Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


บทนำ
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. กับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 57 ทำให้ชวนคิดและนึกถึงนักปรัชญาการเมืองและกฎหมายชาวอิตาเลียนที่ชื่อว่า ‘อากัมเบน’ (Giorgio Agamben) เจ้าของงาน ‘The Spatiality of the Camp’ อันมี 2 แนวคิดที่พอจะคุ้นหูคนไทยเรา อย่างแรกคือพื้นที่พิเศษภายใต้สภาวการณ์ ‘ยกเว้น’ (state of exception) และ ‘โฮโมซาเซอร์’ (Homo Sacer) กับมุมมองการเมืองไทย  

การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ตั้งแต่ปลายปีของวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้วนานกว่า 3 เดือน ได้เปลี่ยนพื้นที่อย่างกรุงเทพในฐานะเมืองหลวงของประเทศให้กลายมาเป็นเสมือน ‘ค่าย’ อันเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการผ่องถ่ายหรือเชื่อมต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นกลาง-สูง โดยทั่วไป ‘ค่าย’ จัดเป็นพื้นที่พิเศษเพราะเข้าไปอยู่ทับซ้อนกับรัฐโลกที่ 3 ในขณะที่รัฐโลกที่ 3 มักมีการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเผด็จการอำนาจนิยมหรือผสมโรงกันไป แต่ ‘ค่าย’ ที่เกิดทับซ้อนในพื้นที่รัฐโลกที่ 3 เหล่านั้น ‘ค่าย’ จึงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อส่งผ่านของอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของโลกตะวันตก เช่น ค่ายผู้อพยพลี้ภัยมักอบอวลไปด้วยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นพื้นที่ภายใน ‘ค่าย’ กับพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่แตกต่างกัน กล่าวอย่างถึงที่สุด ‘ค่าย’ เป็นพื้นที่เพื่อการสวมทับเข้าไปของชุดอุดมการณ์ทางการเมืองนั่นเอง จุดนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากการที่ กปปส. ยึดพื้นที่กรุงเทพพร้อมไปกับประกาศอุดมการการเมืองแบบ กปปส. ยกเลิกรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีมาตรการตัดน้ำตัดไฟ ไม่มีการเลือกตั้ง ยกระดับการชุมนุมไปสู้การปิดกรุงเทพหรือ ‘กรุงเทพชัทดาว’ กลายเป็นจุดเริ่มต้น พื้นที่ภายใต้สภาวการณ์ ‘ยกเว้น’ หรือการหวนกลับมาของ ‘ค่าย’ ที่เข้ามาแทนพื้นที่เมือง

ค่าย กปปส. กับกลุ่มเสื้อสี 
ก่อนอื่นเราอาจต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับคำว่า ‘ค่าย’ ที่เข้ามาแทนพื้นที่เมือง เพราะ ‘ค่าย’ ในความหมายนี้แตกต่างไปจาก ‘ค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง’ ที่เราคุ้นชิน จริงอยู่สำนักเสื้อสีต่างๆ มีความเป็นค่ายอุดมการณ์การเมือง มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการชุมนุม มีสัญลักษณ์กลุ่มก้อน และมีจิตสำนึกร่วมของความเป็นเสื้อสี แต่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่รัฐเดิม กติกาประชาธิปไตยเดิม และมีความเป็นพลเมืองเดิม แต่การเกิดขึ้นของ กปปส. มีคำถามที่ตามมาหลายเรื่อง เช่น การสถาปนาตนเองเสมือน ‘องค์อธิปัตย์ใหม่’ หรือใครกุมอำนาจรัฐ ประเด็นนี้ไม่น่าสนใจเท่ากับการเกิดขึ้นของ กปปส. อันมีผลในทางปฏิบัติจนนำไปสู่การสร้างและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ในสองประเด็น

 ประเด็นแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ชีวิตกับกฎหมาย’ เรื่องที่สองคือความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์กับการเมือง’  สิ่งที่กลุ่มเสื้อสีไม่เคยทำเหมือน กปปส. คือ ประเด็นแรกอยู่ที่การสร้างพื้นที่สภาวการณ์ ‘ยกเว้น’ พูดอีกแบบคืออำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ใครสร้าง ใครกำหนด หรือได้มาอย่างไร แต่อยู่ที่การระงับการใช้กฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบปฏิบัติพื้นฐานสังคม ประเด็นที่สองที่ส่งผลมาจากประเด็นแรก คือ อำนาจอธิปไตยขั้นพื้นฐานอยู่ที่ใช้อำนาจไปทำให้คนมีชีวิตถูก ‘เปลือยเปล่า’ เพราะเมื่อความเป็นจริงของชีวิตของผู้คนบางกลุ่มคน เช่น คนชนบท ไม่ได้ถูกนับรวมเข้ากับความเป็นพลเมืองเดิมที่กลุ่มกปปส. อ้างผ่านมวลมหาประชาชน จึงมีการปฏิเสธความเป็นพลเมืองของคนเกิดขึ้น ดังนี้ ‘ค่าย’ จึงเข้ามาแทนพื้นที่เมือง และค่ายกับเมืองไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน 

ค่าย เมือง กับ คน
ค่าย เมืองกับคนเป็นทั้งความสัมพันธ์ทางสังคมและรูปแบบการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ความพิเศษของ ‘ค่าย’ อยู่ที่พื้นที่ของการทับซ้อน อย่างแรกมันทับซ้อนตัวมันเองระหว่างการเป็นพื้นที่ ‘ความหวัง’ เสรีประชาธิปไตย แต่อย่างที่สอง ‘ค่าย’ เป็นพื้นที่ ‘ความจริง’ ที่เผยตัวมันเองถึงความโหดร้ายและความรุนแรง เช่น คนในค่ายคือคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ โดนลดทอนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคน มีเสียงก็เหมือนไม่มี

อากัมเบนให้ความสนใจในประเด็นอย่างที่สองเรื่องความโหดร้ายและความรุนแรง ลองคิดเล่นเรื่องค่ายของ กปปส. กลับมีลักษณะกลับตาลปัตร คนในค่ายมีเสียงดังในขณะที่คนนอกค่ายมี ‘เสียงที่ไม่ได้ยิน’  เสียงที่ดังกว่าเกิดจากการอ้างความเป็นตัวแทนของความเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ การปราบคอร์รัปชั่น และขจัดระบอบฯ ที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย การพูดให้เสียงดัง เรื่อง ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ เป็นเรื่องที่รับรู้ เข้าใจและต่อติดได้ง่ายสำหรับคนชั้นกลาง-สูงที่อยู่ในค่าย เพราะคนเหล่านั้นคือเป็นผลพวงของการพัฒนารัฐไทยในช่วงห้าถึงหกสิบปีที่ผ่านมา รัฐไทยสร้างชุดทางความคิดผ่านไปยังกลุ่มคนชั้นกลาง-สูงเหล่านั้นผ่านสถาบันหลักในสังคมและมีความเข้มข้นสูงในส่วนกลาง แม้ว่ากรุงเทพก็ไม่ได้มีความหมายแทนประเทศไทยทั้งประเทศก็ตาม  ดังนั้น เมื่ออุดมการณ์ค่ายกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าตัวมันเองจึงสามารถแทรกตัวเข้าไปแทนที่ในหลายพื้นที่ กรณีอย่างหลังนี้ ‘ค่าย’ ทับซ้อนเมือง เส้นแบ่งระหว่างค่ายกับเมืองก็มีเพียงเส้นบางๆ แต่คงสรุปไม่ได้ว่า ‘อุดมการณ์’ เพื่อชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียวที่ขับเคลื่อน กปปส. อย่างที่คนเข้าใจไปตามสื่อ

