Skip to main content
sharethis

24 ม.ค.2557 ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรม "จุดเทียนเขียนสันติภาพ" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนให้เคารพเสียงของคนทั้งประเทศเดินหน้าเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ โดยประชาไทได้รวบรวมภาพกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ที่จัดกิจกรรมเมื่อเย็นจนถึงค่ำวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาดังนี้

"จุดเทียนย้อนแสง" ตอนที่ 2 หม่ำลูกชิ้น กินขนม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ภาพโดย Silhouette Democrazy

Silhouette Democrazy รายงานว่าหลังจากที่กิจกรรมที่ชื่อ "จุดเทียนย้อนแสง" จัดไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 15 ม.ค. เพื่อสนับสนุนเลือกตั้งและต่อต้านรัฐประหาร โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษา ก็มีการจัดอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 23 ม.ค. ณ ที่เดิมนั่นคือ ใต้ต้นโพธิ์ใกล้กับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นอกจากกิจกรรมเดิมคือ การเขียนไปรษณียบัตรถึงนายกรัฐมนตรีในอนาคต การจุดเทียนย้อนแสง และการนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งแล้ว ครั้งนี้เพิ่มกิจกรรมขึ้นมาอีกหนึ่งนั่นคือ “หม่ำลูกชิ้น-กินขนม” แล้วพูดคุยรอเลือกตั้ง

ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมราวๆ 90 คนเพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วที่มีอยู่ประมาณ 70 คน ในวันเดียวกันนี้ไม่ไกลจากสถานที่จัดงาน มีกิจกรรมที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดเวทีปราศรัยของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ลำปาง เขตที่ 3 ที่เริ่มงานประมาณ 17.30 น.ก่อนงานจุดเทียนย้อนแสง เกือบ 1 ชั่วโมง งานเริ่มต้นด้วยการล้อมวงและจุดเทียนย้อนแสง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันกับผู้ต้องการการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยย้ำว่าการเคลื่อนไหวนี้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดไม่ใช่ศัตรู ยกเว้นแต่รัฐประหารและการใช้อำนาจอันบิดเบี้ยว หลังจากนั้นก็นับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งอีก 10 วัน จากนั้นทุกคนก็นำเอาเทียนไปปักไว้ที่โคนต้นโพธิ์ กิจกรรมต่อไปก็เริ่มที่การหม่ำลูกชิ้น กินขนม เปิดวงคุยกันในกลุ่มย่อยๆ ใช้เวลาไม่นานนัก ในที่สุดกิจกรรมก็จบงานลงอย่างเรียบง่ายด้วยการเปิดโอกาสให้คนที่อยากพูดได้แสดงความคิดเห็น

รณชัย ปินใจ นักศึกษาผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมให้สัมภาษณ์ว่า “ผมว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ปกติแล้วเป็นคนชอบวางตัวเป็นกลาง การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็ตั้งใจที่จะเลือกตั้งและคิดว่าถ้าเราไม่ทำตามกฎหมายประเทศชาติก็ไม่สงบสุข และเห็นว่าประชาธิปไตยที่หัวใจหลักก็คือ ประชาชนได้มีส่วนร่วม มีมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475 ก่อนหน้านั้นประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพมากพอ” กิจกรรมจุดเทียนย้อนแสง ตอนที่ 3 ในสัปดาห์จะเป็นอย่างไรนั้นทางทีมงานจะได้แจ้งรายละเอียดต่อไป

ภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งล้อมรอบต้นโพธิ์ บริเวณคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ภาพโดย อัคจร แม๊ะบ้าน
เหล่านักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม
ภาพโดย อัคจร แม๊ะบ้าน 
กิจกรรมเขียนโปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตรีในอนาคต
ภาพโดย อัคจร แม๊ะบ้าน
 

จุดเทียน เขียนสันติภาพ เปิดป้าย เปิดกรุงเทพฯ หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ภาพจาก Voice TV

กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย หรือ SCFD ได้ออกแถลงการวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า มิใช่ตัวแทนขององค์กรหรือมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และสนใจร่วมระดมความคิด ร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง เราเชื่อว่า นักศึกษามิได้เป็นเพียงแค่ผู้ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อจะออกไปประกอบอาชีพหรือหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง แต่การที่นักศึกษาเข้ามาเรียนโดยอาศัยเงินภาษีประชาชน นักศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมกับสังคม และมีจุดยืนเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยเท่าที่พลังนักศึกษาจะทำได้ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยจึงถูกจัดตั้งขึ้นจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมกับสังคมการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีการชุมนุมทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป ปรากฏการใช้ความรุนแรงกับทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายที่มิอาจทราบได้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป พวกเรากลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยขอร่วมจุดแสงเทียนเล่มเล็กๆ ร่วมเป็นสัญลักษณ์ของความสว่างไสวที่จะสามารถจุดต่อไปได้นับร้อยนับพัน แม้แสงเทียนจะมิได้มีพลังมาก แต่ก็สามารถทำให้เราพ้นจากความมืดมิดได้บ้าง กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศแสดงเจตนารมณ์ดังนี้

1.     เราขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะมาจากบุคคลหรือฝั่งใด และขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของทุกชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง เราขอแสดงเจตนารมณ์ปฏิเสธความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธ ภาษา หรือสัญลักษณ์ โปรดตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของทุกๆ บุคคล ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันสักเพียงใด แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

2.     เราขอยืนยันว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องแก้โดยกระบวนการของกฏหมาย เราเห็นด้วยว่าการทุจริตคอรัปชันของนักการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายใดเป็นปัญหาสำคัญ หากแต่เราจำเป็นต้องแก้ผ่านกระบวนการทางกฏหมายและระบอบประชาธิปไตย มิใช่จากการใช้กำลังหรือแทรกแซงกดดันต่างๆ  เราจึงขอแสดงจุดยืนเพื่อปฏิเสธต่อต้านการรัฐประหาร ตลอดจนการแทรกแซงกดดันต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

3.     เราสนับสนุนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 เราเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม สันติ และเป็นไปตามกติกาสากล หากประชาธิปไตยหมายถึงระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การเลือกตั้งเป็นหนทางเดียวที่จะแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างดีที่สุด เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง สนับสนุนการเลือกตั้งที่โปร่งใส และยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

4.     เราเชื่อว่าการแสดงแสดงความคิดเห็นทางการเมืองรวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความคิดเห็นเหล่านั้นออกสู่สาธารณะ เป็นสิทธิและหน้าที่ที่พลเมืองพึงกระทำได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่การแสดงออกเหล่านั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่สร้างความเกลียดชังแตกแยกโดยการประจาน ประณาม หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดต่อบุคคลหรือองค์กรซึ่งมีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างกัน

5.     เราไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นกฏหมายที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แม้เราจะเข้าใจว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจำเป็นสำหรับการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อย เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเหมาะสม และเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

กลุ่มประชาคมศิลปากร ระบุตอนท้ายของแถลงการณ์ด้วยว่า เราเชื่อมั่นว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ประเทศชาติจะขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน เราต้องก้าวต่อไปพร้อมการยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตยโดยที่ทุกคนเท่าเทียมกันและร่วมพัฒนาประเทศชาติไปพร้อมๆ กัน

 

พระจอมเกล้าธนบุรี

ภาพจาก ลูกพระจอม ปกป้องประชาธิปไตย

ภาพจาก Rittipong Mahapetch

กลุ่ม Democracy Thonburi และ กลุ่ม ลูกพระจอม ปกป้องประชาธิปไตย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “จุดเทียนส่งแรงใจ นำพาไทยคืนสู่สันติภาพ” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และยังต้องการรณรงค์ให้เกิดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติวิธี

โดยกลุ่มนี้ระบุด้วยว่า เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะก่อให้เกิดการปฎิรูปทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสันติวิธี การเลือกตั้งเป็นการแสดงความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ชาติกำเนิด เพศ ฐานะ การศึกษา ว่ามีความเป็นเจ้าของประเทศเท่าเทียมกัน การเลือกตั้งเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะก่อให้เกิดรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยซึ่งสามารถตรวจสอบการบริหารประเทศได้ตามระบอบ และการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นานาประเทศยอมรับ ในนาม กลุ่ม Democracy Thonburi และ กลุ่มลูกพระจอม ปกป้องประชาธิปไตย ขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. นี้ รวมทั้งสนับสนุนทุกกระบวนการที่จะก่อให้เกิดสันติวิธีในประเทศไทย

บางเสาธง สมุทรปราการ

 

 

เทพารักษ์ สมุทรปราการ

ภาพโดย Nutom Tomjung

สวนเบญจสิริ กทม.

 

หน้าโรงแรม SC PARK (เลียบทางด่วนรามอินทรา) 

 

 

 

ซอยโชคชัยร่วมมิตร 

ภาพโดย Nop FireBird Kongsuwan

ชัยภูมิ 

ภาพโดย Chan Chantharakala

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net