โบว์ไตรรงค์อันใหญ่ กระเป๋าลายรักชาติสดใส นกหวีดหลากสีไฉไล ภาพสะท้อนจริยธรรมที่ใฝ่ฝัน?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพประกอบโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

อะไรคือ “มวลมหาประชาชน” และมวลมหาประชาชนเป็นตัวแทนของใครหรืออะไร เป็นกระบอกเสียงของอำนาจที่จับต้องได้หรือมือที่มองไม่เห็น อัตลักษณ์ของกลุ่มประชาชนผู้เปี่ยมจริยธรรม รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์อันชวนฝันใฝ่นั้นมีอยู่จริง หรือเป็นเพียงภาพสะท้อนแห่งความใฝ่ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง โบว์ไตรรงค์อันใหญ่ กระเป๋าลายรักชาติสดใส นกหวีดหลากสีไฉไล เป็นเครื่องหมายแห่งเสรีภาพและภราดรภาพ หรือ brand ฉลองชัยชนะแห่งทุนนิยมเหนือมวล (มหาประชา) ชนที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่ชอบธรรมนั้นรอการปฏิรูปจากผู้ที่ชอบธรรม หรือการปฏิรูปที่ชอบธรรมตั้งอยู่ไม่ได้โดยปราศจากภาพสังคม “ยูโทเปีย” (ประกอบด้วยรากศัพท์ภาษากรีก Eu/Ou + topos = Utopia) – ซึ่งแปลว่า โลก (Topos) ที่ดีงาม (Eu) และไม่มีจริง (Ou) — แห่งผู้นำปัญญาชนเปี่ยมศีลธรรม และสังคม “ดิสโทเปีย” (ประกอบด้วยรากศัพท์ภาษากรีก Dis + topos = Dystopia) – ซึ่งแปลว่า โลก (Topos) ที่เลวทราม (Dis) — แห่งคอรัปชั่นอันต่ำช้าในจินตนาการแห่งจิตวิทยาหมู่ (Mob Psychology)

บทความนี้มุ่งพิจารณาคำถามมากกว่าคำตอบ โดยขอนำเสนอวิธีการมองการเมืองไทยผ่านประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีจิตวิทยา และวรรณคดีศึกษา บทความนี้ตั้งคำถามท้าทายวาทกรรมที่ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีจิตวิทยา และวรรณคดีศึกษา ของยุคสมัยก่อนปี พ.ศ. 2557 ซึ่งก่อกำเนิดและพัฒนาในภูมิภาคอื่นและประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทยนั้น ไม่สามารถช่วยอธิบายสภาพสังคมและการเมืองไทยอันเป็นประเทศยกเว้นประเทศเดียวในเส้นทางพัฒนาการทางปัญญาและประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่

 

  1. ประวัติศาสตร์วาทกรรม ที่มาและวิวัฒนาการของคำว่า มวลชน” (Mass) “ม็อบ (Mob) และ มวลมหาประชาชน(ซึ่งแปรสภาพกลายเป็น “บุคคล” แห่งปีอย่างน่าอัศจรรย์)

แนวคิดเรื่อง “มวลชน” (Mass) กำเนิดและก่อตัวในยุโรปตะวันตกช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (ศตวรรษที่ 19) คำนี้ใช้เรียกกลุ่มคนที่ทวีจำนวนตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับใช้นวัตกรรมและแรงงานตามรูปแบบของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง เมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนก็มีอำนาจที่จะท้าทายอำนาจและคุณค่าของชนชั้นนำในสังคม

คำว่า “มวลชน” ในบริบทสังคมและการเมือง กลายเป็นสาระสำคัญในงานเขียนของ Alexis de Tocqueville (ค.ศ. 1805–1859) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ผู้เขียน ประชาธิปไตยในอเมริกา (De la démocratie en Amérique) แบ่งเป็นสองตอน เล่มแรกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1835 เล่มที่สองตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1840 Tocqueville เสนอแนวคิดเกี่ยวกับมวลชนที่สำคัญ คือแนวคิด “เผด็จการโดยเสียงส่วนใหญ่” (Tyranny of Majority) อันสะท้อนอยู่ในบทวิเคราะห์ว่าด้วยดาบสองคมของประชาธิปไตย ดาบสองคมนี้ปรากฏเด่นชัดเมื่อประชาชนในสังคมมีสิทธิเท่าเทียมกัน

 

When the ranks of society are unequal, and men unlike each other in condition, there are some individuals invested with all the power of superior intelligence, learning, and enlightenment, whilst the multitude is sunk in ignorance and prejudice. Men living at these aristocratic periods are therefore naturally induced to shape their opinions by the superior standard of a person or a class of persons, whilst they are averse to recognize the infallibility of the mass of the people.

เมื่อชนชั้นทางสังคมไม่เสมอภาคกัน และเมื่อมนุษย์มีสภาวะที่ต่างกัน ปัจเจกชนบางกลุ่มมีพลังทางสติปัญญา การตระหนักรู้ และความเรืองปัญญาที่เหนือกว่า ในขณะที่ฝูงชนจมอยู่ในความเขลาและอคติ บรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคแห่งชนชั้นสูงนี้จึงถูกชักจูงโน้มน้าวให้ก่อร่างสร้างความคิดเห็นตามมาตรฐานอันเหนือกว่าของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเป็นธรรมดา โดยผู้คนเหล่านี้จะรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อแนวคิดที่ว่า มวลชนนั้นไม่รู้จักผิดพลาดหรือไร้ที่ติ (แปลและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)

The contrary takes place in ages of equality. The nearer the citizens are drawn to the common level of an equal and similar condition, the less prone does each man become to place implicit faith in a certain man or a certain class of men. But his readiness to believe the multitude increases, and opinion is more than ever mistress of the world [my emphasis]*. Not only is common opinion the only guide which private judgment retains amongst a democratic people, but amongst such a people it possesses a power infinitely beyond what it has elsewhere.

ในยุคสมัยแห่งความเสมอภาค การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม ยิ่งพลเมืองมีความเท่าเทียมและเสมอภาคมากขึ้นเท่าไหร่ ปัจเจกยิ่งลดแนวโน้มที่จะเชื่อฟังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง โดยไม่มีข้อกังขาใดใด แต่ความพร้อมที่จะเชื่อกระแสฝูงชนนั้นกลับเพิ่มขึ้น และความคิดเห็นยิ่งทวีอำนาจเป็นนายหญิงแห่งโลก [ข้อความนี้เน้นโดยผู้เขียน]* ความคิดเห็นสาธารณะมิเพียงกลายเป็นหลักนำทางของการตัดสินใจส่วนบุคคลในหมู่ชาวประชาธิปไตย แต่ยังสำแดงพลังอำนาจในหมู่ผู้คนเหล่านี้ในระดับขั้นที่เหนือชั้นกว่าพลังอำนาจที่สำแดงในที่อื่น (แปลและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)         

             (Chapter II: Of The Principal Source Of Belief Among Democratic Nations, Democracy in America, Book II -- Translated by Henry Reeve)

             (บทที่สอง: ว่าด้วยแหล่งความเชื่อหลักในหมู่ประชาชาติประชาธิปไตย, ประชาธิปไตยในอเมริกา, ภาคที่สอง— แปลโดยเฮนรี รีฟ)

   (อ่านฉบับเต็มออนไลน์ได้ที่นี่)

*หมายเหตุ: วลี Mistress of the World หรือ นายหญิงแห่งโลก นี้เป็นอีกนามหนึ่งของนครรัฐและอาณาจักรโรมันโบราณที่หลายคนเชื่อว่าปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย (เนื่องจากโรมมองเห็นคุณค่ามรดกทางความคิดปรัชญาการเมืองกรีก) แต่แท้จริงแล้วเป็นสาธารณรัฐ ซึ่ง –ในความเห็นของผู้เขียนบทความ — สามารถสะท้อนการต่อรองระหว่างปรัชญาการเมืองแบบประชาธิปไตยและแบบสาธารณรัฐในงานของ Tocqueville ได้ดี

 

จะเห็นว่าประชาธิปไตยนำมาซึ่งสิทธิอันเสมอภาค เมื่อทุกคนในสังคมมีสถานะเท่าเทียมกัน อำนาจบังคับปกครอง จากเดิมเคยอยู่ในมือของเจ้านายหรือชนชั้นขุนนาง กลับถูกถ่ายโอนมายัง “มวลชน” ซึ่งเป็นบุคคลาธิษฐานของอำนาจที่ไร้หน้า ไร้ชื่อ ไร้ทิศทางอันแน่นอน Tocqueville เล็งเห็นภัยอำนาจเผด็จการที่มากับอำนาจดังกล่าว แต่เราต้องไม่มองว่า Tocqueville เกรงกลัวหรือไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ด้วยความที่เขามีแนวคิดเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) ที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าประชากรในสังคม (โดยเฉพาะชาวอเมริกันอันเป็นหัวใจของงานเขียน Tocqueville) นั้น มีเจตจำนงร่วมกันไปในทิศทางของ ปรัตถนิยม (Altruism) ซึ่งหมายความว่า ทุกคนพร้อมที่จะเสียสละสิทธิส่วนหนึ่งหรือความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม (อันเป็นที่มาของแนวคิดสวัสดิการ หรือ welfare ที่เราคุ้นเคย) โดยอัติโนมัติ แน่นอนว่าการมองโลกในแง่ดีนี้ทำให้ปรัชญาความคิดของ Tocqueville กลายเป็นประเด็นถกเถียงจนถึงปัจจุบัน ระหว่างฝ่ายที่มองว่าเขาเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว กับฝ่ายที่มองว่าเขาเป็นปรัตถนิยมอันสุดขั้ว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามและย้อนแย้งกัน

ส่วนคำว่า "ม็อบ" (mob) เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 มีรากมาจากวลีภาษาละติน คือ mobile vulgus ที่แปลว่า กลุ่มคนที่แปรปรวนหรือแปรเปลี่ยน ที่คำนี้มีความสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ค่ำคืนไอริช (The Irish Night) อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) เมื่อปี ค.ศ. 1688 การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เป็นการปฏิวัติโค่นราชบัลลังก์พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (ที่ทรงเป็นทั้งพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ และพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งไอร์แลนด์ด้วย) โดยสหภาพนักรัฐสภานิยมชาวอังกฤษกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ - นัสเซา (เจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์) ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษร่วมกับพระชายาคือ พระราชินีแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ เหตุการณ์นี้สะท้อนการแก่งแย่งอำนาจระหว่างเจ้านายและขุนนางคาธอลิก (ฝ่ายพระเจ้าเจมส์) และโปรเตสแตนต์ (ฝ่ายพระเจ้าวิลเลียม) ค่ำคืนไอริช เป็นชื่อที่คิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เพื่อใช้เรียกคืนที่ชาวลอนดอนรู้สึกหวาดผวาถึงขั้นฮิสทีเรียหมู่ หลังจากที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ได้หนีออกจากมหานครของพระองค์ และเกิดข่าวลือที่ว่า กองทัพไอริชส่วนพระองค์ซึ่งถูกปลดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง วางแผนจะบุกเมือง ก่อการร้ายทำลายบ้านเรือน ชีวิตและทรัพย์สินของชาวโปรเตสแตนต์ เมื่อชาวลอนดอนได้ยินดังนั้นก็เชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจริง รีบรุดรวมกำลังกันกว่า 100,000 คน ปิดกั้นถนนหนทางเตรียมรับมือกองทัพไอริชที่ (หากจะใช้ศัพท์วัยรุ่นร่วมสมัยคือ “มโน” กันไปเองว่า) กระหายเลือดและป่าเถื่อน แต่การณ์กลับเป็นว่าข่าวลือนั้นเป็นข่าวเท็จจึงเลิกชุมนุมโดยทันที จะเห็นได้ว่าสูตรสำเร็จของการ “ก่อร่างสร้างม็อบ” ในชั่วข้ามคืน คือ ความกลัวและข่าวลือชวนปลุกปั่นอารมณ์ความรู้สึก ใครสามารถควบคุมและใช้สูตรสำเร็จนี้ได้สำเร็จคือผู้กุมชะตากรรมของประเทศชาติ (และอาจทรงพลังกว่านายหญิงแห่งโลกอาณาจักรโรมันโบราณในสายตาของ Tocqueville ก็เป็นได้)

หนึ่งในผู้ที่รับแนวคิดเรื่องเผด็จการโดยเสียงส่วนใหญ่ของ Tocqueville มาสืบทอดและปรับใช้อย่างน่าสนใจคือ Hannah Arendt (ค.ศ. 1906–1975) หนังสือที่ชื่อ ไอค์มันน์ ณ เยรูซาเลม: รายงานเรื่องความชั่วร้ายอันแสนสามัญ (Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil) ซึ่งตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1963 นั้น เป็นผลพวงจากการที่ Arendt เดินทางไปร่วมฟังการตัดสินโทษของ Adolf Eichmann โดยศาลพลเรือนแห่งอิสราเอล เมื่อปี ค.ศ. 1961 ในช่วงสงครามโลก Eichmann เคยเป็นพันโทในหน่วย SS ของนาซี และเป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ (โดยรับคำสั่งจาก Reinhard Heydrich ซึ่งเป็นผู้ปกป้องแห่งอาณาจักรไรค์ Reichsprotektor แห่งโบฮีเมียและโมราเวีย หรือสาธารณรัฐเชคในปัจจุบัน) ในการจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวตามแผนการมาตรการสุดท้ายในการจัดการกับชาวยิว (die Endlösung der Judenfrage) โดยปฏิบัติงานอำนวยความสะดวก และขนส่งชาวยิวจำนาวนมากไปยังเขตกักกันพิเศษหรือ ghetto หรือส่งไปยังค่ายชุมทางในเมืองป้อมปราการในยุโรปกลาง เช่น Terezín (Theresienstadt) – เมืองนี้มีระยะทางห่างจากกรุงปราคเพียง 65 กิโลเมตร — ก่อนมุ่งหน้าไปสู่ค่ายมรณะในยุโรปตะวันออก ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนเสียชีวิตจากแผนปฏิบัติการนี้ ถือว่าเขาเป็นผู้ร่วมก่ออาชญากรรมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ กระนั้น Arendt เขียนบรรยายไอค์มันน์ไว้ดังนี้

 

He was not stupid. It was sheer thoughtlessness - something by no means identical with stupidity - that predisposed him to become one of the greatest criminals of that period. And if this is "banal" and even funny, if with the best will in the world one cannot extract any diabolical or demonic profundity from Eichmann, that is still far from calling it commonplace... That such remoteness from reality and such thoughtlessness can wreak more havoc than all the evil instincts taken together which, perhaps, are inherent in man – that was, in fact, the lesson one could learn in Jerusalem.

เขาไม่ได้โง่งม แต่มันเป็นเพียงเพราะการไม่ใช้ความคิด – ซึ่งต่างจากความโง่เขลาโดยสิ้นเชิง – ที่ส่งผลให้เขากลายเป็นหนึ่งในฆาตกรที่โหดร้ายที่สุดในช่วงเวลานั้น ถ้าประเด็นนี้ดูจะ “ธรรมดาสามัญ” และน่าขัน และถ้าหากเราใช้ความพยายามทั้งหมดในโลกนี้แล้วยังไม่สามารถสกัดเอาความลึกซึ้งทรงปัญญาที่ชั่วร้ายเลวทรามจากตัวของไอค์มันน์ได้ นั่นมันก็เกินกว่าคำว่าธรรมดาสามัญเสียแล้ว การไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและการไม่ใช้ความคิดนั้นสามารถนำมาซึ่งหายนะมากกว่าสัญชาตญาณชั่วร้ายซึ่งอยู่ภายในใจมนุษย์ทั้งหมดรวมกัน ประเด็นดังกล่าวเป็นบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้ในเยรูซาเล็ม (แปลและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)

 

ความชั่วร้ายอันเป็นตัวสะท้อนเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น แท้จริงเป็นความชั่วร้ายที่แสนสามัญ บังเกิดเมื่อมนุษย์เลือกที่จะไม่คิด ไม่มองภาพกว้างว่า สิ่งที่ตนกำลังกระทำหรือสนับสนุนนั้นจะนำพามาซึ่งสิ่งใด ในฐานะทหารและเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูง Eichmann เพียงแต่กระทำตามหน้าที่หรือตามคุณค่าทิ่คิดว่าดีงาม ไม่มีใครบังคับเขาให้เนรเทศชาวยิว เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครบังคับให้เขาตั้งคำถามเจตนารมณ์ของ Hitler ในงานเขียน Arendt วิเคราะห์ว่าที่ Eichmann เป็นเช่นนี้นั้นเป็นผลพวงของ modernity (ความเป็นสมัยใหม่)  อันเกิดจากการตั้งคำถามท้าทายความคิดระบบและระบอบเก่า และเกิดจากความหวาดวิตกเมื่อภาษาเป็นระบบสัญญะที่ไม่สามารถสื่อความหมายที่ทำให้มนุษย์เข้าใจกันอย่างแท้จริงได้ (เพราะหากเข้าใจกันแล้ว เหตุใดจึงเกิดสงครามโลกอันนองเลือด ผู้คนเข่นฆ่ากันเป็นผักปลา) จึงส่งผลให้ผู้คนรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว และนำไปสู่ความรู้สึกโหยหาความเป็นชุมชน ความโหยหาดังกล่าวเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนออกมาชุมนุมร่วมกันตามที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์แนวคิดของ Arendt ใน บทความเรื่อง “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” ดังนี้

 

ความเคลื่อนไหวในแนวเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีมวลชนที่โหยหาการจัดตั้งทางการเมืองเช่นนี้แหละครับ ความโหยหานี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ นะครับ คุณอาเรนท์อธิบายว่า มวลชนที่พากันเข้าไปร่วมใน "ม็อบ" (ซึ่งในทัศนะของคุณอาเรนท์คือกลุ่มคนที่ถูกปลุกเร้าขึ้นมาเป็นผู้นำของมวลชนอีกทีหนึ่ง) หรือว่าที่จริงส่วนใหญ่ของมวลชน หาได้เป็นผู้สนใจการเมืองมาก่อน เขาคือคนที่ทำมาหากินไปวันๆ ท่ามกลางความรู้สึกอ้างว้างไร้ค่าในชีวิต และถูกทอดทิ้ง

ถูกทอดทิ้งจากนักการเมือง, จากข้าราชการ, จากสื่อ, จากทุกอย่างที่ทำให้เขามีตัวตนขึ้นมา คุณอาเรนท์ประกาศเลยว่า เมื่อชนชั้นในยุโรปล่มสลาย พรรคการเมืองก็ล่มสลายไปด้วย เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดอีกต่อไป ในเมืองไทยพรรคการเมืองไม่เคยเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดตลอดมา ข้าราชการไม่เคยเห็นหน้าของมวลชน ทั้งสองพวกนี้ออกกฎเกณฑ์ที่กระทบชีวิตของมวลชนซึ่งไม่เคยมีปากเสียงไปต่อรอง

(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)

 

ในความเห็นของผู้เขียนเอง จากการวิเคราะห์ตัวบทของ Tocqueville Arendt และ เหตุการณ์ค่ำคืนไอริช ภัยที่น่าจะนำความหายนะมาสู่สังคมสะท้อนอยู่ในข้อความจริงที่ว่า มวลชนมักจะตามกระแสความคิดเห็นหลักของสังคม จนมักไม่รู้จักคิดวิเคราะห์หรือตั้งคำถามด้วยตนเอง เมื่อเจอความเห็นที่แตกต่างก็ใช้อารมณ์ความรู้สึก หรือกฏหมู่เป็นที่ตั้ง เกิดการแบลคเมล์ทางอารมณ์ความรู้สึก ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งเผด็จการทางความคิดและการใช้ความรุนแรงทางวาจาและกำลัง จะเห็นว่านิยามและแนวคิดของคำว่า “มวลชน” ที่ Tocqueville เริ่มคำนึงถึงด้วยความวิตกกังวล ซึ่งตอนแรกดูจะเป็นคำที่มีนัยยะเป็นกลางนั้น ได้แปรสภาพกลายเป็นคำที่มีความหมายเหมือนคำว่า mobile vulgus (กลุ่มคนที่แปรปรวนหรือแปรเปลี่ยน) จะเห็นว่าม็อบไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องใช้ตรรกะหรือเป็นเหตุเป็นผลในการรวมตัวกัน อารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยที่เพียงพอ – ความตื่นตระหนกร่วมกัน ความต้องการที่จะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ความโหยหาอดีตที่รุ่งโรจน์ร่วมกัน ความเกรงกลัวและเกลียดชังที่มีต่อศัตรูร่วมกัน — สามารถปลุกปั่นจิตวิทยาหมู่ให้ผู้คนเดินออกจากบ้านออกมาร่วมชุมนุม ออกมาใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน ซื้อสินค้าชิ้นเดียวกัน เปล่งเสียงร้องเพลงหรือตะโกนสโลแกนเดียวกัน

ส่วนคำและความหมายของ “มวลมหาประชาชน” (Great Mass of People) คำว่า “มหา” นั้นเป็นคำขยายที่ควรค่ากับการวิเคราะห์วินิจฉัย เริ่มจากที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ว่าตัวเลขจำนวนคนที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาประชาชนนั้นไม่สำคัญ

                               

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา           บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี

(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)

 

“มหา” ซึ่งแปลว่าใหญ่ในเชิงขนาด และแปลว่ายิ่งใหญ่ในเชิงพลานุภาพ เป็นคำขยายสั้นๆ ที่ดูเล็กน้อยแต่กลับทรงพลังอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะคำนี้ช่วยเสริมสร้างวาทกรรมที่ได้ผลทันตา (แม้ว่าคำนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทั้งในเชิงจำนวนผู้คนและในเชิงคุณค่า หากเป็นภาพสะท้อนของความต้องการของมวลชนที่ออกมาชุมนุมก็ตาม) กลยุทธการโน้มน้าวโน้มนำด้วยภาษานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะในหมู่มวลชนที่มีแนวโน้มไม่ใช้ความคิดหรือเลือกที่จะไม่คิด อันเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายอันธรรมดาสามัญ (ที่เกินคำว่าธรรมดาสามัญ) อนึ่ง ผู้เขียนบทความนี้สนใจประเด็นที่คุณสุทธิชัย หยุ่น นำเสนอในคอลัมน์ หัวข้อ “ทำไม 'มวลมหาประชาชน' จึงเป็น 'บุคคลแห่งปี' ?”   ขออนุญาตตัดตอนมาดังนี้

               

เป็นครั้งแรกที่คนจากทั่วสารทิศ อาชีพมากมายหลากหลาย คนวัยต่าง ๆ กันตัดสินใจไม่เป็น “ไทยเฉย” และออกมาชุมนุมเพื่อจะยืนยันว่า “บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไป” การมารวมตัวกันของคนจำนวนมากเพื่อต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งไปหว่านล้อมให้ทำตาม “ผู้นำม็อบ” และไม่มีใครเป็น “นายทุน” จ้างให้มากระทำการร่วมกันเพื่อล้มล้างรัฐบาลอย่างที่บางฝ่ายอาจจะตั้งข้อสังเกต

                                                         (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่)

 

ที่โดดเด่นที่สุดคือ บุคคลาธิษฐานสุดน่าอัศจรรย์ อันสะท้อนในการแปรมวลมหาประชาชนหมู่ใหญ่ให้กลายเป็นบุคคลที่สามารถได้รับรางวัล (Tocqueville คงปรบมือชื่นชมในความเป็นปัจเจกนิยมที่ยึดมั่นในปรัตถนิยม โดยไม่มีการย้อนแย้งกังขา สมแล้วที่ประเทศไทยเป็น Utopia แห่งประชาธิปไตย) เราจะเห็นว่าคุณสิทธิชัย หยุ่น  เน้นว่าไม่มีใครบังคับ หว่านล้อม หรือใช้สินจ้างในการขับเคลื่อนให้ปัจเจกที่เป็น “ไทยเฉย” เดินทางออกจากบ้านมาร่วมชุมนุม คุณสุทธิชัย หยุ่น พูดถูกต้องทุกประการ และผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านที่ได้วิเคราะห์ตัวบทด้วยกันตั้งแต่ต้นจะเห็นด้วยว่า แนวคิดของคุณสุทธิชัย หยุ่นนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของ Tocqueville และ Arendt ที่ว่าเมื่อชนชั้นนำเลิกปกครองโดยใช้อำนาจบาตรใหญ่ เมื่อสิทธิของผู้คนเท่าเทียมกัน ผู้คนก็แตกแยกเป็นหน่วยและอณูที่ไม่มีความผูกมัดผูกพันและโดดเดี่ยวแปลกแยก แน่นอนผู้นำม็อบเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ใช่อำนาจขับเคลื่อนหลักของอัตลักษณ์จินตกรรมของมวลชนอย่างที่เรามักจะเข้าใจ สินจ้างไม่ใช่แรงจูงใจหลักที่ทำให้ม็อบเป็นเอกภาพ ผู้คนที่มาชุมนุมกลับบำรุงค้ำจุนระบบทุนนิยม (เสียดายที่บรรยากาศตลาดนัดไม่ได้ค้ำจุนเศรษฐกิจในระดับมหภาค) ด้วยซ้ำ ความใฝ่ฝันร่วมกัน หรือขอเรียกว่า แฟนตาซีหมู่ของมวลมหาประชาชน เป็นอุดมคติที่จับต้องได้ยาก จึงไม่แปลกใจที่ส่วนใหญ่ รวมทั้งคุณสิทธิชัย หยุ่นเอง มักจะให้เหตุผลว่าผู้คนรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” (เป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่าเราเกลียดชังอะไรร่วมกัน) และไม่น่าแปลกที่ว่าแผนการและเจตนารมณ์ของม็อบนั้นยากนักที่จะอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยปราศจากการใช้อารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าระบอบทักษิณนี้เป็นความเพ้อฝัน แต่เช่นเดียวกับที่เราเห็นจากคำว่า “มหา” เมื่อคนขัดแย้งกันเรื่องความเชื่อและการเมือง เรามักจะคิดว่าคนสองคนที่คิดเห็นทางการเมืองต่างกันจะสามารถยอมความ ทำให้ฝ่ายหนึ่งเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผล เพราะเชื่อว่าขัดแย้งกันก็เพราะ logic แท้จริงแล้วจิตวิทยาเป็นประเด็นที่เราไม่อาจมองข้าม เพราะแม้เป็นปัจจัยส่งเสริมความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันหากทำความเข้าใจมันแล้ว อาจจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ปรองดอง ส่วนภาษาที่ใช้ สื่อต่างๆ ที่โฆษณาการ หรือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ ล้วนมีผลต่อการหล่อหลอมความคิดของมวลชนที่มักจะแปรปรวนแปรเปลี่ยนเป็นนิจ ผู้เขียนบทความขอนำเสนอการทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนผ่านมุมมองด้านจิตวิทยาดังต่อไปนี้

 

  1. อัตลักษณ์ภาพสะท้อนของความใฝ่ฝัน และการแต่ง แฟนซีสนองแฟนตาซีหมู่

เพราะปัจเจกที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมนุมชนสามารถเปลี่ยนฝ่ายเปลี่ยนพวกได้ตลอดเวลา แน่นอน นี่คือสาเหตุที่ว่าม็อบต้องมีแกนนำเพื่อเสริมสร้างเอกภาพ ม็อบต้องมีใบหน้า ต้องสร้างอัตลักษณ์จินตกรรมขึ้นมาร่วมกัน อัตลักษณ์ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ และไม่ใช่อัตลักษณ์ที่คงอยู่เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติในตัวของปัจเจก นกหวีดหลากสี เสื้อยืดและกระเป๋าธงชาติ เป็นเพียงตัวอย่างของความพยายามสร้าง brand เพื่อรองรับอัตลักษณ์ที่เป็นนามธรรมนี้ (ผ่านการถือโอกาสทางทุนนิยม) เท่านั้น อัตลักษณ์จะเป็นอะไรอย่างอื่นไปได้หากไม่ใช่ projection หรือภาพสะท้อนของความปรารถนาหรือความฝันใฝ่อยากเป็น (หรือไม่อยากเป็น)

Jacques Lacan  (ค.ศ. 1901-1981) นักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส เสนอแนวคิด “ขั้นตอนภาพสะท้อนในกระจกเงา” (The Mirror Stage) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะตีความแนวคิดของ Sigmund Freud (ค.ศ. 1856–1939) แบบใหม่ โดย Lacan เสนอว่า เด็กทารกต้องผ่านขั้นตอนการเติบโตอันมีภาพสะท้อนของร่างตนในกระจก หรือภาพตัวแทนของแม่หรือผู้ดูแลใกล้ชิด เป็นภาพหลักของการสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นฉัน” แต่เนื่องจากภาพสะท้อนในกระจก หรือภาพของแม่และผู้ดูแลใกล้ชิดนั้น อยู่ห่างไกลจากรูปร่างและศักยภาพทางร่างกายของทารก ที่มองเห็นภาพและปรารถนาอยากจะเป็นเช่นภาพที่เห็น (imago) ภาพนั้นจีงกลายสภาพเป็น “ความเป็นฉันในอุดมคติ” ที่ทารกฝันใฝ่อยากเป็น และตลอดชีวิตของทารกแม้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะพยายามไขว่คว้าใฝ่ฝันที่จะเป็นภาพที่ค้างอยู่ในห้วงคำนึงเสมอ Lacan เสนอว่าขั้นตอนภาพสะท้อนในกระจกเงานั้น เป็นช่วงที่ปัจเจกเสริมสร้างความเป็นตัวตน จากการยึดสิ่งภายนอกเป็นหลักพัฒนาการสำคัญ ภาพสะท้อนในกระจกที่อยู่ภายนอกตัวตนของปัจเจกนี้ คือภาพที่เป็น “other”  หรือ “เป็นอื่น” เสมอ เป็นแฟนตาซีที่นับวัน —เมื่อทารกเติบโตและเรื่มรู้จักระบบสังคมและภาษา — ก็ยิ่งจะซับซ้อนมากขึ้น ความปรารถนาฝันใฝ่อยากเป็น อันเป็นฐานของการสร้างอัตลักษณ์นั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น  

เมื่อเรามาพิจารณาวาทกรรมที่ก่อร่างสร้างม็อบมวลมหาประชาชนผ่านมุมมองของ Lacan แฟนตาซีหมู่ของมวลมหาประชาชนคือ ภาพของผู้ที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ภาพของปัจเจกเปี่ยมคุณธรรมและจริยธรรม รักสันติ เกลียดความรุนแรง มีความเหนือกว่าในทางปัญญาและความชอบธรรม ทั้งหมดนี้สะท้อนอยู่ในการใช้คำว่า “จริยธรรม” เช่น  “ผมภูมิใจในพลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนคนไทย และเป็นพลังทั้งประเทศ ฟ้าใหม่ของเมืองไทยก็คือ คนดีมีความสามารถ คิดถึงประเทศ ดูแลทรัพยากรให้คนส่วนใหญ่ ควรจะได้รับดูแลจากคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม” (ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์)   คำว่า “คุณธรรม” “สันติธรรม” “ความบริสุทธิ์” “ความเสียสละ” “อหิงสา” เช่น ที่สะท้อนอยู่ในคลิป

ผู้เขียนบทความนี้ชื่นชมในการนิยมคุณความดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคำเหล่านี้ใช้กันบ่อยจนความหมายบิดเบือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการกระทำของแกนนำม็อบหรือสมาชิกม็อบไม่สอดคล้องกับเครื่องหมายและความหมายคุณความดีที่ต้องการจะสื่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วาทกรรม “ล่อเพื่อชาติ” การเล่นคำและเสียดสีแบบเหยียดเพศของคุณจักษ์ พันธ์ชูเพชร         (ดูคลิป) ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า การอ้างว่ารักชาตินี้สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้วาจาจาบจ้วงเหยียดเพศได้จริงหรือไม่ นี่หรือคือนิยามของคุณธรรมและจริยธรรม นี่หรือคือการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์อย่างเที่ยงแท้ยั่งยืน นี่หรือคือความหมายของสันติธรรมและการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์  

แม้วาทกรรม “ล่อเพื่อชาติ” จะฟังดูน่าขัน แต่มันมิใช่ความน่าขันนี่หรือที่นำมาซึ่งความเลวทรามแบบ (เกิน) ธรรมดาสามัญแบบที่ Arendt ตั้งข้อสังเกตไว้ ผู้ที่รับฟังคุณจักษ์ พันธ์ชูเพชร บางคนหรือหลายคนคงจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเล่นคำเสียดสีแบบนี้ บางคนรับไม่ได้แต่ก็เข้าใจว่าพูดไปเพราะรักชาติ เพราะฉะนั้นก็เลยพอจะให้อภัยผู้พูดได้ ผลของการเมินเฉย ผลของการเห็นด้วย ผลของการยกเว้นโทษมองข้ามสิ่งที่ขัดคุณความดีในนามของคุณความดี คือ “มหาหายนะ” ตัวบ่อนทำลายความคิดพื้นฐานเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและสถานะทางเพศของปัจเจกอย่างเท่าเทียม ที่เราควรจะปลูกฝังให้งอกงามในสังคมไทย

ความย้อนแย้งทางศีลธรรมในวาทกรรมมวลมหาประชาชนนี้ไม่แปลก เพราะความฝันในอุดมคติ หรือแฟนตาซีหมู่จะตั้งอยู่ได้ก็โดยการทำลายหรือตัดทอนส่วนที่ “ไม่เข้าตา” หรือ “ไม่เข้าพวก” เสมอ คนส่วนหนึ่งในมวลชนที่อาจไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยกับวาทกรรมหลักอย่างไม่เต็มที่ ต่างถูกกำจัดไปจากชีวิตและสารบบความสัมพันธ์ของผู้ที่ยึดมั่นและจรรโลงแฟนตาซีหมู่เพื่อตัวเองและเพื่อพวกพ้องโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น Xenophobia หรือ ความหวาดกลัวความเป็นอื่น นี้เห็นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยหลายคนหลีกเลี่ยงหรือมีปากเสียงคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเรื่องการเมือง หลายคนใช้วิธีแบล็คเมล์ความรู้สึก เช่น unfriend เพื่อนทางเฟซบุคและชีวิตจริง จนถึงระดับกฏหมู่ คือลงมือทำร้ายจิตใจด้วยวาจา หรือใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

เมื่อใดที่เราตั้งคำถามท้าทายการแต่งแฟนซีสนองแฟนตาซีหมู่ของมวล (มหาประชา) ชน เมื่อใดที่เรามองผ่าน branding สินค้าโบว์ไตรรงค์อันใหญ่ กระเป๋าลายรักชาติสดใส นกหวีดหลากสีไฉไล ลึกไปยังความปรารถนาส่วนลึกของปัจเจกและสังคมโดยรวม เพื่อตั้งคำถามว่าวาทกรรมที่เราสนับสนุนและวาทกรรมที่สนับสนุนความเชื่อทางการเมืองของเรานั้น เป็นความจริงที่จับต้องได้ หรือเป็นเพียงภาพสะท้อนของความดีที่ฝันใฝ่และจริยธรรมสังเคราะห์ที่ใฝ่ฝัน เมื่อนั้น การปฏิรูปที่แท้จริงจะบังเกิด การปฏิรูปที่แท้จริงจะต้องบังเกิดในปัญญาและจิตใจ ผู้เขียนยังมีหวังเพราะแฟนตาซีหมู่ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตย ก็มีด้านที่สร้างสรรค์เช่นกัน เมื่อแฟนซีของแฟนตาซีหายไป พลังของมวลชนที่มีสตินั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิมได้ ขอเพียงเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความแตกต่างในโลกความเป็นจริงโดยเริ่มที่คนใกล้ตัวที่สุด (แฟนตาซีที่ไร้สติเท่านั้นที่ทำให้ปัจเจกเป็นพวก “โลกสวย”) อีกทั้งหมั่นคอยดูแล… และรักษาสิทธิของกันและกันเพื่อสันติและความเจริญของประเทศชาติที่เรารัก

-----------

 

The idea of human rights and freedoms must be an integral part of any meaningful world order. Yet, I think it must be anchored in a different place, and in a different way, than has been the case so far. If it is to be more than just a slogan mocked by half the world, it cannot be expressed in the language of a departing era, and it must not be mere froth floating on the subsiding waters of faith in a purely scientific relationship to the world. – Vaclav Havel

แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพต้องเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการสร้างระเบียบโลกที่มีความหมาย แต่กระนั้นข้าพเจ้าคิดว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพนี้ต้องมีหลักยึดเหนี่ยวในสถานที่ที่ต่างออกไป และในวิถีทางที่ต่างออกไปจากที่เคยเป็น หากจะทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพมีสถานะเป็นมากกว่าสโลแกนที่คนครึ่งโลกล้อเลียนหัวเราะเยาะแล้วล่ะก็ เราไม่ควรสื่อแนวคิดดังกล่าวโดยใช้ภาษาของยุคสมัยที่กำลังจะผ่านไป แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพต้องไม่กลายเป็นเพียงฟองที่ลอยฟ่องบนผืนแอ่งน้ำแห่งความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์เชิงวิทยาศาสตร์กายภาพระหว่างมนุษย์กับโลกใบนี้ที่นับวันยิ่งลดระดับลงเรื่อยๆ – วาสลาฟ ฮาเวล (แปลและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วริตตา ศรีรัตนา verita@fedu.uniba.sk  อาจารย์วิชาทฤษฎีโมเดิร์นนิสม์และนักวิจัยด้านวรรณคดีและประวัติศาสตร์เชคและสโลวาเกีย (Comenius University in Bratislava, Slovak Republic) ศิษย์เก่าและอดีตอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท