นิวยอร์กไทมส์ชี้ หากความไม่สงบทางการเมืองยืดเยื้ออาจส่งผลเศรษฐกิจไทยทรุด

นิวยอร์กไทมส์ระบุความไม่สงบทางการเมืองในไทยรอบล่าสุดส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ากรุงเทพฯ ระบบโครงสร้างพื้นฐานเช่นรถไฟความเร็วสูงก็ถูกระงับ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่และฟื้นตัวยาก ไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้


แฟ้มภาพ: ประชาไท
 

31 ม.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์เผยแพร่รายงานของเบตตินา วาสเซนเนอร์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยหากยืดเยื้อออกไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทยได้

รายงานในนิวยอร์กไทมส์ระบุว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศไทยมักจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจแย่ลง เช่น การรัฐประหาร การประท้วงบนท้องถนน หรือเหตุภัยภิบัติทางธรรมชาติ แต่ในการประท้วงทางการเมืองล่าสุดนี้อาจจะแตกต่างออกไป เมื่อประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างเชื่องช้า นักลงทุนและธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มหมดความอดทนกับความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันที่ยังฝ่าทางตันออกไปไม่ได้

วาสเซนเนอร์ระบุในรายงานว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่นักลงทุนเริ่มถอนการลงทุนจากหลายประเทศเช่นในอาร์เจนตินา ตุรกี ยูเครน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร

เฟรเดอริก นิวแมนน์ ประธานฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียจากธนาคาร HSBC กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2553 นักลงทุนจากตะวันตกพร้อมจะซื้อทุกอย่างที่เกี่ยวกับเอเชีย แต่ในตอนนี้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามยากขึ้นและมีความอดทนต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองได้น้อยลง

รายงานในนิวยอร์กไทมส์ระบุอีกว่า มีความเสี่ยงที่เงินลงทุนจะถูกเปลี่ยนไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า หรือฟิลิปปินส์ ตลาดหุ้นของไทยก็ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว รวมถึงมีความกังวลว่าการท่องเที่ยวจะลดลง บริษัทจะไม่มาตั้งในกรุงเทพฯ และโครงการเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะถูกชะลอการดำเนินการออกไป

นิวยอร์กไทมส์ระบุอีกว่า หลายบริษัทเริ่มกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้าของไทยและเริ่มปรับลดเงินทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประธานบริษัทโตโยต้าประจำประเทศไทยเตือนว่าจะมีการพิจารณาเงินลงทุน 20,000 ล้านบาทใหม่ หากประเทศไทยยังคงมีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองอยู่

ในรายงานยังได้พูดถึงการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดือนนี้ โดยที่อัตราการเช่า-ซื้อ คอนโดมิเนียม รวมถึงธุรกิจเช่าพื้นที่สำนักงานมีการชะลอตัวลง

นอกจากนี้ นิวยอร์กไทมส์ยังได้พูดถึงจำนวนของยอดจองโรงแรมและเที่ยวบินโดยสารมากรุงเทพฯ ก็ลดลงอย่างมากหลังจากที่การประท้วงยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้กลายแห่งในโลกแนะนำไม่ให้ประชาชนของตนเดินทางไปเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่แย่กว่านั้นคือการประท้วงและการสูญเสียเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเช่น ช่วงคริสต์มาส และช่วงตรุษจีนที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนและฮ่องกงเข้ามาเป็นจำนวนมาก

คลอริส ยิป ตัวแทนจากบริษัทท่องเที่ยวในฮ่องกงเปิดเผยว่าปกติแล้วในช่วงก่อนตรุษจีน ยอดจองเที่ยวบินไปกรุงเทพฯ จะแน่นขนัดมากหรืออย่างน้อยก็มีจำนวนมากพอๆ กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่อื่นๆ แต่ในปีนี้ไม่มีใครจองเที่ยวบินไปกรุงเทพฯ เลย แม้ว่าจะมีบางส่วนไปภูเก็ตแต่พวกเขาก็ขอเป็นเที่ยวบินตรงเพราะไม่ต้องการไปต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า วิกฤติการเมืองก่อนหน้านี้ของไทย ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปรับตัวกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เช่นช่วงที่เกิดเหตุสังหารประชาชนในปี 2553 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นกลัวอย่างมาก แต่ก็ยังกลับมาหลังจากที่เหตุการณ์สงบ เนื่องจากในช่วงนั้นมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดอัตราการส่งออกสูง ความต้องการของผู้บริโภคในไทยก็มีอยู่จำนวนมาก ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกลับมาได้

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวว่า พวกเขาสามารถอยู่รอดได้จนถึงช่วงไตรมาสแรกเท่านั้น แต่ถ้าหากเหตุการณ์ยังคงดำเนินไปจนถึงไตรมาสที่สอง พวกเขาก็อยู่ไม่รอดกันหมด

วาสเซนเนอร์กล่าวในรายงานว่า วิกฤติในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับประเทศไทยมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเสนอแนะว่าประเทศไทยควรเร่งสร้างหลักประกันให้มีการเติบโตในอนาคต โดยนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมุระบอกว่า จากเดิมก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม เศรษฐกิจไทยก็เริ่มตั้งตัวค่อนข้างอ่อนแอ หนี้ในครัวเรือนมีมากขึ้นและไม่สามารถใช้จ่ายสินค้าได้เท่าเดิม สิ่งที่ทำให้แย่ไปกว่านั้นคือความวุ่นวายทางการเมืองที่กระทบภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและผู้บริโภคลดลง

นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมุระ กล่าวอีกว่าต่อให้ความวุ่นวายทางการเมืองคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว แต่การจับจ่ายของผู้บริโภคก็จะยังไม่กลับมาอย่างทันที เนื่องจากหนี้ในครัวเรือน

รายงานในนิวยอร์กไทมส์ยังได้กล่าวถึงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการชะลอตัวการลงทุน คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดการซื้อพันธบัตรเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกให้อยู่ในระดับต่ำ แต่การที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในสหรัฐฯ สูงขึ้นทำให้นักลงทุนถูกดึงดูดให้เข้าไปลงทุนในตลาดน้อยลงซึ่งส่งผลต่อไทยด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงในรายงานคือการชะลอโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในไทย เช่น แผนการป้องกันน้ำท่วมและการกู้เงินเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งแม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาเมื่อปีที่แล้ว แต่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก็ทำให้เป็นไปได้ว่าการก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ คงถูกชะลอไปจนถึงช่วงปลายปี ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้น่าจะทำให้เกิดผลิตผลต่างๆ มากขึ้นในประเทศไทย การชะลอการสร้างจึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์เกรงว่าประเทศไทยกำลังเสี่ยงจะเสียพื้นที่ด้านนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมุระกล่าวถึงกรณีนี้ว่า พม่ากำลังเปิดประเทศ อินโดนีเซียก็ก้าวหน้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนฟิลิปปินส์ก็เป็นจุดสนใจในตอนนี้ ทำให้ประเทศไทยกำลังเสี่ยงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

 

เรียบเรียงจาก

Continuing Unrest Could Undermine Thailand’s Economy, Bettina, Wassener, New York Times, 30-01-2014
http://www.nytimes.com/2014/01/31/business/international/continuing-unrest-could-undermine-thailand-economy.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท