พลวัตรของการเมืองไทยที่เปลี่ยนไปและความรุนแรงจากการเลื่อนการเลือกตั้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ เป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินประเด็นอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้แนวคิดดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงสักระยะแล้ว แต่พัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีลักษณะน่าวิตก เพราะเปลี่ยนจากข้อเสนอทางการเมือง มาเป็นอำนาจตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องทบทวนกันถึงสถานการณ์ที่เปราะบางของการเมืองไทย และอันตรายจากการอนุญาตให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญ

แนวคิดเรื่องพลวัตรการเมืองไทย[1]

แนวคิดเรื่องพลวัตรการเมืองไทยอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยว่ามาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนสี่กลุ่ม คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือน ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ และชนชั้นล่างจากชนบท นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ที่เหลือต่างต่อสู้แย่งชิงอำนาจการเมืองกันตลอดมา

แนวคิดนี้อธิบายความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ว่ามาจากการที่รัฐธรรมนูญลดพื้นที่การเมืองของชนชั้นกลางลง เพิ่มพื้นที่ให้กับชนชั้นล่าง ประกอบกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เปลี่ยนชนชั้นล่างจากฐานเสียงเป็นฐานนโยบาย สภาพที่เกิดขึ้นทำให้ดุลยภาพการเมืองไทยที่เคยมีอยู่เสียไป และส่งผลให้ชนชั้นกลางลุกฮือ จนรัฐธรรมนูญเองต้องสิ้นผลไปในที่สุด

คำอธิบายในแนวทางนี้ยังใช้ได้อยู่สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเช่นกัน แม้เส้นแบ่งเรื่องคนชั้นล่างกับชนชั้นกลางจะจางลงไปมากเพราะต้องยอมรับว่ามีคนจากทุกชนชั้นปนอยู่ในกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่าย ไม่ว่า กปปส. หรือ นปช. ก็มีปัญญาชนและชนชั้นล่างปะปนกันไปทั้งสิ้น

ดุลยภาพการเมืองครั้งใหม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พยายามสร้างดุลยภาพการเมืองขึ้นมาใหม่หลังการรัฐประหาร ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่านี่คือสมดุลของการเมืองไทย แต่เป็นสมดุลที่เปราะบางมาก เป็นชนวนระเบิดเมื่อใดก็ได้

เพราะฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงสมควรทบทวนสมดุลใหม่ของการเมืองไทย ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 บ้าง

(1) ฝ่ายนิติบัญญัติ
ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นทั้งผู้ออกกฎหมาย และแต่งตั้งฝ่ายบริหาร ดังนั้นการกำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดินจึงอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ทั้งสภาล่างและสภาบนมาจากการเลือกตั้ง นั่นเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงของรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทำให้คนกลุ่มเดียวที่กุมอำนาจในการกำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่ชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่วุฒิสภานั้นควรทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง จึงไม่ควรมาจากการเลือกตั้งเสียเอง

ในรัฐธรรมนูญ 2550 วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งอย่างละครึ่ง นั่นหมายความว่า ชนชั้นกลางมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น จะเห็นได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาที่มีที่มาต่างกันนั้นไม่สามารถเข้ากันได้ดีนัก ตรงกันข้าม สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีบทบาทแข้มแข็งในการตรวจสอบ ขัดขวางการดำเนินนโยบายใดๆของรัฐบาล จนเป็นที่รู้จักกันดีในนามของกลุ่ม 40 สว.

(2) องค์กรอิสระต่างๆ
วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเคยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานขององค์กรอิสระ เนื่องจากเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา นอกจากนั้น การส่งชื่อในวุฒิสภานั้นส่งจำนวนมากกว่าตำแหน่งสองเท่าและให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือกให้เหลือครึ่งเดียว นั่นจึงเปิดโอกาสให้วุฒิสภาสามารถเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้และทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมือง หรืออีกนับหนึ่ง อิทธิพลของชนชั้นล่าง

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจหลักในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ และยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจเพียงแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบชื่อที่เสนอ โดยไม่มีสิทธิเลือก นั่นหมายความว่าอำนาจในการเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล กลับมาอยู่ในมือของข้าราชการประจำและชนชั้นกลางอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น เราจะเห็นว่า โดยภาพรวมแล้ว ภายหลังรัฐประหาร ชนชั้นกลางสามารถยึดอำนาจนิติบัญญัติกลับมาไว้ได้ครึ่งหนึ่ง และองค์กรอิสระทั้งหมด ในขณะที่ชนชั้นล่างนั้น นับแต่รัฐประหารเป็นต้นมา สูญเสียอำนาจในการควบคุมสภาสูงและองค์กรอิสระไป มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นช่องทางการแสดงออกทางการเมืองของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 เองได้สร้างกลไกขัดขวางการทำงานของรัฐไว้จำนวนมาก ประกอบกับการใช้อำนาจตุลาการอย่างแข็งกร้าว ขยายออกไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งทำให้การใช้อำนาจการเมืองของชนชั้นล่างลำบากมากขึ้น

ความรุนแรงจากการเลื่อนการเลือกตั้ง

น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุหน้าที่หลักของมันในการเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจของประชาชนได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมลงแข่งขันด้วย ทำให้ตัวเลือกที่แท้จริงของคนจำนวนมากหายหายสิ้นไป พรรคขนาดเล็กที่ลงแข่งในครั้งนี้คงไม่อาจเรียกว่าเป็นตัวเลือกอะไรได้นอกจากไม้ประดับเท่านั้น

แต่นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความหมายเช่นนั้นหรือ การเลือกตั้งยังมีหน้าที่อื่นอีก เช่น เป็นกลไกหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางการเมือง[2] โดยเป็นช่องทางให้คู่ขัดแย้งชี้ขาดข้อพิพาทกันด้วยวิธีอารยะ แทนสงครามกลางเมือง ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงความตายของพี่น้องร่วมชาติไทยได้ นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งน่าจะคุ้มค่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุด เราสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในขณะที่สงครามการเมืองนั้นไม่อาจเรียกชีวิตผู้ตายกลับคืนมาได้อีก

ในปัจจุบัน สมการการเมืองไทยเปราะบางมากพออยู่แล้ว การขยับใดๆก็ตามอาจทำให้ดุลแห่งอำนาจนี้เสียไป ซึ่งประวัติศาสตร์สอนเราว่า ผู้เสียประโยชน์ไม่มีทางยอมรับได้โดยง่ายหรือโดยสันติ

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ทำด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชนทั้งชาติ กล่าวให้ถึงที่สุด นี่คือการขืนใจเสียงข้างมากด้วยเสียงข้างน้อย ซึ่งเสียงข้างน้อยไม่มีหลักประกันใดๆให้เสียงข้างมากกว่าอำนาจการเมืองดังกล่าวจะไม่ถูกพรากจากพวกเขาไปตลอดกาล หรือไม่ลดน้อยลง ความหวาดระแวงเช่นนี้พร้อมจะระเบิดเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ในปี 2549 ชนชั้นกลางผู้สูญเสียอำนาจแสดงออกผ่านการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐประหาร ในครั้งนี้ หากชนชั้นล่างรู้สึกสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปบ้าง คำถามคือ พวกเขาจะแสดงออกด้วยวิถีทางใด และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ขยับสมดุลแห่งอำนาจนี้เอง พร้อมจะรับผิดชอบความเสียหายใดๆที่จะเกิดขึ้นนี้หรือไม่

ที่จริง ผลกระทบของคำพิพากษาไม่ควรถูกนำมาเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินคดี เนื่องจากจะเป็นการนำผลไปตั้งเป็นเหตุ แทนที่จะตัดสินจากถ้อยคำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่หากตุลาการจะตัดสินแบบอภิวัฒน์ สร้างสิ่งที่มีขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มี ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะวิเคราะห์ผลกระทบจากการกระทำของตนเองให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจดังกล่าวลงไป

 

     

             



[1] ผู้สนใจสามารถอ่านจาก บวรศํกดิ์ อุวรรณโณ, พลวัตของการเมืองไทย, 2552 ค้นหาจาก http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=95&Itemid=214

[2] ดู International Institute for Democracy and Electoral Assistance, Electoral System Design: The New International IDEA Handbook, p. 6 (2008).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท