เลือกตั้งที่ไม่ล้มและไม่เลื่อน นโยบายสันติภาพของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี

สนามเลือกตั้งผู้นำนักศึกษา คึกคักไม่แพ้สนามใหญ่ เพียงแต่ไม่มีใครมาจ้องล้ม ม.อ.ปัตตานีพื้นที่ชิงนำนโยบายสร้างสันติภาพชายแดนใต้ของปัญญาชน

ในสุดการเลือกตั้งก็เดินหน้าโดยไม่มีใครคัดค้านซักคน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างทยอยเดินเข้าคูหาหน้าคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็เปิดโน้ตบุ๊กเข้าเว็บลงคะแนนออนไลน์ผ่านเว็บไซด์เฟสบุ๊ก ใต้ต้นไม้บ้าง ที่โรงอาหารบ้าง

การลงคะแนนผ่านสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบนี้นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ของการเลือกตั้งผู้นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี หลังจากที่เริ่มการลงคะแนนออนไลน์เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

การเลือกตั้งผู้นำนักศึกษาของ ม.อ.ปัตตานีปีการศึกษานี้ มีขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2557 ไปจนถึงช่วงเย็นวันเดียวกัน ซึ่งบรรยากาศในช่วงหาเสียงก่อนหน้านี้เป็นไปอย่างเข้มข้นพอสมควร ไม่แพ้การเลือกตั้งระดับชาติ (ในช่วงปกติที่ปลอดจากม็อบ) เพราะไม่ว่าจะมองไปทางใดในเขตรั้ว ม.อ.ปัตตานี ก็เต็มไปด้วยป้ายโฆษณาหาเสียง ทั้งป้ายผ้า ไวนิล ธงสัญลักษณ์หรือแม้แต่ปฏิทินตั้งโต๊ะตามโรงอาหารลานอิฐและลานเล

ยังไม่นับการแข่งขันหาเสียงในโลกออนไลน์ อย่างในเว็บไซด์เฟสบุ๊ก และสื่อสังคมอื่นๆ ที่เป็นไปอย่างดุเดือดเช่นกัน แต่ละพรรคต่างชูนโยบายต่างๆนาๆ ที่สำคัญทุกพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งความรุนแรงและสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซะด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย การเลือกตั้งองค์การบริหารองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และนายกสโมสรนักศึกษาของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัย

สำหรับการเลือกตั้งนายกและคณะบริหารองค์การบริหารองค์การนักศึกษามีผู้ลงสมัครจาก 2 พรรค ประเดิมด้วยพรรคที่ก่อตั้งมามากกว่า 20 ปีแล้วอย่างพรรคกิจประชา ได้หมายเลข 1 และพรรคน้องใหม่อย่างพรรค ม.อ.เพื่อสังคม ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2553 ได้หมายเลข 2

ส่วนการเลือกตั้งประธานและสมาชิกสภานักศึกษา มี 2 พรรคที่ส่งผู้ลงสมัคร ได้แก่ พรรคศรีตรัง ได้หมายเลข 1 และพรรค ม.อ.เพื่อสังคม ได้หมายเลข 2 ส่วนองค์การบริหารองค์การนักศึกษาชุดเดิมต้องทำหน้าที่คณะกรรมการการเสือกตั้ง หรือ กกต.นักศึกษา

นายฮูเซ็น ซาวัล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกมลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษาปี 2556 เปิดเผยว่า การเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษามาทำกิจกรรมในองค์กรนักศึกษาเช่นทุกปี ตามมาตรา 122 ของธรรมนูญนักศึกษา ว่าด้วยองค์การนักศึกษา

นายฮูเซ็น ให้ความเห็นว่า การหาเสียงและการประชาสัมพันธ์ น้องๆได้บทเรียนที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่ มีการถ่ายทอดเทคนิคต่างๆให้รุ่นน้องว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนายกฯ ทำให้พรรคกิจประชาได้รับเลือกมาตลอด

“ปีนี้คิดว่าเป็นจุดอิ่มตัวของพรรคนักศึกษาที่สู้มาตลอดแต่ก็ได้ผลการเลือกตั้งเหมือนเดิม จึงทำให้แต่ละพรรคพยายามขายนโยบายและทุ่มเทหาเสียงอย่างเต็มที่มากกว่าทุกปีที่มาผ่านมา จึงสังเกตได้ว่ามีการติดป้ายหาเสียงและธงของพรรคมากกว่าที่ผ่านมา”

นายฮูเซ็น กล่าวว่า ที่สำคัญ ปีนี้มีผู้สมัครหลายคนนำประเด็นการแก้ปัญหาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นนโยบายหาเสียงด้วย เช่น การสร้างสันติภาพ การพูดคุยสันติภาพ หรือ Peace Dialog การสร้างวาทกรรมทางการเมือง เป็นต้น

นายฮูเซ็น กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่กำลังดุเดือดร้อนแรงมากในขณะนี้ นักศึกษาในม.อ.ปัตตานีก็นำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยการเลียนแบบวิธีการต่อสู้หรือการขับเคลื่อนทางการเมือง รวมทั้งการหาเสียงในมหาวิทยาลัยด้วย

 

‘กิจประชา – เพื่อสังคม’ ในม.อ.ปัตตานี

ด้านนายมะรอกี แมเดาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกคณิตศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้สมัครนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษาจากพรรคกิจประชา นำเสนอนโยบาย 5 ส คือ ส่งเสริมด้านวิชาการ ส่งเสริมกิจกรรม ส่งเสริมพหุวัฒนธรรมสู่อาเซียน ส่งเสริมนักศึกษาใส่ใจสุขภาพ ส่งเสริมและผลักดันสวัสดิการสารสนเทศ โดยแต่ละนโยบายมีโครงการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษา

“การฟอร์มทีมของพรรคกิจประชามีการดึงนักกิจกรรมของแต่ละสโมสรมาทำงานร่วมกัน สังเกตได้ว่านายกสโมสรเกือบทุกสโมสรจะอยู่ในพรรคเดียวกัน ซึ่งหลักๆ เคยเป็นทีมกิจกรรมมาตั้งแต่อยู่ปี 1” นายมะรอกี กล่าว

นายมะรอกี เปิดเผยว่า ส่วนรูปแบบการหาเสียง มีการวางแผนวันต่อวัน ในป้ายประชาสัมพันธ์มีการใช้คำต่างๆที่จำได้ง่าย นอกจากนั้น มีการร่างนโยบายโดยใช้Google Doc. (เป็นโปรแกรมประยุกต์บนเว็บฟรี) เพื่อให้นักศึกษาสามารถเสนอความต้องการได้ แล้วนำมาประมวลผลสร้างเป็นนโยบายขึ้นมา โดยยึดความต้องการของนักศึกษาเป็นหลัก

ขณะที่นายรอสือดี ดอเล๊าะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอก การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ผู้สมัครนายกองค์การฯ จากพรรค ม.อ.เพื่อสังคม นำเสนอนโยบาย 10 ข้อ ประกอบด้วย ศูนย์รวมกลางด้านกีฬา สร้างสรรค์ความรู้ด้วยศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัย เปิดเวทีด้านกิจกรรม สานสัมพันธ์สังคมพหุวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยสันติสุข รับทุกข์ รู้สุข สู่สังคม ม.อ.และประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ บัณฑิตย้อนรอยถิ่นบ้านเกิด สังคมก้าวหน้ากับบ้านภาษาและสังคมวิชาการ ม.อ.สะอาด อาหารปลอดภัย ที่จอดรถสะดวกสบาย ธรรมชาติสดใส เวทีสาธารณะและตลาดนัดวัฒนธรรม

