Skip to main content
sharethis

 

เว็บไซต์ASTV-ผู้จัดการ รายงานว่า นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ในวันนี้ กกต.ทั้ง 5 คนได้ลงนามในหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี ให้นายกฯกราบบังคมทูลฯเพื่อเสนอให้มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ ใน 28 เขตเลือกตั้ง 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้อ้างความเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองที่แสดงความเห็นในเรื่องด้วย โดยหนังสือดังกล่าวได้ส่งให้นายกฯแล้วตั้งแต่บ่ายวันที่ 12 ก.พ.อย่างไรก็ตาม หากนายกฯเห็นแย้งกับ กกต.ทาง กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอนตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ
       
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับ 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัครนั้น หากรัฐบาลเห็นชอบกราบบังคมทูลฯ พ.ร.ฎ.พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงใช้หมายเลขเดิม เพียงแค่มาสมัครใหม่ และลงคะแนนใหม่เท่านั้น
       
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า กกต.ได้ลงนามหนังสือส่งถึงนายกฯกรณี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครเรียบร้อยแล้ว โดย กกต.ได้พิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ มีความเห็นว่า พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังไม่เสร็จสิ้น โดยได้มีการตรวจสอบข้อกฎหมาย ปรากฏว่า กกต.ไม่มีอำนาจในการออกประกาศ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต จึงจำเป็นต้องเสนอนายกฯให้กราบบังคมทูลฯขอให้ กกต.มีอำนาจในกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ และประกาศยกเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรใน 28 ดังกล่าว
       
เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กกต.ได้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 และ มาตรา 236 ที่ระบุให้อำนาจ กกต.ในลักษณะที่กว้างแต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะการเปิดรับสมัคร ส.ส.ใน 28 เขต ตามมาตรา 7(1) ว่าด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ระบุว่าให้การเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ขณะนี้ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว กกต.จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กกต.จำเป็นต้องทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อกราบบังคมทูลฯออก พ.ร.ฎ.
       
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า หากไม่มี พ.ร.ฎ.จะไม่สามารถดำเนินการรับสมัคร หรือกำหนดวันลงคะแนนได้ โดยข้อสังเกตของหนังสือดังกล่าวที่เสนอนายกฯ นั้น กกต.เห็นว่า เนื่องจากมีนักการเมืองและนักวิชาการบางฝ่ายมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปที่ผ่านมา มีปัญหาข้อขัดแย้ง ทั้งปัญหาด้านการเมือง และปัญหาด้านการจัดการเลือกตั้ง ตลอดจนการชุมนุม ประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง หากจะมีการตรา พ.ร.ฎ.หรือให้ กกต.ดำเนินการออกประกาศกำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม การลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการนับคะแนนเพิ่มเติมอาจเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.และฝ่าฝืนมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าวันเลือกตั้งกรณียุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกำหนดเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นจึงขอให้นายกฯพิจารณาปัญหาข้อโต้แย้ง หรือข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.จะรอการตอบกลับอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

“การเสนอให้นายกฯกราบบังคับทูลฯเพื่อเสนอ พ.ร.ฎ.ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน โดย พ.ร.ฎ.วันที่ 2 ก.พ.ยังคงอยู่ แต่เนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นจึงต้องกำหนดวันรับสมัครใหม่ และกำหนดวันลงคะแนนใหม่” นายภุชงค์ กล่าว
       
นายภุชงค์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 13 ก.พ. กกต.จะมีการประชุมสำนักงาน กกต.เกี่ยวกับการเตรียมจัดเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายหลังที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กกต.เสนอ รวมถึงการหารือกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผอ.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และ ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยจะหารือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส่วนในช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.พ.ทาง กกต.ทั้ง 5 คน จะเดินทางไปที่โรงแรมรามาการ์เด้น เพื่อประชุมชี้แจงสถานการณ์การเลือกตั้งภายในประเทศของไทย ต่อคณะทูตานุทูต และผู้แทนองค์ระหว่างประเทศประจำประเทศไทย มากกว่า 40 ประเทศ ที่ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว

 

พีรพันธุ์ยัน ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ไม่ได้ กกต.กำหนดวันรับสมัครใหม่ได้เลย

เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พยายามจะให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎี (พ.ร.ฎ.) การกำหนดวันเลือกตั้ง 28 เขตภาคใต้ และเลื่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไปเป็นวันที่ 27 เมษายนว่า ความพยายามของ กกต.ที่จะออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ 28 เขตนั้น ต้องชี้แจงว่าจะดำเนินการได้ต่อเมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เช่น ยุบสภา การตายหรือลาออก แต่ทั้ง 28 เขต ยังไม่มี ส.ส.จึงไม่มีการสิ้นสุดสมาชิกภาพแต่อย่างใด และผู้ที่สมัครไปแล้วก็ยังไม่ได้เป็น ส.ส.ยืนยันว่าออก พ.ร.ฎ.ใหม่ไม่ได้ เรื่องนี้ กกต.ดำเนินการออกประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต และประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาได้อยู่แล้ว

"การเลื่อนการเลือกตั้งไปเดือนเมษายนนั้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 บัญญัติว่าจะต้องเลือกตั้งและเปิดประชุมสภาผู้แทนภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง เพื่อประชุมครั้งแรก แต่ถ้าไปเลือกเดือนเมษายนจะเกินกำหนด 30 วัน ดังนั้น การตีความว่า 30 วัน ไม่มีสภาพบังคับ กกต.ต้องระวังให้ดี หาก กกต.ไม่จัดการเลือกตั้งก็จะถูกกล่าวหาว่าจงใจไม่ฏิบัติหน้าที่ มีความผิดกฎหมายเลือกตั้ง และอาจถูกถอดถอน ตามมาตรา 270 ซึ่งมีโทษทางอาญา จึงขอให้ กกต.ทำตามกฎหมาย อย่าไปเชื่อความเห็นของบางคน ในส่วนของรัฐบาลอยากจะให้จัดเลือกตั้งให้ได้ เพื่อปัญหาที่ค้างคาอยู่ เช่น เรื่องการจ่ายเงินจำนำข้าว จะได้ดำเนินการต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าเราอยากอยู่รักษาการไปเรื่อยๆ อย่างที่วิจารณ์กัน"

 

ปริญญา ชี้ไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.ฎ.ใหม่

เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า วันเดียวกัน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้รัฐบาล ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ว่า ผมเห็นว่าการเลือกตั้งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดออกมาแล้ว คือ 2 ก.พ.2557 ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งหลังยุบสภาภายใน 45 - 60 วัน พอมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วก็มีการประกาศรับสมัครลงรับเลือกตั้ง พอรับสมัครไปแล้วมีบางเขตที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วมันมี แต่มีการไปปิดล้อมแต่รับสมัครไม่ได้ ส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่ในทางปฏิบัติ คือ กกต.ต้องเปิดรับสมัครใหม่ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้งมีไปแล้ว

"ผมจึงไม่เห็นว่าทำไมต้องไปมีพระราชกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อวันเลือกตั้งพระราชกฤษฎีกามีไปแล้ว แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ใช่การเลือกตั้งใหม่ แต่ที่จะต้องมีการรับสมัครใหม่ และเลือกตั้งใหม่มีเหตุที่ทำให้ไม่อาจเลือกตั้งได้ เพราะมีการปิดล้อมไม่ให้ผู้สมัครไปสมัครได้ จึงทำให้ไม่มีผู้สมัครหรือไปเลือกตั้งได้ ดังนั้น กกต.จึงต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเลือกตั้งตามปกติธรรมดา แล้วกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดวันรับสมัครของ 28 เขตนี้ไปได้เลย คือ ถ้าออกใหม่ก็กลายเป็นว่าอาจมีการเลือกตั้งอีกวัน" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ทั้งนี้ การเลือกตั้งใน 9 จังหวัดที่เปิดเขตเลือกตั้งไม่ได้ รวมถึง 28 เขต รวมถึงเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีอีก ทั้งหมดนี้ยังถือว่าเป็นการเลือกตั้ง 2 ก.พ. อยู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมานัดกันอีกทีว่าจะเอาวันไหน แล้วบางจังหวัดที่ได้และไม่ได้จะกำหนดเลือกตั้งวันไหน เพราะพระราชกฤษฎีกาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ก็บอกไปแล้วว่าเลือกตั้งมีได้วันเดียว และหากออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ต่อไปก็อาจจะมีปัญหาด้านกฎหมายขึ้นไปอีก

"คือผมไม่ได้บอกว่าพอมีพระราชกฤษฎีกาจะเป็นเลือกตั้ง 2 วัน แล้วเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ แต่ผมบอกว่ามันจะทำให้เหตุผลในการเลือกตั้งเป็นโมฆะก็จะมีนํ้าหนักโน้มเอียงไปทางนั้นอีก" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คือ ผมเข้าใจว่า กกต. ต้องการที่จะระมัดระวัง และต้องการทำโดยที่ไม่ต้องเกิดปัญหาต่อ กกต.เอง เขาอาจจะเกรง มีการถกเถียงกันอยู่ กกต.บางท่านอาจเห็นว่าหากเราทำไปโดยที่ไม่ต้องมีพระราชกฤษฎีกา แล้วใช้อำนาจกฎหมายเดินหน้าการเลือกตั้งไปเลย แต่ก็มี กกต.บางท่านบอกว่าต้องมีพระราชกฤษฎีกาเพิ่มวันเลือกตั้งไปอีกวันหนึ่ง สรุปออกมาปรากฏว่า ถ้าอย่างนั้นอย่าเถียงกันไม่ควรเสี่ยง ครั้นจะส่งให้ศาล รธน.ตีความเฉยๆ ก็คงไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของศาล รธน. คือ หลักการแบ่งแยกอำนาจ มีข้อพิพาทกันแล้วถึงจะเป็นเรื่องของศาลมาชี้ขาด ถ้าไม่อย่างนั้นจะเกิดเป็นกรณีตัวอย่างขึ้นอีก เช่น หากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรอิสระไม่แน่ใจเรื่องไหนก็ควรส่งศาล รธน.ตีความ สุดท้ายก็จะตีความบ่อยขึ้น และให้ศาลขึ้นมาเป็นตัวกำหนด เข้ามามีอำนาจของฝ่ายบริหารไป

"ดังนั้นศาล รธน.ไม่มีอำนาจตีความในการทั่วไป ต้องมีข้อพิพาท มีข้อขัดแย้งถึงจะไปถึงศาลได้ กกต.ก็คงจะอยากใช้ช่องนี้ไปให้ถึงศาล รธน. ก็เหมือนคราวที่แล้วว่าให้เลื่อนเลือกตั้งได้หรือไม่" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ในทางวิชาการก็มีข้อที่แย้งกันอยู่ว่า กรณีครั้งที่แล้วที่ กกต. ถือว่าเป็นการขัดแย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง ในคราวนี้ก็อาจจะเป็นทางเดียวกัน กกต.ก็จะเสนอไปทางรัฐบาลให้ออกพระราชกฤษฎีกา รัฐบาลไม่ยอมออกขึ้นมา กกต.ก็จะถือว่าเป็นความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ของ กกต. และรัฐบาล แล้วส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นการเดินหน้าที่ปลอดภัยสำหรับ กกต.เอง และอาจจะเป็นเพราะบทเรียนของปี 2549 ที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. ถูกจำคุกมาก่อนหรือไม่ จึงทำให้เลือกวิธีนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net