Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบันเท่าใดนัก แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการเปรียบเปรยประชดประชันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ฝักใฝ่ในอุดมการณ์อย่างบ้าคลั่งซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตของคนจำนวนมากโดยที่ตนมองเป็นเพียงหมากเบี้ยที่ไร้ค่าตัวหนึ่งเพียงเพื่อให้ตนขึ้นสู่หรืออยู่ในอำนาจได้ตลอดกาล อนึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงมาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งในอินเทอร์เน็ต แต่ที่สำคัญ (ที่ลงทุนซื้อมาจริงๆ) คือหนังสือ Brother Number One : A Political Biography of Pol Pot ของเดวิด แชนด์เลอร์

ด้วยความอ่อนด้อยทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ผู้เขียน (ซึ่งมีความสนใจในเรื่องการเมืองหลากหลายมาก) จึงต้องขอต้องอภัยสำหรับข้อมูลที่อาจคลาดเคลื่อนหรือชื่อที่อาจสะกดผิดที่ปรากฏในบทความนี้

 

When I hear the word “ideology”, I think about the coffins first.

                                                                               Anonymous

 

เมื่อผมได้ยินคำว่า “อุดมการณ์”  ผมนึกถึงภาพของโลงศพก่อนเลยว่ะ

                                                                                  นิรนาม

 

หากจะกล่าวถึงผู้นำของของโลกซึ่งมีนโยบายในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของตัวเองหรือของศัตรูก็คงได้แก่ ฮิตเลอร์ สตาลิน หรือแม้แต่เหมาเจ๋อตุง ในที่นี้ยังจะต้องรวมถึงพอล พต ซึ่งมีส่วนทำให้คนกัมพูชาต้องเสียชีวิตไปกว่า 2 ล้านคน เพราะความบ้าคลั่งในอุดมการณ์แบบสุดขั้ว พอล พตได้รับฉายาว่า Brother Number One หรือพี่ชายหมายเลขหนึ่งแห่งกัมพูชานั่นเอง  เขาเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่เรียกกันทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Khmer Rouge หรือเขมรแดง ซึ่งเรืองอำนาจในกัมพูชาช่วงปี 1975-1979 และเป็นที่มาที่พวกเรารู้จักกันผ่านหนังระดับรางวัลออสการ์ของอังกฤษที่ชื่อ Killing Field หรือทุ่งสังหาร

เราสามารถเห็นร่องรอยความโหดเหี้ยมของเขาและพวกโดยการบินไปยังกรุงพนมเปญที่มีแหล่งท่องเที่ยวนอกจากนครวัดนครธม แล้ว ยังมีทั้งอดีตคุกอันน่าสะพรึงกลัวและพิพิธภัณฑ์แสดงหัวกะโหลกที่รัฐบาลปัจจุบันซึ่งสนับสนุนเวียดนามนำแสดงเป็นประจักษ์แก่ชาวโลกอย่างเต็มที่ พอล พตเป็นใคร มีชีวิตอย่างไร เรามาดูกัน ซึ่งหากดูแล้วยังอาจจะได้ภาพหรือคำตอบคร่าวๆ ว่าทำไมกัมพูชาจึงเป็นประเทศที่ล้าหลังและป่าเถื่อนตามสายตาของชาวโลก ผู้เขียนคิดว่าจุดเปลี่ยนจริงๆ คงอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง และพอล พตก็เป็นผลผลิตของเขมรในยุคนั้น แน่นอนว่าเขาได้นำกัมพูชาลงสู่ก้นเหวแห่งความหายนะซึ่งเป็นภาพที่คนในยุคก่อนต่างไม่เคยนึกไม่เคยฝันว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้

จุดกำเนิดและบทบาทของพอล พต

พอล พตเดิมมีชื่อว่าซาลอธ ซาร์ เกิดประมาณปี 1924-25 (ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนได้) กับครอบครัวที่ฐานะดีมากในจังหวัดกำปงธมในห้วงเวลาที่เขมรตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสร่วมกับลาวและเวียดนามที่เรียกกันรวมๆ ว่า อินโดจีน บิดาเป็นเจ้าที่ดิน ส่วนพี่สาวและญาติฝ่ายหญิงเป็นนางรำในวัง แต่บางแหล่งบอกว่าเป็นสนมของพระมหากษัตริย์ พอล พตตอนเด็กๆ จึงไปอาศัยอยู่กับพวกหล่อนที่วังบ่อยครั้ง เขามีนิสัยเป็นเด็กเรียบร้อย มารยาทงาม ชอบจมอยู่ในความคิดมากกว่าพูด ทำให้เพื่อนๆ ประทับใจกันพอสมควร แต่คะแนนตอนเรียนใช่ว่าจะดีนักเลยเข้าเรียนในโรงเรียนระดับต้นๆ ของกัมพูชาไม่ได้ ทว่ามีความสามารถในด้านภาษาฝรั่งเศสและเป็นเด็กเส้น ก็เลยได้รับทุนไปเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้าและคลื่นวิทยุที่ปารีสเมื่อปี 1949  พอล พตเองก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนนัก เอาแต่หมกมุ่นกับการอ่านหนังสือ ที่ตัวเองอ้างในภายหลังว่า "หนังสือก้าวหน้า" (อันอาจเป็นหนังสือที่เสนอแนวคิดลัทธิมาร์กซ์) และในอีกสองปีต่อมายังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่มีอุดมการณ์หลักคือ ต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ว่ากันว่าด้วยคะแนนอันย่ำแย่ของเขาทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ปีกที่ไม่ชอบพวกปัญญาชนสนับสนุนให้เขากลายเป็นหัวหน้าของกลุ่มย่อยในพรรคอย่างรวดเร็ว ปี 1951 เขากับเพื่อนอีกคนคือนายเอียง สา รีเคยเดินทางไปกรุงเบอร์ลินตะวันออกเพื่อร่วมงานประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ และประกอบวีรกรรมคือส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังกษัตริย์สีหนุเพื่อประณามพระองค์ว่าเป็น "ฆาตกรของประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัว" ทำให้ทางการฝรั่งเศสสั่งปิดสมาคมนักศึกษากัมพูชา (KSA) ที่พวกเขาสังกัดอยู่

ด้วยการเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองอย่างมาก ทำให้ พอล พตต้องกลับประเทศในปี 1953 เพราะผลการเรียนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของทุน แม้ว่าเขาจะมีฐานะทางบ้านที่มั่งคั่งและทรงอำนาจ ชีวิตภายหลังจากนั้น พอล พตได้ทำงานแบบที่ศาสตราจารย์ เดวิด แชนด์เลอร์ นักเขียนชีวประวัติอันโด่งดังของพอล พตที่ชื่อ " Brother Number One : A Political Biography of Pol Pot" บรรยายไว้ว่า เขาใช้ชีวิตแบบสองฉาก ฉากหน้าคือเป็นครูสอนหนังสือของโรงเรียนเอกชนในกรุงพนมเปญ และฉากหลังทำงานใต้ดินเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของเขมรไปด้วย ตอนแรก พอล พตออกพื้นที่ไปยังจังหวัดกำปงจามเพื่อร่วมมือกับพวกเวียดมินห์ในช่วงสงครามกับฝรั่งเศส ต่อมา ก็กลับมาที่พนมเปญเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานระหว่างพรรคการเมืองหัวเอียงซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งแบ่งออกเป็นสองปีกคือ ปีกสนับสนุนเวียดนามและปีกต่อต้านเวียดนาม

พอล พตและสีหนุ

อย่างไรก็ตาม ปี 1954 หรือเพียงหนึ่งปีหลังจากที่พอล พตกลับประเทศนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสนธิสัญญาเจนีวา สนธิสัญญานี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสพยายามจะกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง แต่ต้องถูกพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามขับไล่จนต้องหนีแบบหางจุกตูดไปจากสมรภูมิเดียนเบียนฟู ท้ายที่สุดต้องมีการเจรจาแบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนคือเหนือและใต้ กษัตริย์ของเขมรคือพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ขออนุญาตเรียกชื่อสั้นๆ ตามแบบภาษาอังกฤษคือ กษัตริย์สีหนุ) ทรงได้รับเลือกจากสภาให้สืบราชสมบัติจากพระอัยกา (ตา) คือ สมเด็จสีสวัด มนีวงศ์ ตั้งแต่ปี 1941 ในภายหลังพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติให้พระบิดาคือ สมเด็จพระนโรดม สุระมฤติทรงเป็นกษัตริย์แทน เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี

กษัตริย์สีหนุทรงพยายามนำประเทศให้ทำตัวเป็นกลาง ปลอดจากจากกองกำลังเวียดนาม และต้องการรวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวจึงให้พรรคการเมืองต่างๆ ปะทะกันเอง พระองค์ยังทรงปราบปรามพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง พรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วย ผู้นำคนสำคัญโดนฆ่ากันหลายคน พอล พตจึงผงาดขึ้นมามีตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคอย่างรวดเร็ว แต่แล้วในปี 1963 เขาก็พบว่ามีชื่อของตัวอยู่ในบัญชีดำของตำรวจ จึงหลบหนีลี้ภัยไปอยู่แถวชายแดนของเวียดนาม พอล พตได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลของเวียดนามเหนือในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา และแปลงโฉมหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์หรือเขมรแดงเสียใหม่ให้มีรูปแบบของตัวเองมากขึ้น โดยเน้นแนวคิดการพึ่งตัวเองและลัทธิชาตินิยม มีการเอาแนวคิดแบบลัทธิเหมา (Maoism) นั่นคือ ถือว่าชาวนาเป็นชนชั้นกรรมกรที่แท้จริง   (ในขณะที่ลัทธิเลนิน สตาลิน ให้ความสำคัญแก่พวกคนงานในโรงงาน) มาเป็นแกนนำของการปฏิวัติที่ต้องใช้กำลัง ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมปัญญาชนถึงต้องถูกกวาดล้างเมื่อเขมรแดงครองประเทศ นอกจากนี้เขมรแดงยังประยุกต์เอาแนวคิดบางประการของพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาใช้

ต่อมาในปี 1965 พอล พตได้เดินทางไปยังกรุงโฮจิมินห์ของรัฐบาลเวียดนามเพื่อขอให้ช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล แต่เวียดนามเหนือต้องการให้เขาช่วยเหลือตนต่อสู้กับสหรัฐฯ เสียก่อน แล้วจะมาช่วยเขมรแดงต่อสู้กับรัฐบาลของกษัตริย์สีหนุผู้กดขี่และฉ้อฉล ความจริงเป็นเพราะเวียดนามเหนือทำสัญญาขอใช้สถานที่ในกัมพูชาสำหรับที่ตั้งของกองกำลังเพื่อต่อสู้กับเวียดนามใต้และสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามต่างหาก เลยไม่อยากจะมีเรื่องมีราว อันเป็นสาเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีประธานาธิบดีคือ ริชาร์ด นิกสันและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติคือ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ตัดสินใจสั่งกองทัพอากาศทิ้งระเบิดในเขมรเป็นจำนวนมหาศาลในช่วง ปี 1969 - 1970 (ดังที่เรียกกันว่าปฏิบัติการณ์เมนู หรือ Operation Menu) เพื่อตัดกำลังของกองทัพเวียดนาม และเวียดกงหรือพวกกองโจรของเวียดนามใต้ คนที่พลอยรับเคราะห์ไปด้วยก็คือประชาชนเขมรนั่นแหละ ด้วยความผิดหวัง พอล พตได้เดินทางต่อไปยังจีน และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของจีนที่เป็นพวกซ้ายจัด เขาประทับใจกับการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในช่วงแรกอย่างมากจึงไม่น่าประหลาดใจที่เขาจะนำอุดมการณ์ของจีนอย่างเช่น นโยบายการก้าวกระโดดไกล เข้ามาเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงการซบอกประเทศจีนเมื่อตนขึ้นมามีอำนาจ หาได้เหมือนเวียดนามที่อิงกับสหภาพโซเวียต

เมื่อพอล พต กลับมาที่กัมพูชาอีกครั้งในปี 1966 เหตุการณ์เป็นไปในรูปแบบที่เข้าข้างเขมรแดง เมื่อบรรดาชาวนาลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลของกษัตริย์สีหนุ เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวได้ ถึงแม้พรรคจะไม่สามารถหยิบฉวยสถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ทำให้มีชาวเขมรเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น อีกหนึ่งปีต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมคือ Communist Party of Kampuchea หรือ CPK ก็ได้เริ่มต่อสู้กับรัฐบาล แม้จำนวนทหารจะมีไม่มากและปราศจากการช่วยเหลือจากฝ่ายรัฐบาลเวียดนามเหนือก็ตาม และมาขยายวงการต่อสู้ไปทั่วประเทศในปี 1968 ซึ่งเป็นปีที่พอล พตได้ก้าวจากกลุ่มหัวหน้าหลายคนดังที่เรียกว่า Collective Leaders ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์และส่อแววเป็นใหญ่โดยการแยกที่อยู่ออกจากผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคโดยมีลูกสมุนคอยอารักขาอย่างแน่นหนา

ขอกลับไปกล่าวถึงกษัตริย์สีหนุ เมื่อพระบิดาซึ่งทรงทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์แทนพระองค์ถึงห้าปีได้เสด็จสวรรคตในปี 1960 กษัตริย์สีหนุจึงทรงเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์ไปพร้อมๆ กัน แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองก็ลดฐานะตัวเองเป็นแค่เจ้าชาย จนปี 1963 พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของกัมพูชาเพื่ออนุญาตให้พระองค์เป็นประมุขของรัฐตลอดชีวิตและมีตำแหน่งเทียบเท่ากับพระมหากษัตริย์  แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1970 เมื่อกษัตริย์สีหนุเสด็จเดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่จีนและโซเวียต ทางรัฐบาลซึ่งมีนายพลลอน นอลเป็นนายกรัฐมนตรีถือโอกาสปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ ด้วยข้อหาที่ว่าพระองค์ทรงนำความเดือดร้อนมาสู่ประเทศโดยการยุยง ปลุกระดมให้ชาวเขมรประท้วงขับไล่กองทัพของเวียดนามที่มายึดครองบางส่วนของกัมพูชาออกไป ทั้งที่พระองค์เคยทำสัญญากับเวียดนามมาก่อน

ในที่สุดเหตุการณ์บานปลาย กลายเป็นความวุ่นวายเหมือนกับที่เขมรเผาสถานทูตไทยเมื่อหลายปีก่อนนั้นแหละ กษัตริย์สีหนุเลยต้องติดค้างอยู่ที่ปักกิ่ง พยายามออกรายการวิทยุเพื่อปลุกระดมให้ชาวเขมรต่อต้านรัฐบาล ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากชาวเขมรแถวชนบทอยู่บ้าง นายพลลอน นอลมีนโยบายต่อต้านเวียดนามเหนือแบบสุดขั้วและหันไปอิงกับสหรัฐฯ แทน พยายามขับไล่กองทัพของเวียดนามออกจากกัมพูชา มีการกล่าวหาว่าหน่วยข่าวกรองกลางหรือซีไอเอของสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารปลดกษัตริย์สีหนุ ทว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจน การกระทำเช่นนี้ทำให้เวียดนามเหนือซึ่งเคยญาติดีกับกัมพูชาไม่พอใจเป็นยิ่งนัก จึงไปจีบกษัตริย์สีหนุถึงกรุงปักกิ่งให้มาจับมือกับศัตรูที่พระองค์ทรงเกลียดนักเกลียดหนาคือ พอล พต ผู้ก็ถือพระองค์เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งเหมือนกัน เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลของนายพลลอน นอลต่อไป

ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างกษัตริย์สีหนุกับนายพอล พตช่วงกำลังสู้กับรัฐบาลลอน นอลเป็นอย่างไร ? แต่คาดเดาว่าคงจะร่วมมือกันหลวมๆ ด้วยก็โตๆ กันแล้ว ผ่านความเป็นปรปักษ์ต่อกันก็มากมาย เช่นคำว่า Khmer Rouge เป็นภาษาฝรั่งเศสทับศัพท์ที่กษัตริย์สีหนุทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยความรู้สึกเหยียดหยามพวกเขมรแดง จึงไม่น่าสงสัยว่าพอล พตและพวกจะเคยถวายพระเกียรติโดยการเรียกพระองค์ว่าเป็น "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" กระนั้นพวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นมีชื่อย่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า GRUNK ศาสตราจารย์เดวิด แชนด์เลอร์ได้เขียนบรรยายถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งสองถึงระดับการเผชิญหน้ากันในช่วงปี 1973 ไว้อย่างละเอียดว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ กษัตริย์สีหนุฯ พร้อมด้วยพระมเหสีคือ พระนางโมนิกได้เดินทางออกจากรุงปักกิ่งแล้วหายตัวไป นั่นคือพระองค์ได้เสด็จมาทางเหนือของเวียดนามลัดเลาะมาถึงตะวันออกของกัมพูชา การเดินทางครั้งนี้ได้รับอนุญาตจากทั้งปักกิ่งและฮานอยเพื่อเสริมสร้างให้ GRUNK มีพลังมากขึ้นและบริเวณชายแดนเขมรและลาวที่เป็นเขต "ปลดปล่อย" ของเขมรแดง นั้น พระองค์ได้พบกับบรรดาผู้นำระดับสูงเช่นนายเขียว สัมพัน นายหูเย็น นายซอน เซน และแน่นอนพอล พต ซึ่งแสดงท่าทางเรียบร้อย ไม่แสดงตนอยู่ท่ามกลางพรรคพวกเพื่อสังเกตดูอากัปกิริยาของกษัตริย์สีหนุ พระองค์ได้ทรงจับมือและสวมกอดคนเหล่านั้นราวกับว่าเป็นพี่น้องสุดแสนจะรักใคร่ ทั้งที่เมื่อหลายปีก่อนพระองค์ทรงประกาศจับตายคนเหล่านั้น

เขมรแดงได้จัดงานเลี้ยงฉลองและมีการแสดงให้กับอดีต "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" ของเขาได้ทรงสำราญพระทัย ท่ามกลางรอยยิ้มอันชื่นมื่นของคนเหล่านั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าทั้งสองฝ่ายคิดอย่างไร ? กษัตริย์สีหนุทรงเชื่อหรือไม่ว่าเขมรแดงจงรักภักดีและสู้ในพระนามของพระองค์ ? หรือว่าพระองค์ทรงเสแสร้งเพราะต้องพึ่งพิงคนเหล่านั้น ? คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไปสำหรับความสัมพันธ์อันประหลาดระหว่างคอมมิวนิสต์ที่เกลียดชนชั้นปกครองกับกษัตริย์พลัดถิ่น ที่น่าสังเกตคือกษัตริย์สีหนุนั้นแม้จะมีชาวนาไม่ชอบถึงขั้นก่อความไม่สงบ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังจงรักภักดีกับพระองค์ ซึ่งตรงนี้พอล พตน่าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพวกตน กลายเป็นว่าชาวเขมรจำนวนมากคิดว่าเขมรแดงสู้เพื่อกษัตริย์สีหนุ

ชะรอยเวียดนามเหนือคงจะรอรัฐบาลพลัดถิ่นที่ดูยังไม่มีท่าทีจะล้มรัฐบาลจริงได้เสียทีไม่ได้ เวียดนามเหนือจึงจัดการระดมพลมาจัดการกับกัมพูชาเสียเอง วันที่ 29 มีนาคม ปี 1970 กองกำลังของเวียดนามสี่หมื่นกว่านายเข้ายึดพื้นที่ทางตะวันออกของกัมพูชาและเข้าไปใกล้กรุงพนมเปญเพียงสิบห้าไมล์เท่านั้น แต่ถูกกองกำลังของรัฐบาลผลักดันออกไป และการต่อสู้ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นเวลาสองปี สาเหตุที่เวียดนามเหนือยึดพนมเปญไม่ได้อาจเพราะว่า เวียดนามเหนือยังต้องต่อสู้กับเวียดนามใต้และสหรัฐฯ ส่วนลอน นอลก็ยังได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามใต้และสหรัฐฯ เขาได้อนุญาตให้ฝูงบินของสหรัฐฯ เข้าไปทิ้งระเบิดที่ภาคตะวันออกของกัมพูชา เพราะฉะนั้นอย่าได้สงสัยว่าชาวเขมรจะเพิ่มความเกลียดชังนาย ลอน นอลขนาดไหน ถึงขั้นที่ว่าในจังหวัดกัมปงจาม ชาวนาจับนายลอน นิล พี่ชายของลอนนอลและยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ไปคว้านท้องเอาตับของเขามาต้มแล้วแบ่งกันกิน!! รัฐบาลของลอน นอลเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ถึงขั้นที่ว่าในแถวชนบท ข้าราชการบางคนขายปืนให้พวกคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลไม่อาจลงโทษคนผิดได้ ตัวลอน นอลเองก็อ่อนแอ ไม่สามารถควบคุมการเมืองที่นักการเมืองต่างพยายามเล่นเกมเพื่ออำนาจโดยไม่สนใจบ้านเมือง สองสิ่งที่เขาสามารถทำได้คือ ร้องขอการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อย่างไม่หยุดพร้อมกับเข้าหาเรื่องทางไสยศาสตร์แทน

พอล พตอาศัยจังหวะเวลานี้ในการจัดองค์กร ขยายพรรคเสียใหญ่โตโดยการรับคนเข้ามาอย่างไม่ยั้ง แต่ก็ยังปฏิเสธปัญญาชนและชาวนาฐานะปานกลาง ทำให้ดูตลกที่ว่าผู้นำพรรคเป็นปัญญาชนแต่ลูกน้องเป็นชาวนาธรรมดา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนสองกลุ่มอย่างมาก พอล พตยังเร่งปลูกฝังอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์เข้มข้น รวมไปถึงการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ที่ยึดครองตามแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวนายากจนชอบเขมรแดงมาก พื้นที่การยึดครองของเขมรแดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ ในขณะกษัตริย์สีหนุยังคงสนับสนุนด้วยบทบาททางการเมืองอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นที่น่าสนใจว่าเขมรแดงยังมีที่นั่งในสหประชาชาติเช่นเดียวกับรัฐบาลสาธารณรัฐของกัมพูชา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ หนึ่งประเทศมีสองกลุ่มตัวแทน

