Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในอเมริกามีหลักเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ในรูปแบบที่เรียกว่า secular state  คือการแยกรัฐออกจากศาสนา ที่หมายความว่าการบริหารรัฐกิจไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาในแง่ของจัดการทางด้านกฎหมาย และกฎเกณฑ์ของศาสนาก็ไม่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกหรือเรื่องของเสรีภาพด้านความเชื่อส่วนตัว เป็นสิทธิของพลเมืองอเมริกัน เพราะอเมริกันได้สรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของสงครามศาสนาและการบทเรียนการกดขี่บีฑาด้านศาสนาในยุโรป ก่อนที่คนกลุ่มที่เป็นบรรพบุรุษอเมริกันผิวขาว จะอพยพมาอยู่ในทวีปอเมริกา  

แง่มุมของศาสนา(คริสต์) ที่อเมริกันรุ่นแรกๆ ไม่พอใจคือ การปกครองประเทศที่ดำเนินการโดยรัฐผสมกับศาสนา หรือไม่ก็ดำเนินการโดยศาสนาล้วนๆ รัฐตีความคำสอนทางศาสนาให้เป็นท่วงท่าการบริหารรัฐกิจและการปกครอง จนนำไปสู่การกวาดล้างสิ่งที่เรียกว่า “เสี้ยนหนามของพระเจ้า” คือ หากพลเมืองคนใดไม่เห็นด้วยกับการตีความคำสอนของศาสนา รัฐถือว่าพลเมืองคนนั้นเป็นขบถ ไม่ภักดีต่อรัฐ เป็นศัตรูกับรัฐ คนเหล่านี้ก็จะถูกรัฐจัดการกวาดล้าง จนคนกลุ่มนี้อยู่ในยุโรปไม่ได้

ศาสนาคริสต์แตกออกเป็นนิกายต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุนี้ เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องศาสนาการตีความคำสอนใหม่จึงออกมาตอบสนองต่อวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ อย่างเช่น นิกายโปรแตสแตนท์ ที่โดยมาจากมาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำความคิด ก่อนกลายเป็นขบวนการศาสนาในเยอรมนี ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16  เพื่อคัดค้านหลักความเชื่อและการปฏิบัติด้านศาสนาแบบโรมันคาทอลิก ที่ในเวลานั้นถือว่าเป็นนิกาย(กระแส) หลักของยุโรปหลายประเทศ

แน่นอนว่าคำสอนทางศาสนาอยู่มาได้ด้วยการอาศัยการตีความ หากไม่มีการตีความคำสอนทางศาสนาเหล่านี้อาจตกมาไม่ถึงรุ่นเรา แต่ก็มีประเด็นที่ถือว่า ศาสนาเป็นเรื่องใหญ่และทรงอิทธิพล คือ การยอมรับนับถือศาสนาของผู้นำรัฐ  ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้หลักคำสอนทางศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารรัฐ โดยเฉพาะการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้นำรัฐเพียงผู้เดียว การใช้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางศาสนามาใช้สำหรับการบริหารรัฐ เหมือนดูดี แต่เป้าหมายทางโลกกับเป้าหมายทางธรรม ไม่ค่อยได้ตรงกันเสียทีเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะการบริหารรัฐ เป็นเรื่องของอำนาจ เรื่องจึงเป็นไปได้ง่ายว่า แม้ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาศีลธรรมประชาชนของผู้นำรัฐ แต่การจัดสรรผลประโยชน์เชิงอำนาจรัฐไม่เคยมีวันยุติธรรม และอำนาจไม่เคยปรานีใคร ใครลองได้ถือกุมอำนาจย่อมเสพติดอำนาจนั้น ยิ่งกว่ายาเสพติดประเภทใดในโลก

เมื่ออเมริกันได้บทเรียนจากยุโรป จึงได้ประกาศ  The separation of church and state  หรือการแยกรัฐออกจากศาสนา ทำให้อเมริกาไม่เป็นรัฐศีลธรรมโดยกฎหมาย ถึงแม้ว่าประชากรอเมริกันส่วนใหญ่จะนับถือคริสตศาสนาก็ตาม แต่ในบรรดาคริสตชนเหล่านี้ต่างก็นับถือคริสตนิกายไม่เหมือนกัน และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้อีก

แทนรัฐศีลธรรม อเมริกันได้ก่อกำเนิดศาสนาใหม่ เรียกว่า “ศาสนาสิทธิมนุษยชน” (Human rightism)  ซึ่งถูกพัฒนามาจากปรัชญามนุษยนิยม นั่นก็คือ ปรัชญาประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วยหลักเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ ศาสนาใหม่ของอเมริกันเน้นไปที่การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ แต่ก็ใช่ว่าศาสนาสิทธิมนุษยชนจะพัฒนาถึงขั้นอุตมการณ์ที่สมบูรณ์ เพราะจวบจนปัจจุบันศาสนาสิทธิมนุษยชนของอเมริกันก็กำลังพัฒนาอยู่ และดูเหมือนว่าจะก้าวไกลไปพร้อมๆกับการตกผลึกด้านสิทธิมนุษยชนในยุโรป หลังจากที่ผู้คนในทวีปนี้ผ่านความขัดแย้งด้านการเมืองและศาสนามาอย่างยาวนาน

ศาสนาสิทธิมนุษยชนของอเมริกันได้เพิ่มความโดดเด่นมากขึ้นไปอีกภายหลังยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตกลายเป็นอดีตไปในยุคของกอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachyov) รัฐบาลอเมริกันได้เป็นผู้ครอบครองโลกตามรูปแบบผู้นำมหาอำนาจสูงสุดที่ยังหาประเทศประเทศคู่ถ่วงดุลไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่า new world order  สิทธิมนุษยชนเป็นยุทธศาสตร์ที่แหลมคมของรัฐบาลอเมริกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาวุธที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่มีการรวบรวมสถิติและพบความมหัศจรรย์ว่า ในยุคสงครามเย็นที่ต่อสู้กันหลายปีนั้นมีคนเสียชีวิตน้อยกว่าสงครามโดยกองทัพอเมริกันและพันธมิตรในสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามต้านการก่อการร้ายเป็นต้นมา  เพราะสงครามเย็นเป็นการปะทะทางอุดมการณ์การเมืองการปกครองส่วนหนึ่ง ขณะที่สงครามการก่อการร้ายของอเมริกันจนถึงตอนนี้ เป็นสงครามที่ไร้เป้าหมายเชิงอุดมการณ์ใดๆทั้งสิ้น นอกจากการฆ่าหมู่โดยเทคโนโลยีอาวุธทันสมัยในสมรภูมิ ที่สามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แม้แต่กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา

สิทธิมนุษยชนจึงถูกทำให้เป็นของสากล โดยการโฆษณาชวนเชื่อโดยสื่ออเมริกันและรัฐบาลอเมริกันอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สอดคล้องอย่างยิ่งกับความเป็น secular state ของอเมริกา  ในนามของศาสนาสิทธิมนุษยชน รัฐบาลอเมริกันกระทำผ่านองค์กรสำคัญๆระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ(UN)  จนกระทั่งในโลกสมัยใหม่นี้ อุดมการณ์สิทธิมนุษยชน กลายเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) สากลอย่างหนึ่งไปแล้วโดยปริยาย  โดยไม่ต้องพูดศาสนาในความหมายของศาสนา (religion) แต่เดิม

ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ ศาสนาสิทธิมนุษยชนของอเมริกันถูกขับเคลื่อนตีคู่ไปกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทั้งสองสิ่งถูกวางให้เดินไปด้วยกัน การต่อต้านสงครามการก่อการร้าย และคัดค้านรัฐบาลเผด็จการที่รัฐบาลอเมริกันไม่เห็นด้วย คือการใช้เหตุผลในแง่ของประชาธิปไตยและในแง่ของสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ และขึ้นนำหน้า เป็นเหตุผลที่อเมริกันนำใช้แม้แต่การปฏิบัติการโดยใช้กองกำลังสำหรับบางกรณีหรือบางชาติ มาตรการที่อ่อนลงไปกว่านั้นก็คือ การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ

ประชาธิปไตย คือ ตัวกรุยทางหรือตัวเปิดทาง ก่อนที่ศาสนาสากลสิทธิมนุษยชนจะถูกส่งตามไป แต่หลายครั้งทั้งสองสิ่งก็เข้าก็ไปพร้อมกัน  ในยุคสงครามเย็นเราอาจเห็นความลังเลของรัฐบาลอเมริกันมากกว่านี้ต่อการประกาศท่าทีว่าจะเข้าข้างรัฐบาลเผด็จการชาติพันธมิตรของอเมริกันหรือไม่ แต่ปัจจุบันความลังเลของรัฐบาลอเมริกันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับยุคสงครามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม ดังที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของไทยในอดีต

ตอนนี้รัฐบาลอเมริกันแทบไม่ลังเลในการประกาศจุดยืนยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยและศาสนาสิทธิมนุษยชนแม้แต่กับประเทศพันธมิตรของอเมริกันเองก็ตาม ดังการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนของรัฐบาลโอบามา ต่อกรณีเหตุการณ์ขัดขวางการเลือกตั้งในประเทศไทยของม๊อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) เมื่อคราวการเลือกตั้ง 26 มกราคมและ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลอเมริกันได้วางยุทธศาสตร์มาเกินกึ่งศตวรรษ แต่ศาสนาใหม่ที่ชื่อ สิทธิมนุษยชน นั้นรัฐบาลอเมริกันได้ปลุกปั้นมาเพียงไม่กี่ทศวรรษ อย่างน้อยก็น่าจะย้อนหลังไปได้ราว 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง และศาสนาใหม่นี้ก็เป็นผลผลิตจากความเป็น secular state ของอเมริกันนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นอุดมการณ์เชิงก้าวหน้า (เพราะหลุดออกไปจากอุดมการณ์รัฐศีลธรรมหรือรัฐศาสนาแบบยุโรปสมัยกลาง)

“ศาสนาสิทธิมนุษยชน” จึงเป็นอุดมการณ์สมัยใหม่ ที่แหลมคมในการสร้างความชอบธรรมต่อปฏิบัติการด้านต่างๆของรัฐบาลอเมริกันต่อต่างประเทศ โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ศาสนาสิทธิมนุษยชน(สากล)นั้นครอบคลุมพื้นฐานหลักคำสอนทางศาสนาของศาสนาใหญ่ๆในโลกแทบทั้งหมด และหากสาวลงไปลึกๆแล้ว ศาสนาสิทธิมนุษยชน เป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนล้ำลึกเช่นเดียวกับศาสนาทั่วไป เริ่มต้นจากการไม่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ เมื่อไม่ละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์เสียแล้ว การเบียดเบียนซึ่งและกันจะมีที่ไหนได้

มีคำกล่าวว่า ผู้มีศีลธรรมย่อมไม่อ้างตนเองว่ามีศีลธรรม ฉันใด ศาสนาสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ศาสนาตามความหมายเดิม แต่ก็เป็นศาสนาในความหมายของการปฏิบัติด้านศีลธรรมในฐานะของความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

หากเลยการยึดถือและใช้ศาสนาของกลุ่มอภิชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสงวนอำนาจรัฐไว้ให้กับฝ่ายตนผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวแล้ว รัฐศีลธรรมของกลุ่มอภิชนคนดี ก็เข้าข่ายนิยาม “ผู้มีศีลธรรมย่อมไม่อ้างตนว่ามีศีลธรรม” ตามตรรกะที่ว่า คนดีย่อมไม่พูดว่าตนเองเป็นคนดี คนที่จะพูดว่าใครเป็นคนดี คือ คนอื่น ไม่ใช่ตัวผู้พูด

ดูเหมือนรัฐศีลธรรม พยายามสงวน “ศีลธรรมในแบบของรัฐ” หรือศีลธรรมแบบทางการไว้ให้ได้มากที่สุด มากกว่าที่จะพูดเรื่องศีลธรรมเชิงปัจเจก เพราะศีลธรรมแบบทางการเป็นศีลธรรมที่เอื้อประโยชน์ในการรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่ศีลธรรมเชิงปัจเจกอยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม คือ เป็นศีลธรรมตามจริตและปัญญาของแต่ละคน มีส่วนให้เกิดการกระจายอำนาจ

ศีลธรรมของรัฐอเมริกัน ก็เป็นแบบเดียวกันนี้ คือ เป็นศีลธรรมเชิงปัจเจก ศาสนาในความหมายเดิมแบบจารีต (religion) ได้ถูกแทนที่ด้วย ศาสนาสิทธิมนุษยชน (human rightism) ไปเสียแล้ว และศาสนาใหม่นี้ก็กำลังถูกเผยแผ่อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net