ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ความเป็นมาของสิทธิและสิทธิมนุษยชนกับระบบประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กล่าวได้ว่ามโนทัศน์สิทธิมีมาแต่ดั้งเดิมในรัฐและอาณาจักรการเมืองการปกครองสมัยก่อน ซึ่งจะขอเรียกว่าสิทธิรุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นแรก ลักษณะสำคัญคือการสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจปกครองของผู้นำตามประเพณี ที่ได้รับความชอบธรรมจากอำนาจเหนือสังคม อีกประการคือเป็นการคลี่คลายความขัดแย้งเฉพาะหน้าระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง ที่สำคัญคือกลุ่มขุนนางและพระ มากกว่าชนชั้นล่างเช่นชาวนาไพร่ทาส จะเรียกว่าสิทธิรุ่นแรกเป็นการต่อรองและตกลงกันระหว่างกลุ่มนำและที่พอมีฐานะทางการเมืองและทางเศรษฐกิจกันเองก็ได้

มองจากทางปรัชญาหรืออุดมการณ์ของรัฐ ด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของสิทธิ เป็นการพัฒนาของสังคมที่สามารถทำให้อำนาจปกครองจากเบื้องบนมีความชอบธรรมทางจริยธรรมหรือศีลธรรม เช่นคติบุญบารมีในระบบกษัตริย์ อีกด้านหนึ่งคือการที่ทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองต่างเริ่มรู้จักตัวเองที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น และจะจัดการความสัมพันธ์นั้นกับจุดหมายของสังคมอย่างไรจึงจะพัฒนาไปได้ด้วยดี เช่นการสร้างคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม และไตรภูมิกถา ในยุโรปยุคฟิวดัลสิทธิรุ่นแรกนี้ได้แก่อำนาจคุ้มกันและอภิสิทธิ์ กลุ่มคนที่เรียกร้องสิทธิดังกล่าวต่อกษัตริย์คือบรรดาขุนนาง ไม่ใช่ชาวนา อำนาจคุ้มกันหมายถึงเสรีภาพที่ขุนนางและพระมีจากการจำกัดอำนาจในการจัดการกิจการของพระราชา อภิสิทธิ์หมายถึงอำนาจของขุนนางที่จะกระทำการในสิ่งที่พวกเขาพอใจได้ในอาณาเขตของพวกเขา ในทางปฏิบัติหมายถึงการที่ขุนนางมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจเขา ถึงขั้นว่ามี “อิสรภาพในการแขวนคอผู้อื่น” (liberty of gallows) ได้ในเขตปกครองของเขา

ประเด็นที่สองคือว่าด้วยมโนทัศน์สิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเรียกว่าสิทธิรุ่นที่สองหรือรุ่นหลัง ความหมายและลักษณะสำคัญคือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ราษฎรจำนวนมากที่ถูกปกครอง มากกว่าให้ความชอบธรรมแก่อำนาจรัฐและกลุ่มนำจำนวนน้อยอีกต่อไป การเรียกร้องและสร้างความหมายให้กับสิทธิรุ่นที่สองนี้ ไม่เพียงแต่เปิดช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้แก่ประชาชนมากขึ้น แต่ที่สำคัญในระยะยาวคือการยกระดับและพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองและคุณสมบัติอันเป็นของราษฎรเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของสมาชิกสังคมส่วนใหญ่ ปัจจุบันนี้แสดงออกในอุดมการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิต่างๆทั่วโลก

การเคลื่อนไหวเฉพาะหน้าคือการเรียกร้องต้องการในการเข้าถึงสิทธิพลเมือง สิทธิเศรษฐกิจและสิทธิทางวัฒนธรรม ในระยะยาวคือการพัฒนาให้ประชาชนเป็นประธานหรือเป็นนายของตัวเอง ด้วยการยกระดับความรู้ขจัดอวิชชา โดยผ่านประสบการณ์ของตนเอง ในที่สุดคือการรู้จักตัวเองและรู้จักผู้อื่นอย่างทัดเทียมและเสมอหน้ากัน

ทำไมบางสังคมถึงไม่ยอมรับสิทธิในความเท่าเทียมกันของคน
ในสังคมสยามไทย คำสอนทางพุทธศาสนาอธิบายว่าหลักการรองรับการให้สิ่งที่อนุโลมเรียกว่าสิทธิและหน้าที่ระหว่างคนฐานะต่างๆ(สังเกตว่ายังไม่ใช่คนที่เป็นนามธรรมที่เป็นสิ่งสากลทั่วไป) ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและมีสำนึกใน 1) การไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน 2) เคารพซึ่งกันและกัน 3) เกื้อกูลซึ่งกันและกัน 4) ผูกน้ำใจซึ่งกันและกันอย่างละเอียดอ่อน

สิทธิที่ไม่เป็นของคนทั่วไป
จากสังคมที่อำนาจปกครองจำกัดอยู่กับผู้มีบุญบารมีแต่คนเดียวและคณะเดียวมายาวนาน ภูมิปัญญาไทยจึงเน้นหนักไปที่ความไม่เท่าเทียมกันของคน กล่าวคือทุกคนมีได้เกิดมาแล้วเท่าเทียมกัน เช่นนั้นการมีสิทธิอะไรก็ตามต่อมาก็ย่อมมีอย่างไม่เท่าเทียมกัน ในสังคมศักดินาหรือก่อนสมัยใหม่ทั้งหลาย สิทธิจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นของคนทุกคน ในสังคมศักดินาหรือฟิวดัล เนื้อหาของสิทธิแสดงออก ในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคน(เจ้านายและมูลนายกับไพร่ทาส) ฝ่ายแรกมีอภิสิทธิ์และอำนาจเหนือคนและทรัพยากร จึงอยู่ในฐานะที่ให้การคุ้มครอง ให้สิทธิในการทำมาหากินและให้ความยุติธรรมตามการตีความของผู้เป็นเจ้า

ในขณะที่ฝ่ายหลังมีแรงงานและพลังในการผลิตตอบสนองให้แก่รัฐตามต้องการ เนื้อหาของสิทธิในความสัมพันธ์แบบศักดินาจึงแสดงออกที่ความรู้สึกกตัญญูกตเวทีที่คนส่วนมากมีต่อคนส่วนน้อย มากกว่าการให้ความสำคัญและการตระหนักยอมรับถึงฐานะและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันบนเงื่อนไขที่เป็นสิ่งทั่วไปที่คนมีตามธรรมชาติได้

หลังจากการก่อตัวขึ้นของสังคมมวลชนที่มีระบบทุนนิยมเสรีและอุดมการณ์ชนชั้นกระฎุมพีกำกับ ประชาชนผู้ถูกปกครองและใช้แรงงานในระบบการผลิตทั้งหลายถึงสามารถอ้างและเรียกร้องสิทธิที่เป็นของปัจเจกชนตามธรรมชาติได้ ในบริบททางสังคมและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนี้เอง ที่ความคิดเรื่องสิทธิของมนุษย์ได้ยกระดับขึ้นเป็นจุดหมายหนึ่งของชุมชนที่เป็นสังคมการเมือง

การที่สิทธิจะกลายเป็นจุดหมายของสังคมได้ ขึ้นอยู่กับว่าความรับรู้ร่วมกันของคนในสังคมชุมชนนั้น ในเรื่องสำคัญเช่นจุดหมายสังคมที่ร่วมกัน ความต้องการที่ร่วมกัน ผลประโยชน์ที่ร่วมกันและรวมถึงความรู้สึกที่ร่วมกันในระดับหนึ่งด้วย ว่าการที่สร้างและรักษาอะไรที่ร่วมกัน ในชุมชนนี้เอาไว้ได้นั้นจะต้องอาศัยการดำรงอยู่ของสิทธิอะไรบ้างที่จำเป็น เช่นถ้าจะรักษาสถาบันอะไรไว้ ก็จำต้องจำกัดสิทธิในการแสดงออกในบางเรื่องไว้เป็นต้น ดังนั้นการเกิดขึ้นของสิทธิและการอ้างถึงสิ่งที่คนต้องการจากสังคมนั้นอย่างชอบธรรม จึงมักเกิดจากปฏิสัมพันธ์และการต่อสู้ระหว่างฝ่ายให้สิทธิกับฝ่ายนิยามสิทธิ ในระยะยาวการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงต้องเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและทางชนชั้นไป เมื่อเสรีชนค้นพบและยึดกุมในความคิดอุดมการณ์แห่งสิทธิได้ว่ามันเป็นอาวุธทางความคิดและในการจัดตั้งของพวกเขาขึ้นมาได้ เช่นการจุดเทียนเขียนสันติภาพและการเรียกร้องสิทธิในการคงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นต้น

ที่ผ่านมา อำนาจรัฐและชนชั้นปกครองได้ทำให้เรื่องของสิทธิเป็นปัญหาทางจริยธรรม(ศีลธรรม) สิทธิทางจริยธรรม (moral rights) เกิดมาจากการผสานร่วมกันระหว่างผลประโยชน์ทั้งหลายกับปัญญา เติบใหญ่และเข้มแข็งด้วยผลประโยชน์ที่แบ่งปันกันได้ในระหว่างสมาชิกของชุมชนคนชั้นนำ ในสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก ที่ไม่มีสถาบันและอุดมการณ์เสรีนิยมกำกับการใช้อำนาจการเมือง ศีลธรรมกลายเป็นเชื้อโรคของคนชั้นล่างและคนที่ไม่มีฐานะ ยิ่งมีแต่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอแต่มีโอกาสและอำนาจนอกระบบจำนวนหนึ่ง โครงสร้างแห่งรัฐจึงเป็นแบบลูกผสม ระหว่างอำนาจเชิงศักดินากับเศรษฐกิจทุนนิยม ผลคืออุดมการณ์สมัยใหม่ของพลเมืองจริงๆไม่ค่อยมีอำนาจ ดังเห็นได้จากอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยและความเป็นสมัยใหม่ (anti-modernity) มักมีคนร่วมด้วยช่วยกันอยู่เนืองๆ แล้วโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยข้ออ้างเรื่องการได้ประโยชน์ทางวัตถุของระบบทุนนิยม(ทาสเงินหรือคอร์รัปชั่น) ฝ่ายต่อต้านมักอ้างไปที่ระบบทุนนิยมเสรีแบบยุโรปอเมริกาซึ่งทำกันได้ แต่พวกนั้นไม่อธิบายว่าที่ตะวันตกคุมคนโกงได้นั้น เนื่องจากว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในปลายยุคฟิวดัลช่วยเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติระบอบศักดินาเก่าจนทำให้กลายเป็นรัฐนายทุนไปโดยโครงสร้างและอุดมการณ์ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจึงดำเนินไปได้ตามปกติและตรรกของเหตุผล

สิทธิทั่วไปกับระบบประชาธิปไตย
กล่าวโดยสรุป กำเนิดและพัฒนาการสิทธิของมนุษย์ ทั้งในตะวันตกและในสังคมสยาม ทั้งจากของผู้ปกครองและของชาวบ้านผู้ถูกปกครอง ประเด็นหลักๆได้แก่การที่แนวคิดสิทธินี้ค่อยๆพัฒนาจากความคิดที่มีลักษณะเฉพาะ(ของคนชั้นนำกลุ่มน้อย) ไปสู่แนวคิดที่มีลักษณะสากลและทั่วไปมากขึ้น(ของคนธรรมดาส่วนมาก) จากสิทธิที่เป็นของชุมชนและกำกับโดย"ผี"และต่อมาพราหมณ์ มาสู่สิทธิที่เป็นของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกชน โดยมีทุนและอำนาจรัฐทางโลก(secular state)เป็นผู้กำกับและส่งเสริม

ปมเงื่อนของปัญหาในยุคปัจจุบันของเรา ก็คือการที่จะทำให้สิทธิรุ่นสองนี้พัฒนาต่อไปในทุกปริมณฑลของสังคมและรัฐ ทำให้เป็นของประชาชนทุกคนในประเทศไม่ว่าจะมีฐานะสีผิวและเชื้อชาติอะไรก็ตาม จะต้องได้รับและสามารถใช้สิทธิของความเป็นมนุษย์ได้อย่างเสมอภาคกัน นั่นคือการบรรลุจุดหมายใหญ่อันเป็นหัวใจของสิทธิ ได้แก่การดำรงและพัฒนาชีวิตของมนุษย์อย่างสมภาคภูมิและมีศักดิ์ศรี ซึ่งมนุษย์แต่อดีตมาถึงปัจจุบันต่างต้องการและพยายามไขว่คว้าให้ได้

นั่นคือเหตุผลที่ทำไมการต่อสู้ทางการเมืองในระยะสองศตวรรษมานี้ ถูกเรียกอย่างกว้างๆว่าการต่อสู้ของระบบประชาธิปไตย เพราะสามัญชนคนส่วนใหญ่ที่มากขึ้นเรื่อย ต่างพากันลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิแห่งความเป็นมนุษยชนของพวกเขากันเองแล้ว ไม่ต้องรอให้ตัวแทนมาทำให้อีกแล้ว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท