Skip to main content
sharethis

นักข่าวโกลบอลโพสต์ในกทม.เขียนบทความบอกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่ากังวลเรื่องเหตุความขัดแย้งในไทย พร้อมให้ความรู้ 6 ข้อเกี่ยวกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุด ที่แม้จะมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นน่าตระหนกเช่นที่หลายคนกังวล

27 ม.ค. 2557 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา แพทริก วินน์ ผู้สื่อข่าวต่างชาติซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯ เขียนบทความลงในเว็บสำนักข่าวโกลบอลโพสต์กล่าวถึงการชุมนุมในประเทศไทย โดยบอกว่าแม้จะมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นอยู่บ้าง รวมถึงมีการประกาศภาวะฉุกเฉินแต่ก็ไม่ถึงขั้นน่าตื่นตระหนกและผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ชีวิตกันอย่างปกติไม่ได้เข้าสู่ภาวะไร้กฎเกณฑ์เช่นที่ชาวต่างชาติกังวลกัน

วินน์กล่าวว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ส่งผลต่อรัฐบาลเนื่องจากมีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ ทำให้รัฐบาลต้องบริหารงานจากสำนักงานที่อื่นที่อยู่กระจายออกไปและบางคนถึงขั้นต้องออกจากบ้าน และแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉินแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิวหรือปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง

บทความในโกลบอลโพสต์ยังได้ระบุถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติควรทราบ 6 ข้อเกี่ยวกับผู้ชุมนุม กปปส. ในไทย

ข้อแรก วินน์กล่าวว่าผู้ประท้วงมีข้อเรียกร้องที่สุดโต่งเกินไป เพราะถ้าหากพวกเขากระทำสำเร็จตามเป้าหมายประเทศไทยจะถูกปกครองโดยสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยอ้างว่าจะมีการกำจัดคอร์รัปชันก่อน ซึ่งวินน์มองว่าเป็นเป้าหมายที่สูงเกินไปและไม่แน่ว่าจะสำเร็จ โดยเฉพาะจากการที่แกนนำคือสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เคยมีประวัติการกระทำผิดฐานคอร์รัปชันเช่นกัน

ข้อที่สอง ระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แต่เป็นการชุมนุมที่ต้องการขับไล่ 'ตระกูลชินวัตร' ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองและได้รับความนิยมมาก ทำให้อำนาจที่เดิมอยู่แต่ในเมืองหลวงได้รับการกระจายออกไปยังคนจนในต่างจังหวัดที่อยากขยับฐานะขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ทำให้พรรคการเมืองกลุ่มนี้ชนะการเลือกตั้งได้หลายครั้ง

วินน์ยังได้เปรียบเทียบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีส่วนคล้ายกับกลุ่มในสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า 'ทีปาร์ตี้' (Tea Party) ซึ่งใช้วิธีการขัดขวางและก่อกวนภายใต้ข้ออ้างว่าต้องการกู้ชาติจากการล่มสลาย

ข้อที่สาม วินน์บอกว่าการประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้มาจากคนที่ถูกกดขี่ แต่มาจากคนหลายชนชั้นมารวมกันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้สูงแต่มีลักษณะนิสัยคล้ายชาวอเมริกันในแถบชานเมือง

วินน์กล่าวในบทความอีกว่า แม้ว่าจะมีโวหารจำพวก "สงครามครั้งสุดท้าย" หรือการต่อต้าน "ระบอบทรราช" แต่ลานชุมนุมมีบรรยากาศคล้ายเทศกาลดนตรีโลลาปาลูซ่า (Lollapalooza-เทศกาลดนตรีประจำปีที่มีวงดนตรีหลายแนวเข้าร่วม) มากกว่าจัตุรัสทาห์รีร์ของอียิปต์

"มีการแสดงดนตรีสด มีการถ่ายรูปตนเองแบบเซลฟี (selfies) มากมาย มีซุ้มขายของเกี่ยวกับการประท้วง รวมถึงฮาร์ดไดร์ฟ และเคสไอโฟนที่มีธีมของการประท้วง อีกทั้งแหล่งชุมนุมยังอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าสุดหรูในกรุงเทพฯ" วินน์กล่าว

