Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลาดหนังสือในอังกฤษหลังปฏิวัติการพิมพ์นั้นโตได้เนื่องจากตลาดอังกฤษมีความต้องการหนังสือที่ไม่สามารถนำเข้ามาขายในอังกฤษได้ ในตอนนั้นแน่นอนว่าการปฏิวัติการพิมพ์กระจายในยุโรปก่อนประเทศชายขอบที่เป็นเกาะอย่างอังกฤษ และยุคนั้นคนที่มีปัญญาซื้อสิ่งฟุ่มเพือยอย่างหนังสือมาอ่านก็เป็นพวกชนชั้นสูงที่รู้ภาษาลาตินอันเป็นภาษานานาชาติของปัญญาชนทั้งนั้น กล่าวคือปัญญาชนในอังกฤษก็อ่านงานที่พิมพ์เป็นภาษาลาตินจากในภาคพื้นทวีปที่พิมพ์มาปริมาณมากๆ ได้

ธุรกิจการพิมพ์หนังสือในอังกฤษเกิดทีหลังธุรกิจการพิมพ์หนังสือในภาคพื้นทวีป เหล่าพ่อค้าหนังสืออังกฤษไม่มีทางจะผลิตหนังสือภาษาลาตินมาขายในอังกฤษเพื่อจะแข่งขันหนังสือภาษาลาตินจากภาคพื้นทวีปที่มีข้อได้เปรียบในการผลิตหนังสือในจำนวนมากได้ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าพ่อค้าหนังสือในอังกฤษพิมพ์หนังสือภาษาลาตินมาในอังกฤษก็ขายได้แค่ในอังกฤษเพราะตลาดในภาคพื้นทวีปถูกจับจองไปแล้ว ซึ่งปริมาณการผลิตที่น้อยก็ทำให้ราคาต่อหน่วยต้องสูงในระดับที่การนำเข้าหนังสือจากโรงพิมพ์ในภาคพื้นทวีปมาจะทำให้ขายในตลาดได้ราคาถูกกว่า

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจการพิมพ์ในอังกฤษโตได้ก็คือการพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาถิ่นของผู้ไม่มีการศึกษาสูงมาขายในตลาดอังกฤษ[1] ซึ่งหนังสือขายดีในช่วงนั้นคือหนังสือรายปีที่เรียกว่า Almanac อย่างไรก็ดีอีกด้านของการทำมาหากินที่ดีก็คือการหากินกับวังและวัด กล่าวคือการพิมพ์หนังสือให้ราชสำนักและพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นที่ต้องการไปทั่วอังกฤษหลังการปฏิรูปศาสนา

ในอังกฤษยุคนั้นทางราชสำนักมีอำนาจล้นพ้นในการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในรัฐและการใช้อำนาจดังกล่าวในการสร้าง “สิทธิ์ในการผูกขาด” ทางเศรษฐกิจก็เป็นการใช้อำนาจที่ปรากฎทั่วไปในราชสำนักยุโรปยุคนั้น  ภายใต้อำนาจที่ว่านี้ ทางราชสำนักอังกฤษสามารถออก “สิทธิบัตร” หรือ Patent มาให้ช่างพิมพ์มีสิทธิผูกขาดการพิมพ์หนังสือนั้นๆ แต่เพียงผู้เดียวในราชอาณาจักร ซึ่งการคุ้มครองการผูกขาดการพิมพ์แบบนี้ก็ปรากฎทั่วไปในยุโรปหลังปฏิวัติการพิมพ์และก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องเข้าใจไปพร้อมกันก็คือราชสำนักยุโรปยุคสมัยใหม่ตอนต้นสามารถออก “สิทธิบัตร” กับอะไรก็ได้ไม่ใช่แค่หนังสือ สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิบัตร” ในยุคนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนวัตกรรมแต่อย่างใดและนี่ก็เป็นสิ่งที่ปรากฎทั่วยุโรปในทุกที่ที่มีอำนาจรัฐบางแบบอยู่ ซึ่งในทางปฏิบัติการออก “สิทธิบัตร” มันก็สามารถจะใช้เป็นแรงจูงใจให้มีนายช่างฝีมือดีมาอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่พร้อมจะออกสิทธิบัตรคุ้มครองงานของนายช่าง เพื่อให้เมืองมีพัฒนาการด้านความรู้ทางการช่าง[2] ในขณะเดียวกันมันก็สามารถเป็นกลไกใช้อุปถัมภ์พวกพ่อค้าที่มีสายสัมพันธ์กับราชสำนักได้ด้วย

นอกจากการออก “สิทธิบัตร” แล้วในกรณีของอังกฤษมันจะมีการออก “อภิสิทธิ” หรือ Privilege อีกด้วย “อภิสิทธิ์” ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ต่างจากสิทธิบัตรในแง่การผูกขาด แต่ความแตกต่างในยุคแรกก็คือสิทธิบัตรจะคุ้มครองหนังสือแค่เป็นเล่มๆ แต่อภิสิทธิ์จะคุ้มครองหนังสือเป็นประเภทๆ เลย เช่น ถ้าใครมีอภิสิทธิ์การพิมพ์หนังสือศาสนา ก็จะเป็นผู้พิมพ์หนังสือศาสนาได้แต่เพียงผู้เดียวในราชอาณาจักร เป็นต้น ซึ่งนี่ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ทางราชสำนักใช้สร้างความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์กับพวกพ่อค้าหนังสือ

ยุคแรกของการปฏิวัติการพิมพ์ในอังกฤษไม่ได้มีกฎหมายห้ามการพิมพ์หนังสือโดยสิ้นเชิงดังเช่นบางพื้นที่ซึ่งการพิมพ์หนังสือใดๆ ก็ตามเป็นโทษประหาร[3] การพิมพ์ในอังกฤษเป็นไปได้โดยเสรีหากผู้พิมพ์ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิบัตรหรืออภิสิทธิ์ที่ทางราชสำนักได้ออกมา อย่างไรก็ดีความต้องการอ่านหนังสือที่ค่อยๆ ขยายตัวตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ก็สร้างความระแคะระคายให้พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 การปล่อยให้การพิมพ์เป็นไปอย่างไม่ควบคุมนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงทางการเมืองและศีลธรรมของพสกนิกร นี่นำไปสู่การสร้างระบบ “เซ็นเซอร์” มาในที่สุด

ในที่นี้ต้องเข้าใจก่อนว่าการ “เซ็นเซอร์” กับ “แบน” เป็นคนละเรื่องกันในยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนต้น  มันไม่ใช่สิ่งที่จะพูดอย่างสลับไปมาในความหมายเดียวกันได้อย่างปัจจุบัน การแบนหมายถึงการระงับยับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่เอกสารเมื่อมันเผยแพร่มาแล้ว ส่วนการเซ็นเซอร์หมายถึงต้องให้เอกสารทั้งหมดผ่านตากองเซ็นเซอร์ก่อนจึงจะมีการเผยแพร่ออกมาได้ ก่อนหน้านี้อังกฤษไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเซ็นเซอร์ แต่การแบนหนังสือก็น่าจะมีมาโดยตลอดโดยเฉพาะในนามของศาสนจักร

กองเซ็นเซอร์กองแรกของอังกฤษตั้งขึ้นมาในปี 1538 โดยคำสั่งโดยตรงจากกษัตริย์ และคนในกองก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากคณะองคมนตรีหรือคณะที่ปรึกษาของกษัตริย์นั่นเอง[4] และตั้งแต่นี้ในทางหลักการแล้ว ไม่มีหนังสือเล่มใดในราชอาณาจักรจะถูกพิมพ์ออกมาโดยไม่ผ่านตาเหล่าองคมนตรีก่อน

