Skip to main content
sharethis

สำรวจความเห็นพบคนอีสาน 60% สงวนท่าทีมากขึ้น ในการสนับสนุนพรรคการเมือง ส่วน 40.2% ยังไม่แน่ใจว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์มีความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ และ 91% ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิวัติโดยทหาร

8 ก.พ. 2557 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าอีสานโพลล์ (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 คนอีสานคิดอย่างไร" โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน สงวนท่าทีมากขึ้นในการสนับสนุนพรรคการเมือง และไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาชอบธรรมหรือไม่หากดูที่จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ นอกจากนี้ ครึ่งต่อครึ่งเห็นว่าอาจไม่สามารถเปิดสภาและจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติโดยทหารและแนวทางของ กปปส. โดยมี 3 แนวทางที่คนอีสานเกินครึ่งรับได้ คือ 1) เลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ แล้วค่อยปฏิรูปประเทศ 2) ล้างไพ่เลือกตั้งใหม่ ทุกพรรคลงแข่งขันพร้อมลงสัตยาบันปฏิรูปประเทศ 3) มีการเจรจา แล้วเลือกนายกฯคนกลางโดยวุฒิสภาและมีสภาปฏิรูปจากทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพื่อปฏิรูปประเทศและจัดเลือกตั้งใหม่

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งและทางออกบ้านเมืองหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,058 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ว่าการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ 20 ล้านคน จาก 43 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 46% มีความหมายว่าอย่างไร กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานอันดับหนึ่งร้อยละ 40.2 ยังไม่แน่ใจว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์มีความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ รองลงมาร้อยละ 34.3 เข้าใจว่ามีจำนวนเสียงชอบธรรมแล้ว และที่เหลือร้อยละ 25.5 เข้าใจว่าจำนวนเสียงยังไม่ชอบธรรม อีสานโพลจึงสอบถามต่อว่า จะมีการเปิดสภาและจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 50.9 เห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะการเลือกตั้งอาจโมฆะหรือมีอุบัติเหตุทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 33.3 เห็นว่าทำได้ แต่ใช้เวลามากกว่า 3 เดือน และอีกร้อยละ 15.9 เห็นว่าทำได้ภายใน 3 เดือน เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองจะแก้ได้อย่างไรบ้าง กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ร้อยละ 91.0 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิวัติโดยทหาร และร้อยละ 87.3 ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กปปส. ที่มีนายสุเทพเป็นแกนนำ

สำหรับแนวทางที่เห็นด้วย กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 55.0 เห็นด้วยกับการจัดให้มีการเจรจา แล้วเลือกนายกฯคนกลางโดยวุฒิสภา และมีสภาปฏิรูปจากทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการจัดเลือกตั้งใหม่ร้อยละ 53.9 เห็นด้วยกับการล้างไพ่เลือกตั้งใหม่ทุกพรรคลงแข่งขันและลงสัตยาบันปฏิรูปประเทศหลังการเลือกตั้ง และร้อยละ 50.9 เห็นด้วยกับการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีปัญหาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และปฏิรูปประเทศหลังการเลือกตั้ง เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยทุกพรรคลงแข่ง คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44.8 ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจ รองลงมาร้อยละ 40.1 จะเลือกพรรคการเมืองต่างๆ (ไม่สามารถให้รายละเอียดคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองได้เนื่องจากปัญหาทางด้านกฎหมายเลือกตั้ง) และร้อยละ 15.1 ไม่เลือกพรรคใด (โหวตโน) จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจและตอบว่าไม่เลือกพรรคใดรวมกันคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 นั่นแสดงให้เห็นว่าคนอีสานสงวนท่าทีทางการเมืองมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net