Skip to main content
sharethis

มินิเซอร์เวย์ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ทั้งธุรกิจโรงแรม โฮสเทล ร้านค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ ใกล้พื้นที่ชุมนุม ราชดำเนิน สุขุมวิท ราชประสงค์ และบางรัก

 

ในการชุมนุมกว่าสามเดือนของกลุ่ม กปปส. ซึ่งกินเวลาช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวประเทศนั้น ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่น้อย โดยรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงเดือนมกราคม 2557 ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)  ระบุว่า สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าทางด่านสุวรรณภูมิดอนเมือง เริ่มลดลงจากปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 5 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก แต่ไปคึกคักในด่านอื่นๆ เช่น  ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคเหนือที่ได้รับอานิสงค์จากการเปิดสะพานข้ามเชียงของเมื่อเร็วๆ นี้

ปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้ความเห็นว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าไตรมาสแรกของปี 2557 น่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 6.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 7 ประมาณ 500,000 คน ซึ่งจะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 22,500 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 เป็นกลุ่มที่เข้าใจต่อสถานการณ์ในไทยได้เป็นอย่างดี และยังคงเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ

ขณะที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้บางประเทศเริ่มยกระดับการเตือนนักท่องเที่ยวขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ขณะนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเริ่มลังเลในการตัดสินใจ เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์และขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ส่งผลให้ยอดการจองล่วงหน้าสำหรับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ค่อนข้างช้ามาก เชื่อว่าในไตรมาส 2 จะมีแนวโน้มที่ลดลงจากที่เคยประมาณไว้ถึงร้อยละ 10

ทั้งนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวขณะนี้ พื้นที่บริเวณกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเกินกว่าร้อยละ 50 จนทำให้สถานประกอบการหลายรายในพื้นที่ชุมนุมเริ่มมีความกังวลต่อต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยบางรายเริ่มส่งสัญญาณที่จะต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากไม่มั่นใจในความยืดเยื้อและความรุนแรงของสถานการณ์ในขณะนี้

ราชดำเนิน
บริเวณราชดำเนิน ซึ่งเดิมเคยมีการตั้งเวที กปปส. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และปัจจุบันมีแผงเหล็กกั้นด้านหนึ่งของถนนราชดำเนิน ผู้ดูแลโฮสเทลแห่งหนึ่งย่านถนนข้าวสาร เล่าว่า สถานประกอบการของตนไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากลูกค้าต่างชาติที่มาพักเป็นวัยรุ่น อายุ 20 ปีขึ้นไป แนวแบ็กแพคเกอร์ ที่มองเรื่องการชุมนุมเป็นเรื่องปกติ บางคนบอกว่าที่บ้านเขาก็มีแบบนี้ บางทีพวกเขาก็ไปม็อบ ไปกิน เหมือนเป็นเทศกาลอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ช่วงดังกล่าวแขกไม่ได้ลดลงเท่าใดนัก นอกจากนี้ยังได้ลูกค้าคนไทยซึ่งเป็นผู้ชุมนุมมาพักด้วย 

ขณะที่อรอุมา ขุมทรัพย์ แม่ค้าเสื้อผ้ารายหนึ่งย่านบางลำภู ซึ่งขายมานาน 8 ปีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ 4 ชีวิตในครอบครัว โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่นิยมซื้อเสื้อผ้าเป็นของฝาก ก็บอกว่า รายได้หดหาย โดยจากปกติที่ต้องขายได้ 6,000-7,000 บาทต่อวัน เดี๋ยวนี้ขายได้ 2,000-3,000 บาท สาเหตุจากคนไม่กล้าใช้เงิน เพราะกลัวสงครามกลางเมือง ทั้งที่ปกติหลังตรุษจีน ต้องขายดี แต่ปีนี้เงียบไป หากซบเซาลงเรื่อยๆ เช่นนี้ เธออาจต้องย้ายไปขายในตลาดนัดชานเมือง เช่น บางบัวทอง โดยมองว่าส่วนหนึ่งที่คนไม่เข้ามาซึ่งก็เพราะปัญหาการจราจรด้วย