หันมาพิจารณา ‘ค่าย’ ก็มีวิธีคิดและวิธีทำของตัวมันเอง เราอาจต้องไล่ดูเป็นเรื่องๆ ไป อย่างแรกคือ ‘องค์อธิปัตย์’ หรือผู้คุมชีวิตความสัมพันธ์ทางการเมือง หากกล่าวในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด สมมติ กปปส. สถาปนาตนเองสำเร็จเป็น ‘องค์อธิปัตย์’ ใหม่ องค์อธิปัตย์ใหม่นี้มีลักษณะพิเศษและไม่เหมือนองค์อธิปัตย์เดิม เนื่องจากค์อธิปัตย์ใหม่นี้มีอำนาจทั้งภายนอกและภายในกฎหมาย อากัมเบนพูดชัดถึงหัวใจของอำนาจนี้อยู่ที่ ‘การแบ่งแยกโดยการนับรวมเข้า’ หรือ ‘การกันออกไปโดยรวมเข้ามา’ (inclusive exclusion) ของตัวอย่างเอง เช่น กลุ่มคน หน่วยงาน หรือราชการ ไม่ได้ถูกกันออกไปอย่างจากค่ายอย่างสิ้นเชิงแต่ยังถูกนับรวม แต่กระนั้นก็มีสิทธิโดนปฏิเสธ ละทิ้ง และพรากสิทธิบางอย่างไปได้

องค์อธิปัตย์ใหม่นี้จงใจใช้อำนาจอธิปไตยด้วยวิธีรุนแรงโดยการยัดเยียดอำนาจผ่านไปทางร่างกายคน กฎหมาย ตลอดจนชีวิตทางการเมืองของผู้คน แต่ก็ไม่มีใครหรือองค์กรใดตกออกไปนอกพื้นที่อำนาจขององค์อธิปัตย์ใหม่ เพราะองค์อธิปัตย์นี้ได้จัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ‘ชีวิตและกฎหมาย’ ภายใต้กระบวนการเช่นที่ว่านี้ อำนาจอธิปไตยเดิมได้ถูกระงับไว้ภายใต้สภาวการณ์ ‘ยกเว้น’ ดังนั้น อย่างที่สองกฎเกณฑ์เรื่องความ ‘ยกเว้น’ ได้เข้ามาแทนที่กฎหมายเดิม   กล่าวอีกในหนึ่งองค์อธิปัตย์ใหม่สถาปนา ‘ค่าย’ ด้วยสภาวการณ์ยกเว้นซึ่งได้กลายเป็นกฎเกณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ในทางปฏิบัติองค์อธิปัตย์นี้ใช้สภาวการณ์ ‘ยกเว้น’ ขับเคลื่อนตัวมันเอง โดยมีวิธีการและเป้าหมายอยู่ที่กฎหมายได้ถูกทำให้ ‘เงียบ’ จึงเห็นได้ว่าไม่มีกลุ่มการเมืองใดที่สามารถสร้างความ ‘ยกเว้น’ ได้เท่ากับ กปปส.  หากจะหาตัวอย่างพิจารณาดู เช่น กกต. ก็มีมติให้ทบทวนการเลือกตั้งทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุให้มีการเลือกตั้งหกสิบวันหลังยุบสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกคำสั่งให้เลื่อนการจัดการเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองไม่ลงรับเลือกตั้ง ก็เลยอยากจะยกคำกล่าวของอากัมเบนเองที่เขาได้นำมาใช้เป็นบทเริ่มต้นงานเขียนบทหนึ่งในหลายบท ‘สักวันหนึ่งมวลมนุษยชาติจะเล่นกับกฎหมายราวกับเป็นของเล่น’

หันมามอง ‘เมือง’ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่และเป็นผลในทางปฏิบัติ รวมถึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์กับการเมือง’ อันที่จริงชีวิตย่อมต้องมีความเป็นปกติสุขพร้อมไปกับรูปแบบของชีวิตที่เหมาะสมกับเมืองและระบบการเมือง แต่พลเมืองมีสิทธิถูกกระทำให้มีสภาพ ‘ยกเว้น’ โดยแยกรูปแบบชีวิตปกติสุขออกไปจากเมืองและระบบการเมือง จนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการเมืองแปรเปลี่ยนสภาพเป็น ‘ความรุนแรง’ และชีวิตในที่สุดแล้วเหมือนมีสภาพ ‘ถูกเปลือยเปล่า’ (the naked life) กล่าวอย่างถึงที่สุดอำนาจอธิปัตย์ได้กระทำความรุนแรงต่อร่างกายมนุษย์โดยการยกเลิกความเป็นปกติสุขของพลเมืองออกไปจากเมือง จนเกิดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของชีวิตที่ต่างไปจากพลเมืองคนอื่นๆ รูปแบบชีวิตอันถูกเปลือยเปล่านี้คือ ‘โฮโมซาเซอร์’ (Homo Sacer) แต่ ‘โฮโมซาเซอร์’ ยังคงความเป็นพลเมืองเฉพาะแบบที่แม้มีชีวิตอันถูก ‘เปลือยเปล่า’ แต่ก็ต้องมีการดำรงชีวิตในทางการเมืองอยู่ดี

‘โฮโมซาเซอร์’ หรือ ‘ชีวิตที่ถูกเปลือยเปล่า’ ในกฎหมายโรมันกล่าวว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ถูกฆ่าให้ตายโดยใครก็ได้โดยที่คนลงมือฆ่าไม่ผิด แต่ก็ไม่สามารถนำบุคคลต้องห้ามนี้ไปใช้ทางศาสนาเพื่อการสังเวยบวงสรวง อากัมเบนแบ่งแนวคิดระหว่าง 'ความศักดิ์สิทธ์' (sacred) จากการ 'เซ่นสังเวย' (sacrifice) ‘โฮโมซาเซอร์’ จึงมีฐานะ ‘ซ้ำซ้อน’ แห่งความยกเว้น (double exclusion) คือ โดนยกเว้นทางกฎหมายเพราะสามารถูกฆ่าให้ตายโดยใครก็ได้ แต่บุคคลคนนี้ต้องไม่ใช้เพื่อการสังเวยบวงสรวงเพราะถือว่าอยู่นอกศาสนา ดังนี้จึงกลายเป็นรูปแบบชีวิตทางการเมืองไปอีกแบบ ‘โฮโมซาเซอร์’ เป็นชีวิตในทางกฎหมายโรมัน (จนถึงยุคกลาง) และเป็นประวัติศาสตร์มนุษยชาติแห่งความขมขื่นและทนทุกข์ ‘โฮโมซาเซอร์’ หรือ ‘ชีวิตที่ถูกเปลือยเปล่า’ ปัจจุบันมักประยุกต์กับคนในค่ายกักกัน คนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ พลัดถิ่น เพราะขาดอำนาจต่อรองชีวิต โดนลดทอนความเป็นมนุษย์ รวมถึงพรากสิทธิและเสรีภาพ 

หันมามองดูการเมืองปัจจุบัน การที่กลุ่มคนหรือคณะใดพรากสิทธิการเลือกตั้งไปจากคนยากคนจน ทั้งที่การเลือกตั้งคือสิทธิการเมืองขั้นพื้นฐานจึงเสมือนเป็นการ ‘เปลือยเปล่า’ บุคคลเหล่านั้น เพราะคนเหล่านั้นโดนยกเว้นสิทธิการเลือกตั้งและโดนลดทอนความเป็นมนุษย์ในทางการเมืองเพราะโดน ‘ยกเว้น’ ไปจากประชากรเมืองของคนอีกกลุ่ม แต่ก็ต้องมีชีวิตทนทุกข์ต่อค่ายการเมือง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net