือข่ายในพื้นที่ เบื้องต้นจึงมีการกำหนด 5 ยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมและมีส่วนร่วมเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อขับเคลื่อน คือ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรฐานการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย 2.พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และปราศจากช่องว่างกับองค์กรด้านสุขภาพ ภาคีทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความเป็นเจ้าของระบบร่วมกัน
 
3.สร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบปฐมภูมิที่เหมาะสมในทุกมิติและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 4.หนุนเสริมระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศ ให้เกิดการบริการที่เชื่อมโยง สอดคล้องและกลมกลืนกัน และ 5.เสริมสร้างและพัฒนาธรรมาภิบาลของการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ หากสามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้เกิดระบบที่เข้มแข็งและช่วยดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net