Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การรักชาติของไทย ทำไมถึงแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไทย ไม่ไทย กับคนร่วมชาติ?

หากมองโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมต่างด้านความมั่นคง รวมไปถึงการใช้งบประมาณด้านความมั่นคง จะพบว่า

หน่วยงานความมั่นคงภายในของไทยนั้นใช้ กองทัพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาขับเคลื่อนนโยบาย และทำกิจกรรมทั้งทางลับและทางสว่าง แทนที่จะเป็นราชการฝ่ายพลเรือน คือ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง เช่น กระทรวงแรงงาน สวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ดังนั้นกิจกรรมด้านจิตวิทยามวลชน การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานความมั่นคงภายใน จึงเป็นไปในลักษณะการปลุกระดมให้รักชาติ และมองหา "ศัตรู" ของชาติ แต่หน่วยงานความมั่งคงของไทยมีขีดความสามารถแค่ใช้ความเป็นไทย ภาษาไทย จึงทำได้แค่สร้างศัตรูที่เป็นไทยด้วยกัน

หันไปมองรัฐอื่นจัดการความมั่นคงกันบ้าง

จากการทบทวนกิจการด้านความมั่นคงของรัฐมหาอำนาจ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสเปน และประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย จะพบว่า

รัฐไทยเดินในเส้นทางที่ผิดกับรัฐมหาอำนาจใหม่ และเก่า ที่มองหาโอกาสใหม่ๆในต่างแดน และป้องกันการแทรกซึมของต่างชาติ การจัดการความมั่นคงจะมีความชัดเจนโดยแบ่งภาระหน้าที่ชัดเจน โดยให้กองทัพและฝ่ายความมั่นคงดำเนินกิจกรรมภายนอกรัฐ ซึ่งเมื่อลองมองกิจกรรมของฝ่ายความมั่นคงไทยหลังยุคสงครามเย็น(ที่มีมหาอำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกาหนุนหลัง)รัฐไทยทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำมากนัก  จะเห็นเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวเสียมากกว่า

โอกาสของรัฐไทยในการปฏิรูปกิจการความมั่นคง

ดังนั้นเมื่อภูมิภาคอาเซียนกำลังจะเปิด   สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับคือ ให้กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงเปลี่ยนไปทำภารกิจนอกประเทศโดยเฉพาะมิตรสมาชิกอาเซียนแทน นั่นก็คือ เรียนรู้มิตรและศัตรู มองหาลู่ทาง จุดอ่อน จุดแข็งของเพื่อนร่วมภูมิภาค เพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขัน หรือภาวะคุกคามต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ทั้งเรื่อง องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล แรงงานพลัดถิ่น การค้ามนุษย์ อาวุธเถื่อน ยาเสพย์ติด ไปจนถึงภัยใหม่ๆ เช่น สงครามบนโลกอินเตอร์เน็ต และอาชญากรรมที่ก่อโดยบรรษัทข้ามชาติ เป็นต้น 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น นโยบาย ภารกิจ และปฏิบัติการด้านความมั่นคงภายนอก ทั้งต่างประเทศ และระหว่างประเทศ จึงจะอยู่ในรูปการประสานงานกันระหว่าง กองทัพ หน่วยงานความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ โดยอาจมีฝ่ายต่างประเทศของบางกระทรวงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เกษตร ฯลฯ ในเรื่องความมั่นคงเฉพาะด้าน

การสร้างความมั่นคงภายในรัฐไทย

ส่วนกิจการความมั่นคงภายในนั้นก็ควรผ่องถ่ายให้กระทรวงมหาดไทยและตำรวจ เป็นเจ้าภาพหลัก และร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ในประเด็นเฉพาะ เช่น เรื่องแรงงานพลัดถิ่นกับกระทรวงแรงงาน เรื่องความมั่นคงด้านอาหารกับกระทรวงเกษตรฯ เรื่องอินเตอร์เน็ตกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงมหาดไทยไปสู่กิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น ยังจะส่งผลดีทางอ้อมอีกประการ คือ การผ่องถ่ายอำนาจมหาดไทยในการปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค ไปอยู่ในมือการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองในการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระดับท้องถิ่นมากขึ้น   ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานรากดังที่ทุกฝ่ายล้วนเสนอในแนวทางการปฏิรูป
หากการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคงดังที่กล่าวไปในข้างต้น ประสบความสำเร็จ

ภาวะ “ศัตรูร่วมชาติ” หรือ ภาวะรัฐเจ้าอาณานิคมภายในดินแดน (รัฐบาลกลางปกครองภูมิภาคต่างๆ คนส่วนกลางมองคนชายขอบคิดต่างว่าเป็นศัตรู) จึงจะทุเลาลงไป และทำให้ประเทศไทยสามารถแสวงหาผลประโยชน์ใหม่ๆในต่างแดนได้อีกด้วย


ภาพกิจกรรมลอยกระทงของคนไทยในบาร์เซโลนา พฤศจิกายน 2556
 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ทศพล ทรรศนกุลพันธ์กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายกับการเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net