อย่างไรก็ดี การพิมพ์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากๆ แม้ว่างาน “เซ็นเซอร์” หนังสือจะถูกกระจายมาให้คณะกรรมาธิการที่ไม่ใช่องคมนตรีแล้ว (มิเช่นนั้นวันๆ องคมนตรีก็อาจไม่ต้องทำอย่างอื่นนอกจากไล่อ่านต้นฉบับหนังสือ) แต่การขยายตัวของแท่นพิมพ์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดพระราชินีแมรี่ที่ 1 (หรือที่รู้จักกันในนามบลัดดี้แมรี่) ก็ได้ออกนโยบายการควบคุมการพิมพ์ใหม่ โดยนำเอา Stationer Company หรือสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอนมาใต้อุปถัมภ์ในปี 1559 ซึ่งในทางปฏิบัติคือพระราชินีแมรี่ได้ออกประกาศว่ามีแต่ช่างพิมพ์ของสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอนเท่านั้นที่จะมีสิทธิพิมพ์หนังสือได้ ไปพร้อมกับคาดโทษผู้ละเมิดคำสั้งนี้ นี่หมายความว่าจะไม่มีแท่นพิมพ์ใดในเกาะอังกฤษนอกจากแท่นพิมพ์ของสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอนที่จะพิมพ์หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ใดๆ ได้อย่างถูกกฎหมายอีก

พระราชินีแมรี่มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างเด่นชัดในการเอาสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอนมาใต้อุปถัมภ์เพราะต้องการจะควบคุมการเผยแพร่ศาสนาของพวกโปรเตสแทนท์ (พระราชินีแมรี่เป็นแคธอลิค) หรือต้องการจะให้มีเซ็นเซอร์เอกสารของพวกโปรเตสแทนท์และแบนก่อนที่มันจะได้พิมพ์เผยแพร่ การให้แท่นพิมพ์ทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจบัลลังก์และประกาศให้แท่นพิมพ์อื่นนอกเหนือจากนี้ผิดกฎหมายหมดก็เป็นคำตอบที่ดีในการควบคุมเนื้อหาหาสิ่งพิมพ์ในอาณาจักรอย่างเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ดีสำหรับทางฝั่งสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอน นี่คือการแลกการให้บริการเซ็นเซอร์เล็กๆ น้อยๆ กับราชสำนักเพื่อแลกอำนาจทางเศรษฐกิจอันมหาศาลในการที่ทางสมาคมสามารถผูกขาดการผลิตสิ่งพิมพ์ทั้งประเทศได้ นี่จึงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดีเยี่ยม

และแล้วทางสมาคมช่างผลิตหนังสือก็ได้สิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือแต่เพียงผู้เดียวในอังกฤษโดยแลกกับภาระหน้าที่เป็นกองเซ็นเซอร์ของรัฐไปพร้อมกัน นี่เป็นจุดเริ่มของสัมพันธภาพของการผูกขาดการพิมพ์กับการเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ที่จะดำเนินไปอีกเป็นร้อยปีและทำให้การพูดถึง Free Press (ที่ในยุคแรกน่าจะแปลว่า “เสรีภาพของแท่นพิมพ์” มากกว่า “เสรีภาพสื่อ”) ในตอนต้นศตวรรษที่ 18 มีความหมายของเสรีภาพทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือมันหมายถึงความสามารถจะพิมพ์สิ่งใดก็ได้อย่างเสรี ซึ่งก็คือ “เสรีภาพ” จากการผูกขาดตลาดไม่ให้เกิดการแข่งขัน และ “เสรีภาพ” จากกองเซ็นเซอร์ไปพร้อมๆ กัน




[1] คนอังกฤษที่เป็นผู้ใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งอ่านออกเขียนได้บ้างแล้วตอนกลางศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ดีตัวเลขที่แน่นอนของอัตราการรู้หนังสือของคนอังกฤษก็ยังเป็นที่ถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ดู John Feather, A History of British Publishing, Second Edition, (London: Routledge, 2006), pp. 11-12

[2] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 20-21

[3] เช่น ในอาณาจักรออตโตมันของสุลต่านเซลิมที่ 1 ดู Peter Burke and Asa Briggs, A Social History of The Media: From Gutenberg to The Internet 2nd ed., (Cambridge: Polity, 2005), p. 13

[4] John Feather, A History of British Publishing, Second Edition, (London: Routledge, 2006), p. 26

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net