‘บัณฑิต อานียา’ รอดคุกคดี 112 ศาลฏีกาพิพากษาแก้ รอลงอาญา

17 ก.พ.2557 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้อง นายสมอลล์ บัณฑิต อานียา ในความผิดมาตรา 112 โดยศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาจำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี  

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้มาสังเกตการณ์คดีนายบัณฑิตราว 30 คนเต็มห้องพิจารณาคดี และก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาศาลฏีกา บัณฑิตได้ร้องขอต่อศาลว่า อยากให้มีการพิจารณาคดีใหม่เนื่องจากเขาไม่มีโอกาสได้เบิกความชี้แจงว่าข้อความของเขาไม่ผิดกฎหมายอย่างไร เนื่องจากพยานปากต่างๆ ต่างยืนยันว่าเขาเป็นบ้า หรือมิเช่นนั้นขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปอีก 3 เดือนเพื่อให้เขามีเวลาหาเงินผ่าตัดแผลจากการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ยังมีปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาชี้แจงว่าในคำเบิกความของเขาได้ให้การปฏิเสธแล้วซึ่งหมายรวมถึงการปฏิเสธอาการจิตเภทด้วย ส่วนการเลื่อนอ่านคำพิพากษนั้นศาลเคยอนุญาตให้เลื่อนไปแล้ว และการจะเลื่อนอีกต้องมีเหตุซึ่งชอบด้วยกฎหมาย เช่น จำเลยป่วยหนักคนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้เท่านั้น

ทั้งนี้ บัณฑิตเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีความผิด 2 กระทง เหตุเกิดเมื่อปี 2546 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.(ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหานายบัณฑิตว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) และ วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

บัณฑิตถูกคุมขังรวม 98 วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท วันที่ 23 มี.ค. 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้รอลงอาญา 3 ปีโดยให้โอกาสบำบัดแล้วรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ในชั้นนี้จำเลยได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท

สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกานั้น ระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความมิได้ขัดแย้งคัดค้านในชั้นฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ เป็นการกระทำผิด 2 กรรมต่างกันจริงตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดในขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังบังคับตนเองได้บ้างหรือไม่ เห็นว่า พยานจำเลยที่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ได้ตรวจและประเมินอาการจำเลยเบิกความยืนยันว่าจำเลยมีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ความผิดปกติดังกล่าวทางการแพทย์เรียกว่าบีไซต์ (Bizare) [ออกเสียงตามศาลอ่าน-ประชาไท] จะมีอาการตลอดเวลา แต่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ในบางช่วงเวลา การตรวจอาการจำเลยพบว่าเข้าข่าย โรคจิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 การที่จำเลยพูดจาทำนองลบหลู่สถาบันในที่สาธารณะและในการให้ปากคำพนักงานสอบสวนโดยที่จำเลยไม่รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าการกระทำของตนเองเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่ ตามประวัติจำเลยเริ่มป่วยเมื่ออายุ 34 ปีเป็นโรคเดียวกับปัจจุบัน บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดจำเลยมองโดยผิวเผินจะไม่ทราบว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท เพราะเป็นความผิดปกติทางจิตใจและสมอง ต้องอาศัยการตรวจสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น คำเบิกความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดในระหว่างที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท เข้าข่ายมาตรา 65 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดโดยรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้ดี ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยฏีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าเมื่อขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว ไม่เคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นเช่นเดียวกัน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา บัณฑิตให้สัมภาษณ์ขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตาในคดีของเขา ที่ผ่านมามีความกังวลปัญหาสุขภาพอย่างยิ่งหากต้องไปอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากเขาได้ผ่าตัดเพื่อนำกระเพาะปัสสาวะและไตออกไปแล้วข้างหนึ่งเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันต้องต่อท่อปัสสาวะกับถุงปัสสาวะที่ต้องนำติดตัวไปตลอด

"รู้สึกดีใจที่ไม่ต้องตายในคุก และยังไม่สิ้นหวังในแผ่นดินนี้ ความยุติธรรมยังมีอยู่แม้จะช้ำเลือดช้ำหนองบ้าง" บัณฑิตกล่าว
 


บัณฑิต อานียา และปีเตอร์ โคเร็ท

ด้านดร.ปีเตอร์ โคเร็ท (Peter Koret) อดีตอาจารย์ด้านวรรณคดีโบราณและประวัติศาสตร์ที่ University of Berkeley และ Arizona State University เป็นนายประกันและเป็นเพื่อนกับบัณฑิตมากว่า 30 ปีให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้จักกับบัณฑิตมานานมากจากผลงานที่ซื้อไปอ่าน และพบว่างานเขียนของบัณฑิตมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนนักเขียนทั่วไป มีสไตล์คล้ายงานเสียดสีสังคมแต่ตลกขบขันของนักเขียนฝรั่ง  ที่ผ่านมาเคยแปลเรื่องสั้นกว่า 10 เรื่องของบัณฑิตเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสอนนักศึกษาในต่างประเทศ และทราบว่าปัจจุบันในมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก อาจารย์ในภาควิชาเอเชียอาคเนย์ก็ใช้เรื่องสั้นของบัณฑิตเป็นวัตถุดิบในการสอน เช่นเรื่อง ดอกบัวใต้น้ำ , ผัวใครหาย เมียใครหาย เป็นต้น นอกจากนี้ปีเตอร์ยังเตรียมจะเขียนชีวประวัติของบัณฑิตตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษภายในปีนี้ โดย 30-40% เป็นเนื้อหาที่บัณฑิตเคยเขียนถึงชีวิตตนเอง

“งานเขียนของเขาน่าสนใจ คนต่างประเทศอ่านแล้วมักจะชอบ เพราะมีวิธีเล่าเรื่องเสียดสีสังคมในแบบเฉพาะของตัวเอง เห็นความเป็นธรรมได้โดยไม่ต้องเศร้าโศก ส่วนชีวิตของเขาก็น่าสนใจมาก ไม่น่าจะมีใครที่กล้าชำแหละ พูดถึงชีวิตตัวเองตรงไปตรงแบบเขามากนัก” ปีเตอร์กล่าว

หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจาก เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท