Skip to main content
sharethis
นักกิจกรรมทางสังคม และนักศึกษา มช. จัดกิจกรรมเต้นรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในวันวาเลนไทน์ ชี้ความรักต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน และผู้หญิงต้องกล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องความรุนแรง
 
14 ก.พ.57 เวลา 12.00 น. บริเวณโรงอาหารอมช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน, ชมรมสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม (IWP), MAP Foundation และนักศึกษาในหลักสูตรการพัฒนาระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเต้นรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง  
 
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ “หนึ่งพันล้านเสียง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” (One Billion Rising For Justice Campaign) ซึ่งนำโดยองค์กร V-Day เพื่อปลุกจิตสำนึกและรณรงค์ให้หยุดความรุนแรงต่อเพศหญิง โดยมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกพร้อมๆ กัน
 
กิจกรรมการเต้นในครั้งนี้มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักกิจกรรมทางสังคมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ราว 50 คน รวมตัวกันใส่เสื้อสกรีนคำว่า Gender Justice is for everybody พร้อมผูกริบบิ้นสีชมพู เป็นสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ และร่วมกันเต้นประกอบเพลง "Break the Chain" ความยาวราว 5 นาที โดยมีการชูแผ่นป้ายรณรงค์ที่มีข้อความอาทิเช่น ความรัก ≠ การบังคับ, ผู้หญิง ร่างกาย ชีวิต ลิขิตเอง, ฉันเต้นเพื่อความยุติธรรม, ฉันเต้นเพื่อแม่, ฉันเต้นเพื่อลูกสาว, Violence against women is “NOT OK”, No more Domestic Violence, Make every home a safe home เป็นต้น
 
 
 
 
 
อวยพร เขื่อนแก้ว จากโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม กล่าวว่าการรณรงค์นี้มีขึ้นเพื่อให้คนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยผู้หญิงประมาณ 1 ใน 3 ของโลกหรือประมาณพันล้านคน จะถูกความรุนแรงทางเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อีฟ เอนสเลอร์ (Eve Ensler นักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน) จึงได้ทำการรณรงค์เรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยใช้ละครให้ผู้หญิงออกมาพูดเรื่อง “จิ๋ม” เพราะผู้หญิงจะถูกห้ามพูดเรื่องเพศวิถี และอวัยวะเพศผู้หญิงก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก รวมทั้งผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงเยอะมาก โดยไม่มีพื้นที่ที่จะพูด
 
ผ่านมา 10 ปี ก็พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงยังไม่ลดลง นอกจากจะใช้ละคร เขาก็บอกว่าต้องใช้ศิลปะ เพราะมันเข้าถึงคนได้และเป็นเรื่องหนักแต่ทำให้เบา จึงมีใช้ดนตรีและการเต้น จึงเกิดเป็นกิจกรรมรณรงค์ผ่านการเต้น โดยมีการหาคนมาเขียนเพลง-คิดท่าเต้น การเต้นนั้นจะเต้นโดยใครก็ได้ ผู้ชายก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเป็นการสร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป เขาอยากให้ผู้หญิงหนึ่งพันล้านคนที่ถูกทำร้ายลุกขึ้นมา โดยเลือกวันที่ 14 ก.พ. วันแห่งความรัก เพื่อบอกว่าความรักต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
 
อวยพร กล่าวต่อว่าเพลง Break The Chain กล่าวถึงว่าเราเป็นแม่ เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว แล้วร่างกายเราศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้สกปรก เราไม่มีพื้นที่จะพูดว่าเราถูกทำร้าย ถูกใช้ความรุนแรง แต่ตอนนี้เราจะลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นบอกว่าร่างกายเป็นของเรา เพราะในหลายประเทศ ผู้หญิงไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกายตนเอง แต่ถูกควบคุมจากหลายๆ สิ่ง เช่น เรื่องการแต่งงาน การคุมกำเนิด หรือเวลาถูกใช้ความรุนแรง ตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ บอกใครก็ไม่ได้หรือไม่มีที่อธิบาย เขาเลยบอกว่าเราต้อง “ตัดโซ่ความรุนแรง” ให้หยุดลง และใช้ร่างกายมาสื่อด้วยการเต้น
 
อวยพรอธิบายว่าความรุนแรงต่อผู้หญิง มีความหมายตั้งแต่ความรุนแรงทางตรง การดูถูกร่างกายผู้หญิงหรือดูถูกความเป็นผู้หญิง ไปจนถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ผู้หญิงหลายคนไปแจ้งตำรวจ เรื่องถูกข่มขืน ถูกสามีทุบตี ตำรวจไม่รับแจ้งความ ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม-ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ก็ถูกสังคมประณาม หรือกฎหมายหลายอันก็ไม่ได้คุ้มครองสิทธิผู้หญิง เช่น การหย่าเป็นเรื่องยากมาก สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง รวมทั้งความรุนแรงทางวัฒนธรรม เช่น ในภาคเหนือ ผู้หญิงถูกห้ามเข้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และความรุนแรงเหล่านี้ยังรวมไปถึงความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ ที่ถูกเหยียดหยามความเป็นเพศของเขา ก็ควรจะลุกขึ้นมาร่วมกันหมด
 
พรรฑกร จรินติ๊บ เจ้าหน้าที่หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และอดีตสมาชิกชมรมสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าปกติในชมรมก็มีการเต้นกันอยู่ แต่เต้นเพื่อความสนุกสนาน แต่ถ้าเรานำมาเพลงเนื้อหาที่ดีมาใส่ มันก็จะเป็นสื่ออย่างหนึ่งต่อคนทั่วไปได้ โดยความรุนแรงในทีนี้ไม่ใช่เพียงผู้หญิงที่มีโอกาสถูกคุกคาม ยังรวมถึงเด็กๆ ที่อาจถูกใช้ความรุนแรงเหมือนกัน โดยความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายที่เป็นรูปธรรม แต่มันยังรวมถึงทางจิตใจหรืออยู่ในรูปของคำพูดด้วย การพูดเล่นพูดแซวอย่างเหยียดหยามก็สามารถถือเป็นการคุกคามทางเพศอย่างหนึ่ง
 
“คนที่ถูกใช้ความรุนแรงก็อยากให้เข้มแข็งต่อไป เรายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจและพร้อมจะช่วยเหลือ และการต่อสู้ก็ต้องทำให้ถูกจุด ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ไป ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ส่วนคนที่ใช้ความรุนแรงก็อยากให้มีสติ เพราะบางทีเราใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีสติ ไม่ได้คิด และทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ”  พรรฑกร กล่าว
 
 
 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในจังหวัดเชียงใหม่วันเดียวกันนี้ ยังมีกิจกรรมรณรงค์การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน โดยมีการไปจดทะเบียนที่อำเภอจำนวน 10 คู่ อีกทั้งกิจกรรมการเต้นรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงจะจัดขึ้นอีกครั้ง ในวันพรุ่งนี้ (15 ก.พ.) บริเวณประตูท่าแพ เชียงใหม่ ในเวลา 15.30 น.เป็นต้นไป โดยสามารถดูรายละเอียดโครงการและการรณรงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ที่ http://www.onebillionrising.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net