นายรอสือดี กล่าวว่า เปรียบ ม.อ.เป็นประเทศหนึ่งที่ย่อมต้องมีผู้บริหาร นักศึกษาก็เหมือนประชาชนทั่วไปต้องเลือกทีมบริหาร ทีมตุลาการ ทีมตรวจสอบ ทีมบริหารคือ นายกองค์การฯร ทีมตรวจสอบคือ สภา

“ผมมองว่าทุกปีก็การแข่งขันที่เข้มข้น แต่สังคมมองไม่เห็น เพราะมันอยู่แค่ภายในมหาวิทยาลัย มีการรับรู้และเคลื่อนไหวเฉพาะคนทำงานด้วยกันเท่านั้น แต่ปีนี้เราสู้อย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะอยากเห็นสังคมม.อ.ไม่ต้องอยู่ในกะลา” นายรอสือดี กล่าว

“เรามีธรรมนูญนักศึกษามาถึง 30 กว่าปีแล้ว แต่ผมเชื่อว่านักศึกษาชั้นปี 1 ถึงปี 4 ไม่มีใครรู้หรอกว่า นักศึกษามีสิทธิอะไรและสำคัญอย่างไรถ้าไม่ศึกษาโดยตรง ทั้งที่มีในธรรมนูญ” นายรอสือดี กล่าว

 

นโยบาย ‘แก้ความขัดแย้งและสร้างสันติภาพ’

เมื่อเจาะลงในรายละเอียด จะพบว่า ทั้งพรรคม.อ.เพื่อสังคม และพรรคกิจประชาต่างนำเสนอนโยบายและมีแนวคิดที่จะผลักดันการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับคนในพื้นที่ผ่านโครงการต่างๆ ไว้ด้วย

นายมะรอกี ผู้สมัครนายกองค์การฯจากพรรคกิจประชา กล่าวว่า ในนโยบาย 12 ข้อของพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับสันติภาพ การส่งเสริมด้านพหุวัฒนธรรมและโครงการสานพหุวัฒนธรรมด้วย

“โดยส่วนตัวมองว่าถ้าจะแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่จำเป็นจะต้องลงพื้นที่เสมอไป แต่มองว่าการสร้างสันติภาพนั้น เราสามารถที่จะฟอร์มคนให้มารวมตัวในจุดเดียวกันได้เลย โดยจะสร้างมหกรรมสันติภาพ ประชาสัมพันธ์ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นกิจกรรมวิชาการ การเสวนา หรือนำของมาขายก็ได้”

นายมะรอกี  กล่าวว่า ในมหกรรมนี้จะมีทั้งนักศึกษาและชาวบ้านมาพบปะครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้อบอุ่นและกระชับขึ้นของคนในพื้นที่

ขณะที่นายรอสือดี ผู้สมัครนายกองค์การฯ จากพรรค ม.อ.เพื่อสังคม กล่าวว่า  เราจะส่งเสริมการบริการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าหากมีองค์กรหรือชมรมไหนที่มีนักศึกษาทำกิจกรรมอยู่ด้วย ก็จะผลักดันองค์กรเหล่านั้นให้ลงสู่พื้นที่มากที่สุด เพราะเชื่อว่าองค์กรที่ก่อตั้งมาล้วนรู้ถึงปัญหาในพื้นที่และผลกระทบที่ทุกคนได้รับ

“การที่เราเป็นนักศึกษา เราควรสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่นักศึกษาทำอยู่ให้ลงสู่พื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นอกจากนั้นเรายังต้องปูพื้นฐานหลักประชาธิปไตยในม.อ.ด้วย เพราะถ้าเราปฏิเสธคนในพื้นที่มาร่วมกันผลักดันมันก็ยากที่จะเกิดกระบวนการสันติภาพขึ้นมาได้”

สำหรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงได้อ่านข่าวชิ้นนี้หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไปแล้วในค่ำคืนของวันที่ 29 มกราคม 2557 คงไม่ต้องรอถึงครึ่งปีกว่าจะได้ตัวแทนครบทั้งสภา อย่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้งในสนามใหญ่คาดหวังไว้เป็นแน่แท้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท