ขัดขวางการเลือกตั้ง: เหตุผลหรือข้ออ้างของผู้อับปัญญา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พฤติกรรมการต่อต้านและการขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งของผู้ชุมนุมในช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ช่วงของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิในต่างประเทศและผู้ใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดคำถามต่อคนไทยและสังคมโลกเป็นอย่างมาก หลายคนที่ได้พบปะพูดคุยถึงขนาดตัดพ้อว่า ไม่นึกไม่ฝันว่าชาตินี้จะได้เจอภาพของการปีนกำแพงเพื่อเข้าไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ภาพของผู้ขัดขวางเข้าล็อคคอของผู้ต้องการจะเข้าไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ภาพของการพยายามเอากุญแจไปคล้องปิดประตูหน่วยเลือกตั้งหรือพยายามยึดหืบเลือกตั้ง และอีกหลายภาพของพฤติกรรมขัดขวางการเลือกตั้งได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกสร้างความประหลาดแก่ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก

โดยสามัญสำนึก การใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมประท้วงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งถือเป็นความชอบธรรมและถูกรับรองโดยตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ชุมนุมใดๆ ก็ต้องเคารพต่อเพื่อนร่วมสังคมของตนเองประกอบด้วย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานของการยอมรับความเท่าเทียมกันของคนร่วมสังคมเดียวกัน สังคมประชาธิปไตยทุกที่จึงพูดถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน การอ้างสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนจึงถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมสังคม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้ร่วมสังคมและเป็นไปในลักษณะสร้างสรรค์สังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว มิใช่เป็นไปในทางทำร้ายสังคม หาไม่แล้วการชุมนุมนั้นก็จะหมดความชอบธรรมทันที เป็นเพียงการก่อกวนทางการเมืองไปโดยปริยาย

ผู้ชุมนุมประกาศว่าตนเป็นคนดี มีความรู้ ก็ควรใช้ต้นทุนนี้เป็นพลังในการเคลื่อนไหว คนดีในทางประชาธิปไตยอาจคนละความหมายของคนดีในทางศาสนาหรือคนดีในโลกอุดมคติของนักปรัชญา คุณสมบัติพื้นฐานของคนดีในการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยอย่างหนึ่งคือการยอมรับว่าคนเรามันเท่ากัน สังคมใดยอมรับว่าคนเราเท่าเทียมกัน การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้คนในสังคมนั้นจะเป็นไปในลักษณะเป็นเสรีภาพที่เปิดโอกาสในการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนในสังคม เพื่อเกิดพลังในการร่วมสรรสร้างสังคมต่อไป

การขับเคลื่อนของการชุมนุมที่เห็นคนเท่ากันจะมีพลังมหาศาล ตรงกันข้าม สังคมใดเห็นคนไม่เท่าเทียมกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกลดค่าลงไปด้วย การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนที่มองว่าคนไม่เท่ากันเป็นการเริ่มต้นที่พลาดตั้งแต่แรก เกิดปัญหาการขยายฐานมวลชน ความคิดที่ตั้งไว้ผิดย่อมผลักดันให้เกิดการกระทำที่นอกเหตุนอกผลได้ตลอดเวลา และที่สำคัญไร้จุดมุ่งหมายแห่งอุดมการณ์หรือมุ่งสู่เป้าหมายที่พร่ามัวปฏิบัติตามได้ยากและไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ 

หากผู้ชุมนุมอ้างว่าตนเป็นคนดี ก็ควรใช้วิถีแห่งคนดีในการเคลื่อนไหวขับเคลื่อน ต้องเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็นคนดีอยู่ในตัวทุกคน กล่าวได้ว่าโลกเราคนดีมีมากกว่าคนชั่ว ดังนั้น หากผู้ชุมนุมใช้วิธีของคนดีก็มีโอกาสที่สังคมจะเห็นด้วยกับความคิดของผู้ชุมนุม การชุมนุมก็มีหนทางที่จะได้มวลชนมากขึ้น ชัยชนะย่อมมีทางเป็นไปได้ นั่นคือทางสู่ชัยชนะแบบคนดีอย่างแท้จริง

หากผู้ชุมนุมประกาศว่าตนเป็นผู้มีการศึกษา ก็ควรขับเคลื่อนมวลชนอย่างคนมีการศึกษา แนวทางของคนมีการศึกษาอย่างหนึ่งคือใช้ปัญญาให้มากใช้อารมณ์ให้น้อย การใช้อารมณ์คงได้แต่ความสะใจเท่านั้น แต่หากใช้ปัญญาจะเกิดคุณค่าแก่สังคมมหาศาลและมีโอกาสทำให้สังคมมีการพัฒนาที่ยั่งยืน การปิดสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นวิถีทางของการใช้อารมณ์ ไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้และชักนำสังคมได้ แล้วจะเรียกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปประเทศได้อย่างไร ในทางกลับกัน สังคมมีสิทธิ์ตั้งคำถามว่า กลุ่มคนที่มีพฤติการณ์เช่นนี้หรือที่จะเป็นแกนนำในการปฏิรูปประเทศแทนพวกเขา ทางที่ถูกผู้ชุมนุมควรสร้างความไว้วางใจแก่สังคมหากมีเจตนาดีและมีความรู้อย่างที่ว่า

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้การปกครองแบบตัวแทน เป็นการต่อสู้เพื่อให้ผู้คนเห็นด้วยกับเราให้มากที่สุด เพื่อขยายจำนวนมวลชนและนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด การทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับเราต้องมาจากท่าทีที่เป็นมิตรและความเป็นพวกเดียวกัน ไม่อาจได้มาด้วยการบังคับและการการด่าทอด้วยความเกลียดชัง เช่นเดียวกับเราไม่สามารถบังคับให้ใครรักใครได้ 

การที่ผู้ชุมนุมประกาศว่าตนเองเป็นคนดี มีการศึกษา ก็น่าจะหาแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างคนดีมีการศึกษา กรณีการขัดขวางการเลือกตั้งฟังไม่ขึ้นทุกกรณี การอ้างว่าเพื่อล้มนักการเมืองที่ไม่ดีก็เป็นการอ้างที่มีเหตุผลอ่อนและฟังไม่ขึ้น เพราะการล้มคนหรือพรรคการเมืองในทางการเมืองแบบคนมีปัญญาต้องเป็นการเอาชนะทางการเมืองคือการทำให้สังคมเห็นว่าฝ่ายเรามีดีกว่าอีกฝ่ายแล้วหันมาให้การสนับสนุนฝ่ายเรา ข้ออ้างที่ว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่น จะปฏิรูปอะไร ใครจะเป็นคนปฏิรูป ก่อนหน้านี้ทำไมไม่ปฏิรูป มีกฎหมายใดรองรับ คนเป็นแกนนำในการปฏิรูปมีความชอบธรรมหรือไม่ การปฏิรูปมีคนจากทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มคนหรือไม่ และอีกคำถามนับไม่ถ้วนที่สังคมมีสิทธิจะถามกลุ่มผู้ชุมนุมได้

หากผู้ชุมนุมต้องการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง สิ่งที่จะต้องทำคือการบอกเหตุผลของตนเองแก่สังคมส่วนสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องเคารพกัน ไม่ควรใช้วิธีการขัดขวางการเลือกตั้งทุกกรณี จะอ้างเหตุผลใดมาสนับสนุนก็คงไม่ได้ เพราะนั่นเป็นวิธีการของคนที่ไม่ดี ไม่มีการศึกษา.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท