iLaw: ถาม-ตอบ กฎหมายเลือกตั้ง หลัง 2 กุมภาฯ ก็ยังเปิดสภาไม่ได้

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นกำหนดวันเลือกตั้งที่มีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ที่มีการขัดขวางการเลือกตั้งของผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. ที่ต้องการให้มีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็พอจะเห็นได้ลางๆ ว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ นี้ ผู้ที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็คงไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างสะดวกดายเช่นที่ผ่านมา

iLaw จึงรวบรวมคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการเลือกตั้ง ที่ทุกคนน่าจะอยากรู้มาไว้ที่นี่

ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิอะไรบ้าง
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 72 กำหนดไว้ว่าบุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควร ก็ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 26 จึงกำหนดว่า เมื่อบุคคลใดๆ ไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิ 3 ประการ ดังนี้
1.เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. คนที่ไม่ไปเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. หากประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมัยหน้า ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็ไม่มีสิทธิลงสมัคร
3.เสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น

ถ้าไม่สามารถไปเลือกตั้งจริงๆ ทำอย่างไรได้บ้าง
แต่ถ้าหากไม่สามารถไปใช้สิทธิได้จริงๆ  โดยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
1.มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2.เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้
3.เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5.มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กม.
6.มีเหตุสุดวิสัยอื่นที่ กกต.กำหนด

ตามมาตรา 24 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ก็ให้สิทธิประชาชนในการรักษาสิทธิข้างต้น โดยการต้องไปแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนเขตหรืออำเภอ โดยสามารถไปแจ้งเหตุได้ในช่วงเวลาก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน  (26 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2557) เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ 3 ประการ ดังกล่าว โดยกรอกแบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ หรือ ส.ส.28 (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่)  โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน แนบหลักฐานเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ได้ 3 วิธี คือ ยื่นด้วยตนเอง มอบหมายบุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง จะประท้วงโดยการฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือไปขัดขวางคนอื่นไม่ให้เลือกตั้ง จะทำได้หรือไม่
ไม่ว่าจะฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือไปขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิเลือกตั้งล้วนผิดกฎหมาย แต่จากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ก็มีผู้ชุมนุมไปปิดหน่วยเลือกตั้งจนทำให้คนอื่นมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ แต่หากคุณคือคนหนึ่งที่คิดจะไปร่วมขบวนขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ขอเตือนคุณก่อนว่า อาจจะต้องเตรียมใจถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 76 ประกอบมาตรา 152 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 ซึ่งมีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วย

นอกจากผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ข้อหาข่มขืนใจ หรือหากมีการใช้กำลังก็ผิดข้อหาทำร้ายร่างกายอีก

ไม่เพียงแต่กับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิเท่านั้น คุณอาจโดนข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ได้ (มาตรา 43 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ส่วนการฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อเป็นการประท้วงโดยแสดงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ก็ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน อาจจะต้องเตรียมใจรับข้อหา ทำลายบัตรเลือกตั้ง หรือจงใจกระทำการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดเสียหาย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 148  ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยังถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วย

ถ้าหากผู้กระทําความผิดดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้งเองต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

 

 

ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ไม่อยากทำผิดกฎหมาย จะทำอะไรได้บ้าง
ขณะนี้มีการณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้งอย่างสันติวิธีด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (No Vote) และกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน (Vote No)  การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้มีผลอะไรกับการเลือกตั้ง เพราะอย่างไรผู้สมัครที่ได้รับโหวตมากที่สุดก็จะได้รับเลือกตั้งอยู่ดี แต่การกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนจะมีผลกับการเลือกตั้ง ในกรณีที่เขตนั้นๆ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว มาตรา 88 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่า ถ้ามีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเพียงคนเดียว ผู้สมัครคนนั้นต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 

ซึ่งถ้าผู้สมัครได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น หรือมีคะแนนน้อยกว่าบัตรที่ไม่ประสงค์จะลงคะนแน  กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และถ้าเลือกตั้งใหม่อีกครั้งยังได้ผลเช่นเดิม กกต.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีก ในครั้งที่สามนี้ถ้าได้ผลเช่นเดิม ผู้ได้รับคะแนนก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามกฎหมาย

ถ้าถูกขัดขวางจนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งได้ ทำอย่างไร
การถูกขัดขวาง อาจจะถูกขัดขวางได้ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และกกต.ของเขตนั้นๆ เอง ก็ให้รวบรวมหลักฐานเท่าที่ทำได้ เช่น ภาพถ่าย คลิปวีดิโอ แล้วนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ในข้อหาขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา 76 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 และตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ความผิดฐานข่มขืนใจ ตามมาตรา 309 ฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 เป็นต้น และถ้าหากถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง ได้แก่ กกต. เช่น ปิดการลงคะแนนโดยที่ไม่มีเหตุผลสมควร ก็สามารถแจ้งความฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิงจากบทความ “กางกฎหมายไปเลือกตั้ง ถ้าถูกขัดขวางการใช้สิทธิจะทำอย่างไร” เว็บไซต์ประชาไท

เลือกตั้งไปแล้วจะเป็นอย่างไร โมฆะหรือไม่
เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหามากมายตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง หลายจังหวัดไม่สามารถจัดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งได้ อีกทั้งพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็บอยคอตการเลือกตั้ง ทำให้มี 28 เขตจาก 375 เขต ที่ไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง  และอีก 12 เขตที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ก็มีปัญหาให้ต้องคิดกันต่อไปว่า แม้เลือกตั้งไปแล้วก็อาจไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะจำนวนส.ส.ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ  ทําให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถึงห้าร้อยคน  แต่มีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด   ให้ถือว่าสมาชิกจํานวนน้ันประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร  แต่ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบตามจํานวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่าอายุ ของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่แน่ๆ จะยังไม่มีผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 28 คนจาก 28 เขตที่ไม่มีคนลงสมัคร ก็ถือว่าไม่ถึง 95% ของส.ส.ทั้งสภาจำนวน 500 คน ทำให้ไม่อาจเปิดประชุมสภาได้ กลไกต่างๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้

แม้ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าในกรณีเช่นนี้ต้องทำอย่างไร แต่โดยหลักการทั่วไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ได้จำนวนส.ส.ครบขั้นต่ำที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ได้ ขณะที่ กกต.เองก็พยายามจะนำข้ออ้างนี้มาเพื่อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง และนักวิชาการหลายคนก็ให้ความเห็นไปว่า ด้วยเหตุนี้อาจทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะได้

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/3031
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท