Skip to main content
sharethis

สปสช. แถลงผลดำเนินงานกองทุนค่ารักษาพยาบาลให้ขรก.ส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ 1 ต.ค. 56 ลงทะเบียนแล้ว 6.8 แสนราย จาก 7,851 อปท. และ สปสช.ได้รับเงินงวดแรกจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ขรก.ส่วนท้องถิ่นใช้สิทธิทั้งแบบจ่ายตรงและเบิกใบเสร็จ 2.7 แสนครั้ง รวมค่ารักษา 552 ล้านบาท

4 ก.พ. 2557 - เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงแรมริชมอนด์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้มีการจัดประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานของสปสช.ในการทำหน้าที่บริหารกองทุนค่ารักษาพยาบาลอปท. ให้แก่ข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว เพื่อให้เกิดระบบคุ้มครองความมั่นคงด้านสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิอื่นๆ และลดภาระความเสี่ยงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้น มีความเสมอภาคและทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยที่ผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา โดยให้สปสช.ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนนั้น

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงาน พบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 687,626 คน จากอปท.(อบต./เทศบาล/อบจ.) 7,851 แห่ง ในจำนวนนี้มีการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง 297,390 คน คิดเป็นร้อยละ 43.25 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด สปสช.ได้รับเงินโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น งวดแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา มีการใช้บริการไปแล้ว 272,763 ครั้ง เป็นเงิน 552.1 ล้านบาท และสปสช.ได้ทำหน้าที่การจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาล ซึ่งแบ่งเป็น

1.กรณีเบิกจ่ายตรง คือผู้มีสิทธิเมื่อไปรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่าย พบว่ามีสถานพยาบาลส่งข้อมูลเบิกจ่ายตรงเข้ามา 882 แห่ง โดยมีผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ 230,679 ครั้ง จำนวนเงินเรียกเก็บทั้งหมด 462.5 ล้านบาท แบ่งเป็น กรณีผู้ป่วยนอก 216,537 ครั้ง เป็นเงิน 214.7 ล้านบาท และผู้ป่วยใน 14,142 ครั้ง เป็นเงิน 247.8 ล้านบาท

2.กรณีที่ผู้ป่วยสำรองเงินไปก่อน ทั้งหมด 42,084 ใบเสร็จ เป็นเงิน 86.9 ล้านบาท

ขณะที่การให้บริการสายด่วนสปสช. โทร. 1330 นั้น มีผู้มีสิทธิอปท. โทร.เข้ามาสอบถาม 8,085 ราย โดยสอบถามรายละเอียดเรื่อง การลงทะเบียนสิทธิ การตรวจสอบสิทธิ วิธีใช้บริการ สิทธิประโยชน์ และการสำรองจ่ายเงินไปก่อน และมีกรณีให้ช่วยประสานหาเตียงด้วย

“สปสช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่บริการกองทุน ขอชี้แจงว่า ในการใช้บริการนั้น สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด แล้วจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้มีสิทธิ์ทุกท่านไปลงทะเบียนโดยเร็วที่สุดจะสามารถใช้บริการได้สะดวกกว่า” เลขาธิการสปสช.กล่าวและว่า สำหรับในส่วนที่สถานพยาบาลจะเรียกเก็บเงินจากสปสช. นั้น ทางสปสช. ได้พัฒนาการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการเตรียมเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์ โดยข้าราชการท้องถิ่นและครอบครัว หากมีปัญหาหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถโทร.สอบถามได้ที่ สายด่วนสปสช. 1330

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เป็นตัวแทนจาก กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, สมาคมข้าราชการส่วนตำบลและเทศบาล, สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, สมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่น และสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net