Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฐาตุเคมีที่พืชต้องการหลักๆ นอกจาก อ๊อกซิเจน (O) ไฮโดรเจน (H) ที่ได้จากอากาศและน้ำแล้ว ยังมีฐาตุหลักที่ต้องการมาก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) หรือที่รู้กันในนาม N:P:K

ปุ๋ยเคมีจึงเป็นสารกลุ่ม N:P:K เป็นหลัก โดยปุ๋ยหัวเชื้อ ปุ๋ยเดี๋ยว หรือแม่ปุ๋ย จะเป็นสารประกอบของ N:P:K โดดๆ แต่ปุ๋ยที่ผสมแล้ว หรือที่เรียกว่าปุ๋ยคอมปาวด์ จะมีสัดส่วนผสมระหว่าง N:P:K แตกต่างกันไป

ปุ๋ยหัวเชื้อ ปุ๋ยเดี๋ยว หรือแม่ปุ๋ย ที่เป็นสารประกอบบริสุทธิ์ และสามารถซื้อขายได้ทั่วไป นอกจากใช้ทำปุ๋ยได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำระเบิดแรงดันสูง เช่น ในสารกลุ่ม ไนโตรเจน (N) ที่คุ้นเคยหลักๆ ก็ ยูเรีย (urea) และกลุ่ม แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate)

ปุ๋ย แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) และกลุ่มไนเตรตทั้งหลายเช่น แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรต (calcium ammonium nitrate) เป็นปุ๋ยหัวเชื้อราคาถูกมีลักษณะเป็นผงสีขาวเหมือนน้ำตาลทราย จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุระเบิด ใช้ทำระเบิดแรงดันสูง นิยมใช้มากในการก่อการร้ายทั่วโลก และเป็นที่นิยมในการใช้ทำระเบิดแสวงเครื่อง

ยูเรียไม่จัดเป็นวัตถุระเบิดโดยตรง แต่ต้องดัดแปลงให้เป็นยูเรียไนเตรต (urea nitrate) ก่อนจึงจัดเป็นวัตถุระเบิด แต่อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยกลุ่มนี้ เจ้าแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) หาง่ายที่สุด และใช้เป็นวัตถุระเบิดได้โดยตรง

วัตถุระเบิดจะมีสองกลุ่มหลักคือ วัตถุระเบิดแรงดันต่ำ คือวัตถุที่ทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างรุนแรง (Deflagration) ในอัตราการลุกไหม้ 400 MPS กลุ่มสองคือวัตถุระเบิดแรงดันสูง คือวัตถุระเบิดนั้นต้องมีการปะทุ (Detonation) มีอัตตราการปะทุเร็วกว่าเสียง (1,000-8,500 MPS) ตัวอย่างสารวัตุระเบิดในกลุ่มแรงดันสูงที่รู้จักกันดีคือ TNT หรือ สารไตรไนโตรโทลูอีน (trinitrotoluene) และ ปุ๋ย แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ก็มีประสิทธิภาพในการระเบิดพอๆกัน แต่หาง่ายและราคาถูกกว่า

กลไกการระเบิดจะเกิดจากปฏิกิริยาลูกโซ่ในสารวัตถุระเบิดนั้นๆจนถึงจุดหนึ่งจะเกิดการลุกไหม้แผ่ขยายอยากรวดเร็ว และหากภาชนะมีแรงอัด ก็จะเกิดการระเบิดออกมาในที่สุด

มีการถกเถียงกัน จากกรณีที่ เกิดเหตุกระเป๋าผู้โดยสารเกิดไฟลุกไหม้ที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 06.35 น. วันที่ 28 ม.ค. 57 ขณะที่ ผู้โดยสาร กำลังเช็กอินกระเป๋าใบเกิดเหตุ เพื่อเดินทางไปกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ PG 931 กรุงเทพฯ-พนมเปญ และเจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่เป็นตัวอย่างปุ๋ยที่อาจทำปฏิกิริยาเคมีจนเกิดไฟลุกไหม้เท่านั้น

ในทางเคมีอธิบายได้ว่า หัวเชื้อปุ๋ย ดังกล่าวต้องเป็นแม่ปุ๋ย กลุ่ม N:P:K ตัวใดตัวหนึ่ง หากเป็นไนโตรเจน (N) ก็ต้องเป็นกลุ่ม แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) หากเป็นฟอสฟอรัส (P) ก็ต้องเป็นกลุ่มฟอสเฟส (phosphate) หากเป็นโพรแทสเซียม (K) ก็อาจเป็น โพแทสเซียมเปอร์คลอเรต (potassium perchlorate) ซึ่ง โพแทสเซียมเปอร์คลอเรตนี้เป็นสารหลักใช้ทำดอกไม้ไฟและยัง ใช้เป็นปุ๋ยเร่งผลลำไย และเคยเกิดโศกนาฏกรรมโรงงานผลิตปุ๋ยชนิดนี้ เกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่ภาคเหนือมาแล้ว

การเกิดเพลิงไหม้ที่สายพานลำเรียงกระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่กระเป๋าบรรจุหัวเชื้อปุ๋ยจะถูกโหลดเข้าไปใต้เครื่องบิน ถือว่าโชคดีอย่างมาก และสามารถอธิบายปรากฏการที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

สารกลุ่มนี้ เช่น แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ตามคู่มือสารเคมี ต้องเก็บในที่เย็นและไม่แออัด การขนส่งทางเรือหรือทางอากาศ ต้องจัดเก็บตามคู่มือสารเคมีอย่างรอบครอบ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีการบรรจุอัดเข้าใปในกระเป๋าเดินทางที่เป็นกระเป๋าผ้า และสารกลุ่มนี้หากมีความร้อนเหมาะสม จะเกิดปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่นกับตัวมันเองได้ (Self Oxidation) โดยไม่ต้องอาศัยอ๊อกซิเจนภายนอก เพราะในสูตรโครงสร้างทางเคมีของมัน มีอ๊อกซิเจนอยู่แล้วถึง 3 อะตอม (NH4NO3) และปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นเป็นการเกิดแบบลูกโซ่ (chain reaction) ความร้อนจะสะสมมากขึ้น มากขึ้น จนถึงจุดวาบไฟที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็ว ที่ลุกไหม้ได้เลยเพราะสารกลุ่มนี้มีอ๊อกซิเจนเป็นองค์ประกอบในตัว

คำถามสำหรับเหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ คงไม่ใช่เกี่ยวกับว่า ปุ๋ย อยู่ดีๆมันเกิดไฟไหม้ได้อย่างไรเท่านั้น แต่คงมีคำถามว่า ระบบคัดกรองกระเป๋า ปล่อยให้มีการนำสารเคมีซึ่งจัดเป็นวัตถุระเบิดเข้าไปโหลดใต้เครื่องบินได้อย่างไร และที่สำคัญ ผู้โดยสารท่านนั้น มีความรับผิดชอบอย่างไร หรือรู้เท่าไม่ถึงการ ที่นำสารกลุ่มนี้โหลดใต้เครื่อง

และถึงเวลาหรือยัง ที่จะทบทวนระบบคัดกรอง เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมทางอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net