ปี 1972 เวียดนามเหนือยุติการรบกับรัฐบาลลอน นอล และส่งมอบภาระให้กับพอล พตกับกองทัพต่อไป พอล พตรู้สึกเหมือนตัวเองถูกทรยศ แต่กระนั้นก็อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบรัฐบาลซึ่งก็อ่อนแอไปมาก พื้นที่ในการครอบครองก็ลดน้อยลงทุกที กองกำลังเขมรแดงยังได้รับสนับสนุนทางการอาวุธจากจีน และเงินที่ได้จากการปลูกยางจากแรงงานทาสในภาคตะวันออก ส่วนรัฐบาลลอน นอลได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่น้อยลงมาก เพราะสหรัฐฯ เริ่มลดบทบาทของตนในช่วงสุดท้ายของสงครามเวียดนาม ปี 1973 พอล พตและพวกยังทดลองใช้แผนการอพยพฝูงชนจากเมืองไปทำงานในชนบทกับเมืองใหญ่ๆ หลายเมือง เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่พนมเปญจะเจอเป็นที่สุดท้าย อย่างไรก็ตาม การทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทำให้การเข้ายึดกรุงพนมเปญของเขมรแดงต้องชะลอไป ในช่วงนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลา พอล พตได้จัดการสร้างนโยบายการกวาดล้างปัญญาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในพื้นที่ที่ถูกยึด และในปี 1974 ก็ถึงคิวของผู้นำในกลุ่มเขมรแดงที่พอล พตเห็นว่าน่าจะเป็นหอกข้างแคร่ การกวาดล้างเช่นนี้เป็นสิ่งที่พอล พตยืมมาจากเหมาและสตาลินนั่นเอง และยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่

เดือนมกราคม ปี 1975 เขมรแดงระดมพลอย่างเต็มกำลังศึกในการเข้ายึดกรุงพนมเปญ พอล พตวางแผนโดยการล้อมจากทุกด้านแม้แต่แม่น้ำโขงเพื่อตัดไม่ให้เมืองหลวงได้รับการช่วยเหลือหรือเสบียงใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถส่งปัจจัยการช่วยเหลือมาให้ได้ โดยไม่คำนึงว่าเมืองหลวงซึ่งบัดนี้เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่ลี้ภัยจากสงครามเข้ามาอยู่กว่าสองล้านคนจะเป็นเช่นไร เขมรแดงยังไม่ยอมให้ชาวกรุงพนมเปญอพยพออกจากเมืองแล้วข้ามเขตของพวกตนออกไป เพราะเขาถือว่าชาวกรุงเป็นเหมือนเชื้อโรคที่ไม่ควรไปแปดเปื้อนชาวชนบท ปรากฏการณ์นี้ทำให้เวียดนามเหนือเห็นว่าหากเขมรแดงยึดเมืองหลวงได้ก่อนตนจะยึดไซง่อนของเวียดนามใต้จะทำให้ตนขายหน้าเป็นยิ่งนัก จึงกลายเป็นการแข่งขันกันอย่างชัดเจน และนี่เป็นสัญญานของการเป็นศัตรูกันด้วย พอล พตเองยังเคยประกาศอย่างไม่เกรงใจเมื่อหลายปีก่อนว่าจะไม่ยอมให้ประเทศไหนเข้ามามีอิทธิพลเหนือตนอีก แม้จะมีความพยายามในการเจรจายุติการต่อสู้กันของรัฐบาลก็ตาม กลางเดือนเมษายน กองทัพเขมรแดงก็ยาตราเข้าไปในกรุงพนมเปญได้ก่อนหน้าเวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซง่อนถึงสามอาทิตย์

ส่วนนายพล ลอน นอลนั้นลี้ภัยไปอยู่ฮาวายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนแล้ว ส่วนจอห์น กันเทอร์ ดีน เอกอัครราชทูตอเมริกันเปิดแนบนั่งเฮลิคอปเตอร์ออกจากกรุงพนมเปญตั้งแต่วันที่ 12 เพื่อไปยังเรือรบอเมริกันที่จอดรออยู่ที่อ่าวไทย ข้าราชการและลูกจ้างรัฐบาลจำนวนมากถูกเขมรแดงนำไปยิงทิ้งกันต่อหน้าสาธารณชน ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลหลายคนไม่ยอมหนีด้วยความชะล่าใจคิดว่าพวกเขมรแดงจะไม่ทำอะไร เพราะไม่มีชื่อของตัวเองติดในบัญชีมรณะที่พอล พตประกาศก่อนจะยึดพนมเปญ แต่ก็ถูกประหารชีวิตจนได้ รวมไปถึง เจ้าสีสวัด สิริก มาตัก ซึ่งทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับกษัตริย์สีหนุ พระองค์แม้จะทรงเคยมีบทบาทในการปลดกษัตริย์สีหนุเมื่อห้าปีก่อน แต่ด้วยทรงมั่นพระทัยว่าจะได้รับการยกเว้นในพระนามของอดีตกษัตริย์ ขนาดที่ว่า เอกอัครราชทูตอเมริกันจะกราบทูลเชิญให้ไปลี้ภัยที่สถานทูตก็ตามแต่พระองค์ทรงปฏิเสธ

เช้าของวันที่ 17 เมษายน 1975 กองกำลังของเขมรแดงเดินแถวกันเข้ามาในกรุงพนมเปญบนถนนที่รกร้างว่างเปล่า ปราศจากการต่อต้านของทหารรัฐบาลที่ยอมแพ้กันหมด พวกเขาแต่งชุดชาวนาหรือไม่ก็ชุดสีกากีแบบง่ายๆ อายุอานามส่วนใหญ่ต่ำกว่าสิบห้าปี แต่ใบหน้าเย็นชาไม่สนใจการต้อนรับของประชาชน ไม่ใช่ความบังเอิญที่พวกเขามาในช่วงวันปีใหม่ของเขมรพอดี แต่เป็นความตั้งใจของพรรคที่ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มศักราชใหม่ของเขมร ดังที่ต่อไปนี้เขมรแดงจะเรียกว่าเป็นปีที่ศูนย์ (Year Zero) ที่เขมรจะเริ่มต้นเป็นประเทศใหม่ปราศจากอดีตของระบบศักดินาและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคของอุดมการณ์แห่งคอมมิวนิสต์ ประชาชนกำลังเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อด้วยอ่อนล้าเต็มที่ต่อสงครามกลางเมืองอันยาวนานว่า ปีศูนย์นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่อันแสนปีติ ไม่นานพวกเขาก็รู้ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นเหมือนกัน แต่เป็นของนรกบนดิน...