สุขุมวิท-ราชประสงค์
ฝ่ายขายของโรงแรมสี่ดาวแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท บอกว่า ด้านหนึ่งโรงแรมได้รับผลกระทบทางบวก เพราะผู้ที่มาพักส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่ขยับออกมาจากโรงแรมในพื้นที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีลูกค้าหายไป ทำให้มีมาตรการส่งพนักงานไปทำงานที่สาขานอกกรุงเทพฯ โดยรายที่ไม่สะดวกก็คงต้องลาออก

ธีร์ จันเจอบุญ อดีตลูกจ้างรายวันโรงแรมแห่งหนึ่งย่านราชประสงค์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งย่านราชดำริ เป็น daily hire (ลูกจ้างรายวัน) โดยทำมา 3 ปีแล้ว เขารักโรงแรมนี้มาก เพราะเขาดูแลเหมือนเป็นครอบครัว

"ของผมทำเป็นเสิร์ฟอาหารเช้า ในห้องอาหารเมดิสัน ซึ่งตอนเช้าแขกจะเยอะ ช่วงแขกเยอะ พีคสุดๆ คือ 380-500 คนในช่วงไฮซีซั่น ดาวน์ลงมาปกติจะอยู่ที่ 250-300 โลว์ซีซั่นจะอยู่ที่ประมาณ 250 โดยพื้นฐานก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 200" ธีร์เล่าและว่า "มีแขกเยอะ ก็แปลว่ามีรายได้ พนักงานรายวันได้รายได้ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ จ่ายรายวัน 350 บาทต่อวัน อีกส่วนคือทิปรวม คือแขกให้พิเศษ ก็จะรวมตรงกลางแล้วหารเฉลี่ย ยิ่งแขกเยอะ โอกาสที่จะได้ทิปรวมก็จะเยอะตาม"

ธีร์บอกว่า ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แขกเริ่มน้อยลงๆ พอเริ่มสัปดาห์ที่สอง แขกดาวน์ลงจนน่าหวั่นใจมาก ชนิดแบบเหลือ 180 เคยมีดาวน์สุด 20% หมายความว่าไม่ต้องจ้างพนักงานรายวันก็ได้ เอาแค่สตาฟฟ์ที่อยู่ตรงนั้นมาทำงาน แต่ด้วยความที่หัวหน้างานและผู้จัดการแผนก พยายามดึงเด็กมาทำงาน เพราะเขาสงสารพวกเรา เห็นพวกเรามีความตั้งใจ ก็พยายามที่จะดึงแขก โดยจากปกติที่ไม่ค่อยรับกรุ๊ปทัวร์จีน จะมีก็เป็นกรุ๊ปชาวฮ่องกง ไต้หวันที่มาแบบ economy หรือไม่ก็มาท่องเที่ยวแบบไฮคลาส แต่พอหลังจากสัปดาห์ที่สองที่สาม เราเริ่มเห็นกรุ๊ปทัวร์จีนทั่วไป เข้าใจว่าเพราะต้องพยุงทั้งพนักงานและตัวโรงแรมให้มีรายได้เข้า ก็เลยต้องรับพวกนี้มา

เขาบอกว่า เมื่อจำนวนแขกที่เข้าพักเริ่มลดลงๆ เซอร์วิสชาร์จก็ลดลงตาม พนักงานรายวันของห้องอาหารจากที่ปกติจ้างอยู่ที่ 10 คน อย่างต่ำ 8 คน ช่วงนั้น ลดลงเหลือ 5 คน และพอช่วงไฮซีซั่น ธ.ค.ปีก่อน เป็นช่วงที่ดาวน์ที่สุด เลิกจ้างโดยปิดรายวันไปเลย ส่วนแขกที่เข้าพัก occupancy ตกลงมาที่ 20-18% อยู่ที่ร้อยกว่าคน หรือต่ำกว่าร้อยคน

"ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซั่นที่ทุกคนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ แต่กลายเป็นว่ามันไม่มีอะไรให้เก็บเกี่ยวแล้ว เพราะว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น" ธีร์บอกและว่า เขามีหลายความรู้สึกรวมกัน ส่วนตัวรู้สึกว่าได้รับผลกระทบเต็มๆ รู้สึกกำลังสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง จากคนหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้วิถีชีวิตของผมมันไม่เหมือนเดิม และรู้สึกว่าไม่แฮปปี้

"เขาบอกว่าเสียสละเพื่อชาติ เพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่การเสียสละ เพราะการเสียสละ คุณต้องทำสิ่งๆ หนึ่งโดยไม่ให้ทุกคนเดือดร้อน หรือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทุกคนมากที่สุด แต่วันนี้ สิ่งที่ กปปส. และคุณสุเทพทำ ผมมองว่าคุณไม่ได้แบ่งเบาภาระ บรรเทาความเดือดร้อน ทำให้อะไรงอกงามขึ้นมา แต่คุณกำลังโยนความลำบาก วิกฤตหลายๆ อย่างไปให้ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คนที่อยากเป็นสามัญชน อยากมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข เขากำลังโยนวิกฤตไปให้คนกลุ่มนั้น และผมเป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกว่าโดนอย่างนั้น ผมกำลังได้รับอะไรที่ผมไม่ได้ทำ ผมกำลังได้รับอะไรที่แบบว่าไม่รู้ดิ ผมไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น ผมมองอยู่ห่างๆ ผมก็อยากจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ แต่มันต้องไม่ใช่อย่างนี้ มันไม่ใช่แบบว่าทำให้ทุกคนต้องเดือดร้อน"

ปัจจุบัน ธีร์อยู่ระหว่างหางานใหม่ โดยสมัครไว้ที่บริษัทหนึ่งแถวอโศก

"ตอนนี้ถามว่าอยากได้อะไรเหรอ ชีวิตตูคืนมาได้ไหม เอางานคืนมาได้ไหม ขอชีวิตความเป็นปกติสุขคืนมาได้ไหม"

บางรัก
ขยับไปด้านสีลม-บางรัก บุญรัตน์ ปุญญถิโร เจ้าของร้าน House of Gems ย่านบางรัก เป็นอีกคนที่ประสบปัญหาจากการชุมนุมรอบนี้ เธอบอกว่า ปกติที่ร้านจะมีลูกค้าคนไทยซึ่งสะสมหินเป็นงานอดิเรกกับลูกค้าต่างชาติที่ซื้อเป็นที่ระลึก ตั้งแต่มีชุมนุมทางการเมือง ก็รู้สึกว่าลูกค้าคนไทยแทบไม่เหลือเลย เพราะว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คือเป็นแค่ของสะสมเฉยๆ ไม่ใช่ของจำเป็น  ก็คงเป็นอย่างแรกที่เขาจะตัดทิ้ง ไม่ซื้อ แล้วนักท่องเที่ยวก็ลดลงไปเยอะมาก ค่อนข้างจะเงียบ เงียบมาก
"ปกติเดือน ม.ค. ธ.ค. จะเป็นช่วงขายดีที่สุด เพราะจะมีทั้งปีใหม่ คริสต์มาส คือคนจะรู้สึกอยากซื้อของ อยากใช้เงิน แต่ตอนนี้คือไม่มีลูกค้า ไม่มีคนมา  ของก็ขายไม่ค่อยจะได้" บุญรัตน์บอกและว่า ส่วนตัวเองก็เหมือนกัน ธ.ค. ม.ค. จะเป็นช่วงที่จะใช้เงิน ก็ไม่อยากใช้เหมือนกัน เพราะไม่มีลูกค้า ก็เงียบลงไปเยอะเลย ช่วงที่เราควรได้เงินเยอะที่สุด กลับกลายเป็นว่าไม่ค่อยมีคนเข้ามาเท่าไหร่ เห็นชัดเลยในเดือน ธ.ค.

และแม้จะมีแผนการตลาดโดยลด  20% ในช่วง ธ.ค.-ม.ค. แต่ปรากฏว่าลูกค้าเข้ามาน้อยมาก

"ถึงมีคำว่าลดราคาหน้าร้าน ก็ไม่จูงใจให้ลูกค้าเข้ามาเพิ่มเลย เพราะสมัยก่อน พอติด ก็จะมีบางคนที่เห็นหน้าร้านแล้วสนใจเข้ามา ดูๆ แล้วก็ยังซื้อไปบ้าง ทั้งคนไทยและต่างชาติ เดี๋ยวก็ไม่ค่อยมีคนเข้ามา ป้ายไม่ได้ช่วยอะไรเลย คือเหมือนกับโปรโมชั่นก็ไม่ได้ดึงลูกค้าให้มากขึ้นเลย  แล้วลูกค้าคนไทยที่ทุก ธ.ค. ม.ค. จะมาทุกปี เพราะเขารู้ว่าเราลดราคา ก็ไม่มาเลยสักคน หายหมด มีซัก 5-6 รายที่สองเดือนนี้จะมาแวะเป็นพิเศษ ก็ไม่มี คาดว่าเขาก็คงจะกังวลเหมือนกัน" 

เมื่อถามถึงแนวโน้มของปีนี้ว่า จะกลับมาขายดีขึ้นไหม บุญรัตน์บอกว่า คิดว่าคงต้องรอปลายปี เพราะปกติร้านจะขายดีตั้งแต่  พ.ย.-ก.พ. พอ มี.ค. นักท่องเที่ยวจะเริ่มน้อยลง ร้านจะเริ่มเงียบแล้ว แล้วจะอีกทีก็จะประมาณ ส.ค. ก็จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น ช่วงนั้นก็จะเริ่มขายดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็จะผ่านช่วงพีคมาแล้ว คาดว่าอีกทีก็คงจะช่วงกลางๆ หรือปลายปีเลยถึงจะเริ่มมีคนเข้ามามากขึ้น แต่สมมติถ้ายังชุมนุมกันอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ นักท่องเที่ยวไม่มา แล้วคนไทยก็ไม่สบายใจกับการใช้จ่าย ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะรอไปอีกถึงปีไหน 

"อยากจะฝากว่าสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำอยู่ถูกต้องและภูมิใจ ถ้าเขาหันมามองอีกทีจะเห็นว่ามีคนที่กำลัง suffer เรื่องนี้อยู่เหมือนกัน และกำลังรู้สึกเสียใจด้วย ทั้งในแง่ที่ว่าคนในชาติทะเลาะกัน และเรื่องที่ว่าจะดึงความเจริญของประเทศให้ลงไปได้ แทนที่เราจะมีความก้าวหน้าไปได้ เพราะปัจจัยเรื่องความไม่สงบในเมือง ทำให้คนหลายๆ คน นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากจะมาเที่ยว นักลงทุนก็ไม่วางใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วมันเหมือนกับว่าเหตุการณ์นี้มันยิ่งแย่ลง และมันไม่มีกติกาอะไรที่จะให้ความไว้วางใจของพวกนักลงทุนเขาเลยด้วย" บุญรัตน์กล่าวและว่า "เข้าใจว่าคุณรักชาติ เราก็รักชาติเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันสร้างความเสียหายและจะสร้างความเสียหายในระยะค่อนข้างยาวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังไม่คิดจะถอยลงมา  ไม่คิดจะเจรจา ไม่คิดประนีประนอม"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net