ข้อที่สี่ การประท้วงมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดทางให้กับการรัฐประหาร ในบทความระบุว่าแม้ว่าแกนนำการชุมนุมในครั้งนี้จะบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ทหารยึดอำนาจเพื่อได้มาซึ่งชัยชนะแต่การปราศรัยของแกนนำหลายคนก็มีท่าทีเรียกร้องให้ทหารออกมาโดยใช้โวหารอ้างว่าให้ "อยู่เคียงข้างประชาชน"

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศจะมีประวัติการรัฐประหารจำนวนมาก และในช่วงการชุมนุมล่าสุดก็มีข่าวลือเรื่องรัฐประหารอยู่หลายครั้ง แต่วินน์คิดว่าการยึดอำนาจของผู้นำกองทัพเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มเสี่ยง เพราะจะทำให้พวกเขาต้องรับภาระหนักในเรื่องการจัดการทางการเมืองพร้อมทั้งปัดป้องการประณามจากต่างชาติไปพร้อมๆ กัน หรืออาจถึงขั้นมีขบวนการต่อต้านที่ติดอาวุธ

ข้อที่ห้า การประท้วงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง วินน์บอกว่าสภาพการเมืองไทยตอนนี้เป็นชนวนระเบิดที่ยังไม่ปะทุ แต่ถ้าหากมีการโค่นล้มพรรครัฐบาลด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งก็จะกลายเป็นการจุดชนวนระเบิดความขัดแย้งในประเทศไทยได้

"พรรครัฐบาลไทยปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างสมบูรณ์ในปี 2554 การทำให้สิทธิ์การลงคะแนนของคนหลายล้านคนในประเทศกลายเป็นโมฆะจะกระตุ้นให้พวกเขาตอบโต้ด้วยความโกรธ" วินน์กล่าว "ในครั้งนี้ไม่เหมือนการรัฐประหารคราวที่แล้ว (ปี 2549) ที่มีการโค่นล้มทักษิณแล้วแทนที่ด้วยสภาทหาร ในตอนนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมีการจัดตั้งและพร้อมจะเคลื่อนไหวเมื่อเรียกรวมพล"

บทความระบุว่าการรัฐประหารปี 2549 เป็นการถือกำเนิดกลุ่ม "เสื้อแดง" ที่แสดงพลังให้เห็นมาแล้วในการชุมนุมปี 2553 วินน์กล่าวว่าในการชุมนุมครั้งนั้นมีทหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยต่อสู้ปกป้องเสื้อแดง มีนักวิชาการและแหล่งข่าวเสื้อแดงบางส่วนระบุว่ามีการวางแผนยุทธการต่อต้านการรัฐประหารไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามในข้อสุดท้ายวินน์ก็กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยกเลิกซื้อตั๋วเพราะสถานการณ์ในเมืองไทยยังไม่รุนแรงขนาดนั้น เพียงแค่ต้องระวังไม่ไปเดินใกล้เขตประท้วงในยามวิกาลซึ่งมักจะเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ยิงกันและเกิดระเบิด แต่วินน์มองว่ายังปลอดภัยกว่าย่านเสื่อมโทรมในสหรัฐฯ

วินน์กล่าวอีกว่าช่วงกลางวันเขตที่มีการประท้วงปิดถนนสำคัญๆ แทบจะว่างเปล่า มีแค่การ์ดไม่กี่สิบคนยืนเฝ้าอยู่เท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถสลายพื้นที่ได้ไม่ยากแต่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือรอให้การประท้วงซาลงไปเอง โดยผู้ประท้วงจะกลับเข้าไปในพื้นที่ช่วงหลังเลิกงานเท่านั้น โดยแม้ว่าจะมีการปราศรัยเผ็ดร้อนแต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ประกอบด้วยพนักงานเงินเดือน, คนแก่, ฮิปสเตอร์แบบไทยๆ

บทความระบุว่าไม่ต้องกังวลเรื่องปิดสนามบินเพราะสนามบินนานาชาติอยู่ห่างจากจุดประท้วงไกลพอสมควร อีกทั้งยังอยู่คนละที่กับแหล่งท่องเที่ยว เช่น ชายหาด หรือภูเขา ทำให้ถ้าหากนักท่องเที่ยวไม่ได้เกาะติดข่าวก็คงไม่เห็นเรื่องวิกฤตืการเมืองในไทยมากนัก

 


เรียบเรียงจาก

6 things you need to know about Bangkok’s uprising, Globalpost, 24-01-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/thailand/140123/bangkok-shutdown-protest-explained-violence-2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net