การเรืองอำนาจของเขมรแดง

เพียงไม่กี่ชั่วโมงภายหลังจากชาวพนมเปญได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเจ้านายคนใหม่ พวกเขาก็พบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือ เขมรแดงได้บังคับให้ชาวเมืองอพยพออกนอกเมืองโดยด่วน เพื่อหลบหนีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ไม่พอใจว่ารัฐบาลที่ตัวเองหนุนถูกโค่นล้ม พอล พตและพวกอ้างว่าการเดินทางก็ไม่ไกลแค่สองสามกิโลเมตรเท่านั้น และใช้เวลาประมาณสองสามวันเท่านั้นก็กลับบ้านได้ แถมตอนออกไปก็ไม่ต้องลั่นกลอนประตูบ้าน เพราะทางพรรคจะดูแลให้ทุกอย่าง

ไม่กี่วันหลังวันที่ 17 เมษายน 1975 ถนนในกรุงพนมเปญก็คลาคล่ำไปด้วยบรรดาผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้านของตนตามคำสั่งด้วยความผิดหวังว่าตัวเองจะได้อยู่สบายเสียที ท่ามกลางการเมืองที่สมานฉันท์กัน โดยหารู้ไม่ว่าข้ออ้างของพอล พตนั้นเป็นการโกหกหน้าด้านๆ ที่น่ากลัวคือการเดินทางไปของตนต้องใช้เวลาหลายๆ ปี หรือไม่ก็ไม่มีโอกาสได้กลับไปอีก เพราะพวกเขาถูกบังคับให้เข้าระบบนารวม ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีเสบียงเลี้ยงคนทั้งประเทศ กรุงพนมเปญจึงกลายเป็นเมืองร้างที่มีคนอยู่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นบรรดาลูกเมียของพวกผู้นำเขมรแดงนั่นเอง แม้แต่โรงพยาบาลก็ร้างคนไข้ เพราะคนไข้แม้จะเจ็บหนักก็ถูกบังคับให้ไปด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าแค่การอพยพก็มีคนตายไปราวสองสามร้อยคน ทั้งนี้อาหารที่เป็นเสบียงในการเดินทางก็ไม่เพียงพอ ในเรื่องยานั้นเขมรแดงไม่เชื่อในการแพทย์แผนใหม่จึงเน้นแผนโบราณซึ่งแน่นอนว่าไม่มีคุณภาพพอ

สาเหตุที่พอล พตและเพื่อนตัดสินใจทำเช่นนี้ เพราะพวกเขาไม่กล้าเสี่ยงกับประชาชนกว่าสองล้านคนที่แน่นอนว่าจะต้องมีคนไม่ชอบพวกเขาอยู่มาก แม้ว่าพวกผู้นำระดับสูงของเขมรแดงจะไม่แสดงตนให้ทราบว่าใครเป็นใคร การไล่คนเหล่านี้ออกไปจึงเป็นวิธีการที่น่าปลอดภัยที่สุด และแน่นอนว่าเพื่อเป็นการทำให้กัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบเป็นประเทศแรกในโลก แม้ว่าจะมีเรื่องเล่าว่า ผู้นำเขมรแดงสองคนคือเขียว สัมพัน และเอียง ธิริธได้เดินทางไปเยี่ยมนายกรัฐมนตรีของจีนคือ โจวเอินไหล ซึ่งกำลังป่วยหนักในปี 1976 นายกฯ โจวได้เตือนคนทั้งสองด้วยความหวังดีว่าอย่าได้ริเลียนแบบนโยบายการก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward) ของจีนในทศวรรษที่ห้าสิบ อันส่งผลให้คนจีนล้มตายหลายสิบล้านคนเป็นอันขาด แต่ว่าพวกเขาดูเหมือนจะไม่ใส่ใจนัก ผลก็คือในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจเพียงสี่ปีคือ 1975 - 1979 ประมาณว่ามีชาวเขมรล้มตายถึง 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 5.7-7.3 ล้านคน เพราะทนสภาพความเป็นอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่แสนสุดจะอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ทุรกันดาร และอันตราย อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องรวมไปถึงความตายของคนเขมรที่เกิดจากน้ำมือของเขมรแดงด้วย

อย่างในตอนแรกที่กรุงพนมเปญถูกยึด บรรดาทหารของรัฐบาลเก่าจำนวนมากได้รับคำสั่งให้แต่งเครื่องแบบแล้วเดินทางไปที่พระตะบอง ด้วยคำอ้างของเขมรแดงว่าจะพาไปเข้าเฝ้ากษัตริย์สีหนุ ณ ป่าซึ่งถูกแผ้วถางอย่างดีนั้น พวกเขาถูกยิงด้วยปืนกลหรือไม่ก็เอาขวานจามหัวตายโดยไม่ต้องห่วงลูกเมียของตน เพราะคนเหล่านั้นก็ถูกฆ่าตายเหมือนกัน ด้วยเขมรแดงกลัวว่าจะมีการกลับมาล้างแค้นแบบหนังจีน ส่วนใครก็ตามที่มีท่าทีจะเป็นปัญญาชนหรือคนมีฐานะ หรือเคยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มาก่อนไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่งก็ถูกฆ่าตายเหมือนกัน หลายครั้งดูไร้สาระมาก เช่น ใครใส่แว่นก็จะถูกฆ่า เพราะได้รับการสงสัยว่าจะเป็นปัญญาชน

นักบวชทั้งหลายไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลามก็ล้วนประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นก็ถูกบังคับให้สึกไปทำงานหนักร่วมกับชาวบ้านภายใต้ชื่อว่า "คนใหม่" (New People) สถานที่ทางศาสนาถูกทำลายและกลายเป็นโรงเก็บของ หรือไม่ก็คุก ชะตากรรมของชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าเชื้อสายจีน เวียดนาม จาม ฯลฯ ก็เช่นเดียวกันกับชาวเขมรทุกคนที่ต้องอยู่ในกัมพูชายุคใหม่ นั่นคือต้องเคารพเชื่อฟังหน่วยเหนือหรืออังการ์ (Angkar) ห้ามบ่นหรือมีปฏิกิริยาด้านลบใดๆ ทั้งสิ้น หากทำผิดกฎเล็กๆ น้อยๆ แม้จะดูไร้สาระก็ตาม เช่น จะมีเด็กมาคอยดูมือของคนที่ทำนา หากพบว่ามือของใครยังอ่อนนุ่ม แสดงว่าไม่ตั้งใจทำงานหนักก็จะถูกลากไปยิงทิ้งทันที ต่อมา ดูเหมือนเขมรแดงจะต้องการประหยัดกระสุนเลยหันมาใช้วิธีอื่น เช่น ใช้ขวาน หรือของมีคม เช่น จอบ เสียม หรือไม้ไผ่แหลมแทน

ชายคนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตมาได้เล่าต่อหนังสือพิมพ์ไทม์เอเชียว่า พี่สาวของเขาถูกกล่าวหาว่าขโมยข้าวไป เธอได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน จึงถูกกรีดท้องเพื่อพิสูจน์ ไม่รู้ว่าจะเห็นข้าวหรือไม่แต่เธอถูกปล่อยให้ตายอย่างช้าๆ และทรมาน ดังนั้น จึงน่าจะดีใจหากถูกยิงทิ้งเพราะได้ตายแบบไม่ต้องทรมานนัก ชีวิตของชาวกัมพูชาเปราะบางราวกับฟองสบู่ ไม่รู้ว่าจะตายในเวลาไหนท่ามกลางนรกบนดินแห่งนี้ เท่านั้นยังไม่พอ พอล พตและพวกยังให้มีการศึกษาล้างสมอง เพื่อให้ชาวเขมรกลายเป็นคนใหม่ เลื่อมใสลัทธิคอมมิวนิสต์ มุ่งหน้าสู่สังคมใหม่ ภาษาเขมรถูกดัดแปลงใหม่ เช่น พวกเขาต้องเรียกกันและกันว่าสหาย ห้ามคร่ำครวญถึงสังคมเก่าเป็นอันขาด เด็กๆ ถูกแยกออกจากพ่อแม่ และจำนวนมากกลายเป็นหน่วยเยาวชนที่ฝึกให้ไปสอดแนมผู้ใหญ่ดูว่าใครจะแอบซุบซิบนินทารัฐบาลหรือกระด้างกระเดื่อง วิธีเช่นนี้ค่อนข้างจะไปด้วยดีกับการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน (1965-1975) ที่เน้นให้เยาวชนหรือคนหนุ่มสาวเล่นงานพวกคนแก่ ดังคำฮิตของพวกคอมมิวนิสต์ที่ว่า ไม่ควรไว้ใจคนที่อายุสามสิบขึ้นไป (แต่ไว้ใจพวกผู้นำพรรคที่เป็นวัยกลางคนและเป็นปัญญาชนได้) แต่เยาวชนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพวกเก็บกด มีจิตใจโหดเหี้ยมและยังชอบทรมานสัตว์เป็นเกมกีฬาอีกด้วย

