Skip to main content
sharethis

24 ม.ค.2557 วานนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2556 ที่ห้องเบญจรงค์ บอลรูม โรงแรมรอยัล เบญจา โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้สื่อ 3 ประเภท ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) สื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีและผ่านดาวเทียม) และสื่อออนไลน์ ประชาไทคว้ารางวัลสารคดีเชิงข่าวดีเด่น เป็นปีที่สอง จากการร่วมงานกับทีมผลิตสื่ออิสระ FT Media จากสารคดี "เขาชื่ออัสฮารี"

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงาน

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และมักนำเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่าย และสำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารที่คำนึงถึงการ เคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อความตระหนักของคนในสังคม และพลังในการยืนหยัดของสื่อมวลชนเพื่อทำงานปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป

สมเกียรติ อ่อนวิมล ขึ้นปาฐกถาในหัวข้อ “สื่อมวลชน: บทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคม” กล่าวว่า ปัจจุบันเขาไม่ได้เป็นสื่ออาชีพแล้ว แต่เป็นสื่อเลือกข้าง สมเกียรติเล่าว่า ในยุคก่อนสื่อไม่ค่อยคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนักในการรายงานข่าว และในช่วงก่อนปี 2540 เขาเริ่มคิดถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการนำเสนอข่าวมากขึ้น โดยดูแนวทางการนำเสนอข่าวของต่างประเทศและเริ่มวิธีการเบลอหน้าหรือใช้เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อปกป้องแหล่งข่าว เช่น ผู้ต้องขัง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการนำเสนอข่าวในยุคนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุถึงการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ การตรวนโซ่มือและเท้าผู้ต้องหา สมเกียรติกล่าวว่า สื่อควรจะต้องนำเสนอเพื่อให้เกิดรัฐความละอาย และกล่าวว่า “สื่อเลือกข้าง” และ “สื่อวางเฉย” ไม่อาจปกป้องหรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้

สมเกียรติ อ่อนวิมล ปาฐกถาหัวข้อ “สื่อมวลชน: บทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคม”

ในตอนท้ายของปาฐกถา สมเกียรติ สรุปปัญหาของสื่อในปัจจุบันว่ามี 3 ประเด็น คือ
1. การไม่เคร่งครัดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ซึ่งมีเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย
2. การปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น ต้องไม่ให้ผู้ที่ตกเป็นข่าวได้รับความเสียหายในฐานะมนุษย์
3. การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการนำเสนอข่าวที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของความเป็นมนุษย์

ในการส่งผลงานข่าวเข้าร่วมรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ มีหนังสือพิมพ์ระดับชาติ จำนวน 6 ชิ้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 2 ชิ้น สื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) 20 ชิ้น สื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีและผ่านดาวเทียมในประเทศไทย) 16 ชิ้น และสื่อออนไลน์ จำนวน 3 ชิ้น

ประชาไท -FT mediaได้รับรางวัลดีเด่นจากข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ จากสารคดีข่าวชุด "เขาชื่ออัสฮารี"

สื่อที่ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556

สำหรับข่าวและสารคดีเชิงข่าวที่ได้รับรางวัล ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น มีผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ข่าวชุด "หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี" หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น และข่าวชุด "เบื้องลึก! ตำราทรมานนักโทษ" หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น  ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น มีผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย 1 รางวัล คือ ผลงานชื่อ "เปิดเหมืองขูดเกลือใต้ดิน ร้องเวทีประชาคมโมฆะ" จากหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน จังหวัดนครราชสีมา

รางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) มีผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น 1 รางวัล คือ รายการทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน ตอน ที่นี่กรุงเทพฯ จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 1 รางวัล คือ รายการเปิดปม ตอน รอมฎอนกลางไฟใต้ จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

รางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) มีผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น 1 รางวัล คือ สารคดีข่าว "กรณีบุกช่วยชาวโรฮิงญา จากขบวนการค้ามนุษย์" จากสถานีโทรทัศน์ไวท์แชนแนล และมีผลงานได้รับรางวัลชมเชย 2  รางวัล ได้แก่ รายงานพิเศษ "ปิดตำนานแพะคดีเชอรี่ แอน คนสุดท้าย" จากสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี และสารคดีเชิงข่าว "ก็อดอามี่: เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากนโยบายความมั่นคงด้านพลังงานไทย-พม่า" จากสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์  รางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ ข่าวชุด "เขาชื่ออัสฮารี" จากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ซึ่งเป็นผลงานจากการร่วมงานของประชาไทกับทีมผลิตสื่ออิสระ FT Media

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้มอบรางวัลพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ให้กับข่าวชุด “เปิดปม 55 กะเหรี่ยงก๊อดอามี่ สูญหายไร้ชะตากรรม” จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net