Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. การเลือกตั้งครั้งนี้อาจถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนอกจากจะเป็นการเลือกตั้งอันมีฐานที่มาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้วยังเป็นเดิมพันอนาคตของพรรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติการเมืองไทยด้วย

ประเทศไทยกำลังก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เป็นการวัดพลังระหว่าง 2พรรคการเมืองใหญ่ แม้ 2 พรรคการเมืองใหญ่นี้จะเห็นควรที่จะปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายปี แต่ 2 พรรคการเมืองใหญ่นี้มองเห็นแนวทางปฏิรูปแตกต่างกัน

ฝ่ายแรกเห็นว่าประเทศไทยควรปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายเห็นควรเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปการเมือง ด้วยเหตุนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจึงอ้างมวลชนของตนเองเพื่อกดดันการเลือกตั้งครั้งนี้

ปชป.ซึ่งให้การสนับสนุนแนวทางของฝ่ายแรกตัดสินใจไม่ส่งผู้ใดลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มวลชนของตนเองเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลรักษาการที่มีพรรคการเมืองฝ่ายหลังเป็นแกนนำลาออกและตั้งรัฐบาลกลางที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายตนเองเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองแทน ซ้ำร้ายกว่านั้นยังเรียกร้องให้มวลชนของตนเองคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งการพยายามขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.

ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางของฝ่ายแรกที่จะตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้ที่จะปฏิรูปการเมืองพยายามสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.รวมทั้งพยายามรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ให้มากที่สุด

นับเป็นภาระหนักอึ้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งจะต้องคิดเดินหน้าจัดการเลือกตั้งบนความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะหาก กกต.ไม่จัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ก็อาจถูกดำเนินคดีฐาน “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” แต่หาก กกต.จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจถูกฝ่ายแรกฟ้องร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะซึ่งผลที่จะตามมาคือ กกต.ชุดนี้จะต้องถูกดำเนินคดีฐาน “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” เรียกได้ว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่องก็ว่าได้ จึงพยายามหาทางออกด้วยการร้องขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 4 พ.ค.โดยหวังให้ความตึงเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลง รวมทั้งการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมมนูญ

ส่วนการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของ ปชป.ในครั้งนี้ ก็ถือเป็น “เดิมพัน” ครั้งยิ่งใหญ่ของพรรค เพราะแม้ในอดีต ปชป.จะเคยไม่ส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2  ครั้งกฎหมายไม่ได้กำหนดบทลงโทษแต่อย่างใด ต่างจากปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้งต้องถูก “ยุบพรรค”

แน่นอนว่า ปชป.ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ปชป.จะไม่สามารถส่งผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งจะส่งผลให้ ปชป.ไม่ได้ส่งผู้สมัครเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้งและถูกยุบพรรคในที่สุด

หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้งกำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้ามองในมุมกลับก็จะเห็นชัดว่า ปชป.และ กกต. ก็กำลังเดินมาถึง “มุมอับ” เช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้นองค์กรอิสระที่ดูเหมือนจะ “เป็นใจ” ให้กับ ปชป.ก็อาจต้องเลือกเชือดพวกเดียวกันเพื่อรักษา ปชป.ไว้

 

 

หมายเหตุ บทความเดินทางค่อนข้างล่าช้าจากเรือนจำ ทำให้ความเห็นบางส่วนไม่ทันต่อสถาการณ์ แต่ยังคงมีความน่าสนใจจึงนำเผยแพร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net