เรื่องที่น่าสะพึงกลัวและเป็นที่โจษจันกันไปทั่วโลกก็คือ คุกของเขมรแดงนั่นเอง คุกที่โด่งดังที่สุดได้แก่ คุกหมายเลข 21 (S-21) ที่มีชื่อว่า ตูลสเลง (TuolSleng) ที่เขมรแดงดัดแปลงจากโรงเรียนมัธยม ประมาณว่ามีนักโทษในช่วงสี่ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจถึงประมาณ 17,000 - 20,000 คน ที่เขมรแดงถือว่าเคยก่ออาชญากรรม หรือมีอดีตที่ไม่ดีไม่งาม เช่น มีความสัมพันธ์กับต่างชาติ ในที่นี้รวมถึงพวกเขมรแดงด้วยกัน แต่ถูกกำจัดโดยนายพอล พต เพราะถือว่าเป็นอันตรายต่อตัวเอง ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งก็คือ นักโทษจะถูกถ่ายรูปไว้พร้อมกับหมายเลขเหมือนกันอาชญากรทั่วไปพร้อมกับเก็บประวัติไว้อย่างเป็นระบบ ภายในรั้วลวดหนามนั้น กลยุทธของสหายดุช หัวหน้าเรือนจำในการทรมานนักโทษเพื่อให้สารภาพความผิดนั้นช่างเลวร้ายชนิดยุคกลางของยุโรปคงจะอายม้วน ไม่ว่าการทุบตี การใช้ไฟฟ้าช็อต การถอดเล็บ หรือการบังคับให้กินอุจาระหรือปัสสาวะ จนไปถึงการแขวนคอ พวกผู้คุมจะไม่นิยมให้ฆ่านักโทษตายคาที่ เพราะจะไม่ได้อะไร นักโทษจะถูกล่ามอยู่ตลอดเวลาแม้แต่นอนหลับ หากอยู่ในห้องขังที่แคบมากจะถูกล่ามติดกับผนัง ถ้าอยู่ในห้องใหญ่ๆ จะเป็นโซ่ยาวผูกติดกันทุกคน สหายดุชนั้นเคยทำงานร่วมกับพอล พตอย่างใกล้ชิด ดังนั้น แน่นอนว่าพอล พตจะเป็นสถาปนิกร่วมในการออกแบบการทรมานนักโทษด้วย

หลังจากทรมานจนสาแก่ใจแล้ว นักโทษก็จะถูกส่งไปยังเจืองเอ็ก (Choeung Ek) สวนผลไม้เก่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงพนมเปญซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทุ่งสังหาร (The Killing Field) เพื่อนำไปสังหารโดยวิธีการต่างๆ ยกเว้นการใช้กระสุน แล้วฝังศพเป็นหมู่ เมื่อคุกถูกเวียดนามเข้ายึดได้ในปี 1979 พบว่า ในหลุมขนาดใหญ่มีศพถึง 8,895 ศพ     นอกจากนี้ สำหรับค่ายตูลสเลง จำนวนนักโทษหมื่นถึงสองหมื่นคนที่คาดกันไว้ตั้งแต่ต้นนั้น เหลือผู้อยู่รอดชีวิตเพียงเจ็ดคน เพราะพวกเขามีทักษะช่างในการทำประโยชน์ให้กับพอล พต เช่น วาดภาพ หรือซ่อมเครื่องจักรกล ที่ดูเหมือนจะแปลกกว่าใครเพื่อนนั่นคือ มีนักโทษที่เป็นฝรั่งชาติตะวันตกด้วย อย่างเช่นชาวอเมริกันสองคนที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย เพียงแต่ตั้งใจล่องเรือจากไทยไปเกาะฮาวาย แต่ก็ถูกจับโดยกองทหารเรือของเขมรแดง ก็ต้องมาจบชีวิตที่คุกแห่งนี้ ปัจจุบันสถานที่ทั้งสองกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเตือนให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความโหดร้ายของเขมรแดง เพื่อนของผู้เขียนที่เคยไปเขมรบอกว่า แทบทุกตารางนิ้วของกรุงพนมเปญเต็มไปด้วยหัวกะโหลก ถ้าอยากจะได้ไปเป็นของที่ระลึก ก็ซื้อเอาด้วยเงินไม่กี่ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขมรแดงยึดอำนาจได้ สมเด็จนโรดม สีหนุได้เสด็จกลับมายังกัมพูชาเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐต่อไป แต่ความจริงแล้วอำนาจอยู่ในมือของ พอล พตต่างหาก ลืมอธิบายไปว่าพอล พตได้รับการขนานนามว่าเป็นพี่ชายหมายเลขหนึ่ง เพราะเขาเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในพรรค และยังเป็นเลขาธิการของพรรคหรือคณะกรรมการกลาง นอกจากนี้ ยังมีพี่ชายหมายเลขรองลงมา เช่น นวลเจียวเป็น "พี่ชายหมายเลข 2" ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เอียง สารี เป็น "พี่ชายหมายเลข 3" ตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ตา ม็อค เป็น "พี่ชายหมายเลข 4" ตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองทัพของเขมรแดง นายเขียว สัมพัน เป็น "พี่ชายหมายเลข 5" ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งกัมพูชา จนถึงไปอันดับสิบกว่าไล่ลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น กิจกรรมความชั่วร้ายทั้งหมดจึงน่าจะเกิดจากตัวพอล พต ถึงจะไม่ทั้งหมดแต่ก็มากที่สุด

นอกจากนี้ เขมรแดงยังถือได้ว่าเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกสุดๆ นั่นคือ ปากก็กล่าวว่าจะพาสังคมเขมรไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ไร้ชนชั้นมีแต่ชาวนาเป็นใหญ่ แต่พวกตนก็ยังแต่งตั้งลูกเมียของตัวเองให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่ค่อยมีความสามารถเท่าไร แต่แล้วในวันที่ 4 เมษายน 1976 กษัตริย์สีหนุทรงได้ประจักษ์ต่อธาตุแท้ของพอล พต เมื่อถูกเขาบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ และถูกกักบริเวณไว้แต่ในบ้านพักพร้อมกับราชวงศ์ แน่นอนว่ารวมไปถึงพระโอรสของพระองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบันเช่นกัน ตลอดเวลานั้นพระองค์ทรงอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะมีชะตากรรมเหมือนกับประชาชนผู้โชคร้ายทั้งหลาย ต่อมานายพอล พตก็แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน นายเขียว สัมพันเป็นประธานาธิบดี กระนั้น ในช่วงสี่ปีนั้นเขมรแดงบางกลุ่มพยายามแย่งชิงอำนาจจาก พอล พต แต่ก็ไม่สำเร็จ

จุดจบของเขมรแดง

เมื่อเวลาผ่านไป พอล พตดูเหมือนจะเป็นปรปักษ์กับเวียดนามมากขึ้น อาจเพราะชะล่าใจที่มีจีนหนุนหลังอยู่ พวกเขมรแดงที่ฝักใฝ่เวียดนามถูกกวาดล้างเสียหมด เขมรแดงได้พยายามโจมตีทางชายแดนของเวียดนามอยู่บ่อยครั้งเพื่อที่จะทำให้เวียดนามไม่กล้ามายุ่งกับเขมรแดง ในที่สุดเวียดนามก็ตัดสินใจที่จะทำให้กัมพูชากลายเป็นรัฐบริวารของตน เวียดนามได้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่บุกกัมพูชาในช่วงปลายปี 1978 และได้ชัยชนะในเดือนมกราคม 1979 ขับไล่เขมรแดงออกไปจนไปตั้งหลักอยู่บริเวณติดกับชายแดนประเทศไทย กลับกลายเป็นกลุ่มกองโจรอีกครั้ง ส่วนกษัตริย์สีหนุนั้นทรงถูกส่งไปยังสหประชาชาติ เพื่อไปกล่าวประณามการบุกรุกของเวียดนาม และพระองค์ได้ถือโอกาสลี้ภัยอยู่ที่จีนแดงไม่กลับมาเสียเลย เวียดนามนั้นต่อมาได้ตั้งรัฐบาลหุ่นโดยมีนายเฮง สัมริน เป็นนายกรัฐมนตรี เขมรแดงกลับมาเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์สีหนุอีกครั้งภายใต้ The Coalition Government of Democratic Kampuchea (CGDK) ในตอนต้นทศวรรษที่แปดสิบ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นที่มีประธานาธิบดีคือกษัตริย์สีหนุ นายกรัฐมนตรีคือนายซอน ซานน์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มชาตินิยมของเขมรคือ Khmer People's National Liberation Front ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับเขมรแดง และมีรัฐมนตรีกระทรงการต่างประเทศคือ นายเขียวสัมพัน หนึ่งในหัวหน้าเขมรแดง หากมองแบบรวมๆ ประเทศกัมพูชากำลังตกอยู่ภายใต้การต่อสู้ระหว่าง "เขมรสามฝ่าย"

สองฝ่ายหลังคือ กษัตริย์สีหนุ/ซอน ซานน์ และเขมรแดง ได้รับการสนับสนุนจากประเทศ 3 ประเทศ ประเทศแรกคือ สหรัฐฯ ที่ใครๆ คิดว่าหมดบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่เจ็ดสิบแล้ว แต่ยังคงเกลียดชังเวียดนามอยู่  เป็นเรื่องประหลาดที่ว่า ตอนเขมรแดงเรืองอำนาจก็ต่อต้านสหรัฐฯ แบบสุดขั้ว และมีการยัดเหยียดข้อหาให้กับชาวเขมรหรือชาวต่างประเทศผู้เคราะห์ร้ายว่า เป็นสายลับให้กับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ประเทศที่สองคือ จีน ซึ่งไม่ชอบกับการที่เวียดนามหันไปซบอกกับสหภาพโซเวียต ก่อนหน้านี้จีนยังทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปี 1979  อันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่ตัวละครมันพันกันไปพันกันมา เพราะผลประโยชน์ระหว่างประเทศมันเกี่ยวข้องกันหมด และประเทศที่สาม ลองทายสิ ก็ประเทศไทยอย่างไร

ในทศวรรษที่แปดสิบผู้นำการทหารของไทยต่างหวาดกลัวต่อการแพร่อิทธิพลของเวียดนาม หลังจากที่สามารถไล่ตะเพิดพี่เบิ้มอย่างอเมริกาออกไปได้ในทศวรรษที่เจ็ดสิบ นอกจากการเข้าไปซบอกจีนในสมัยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 1975 หรือ พ.ศ.2518 ไทยยังให้การช่วยเหลือกลุ่ม CGDK เพื่อเป็นกันชนกับเวียดนาม โดยจะเป็นตัวกลางในการจัดหาอาวุธและเงินระหว่างจีนกับกลุ่ม CGDK และกลุ่มๆ นี้ ว่ากันจริงๆ แล้วก็คือ กลุ่มเขมรแดงนั่นแหละ เพราะกลุ่มอื่นล้วนแต่ไร้สมรรถภาพในเรื่องการทหาร มีแต่บทบาททางการเมือง ดังนั้น จะบอกได้ว่าสามประเทศนี้ได้ทำการช่วยเหลืออดีตฆาตกรอันแสนหฤโหดของโลกคือ พอล พต ก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่อาศัยชื่อ CGDK เพราะแน่นอนว่ารัฐบาลของนาย เฮง สัมรินกับเวียดนามจะต้องประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของเขมรแดงในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาสำหรับความชอบธรรมในการยึดอำนาจแทน เรื่องตลกที่ว่านายเฮง สัมรินเองและลูกน้องจำนวนมากล้วนเคยเป็นเขมรแดงทั้งสิ้น แต่เป็นพวกฝักใฝ่ในเวียดนามและหนีไปเวียดนามในช่วงที่พอล พตสั่งกวาดล้างพวกเขา กระนั้น นานาชาติได้กดดันให้รัฐบาลเฮง สัมรินไม่มีเก้าอี้นั่งในสหประชาชาติ เก้าอี้จึงเป็นของเขมรแดงถึงแม้จะเลวร้ายมาขนาดไหนในช่วงปีที่ศูนย์หรือ Year Zero ก็ตาม

เดือน ธันวาคม 1984 รัฐบาลเวียดนามตัดสินใจเข้าถล่มพื้นที่ที่เขมรแดงยึดครองจนต้องแตกกระเจิงอีกครั้ง และฝรั่ง (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ใน Wikipedia.Com ก็บอกว่า

 

Pol Pot fled to Thailand where he lived for the next six years. His headquarters was a plantation villa near Trat. He was guarded by Thai Special Unit 838.

นายพอล พต หนีไปยังประเทศไทยและอาศัยอยู่ที่นั้นเป็นเวลาหกปี กองบัญชาการของเขาคือ หมู่บ้านเกษตรกรรมใกล้ๆ กับตราด เขาได้รับการคุ้มครองโดยหน่วยพิเศษของไทยที่ 838

 

หากข้อความนี้เป็นจริง ก็น่าภูมิใจมากว่าประเทศไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาดของเราได้ให้การช่วยเหลือฆาตกรสองล้าน (กว่า) ศพ แบบโดยตรงมากกว่าจีนหรืออเมริกา น่าภูมิใจจริงๆ ที่ฮิตเลอร์แห่งเอเชียเคยย่างเท้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้กินข้าวไทย ดูโทรทัศน์ไทย ก็อย่างที่ว่าไว้ ถึงแม้โลกจะตระหนักถึงอาชญากรรมของเขา แต่เรื่องการเมืองดูเหมือนจะสำคัญกว่าเรื่องของความยุติธรรมอย่างที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ตั้งแต่แรก

ในปี 1989 เวียดนามถอนกำลังทหารออกจากกัมพูชา พอล พตกลับมาที่เขมรอีกครั้งเพื่อร่วมกับกองกำลังเขมรแดง ถึงแม้เขาจะลาออกอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ยังมีอำนาจจริงๆ อยู่เบื้องหลังนาย ซอน เซน มือขวาที่ถูกเชิดขึ้นแทน ต่อมาทางสหประชาชาติได้พยายามจัดให้มีการประชุมเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพในกัมพูชา ในปีเดียวกันนั้นมีการลงนามในสนธิสัญญาโดยประเทศถึง 19 ประเทศ และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ โดยกษัตริย์สีหนุทรงยอมกลับมาร่วมพัฒนาชาติด้วย และได้เป็นประมุขของรัฐอีกครั้งในปี 1991 แต่นายพอล พตปฏิเสธเด็ดขาด ถึงแม้จะมีการยอมให้เขมรแดงเข้าร่วมรัฐบาลด้วย เพราะรู้ว่าพวกตนก็ไม่มีอำนาจในรัฐบาลอย่างแท้จริง แต่ก็พบว่าสองในสามของประเทศที่เคยช่วยเหลือตนก็ลดบทบาทลง เพราะเวียดนามเป็นหลัก เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ในปี 1991 สหรัฐฯ จึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับเวียดนามนัก ส่วนจีนเดาเอาว่าน่าจะวางกลยุทธใหม่ เพราะจีนเปลี่ยนผู้นำเป็นเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งวางนโยบายตรงกันข้ามกับเหมา เจ๋อตุง ซึ่งชอบพอล พต และจีนยังหันมาญาติดีกับเวียดนามเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจ สำหรับไทยนั้นน่าประหลาดที่ว่ายังคงให้การสนับสนุนเขมรแดง อาจเพราะต้องการให้เป็นกันชนกับเวียดนามต่อไป

เมื่อระส่ำระส่ายกันเต็มที ก็มีผู้นำบางคน เช่น นายเล็ง สารี ซึ่งเป็นน้องเขยของ พอล พตเอง และทหารของเขมรแดงกว่าครึ่งแอบหนีไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลในปี 1994 ซ้ำร้ายในปี 1997 พอล พตซึ่งถึงแม้จะป่วยเป็นอัมพาตไปเกือบครึ่งตัวได้สั่งยิงนาย ซอน เซนทิ้งด้วยข้อหาที่พยายามจะเจรจากับฝ่ายรัฐบาลของสมเด็จฮุนเซน อันเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงนิสัยพอล พตได้อย่างดีว่าชอบความสุดโต่ง สิ่งนี้คงจะเหมือนกับฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่ความแตกแยกในบรรดาผู้นำเขมรแดง นายพลตา ม็อค พี่ชายหมายเลข 4 ตั้งตัวเป็นใหญ่เข้ายึดอำนาจของกลุ่ม พอล พต พยายามหนีไปทางเหนือ แต่ก็ถูกตา ม็อคจับกุมตัวไว้แล้วนำขึ้นศาลของตัวเองด้วยข้อหา... ข้อหาฆ่านายซอน เซน ไม่ใช้ข้อหาฆ่าชาวเขมรสองล้านคนหรอกครับ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ตา ม็อคก็ต้องโดนด้วย เพราะเขาก็มีส่วนในการสังหารหมู่ชาวเขมรเหมือนกัน จนได้สมญานามว่าเป็น The Butcher หรือ "คนฆ่าสัตว์" และตา ม็อคเองเป็นผู้ปิดฉากเขมรแดง โดยประกาศขอยอมแพ้ต่อรัฐบาลในปี 1999 ส่วนโทษของ พอล พตก็หนักหนาเสียจริง นั่นคือถูกกักขังไว้ในแต่ในบ้าน

แต่แล้วเขมรแดงก็ตัดสินใจส่งนายพอล พตไปยังศาลพิเศษสำหรับอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติของเขมรที่ได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่แล้วในคืนวันที่ 15 เมษายน 1997 นายพอล พตก็เสียชีวิตอย่างสงบภายในกระท่อมที่คุมขังเขา โดยได้รับการอธิบายจากนายพลตา ม็อคว่า เพราะโรคหัวใจ ถึงแม้หลายฝ่ายจะพยายามเข้าไปตรวจสอบศพ แต่แล้วอีกเพียงสองวัน ศพของพอล พตก็ถูกเผาท่ามกลางกองขยะและกองยาง อันยังทำให้ชาวโลกสงสัยจนถึงทุกวันนี้ว่า พอล พตเสียชีวิตเพราะอะไรกันแน่ ? นายพลตา ม็อคนั้นก็ถูกทหารของรัฐบาลจับในปี 1999 และเสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2006 นี่เอง ส่วนอดีตผู้นำเขมรแดงอีกนับสิบคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ก็มีติดคุกบ้าง เช่น สหายดุช หัวหน้าคุกนรกตูลสเลง หลายคนยังใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในชนบท ในขณะที่กระบวนการศาลของเขมรนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า และยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มนักกฎหมายต่างประเทศที่พยายามมาช่วยเหลือนักกฎหมายของกัมพูชา จนทำให้เกิดความสงสัยว่า จะมีผู้นำเขมรแดงสักกี่คนที่จะถูกลงโทษจริงๆ แบบพวกผู้นำนาซี เช่น แขวนคอ เพราะถึงจะพิพากษาความผิดออกมาได้ พวกผู้นำเหล่านี้อาจจะชราภาพมากจนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่ต้องมาขึ้นศาล และเกือบทั้งหมดอาจจะตายด้วยโรคชราภาพก่อนที่จะถูกลงโทษจริงๆ ก็ได้ (ปัจจุบันคือในปี 2014 เหลือผู้นำเพียง 3 คนคือ นวล เจีย, เขียว สัมพัน และเอียง ธิริธ ส่วนเอียง สารีได้เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม ปี 2013) นึกอนาถใจแทนวิญญาณทั้งสองล้านดวงของชาวเขมรจริงๆ หรือว่าถ้ามีการพิจารณาคดีกันจริงๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะต้องมีชื่อของอดีตนายพลแห่งกองทัพไทยหลายท่านเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ให้การช่วยเหลืออาชญากรของมวลมนุษยชาติด้วยแน่นอน และอาจจะรวมไปถึงรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ อีกด้วย อันเป็นเหตุให้สมเด็จฮุนเซนซึ่งทั้งสนับสนุนเวียดนามและเกรงใจจีนต้องการจะให้คดีนี้สิ้นสุดลงไปเร็วๆ 

ส่งท้ายขอย้อนกลับไปตอนที่ พอล พตถูกจับคุมขังไว้ที่บ้านที่มีเพียงสองห้องนอน มีผู้สื่อข่าวบุกไปสัมภาษณ์และถามถึงความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อการตายของเพื่อนร่วมชาติสองล้านกว่าคน เขาก็ตอบแบบอ้อมแอ้มและเลี่ยงไปเลี่ยงมา และมีวลีที่น่าสนใจเช่น

"I came to carry out the struggle, not to kill people. Even now, and you can look at me, am I a savage person?"

"ผมมาเพื่อต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่มาฆ่าคน แม้แต่บัดนี้คุณสามารถมองหน้าผมได้ ผมเป็นคนชั่วช้าขนาดนั้นหรือ ?"

นั่นคือ พอล พลต้องการบอกว่า คนสองล้านกว่าคนที่ตายนั้นไม่ใช่เพราะความชั่วร้ายของเขา แต่เพราะต้องเสียสละเพื่อให้สังคมของเขมรมีการเปลี่ยนแปลงจากศักดินาไปสู่คอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ และก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษที่แปดสิบ พอล พตเองยังคงบอกกับลูกน้องว่า ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลานั้น เพราะ "พวกเราก็เหมือนกับเด็กที่กำลังหัดเดินเท่านั้นเอง" เขาให้เหตุผลด้วยด้วยรอยยิ้มที่เปิดเผย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net