Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพูดถึงวันวาเลนไทน์ในแง่ของศาสนาเราก็อาจพูดได้ถึงความเป็นมาของนักบุญวาเลนไทน์อันยึดโยงเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่มีที่มามาจากอาณาจักรโรมันและได้เกิดการแพร่ขยายทางวัฒนธรรมในประเทศแถบยุโรปมาเป็นเวลาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการใช้ชื่อของนักบุญวาเลนไทน์ในการเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก ผ่านทั้งงานวรรณกรรมในแต่ละยุคแต่ละสมัย จนในที่สุดการเข้ามาของวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์ได้กลายมาเป็น pop culture ที่คนทั่วโลกต่างแชร์ประสบการณ์นี้ร่วมกันผ่านโลกทุนนิยมสมัยใหม่ที่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นวันคริสต์มาส

ด้วยความรวดเร็วของการขยายตัวหรือการเข้ามาของวัฒนธรรมวันแห่งความรักนี้ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมความรักของชนชั้นกลางจำนวนมากทั่วโลกที่นิยมจะแสดงออกซึ่งความรักของตนผ่านธรรมเนียมประเพณีของวันวาเลนไทน์ การให้ช็อคโกแล็ต คุกกี้ ขนมหวาน หรือสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างดอกกุหลาบนั้นก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์ที่ถูกทำให้เป็นสากลไป แม้ว่าในหลายประเทศจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยหรือบางแห่งก็ต่างไปมากแต่ก็อิงบริบทพื้นฐานจากการมองวันนี้ด้วยมุมมองเรื่องความรักหรือมิตรภาพไม่ต่างกัน อย่างในประเทศฟินแลนด์วันวาเลนไทน์เป็นวันที่ไม่ได้เจาะจงโดยตรงไปที่คู่รักเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงวันแห่งมิตรภาพของผองเพื่อนโดยรวม หรือในประเทศญี่ปุ่นวันวาเลนไทน์ก็กลายเป็นธรรมเนียมที่ผู้หญิงจะต้องให้ช็อคโกแล็ต หรือของขวัญแก่ผู้ชายก่อน แล้วในอีก 1 เดือนถัดมาจึงจะมีวัน White Day หรือวันที่ผู้ชายจะส่งคืนช็อคโกแล็ตให้แก่ผู้หญิง

ในประเทศไทยเราเองนั้นไม่ได้มีวันแห่งความรักที่เป็นวันแสดงออกซึ่งความรักแบบคู่รักกันได้โดยตรง จนกระทั่งการเข้ามาของวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์ในไทยซึ่งขอเรียนโดยตรงว่าผู้เขียนไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเข้ามาของวัฒนธรรมนี้ว่าเข้ามาครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่หากคาดการณ์โดยประมาณคาดว่าน่าจะเข้ามาหลังช่วงปี 2500 หรือไม่ก็มาเป็นที่นิยมมาในช่วงหลังปี 2530 ที่วัฒนธรรมอเมริกา และโลกทุนนิยมทั้งจากตะวันตกและญี่ปุ่นได้ขยายเข้ามาในไทยอย่างชัดเจน ด้วยความที่ว่าวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์นั้นเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในสังคมของวัยรุ่นอเมริกันและวัยรุ่นในยุโรป จนมาถึงปัจจุบันที่เราเห็นได้ชัดว่าวันวาเลนไทน์ในรูปแบบของสังคมไทยก็ไม่ได้มีความโดดเด่นเฉพาะตัวในตัวเองอย่างในญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ แต่เราได้นำเข้าธรรมเนียมประเพณีวันวาเลนไทน์จากอเมริกาและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ หากจะมีลักษณะแปลกๆ ก็คงมีเพียงการนำสติ๊กเกอร์รูปหัวใจไปแปะตามเสื้อผ้าโดยเฉพาะวัยรุ่นช่วงมัธยมในไทยที่เป็นกันมาก

แต่ประเด็นของดิฉันนั้นหาได้อยู่ที่ว่าวันวาเลนไทน์ในสังคมไทยหรือสังคมโลกนั้นมีลักษณะเช่นไร แตกต่างกันแบบไหนบ้าง แต่สำหรับดิฉันจากการที่ได้พูดคุยกับผู้คนอันหลากหลายและจากผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพท่านหนึ่งแล้วนั้น ดิฉันมองว่าวันวาเลนไทน์โดยเฉพาะในสังคมไทยนั้นเป็นเพียงปรากฎการณ์ทางสังคมของชนชั้นกลางในรูปแบบหนึ่ง (middle class phenomenon) ซึ่งดิฉันจะไม่ตัดสินว่ามันดีหรือแย่แต่อย่างใด แต่จากการครุ่นคิดและศึกษาวัฒนธรรมทางสังคมในวันนี้ มันทำให้เห็นมุมมองๆ หนึ่งที่สังคมไทยที่นิยมเฉลิมฉลองวันแห่งความรักด้วยการมองวันวันนี้อย่างโรแมนติคเกินไป (romanticize) มันอาจทำให้คุณละเลยมุมมองหรือมิติทางสังคมในรูปแบบอื่นออกไปก็เป็นได้

หลายคนอาจจะเถียงว่าการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์อาจไม่ใช่แค่การครอบงำวัฒนธรรมโดยชนชั้นกลางเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งใช่วันแห่งความรักนี้มีทั้งหนุ่มสาวชนชั้นแรงงาน คนต่างด้าว หรือชนชั้นสูงโดยแน่นอนที่อาจจะเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ของตนเองในวันแห่งความรัก แต่โดยพื้นฐานของความคิดของวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์นี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดจากมุมมองความรักแบบชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่อย่างแรกต้องมีเวลา ต่อมาต้องมีเงิน จึงจะสามารถมานั่งคิดเรื่องรัก ใคร่ หรือประดิษฐ์ธรรมเนียมในการแสดงออกซึ่งความรักต่อคู่รักของตนเช่นใด อันต่างจากชนชั้นแรงงานที่ต้องคิดว่าพรุ่งนี้ตรูจะได้ค่าแรงเพิ่มมั้ย พ่อค้าคนกลางจะโก่งราคาข้าวหรือเปล่า

ดังนั้นการที่ชนชั้นอื่นๆ ในสังคมบางส่วนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในชนชั้นต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในวัฒนธรรมเช่นนี้ด้วยแล้วนั้นจึงกล่าวว่าเป็นการดึงตนเองให้เข้ากับกระแสของสังคมที่นิยมชมชอบจะเฉลิมฉลองด้วยธรรมเนียมปฏิบัติแบบชนชั้นกลางที่ทำๆ กัน หากจะหรูหราเท่ากันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นแล้วคุณแน่ใจได้อย่างไรว่าวันวาเลน์ไทน์จะเป็นวันที่เราจะแสดงออกซึ่งความรักได้อย่างแท้จริง ? คุณจะพูดได้อย่างไรว่าวันแห่งความรักที่สุดแสนจะหวานเกินบรรยายนั้น ในอีกมิติหนึ่งกลับกลายเป็นวันที่ยังมีความอยุติธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นไม่เว้นกันในแต่ละวัน และในวันๆ นี้ก็เช่นกัน ชนชั้นกลางบางกลุ่มกลับนิยามความรักและความเหงาของตนให้เป็นเรื่องปัญหาอันใหญ่โตระดับมนุษยชาติ ทั้งสร้างความโรแมนติคและสร้างความเกินจริง (romanticize and dramatize) ให้แก่ความรักอันหอมหวนของพวกตน

แต่ในขณะเดียวกันเขาลืมไปแล้วหรือเปล่าว่าวันแห่งความรักอันหอมหวนของชนชั้นกลางบางกลุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการไร้คู่ครอง ไร้คนรักนั้นหาได้สาหัสไปกว่า นักโทษการเมืองที่ต้องเป็นเหยื่อติดคุกมาเป็นเวลาหลายปี วันแห่งความรักอันหอมหวานวันนี้อาจไม่ได้หอมหวานสำหรับชนชั้นแรงงานที่หวังเพียงจะให้วันวาเลนไทน์ได้กลายมาเป็นวันหยุดพักผ่อนอีกสักวันสำหรับเขาอีกสักวัน หรือช็อคโกแล็ตเฟอเรโรที่ชนชั้นกลางนิยมซื้อมาให้คู่รักที่พอจะมีสตังค์ มันอาจจะไม่พอยาไส้สำหรับความรักอันไม่หรูหราได้เท่ากับการไปออกเดตโดยไปกินข้าวแกงกับแบบหนุ่มสาวโรงงานที่ต้นทุนไม่แพงมากแต่กลับหวานซึ้งเหลือเกิน หรือการคิดไม่ออกสักทีว่าจะพาแฟนไปกินข้าวร้านดังๆ ที่ไหนในขณะที่เด็กในประเทศโลกที่ 3 จะมีอาหารกินอีกสักมื้อหนึ่งหรือไม่ก็ยังไม่รู้

การแสดงออกซึ่งความรักแบบหรูหราหรือโอเวอร์แบบที่ชนชั้นกลางปฏิบัติกันมาหาใช่เรื่องที่ผิด แต่ความรักที่แท้จริงนั้น อันเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งควรพึงตระหนักในความหอมหวานของวันที่เราเฉลิมฉลองกันซึ่งนิยามของความสุขจากการได้อยู่กับคู่รัก และเรากลับนิยามความทุกข์ของเราด้วยเพียงเพราะเหตุผลที่ว่าเราขาดคู่ ไม่มีผัว ไม่มีเมีย เหงาจุง เพียงเพราะชีวิตเราไม่เป็นไปตามกระแสที่สังคมชี้นำ นั้นหาใช่ความทุกข์ที่ต้องช้ำตรมเยี่ยงจะตายวันตายพรุ่ง

เพียงแต่หากเราหันมามองความรักที่เราควรจะมีต่อมนุษยชาติ และคนในสังคมชนชั้นอื่นที่หาได้มีโอกาสเช่นเดียวกับเรามันจะทำให้เราได้สัมผัสซึ่งความรักในสังคมในอีกรูปแบบที่หาได้มาพร้อมกับความยุติธรรม หาได้มาพร้อมกับความหวานซึ้งโดย Heather Laine Talley [1] ได้เขียนอธิบายถึง bell hooks[2] เฟมินิสต์ผิวสีที่โด่งดังว่า เราคิดว่าความรักเป็นเรื่องของ “ความรู้สึกที่ดี” (good feeling) และเราก็ลืมไปว่าความรักนั้นต้องอยู่บนฐานของความยุติธรรม ความเท่าเทียมหัน และการเคารพกัน แต่ในสังคมไทยเรานั้นหาได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในนิยามแห่งความรักในสังคมกระแสหลักเลยสักนิด

และสังคมไทยเรานั้นนอกจากเราจะพูดกันปากเปืยกปากแฉะต่อความรักที่จับต้องและแตะต้องไม่ได้นั้น ในขณะเดียวกันสังคมไทยเราเราก็บูชาความรุนแรงกันแทบจะขึ้นหิ้ง เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราเชิดชูความรักในวันแห่งความรักได้ในขณะที่เรายังมีนักโทษทางการเมืองที่ต้องติดคุกสูงถึง 15 ปีหากพูดว่าไม่รักในวันใดก็ตาม แล้วความรักในสังคมไทยยังแฝงไปด้วยความรุนแรงทางอำนาจอย่างมากมาย ทั้งในโครงสร้างของสังคมหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว ผ่านสำนวนภาษา “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ความรักที่เกิดขึ้นจากการมองลูกเป็นวัวเป็นควาย เป็นสัตว์ที่แทนที่จะอธิบายถึงปัญหาในสังคมไทยด้วยการใช้เหตุผล แต่เรากลับสอนความรักด้วยการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะปิดกั้นไม่ให้เด็กได้มีโอกาสและพื้นที่ในการเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เช่น เรื่องเซ็กซ์ เรื่องศีลธรรม

เช่นนี้แล้วเราจะยังเรียกกันได้ว่าสังคมประเทศไทยเป็น สังคมแห่งความรักบ้าง บ้านเราสยามเมืองยิ้มบ้าง ที่พร่ำพูดกันอย่างไร้ความหมายเยี่ยงนกแก้วนกขุนทองต่อไปได้อีกหรือ ? หากเรายังยิ้มได้ในวันที่เพื่อนร่วมชาติของเราต้องทนทุกข์ทรมานกับความอยุติธรรมในสังคม

ดังนั้นวันแห่งความรักที่ยังถูกนิยามให้หอมหวานเยี่ยงยาขมแบบไทยๆ แล้วนั้นจึงเป็นวันที่ชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินจะได้ออกมาโลดแล่นลั้ลลากันตามร้านอาหารที่ขึ้นชื่อ ท่ามกลางความยากลำบากที่ผู้คนต้องประสบกันในแต่ละวัน 

วันแห่งความรักแบบไทยๆ ที่แม้กระทั่งกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกันยังไม่มี วันแห่งความรักที่ผู้คนที่อยู่อย่างชายขอบของสังคมคนไร้สัญชาติต้องมานั่งกลุ้มคิดว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในวันพรุ่งนี้ และวันแห่งความรักที่คนที่ไม่รักอาจถูกจับเข้าคุกไปโดยปริยาย แล้วเราจะยังบูชาวันแห่งความรัก วันวาเลนไทน์แบบเดิมๆ อย่างนี้กันต่อไปอยู่อีกหรือ ? 

 

 




[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำภาควิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Western Carolina

[2] bell hooks ปฏิเสธการ capitalize ชื่อของเธอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net