คุณภาพนักวิชาการก็ไม่ต่างจากคุณภาพนักการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำประกาศล่าสุดของสุเทพ  เทือกสุบรรณ ที่ว่า “พวกเราไม่สนใจการเลื่อนเลือกตั้ง  เพราะไม่ใช่เป้าหมายของเรา  เป้าหมายของเราคือการปฏิรูปประเทศโดยประชาชน ไม่มีพรรคการเมือง นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ทั้งที่ผู้ประกาศข้อความดังกล่าวคือ “นักการเมือง” และเป็นนักการเมืองแบบไหนมวลมหาประชาชน กปปส.ย่อมรู้อยู่แก่ใจ แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นและพร้อมจะเดินตามการนำของสุเทพ แม้ว่าจะเป็นทางเดินที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการล้มเลือกตั้ง ปล้นอำนาจประชาชน อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปะทะบาดเจ็บล้มตายต่อเนื่องเป็นระยะๆ

ถามว่าจะล้มเลือกตั้ง เผชิญกับการปะทะบาดเจ็บล้มตายกันไปทำไม ในเมื่อที่สุดแล้วก็ต้องกลับเข้าสู่การเลือกตั้งอีกเช่นเดิม เราไม่สู้จะมองเห็นเหตุผลอื่นมากนัก นอกจากความหวังว่าจะได้ “ปฏิรูปประเทศ” ตามคำประกาศของสุเทพ ซึ่งไม่ใช่คำประกาศที่ออกมาจาก “กึ๋น” ของสุเทพเองด้วยซ้ำ แต่เป็นคำประกาศที่ “ก๊อป” มาจากคำประกาศของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร (พธม.) ที่ประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน

คำประกาศดังกล่าว  สะท้อนความไม่เชื่อถือ  กระทั่งรังเกียจนักการเมืองอย่างถึงที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วการสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมืองมีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่านักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมืองมักเปรียบเทียบกับความดี ความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองของสถาบันกษัตริย์ กระทั่งกล่าวหาเลยเถิดไปว่า การปฏิวัติสยาม 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎร หลังจากนั้นสมาชิกคณะราษฎรก็แย่งชิงอำนาจกันมาตลอดไม่ได้มีความจริงใจสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

วีรบุรุษประชาธิปไตยจึงไม่ใช่นักการเมือง หากเป็นรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญและทรงสละ “พระราชอำนาจ” ให้แก่ราษฎรชาวสยามทุกคน ไม่ใช่ให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ วีรบุรุษกู้วิกฤตความรุนแรงนองเลือดในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จึงเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ “นายกฯพระราชทาน” ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เกี่ยวโยงกับการทรงระงับความรุนแรงนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภา 35 และกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49

โดยมีนักวิชาการใหญ่น้อยมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างคำอรรถาธิบายทางวิชาการรองรับความเชื่อที่ว่า “สถาบันกษัตริย์เสียสละเพื่อความสุขของราษฎร แต่นักการเมืองเลว โกงชาติบ้านเมือง” อีกทั้งออกหน้าสนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ ศาลมีอำนาจถ่วงดุลนักการเมือง เวลานักวิชาการวิจารณ์ความเลวของนักการเมืองที่ประชาชนเลือกได้นั้น ก็ใส่ไม่ยั้ง กระทั่งมองนักการเมืองเลวในระดับ “สปีชี่ส์” เลยด้วยซ้ำ ขณะที่ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่วิพากษ์ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างจริงจัง

นี่คือภาพสะท้อน “คุณภาพ”  ของนักวิชาการ ยิ่งเมื่อเราได้เห็นปรากฏการณ์ที่บรรดาอธิการบดีออกมาเป่านกหวีด  เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล  ขึ้นพูดบนเวที กปปส., กปท.,คปท. จะเห็นว่าคุณภาพทางความคิดและการแสดงออกของนักวิชาการก็ไม่ได้ดีกว่านักการเมืองที่พวกเขาโจมตี เพราะสิ่งที่พวกเขาแสดงออกก็มีตั้งแต่คำพูดสองแง่สองง่าม หยาบคาย กดเหยียดสตรีเพศ หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตย กระทั่งโชว์ความฉลาดทางตรรกะแบบ “ภาษา 5 ปริญญา” ก็มีให้เห็นกันอยู่เป็นจำนวนมาก 

หลายปีมานี้ เราได้เห็นข้อเสนอแปลกแปร่งของนักวิชาการ เช่นเสนอหลักการว่าบทบาทของนักวิชาการควร “วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม” ทั้งที่หลักการนี้ใช้ไม่ได้จริง เพราะวิจารณ์อำนาจนอกระบบอย่างเท่าเทียมกับที่วิจารณ์อีกฝ่ายไม่ได้ บ้างก็เสนอให้สุภาพนุ่มนวลกับอภิสิทธิ์ชน จะพูดจาอะไรก็ควรเคารพความรู้สึกของคนรักเจ้า รักษาประเพณีหมอบคลานเอาไว้ไม่เสียหายอะไร เพราะเป็นวัฒนธรรมอันดี ฯลฯ

ขณะที่นักวิชาการบอกว่าคนที่ออกมาชุมนุมกับ กปปส.ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีการศึกษา มีความคิด มีเหตุผลของตัวเอง (ซึ่งที่จริงเราก็ยอมรับและเคารพพวกเขา แต่พวกเขามีสิทธิ์อะไรมาละเมิดสิทธิเลือกตั้งของเรา หรือยึดอำนาจของพวกเราไปปฏิรูประเทศตามแนวทางของกลุ่มตน) แต่กลับพูดถึงคนรากหญ้าที่มาชุมนุมทางการเมืองว่าไม่รู้ประชาธิปไตย เอาประชาธิปไตยไปให้ก็ไม่ต่างอะไรกับเอาเทคโนโลยีไปให้ ชาวบ้านก็จะถามว่า “เทคโนโลยีกิโลละเท่าไร?” กระทั่งบันทึกประวัติศาสตร์การชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 ผ่านงานวรรณกรรมด้วยท่วงทำนองว่า ชาวบ้านมาชุมนุมเพราะต้องการช่วยให้ทักษิณกลับบ้าน ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ไม่รู้เรื่องอะไร แกนนำพูดบนเวทีเรื่องสองมาตรฐาน เขาก็นึกถึง “ถาน (ส้วมพระในชนบท)” แล้วพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อและถูกฆ่าตาย

หลายปีมานี้ บรรดานักวิชาการมีบทบาทอย่างสำคัญในการผลิตวาทกรรม คำอธิบายผ่านการแสดงความเห็น  งานวิชาการ กระทั่งบทกวี วรรณกรรม ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่มีสาเหตุมาจากนักการเมืองเลว  (อย่างที่พูดว่า “คนที่ทำรัฐประหารไม่ใช่อยู่ๆ ไปนั่งกินเหล้ากันแล้วปรึกษาตกลงใจทำรัฐประหาร มันต้องมีสาเหตุมาก่อนคือนักการเมืองโกง” กลายเป็นการไปรับรองโดยนัยสำคัญว่า “รัฐประหารเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างจำเป็นจากการคอร์รัปชันของนักการเมือง” ซึ่งไม่จริง และไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น) และพูดถึงชาวบ้านว่าไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเหยื่อนักการเมือง กระทั่งมองว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวเองกลายเป็น “ซอมบี้” ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง (โดยไม่วิจารณ์การกระทำของมวลมหาประชาชน กปปส.ว่าทำให้ตนเองมีสิทธิ์ต่อรองหรือไม่ อย่างไร) นี่ยังไม่นับนักวิชาการใหญ่น้อยที่สนับสนุนการยึดอำนาจรัฐโดย กปปส.

ฉะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ จึงไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองเลวหรือไม่มีคุณภาพจนเลือกไม่ลงเท่านั้น แต่เรายอมรับความจริงหรือไม่ว่า “ทุกสถาบัน” ล้วนแต่คุณภาพแย่ เสื่อมความน่าเชื่อถือกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมือง กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ นักวิชาการ สื่อมวลชน สถาบันสงฆ์ กระทั่งสถาบันที่ตรวจสอบไม่ได้อื่นๆ การปฏิรูปที่แท้จริง จึงต้อง “ปฏิรูปทุกสถาบัน” ซึ่งต้องใช้เวลานาน และต้องจัดกระบวนการปฏิรูปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นจึงอาจหลีกเลี่ยงความรุนแรงนองเลือดได้

เลิกเสียทีเถิดครับท่านนักวิชาการกับการกล่าวหานักการเมือง (ที่ประชาชนเลือกได้) ให้เป็น “แพะ” รับบาปของความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย หากมีนักการเมืองคอร์รัปชันก็ต้องยืนยันให้จัดการเอาผิดพวกเขาตามกฎหมาย ตามวิถีทางประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันทุกสถาบันก็ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตยในมาตรฐานเดียวกับที่วิจารณ์ตรวจสอบนัการเมืองด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท