ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (7): ปริศนาเจตนารมณ์ของ "กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตอนที่ 7 จาก “ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์” โดยอธิป จิตตฤกษ์ ย้อนดูจุดกำเนิดของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกในโลก ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์การเรียนรู้ของสาธารณชนมากกว่าเพื่อรักษาผลประโยชน์พ่อค้า

วันที่ 10 เมษายน 1710 เป็นวันที่กฎหมายที่เรียกกันว่า Statue of Anne [1]  เริ่มบังคับใช้ในอังกฤษ จนถึงทุกวันนี้คนก็แทบไม่รู้เนื้อหาของมันแล้ว แต่เหล่าผู้นิยมลิขสิทธิ์และนักวิชาการด้านลิขสิทธิ์ก็จะอ้างซ้ำๆ เสมอว่ากฎหมายฉบับนี้คือ “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” [2] ซึ่งแน่นอนว่าการอ้างแบบนี้ก็เกี่ยวพันกับการพูดถึง “เจตนารมณ์ลิขสิทธิ์” ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันแน่นอนว่าทำไมสิ่งที่เรียกว่า “ลิขสิทธิ์” ถึงอุบัติมายังโลกนี้เป็นครั้งแรก ปัญหาคืออะไรคือเจตนารมณ์จริงๆ ของกฎหมายฉบับนี้?

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้เกิดจากแรงกดดันจากพวกสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนที่สูญเสียสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือภายใต้ “เสรีภาพสื่อ” หลังการจบสิ้นของ Licensing Act ในปี 1695 “เสรีภาพสื่อ” หมายถึงการพิมพ์นั้นเกิดได้ทั่วราชอาณาจักรโดยไม่ต้องไปขออนุญาตใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะนายทะเบียน ทางสมาคมฯ หรือกระทั่งผู้เขียน

ข้อเท็จจริงคือพวกกลุ่มพ่อค้าหนังสือโวยวายมาตั้งแต่ Licensing Act จบลงแล้วว่าพวกเขาต้องการ Licensing Act ฉบับใหม่ที่จะยืนยันสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ของสมาคมอยู่ แต่ความพยายามนั้นล้มเหลวมาตลอด 10 ปีหลังจาก Licensing Act หมดอายุลง และอันที่จริงในรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 1795-1704 ก็มีการพยายามจะผ่านกฎหมายที่มีลักษณะควบคุมสิ่งพิมพ์มาถึง 13 ฉบับ แต่มีฉบับเดียวที่ผ่านคือกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์หมิ่นศาสนา [3] ดังนั้นเสรีภาพสื่อของอังกฤษในภาพรวมช่วง 10 ปีแรกนั้นจึงมั่นคงมากๆ ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีคนที่เปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิในการผูกขาดของทางสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนคือนักเขียนขายดีอย่าง Daniel Dafoe ที่ตีพิมพ์เรียงความ An Essay on the Regulation of the Press ออกมาในปี 1704 [4] ในเรียงความนี้ Dafoe ดูจะเรียกร้องสิทธิของผู้เขียนในฐานจะของ “เจ้าของ” งานที่ไม่ควรถูกละเมิดอย่างแข็งขัน [5] และสิ่งที่ Dafoe ยืนยันก็คือแม้ว่าอังกฤษควรจะมีเสรีภาพสื่อ แต่ก็ควรจะมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ผู้เขียนถูกพวกพ่อค้าหนังสือละเมิดตีพิมพ์งานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งเขามองว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายหลัง Licensing Act หมดอายุ เพราะการตีพิมพ์อะไรก็ได้ มันหมายถึงการตีพิมพ์งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนด้วย [6]

การเรียกร้องของ Defoe ถูกบางฝ่ายตีความหมายเป็นการที่ “นักเขียน” ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิเหนือ “ลิขสิทธิ์” งานตัวเองก่อนจะมีลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีในกรอบความคิดของยุคนั้นสิ่งที่ Defoe ทำดูจะเป็นเรื่องที่พิสดารพอควร เพราะแนวคิดว่างานเขียนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของนักเขียนก็ยังไม่เกิดขึ้นในยุโรปต้นศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ปัญหาของการที่งานโดนพิมพ์ซ้ำแบบไม่ได้รับอนุญาตหรือโดน “ไพเรต” ไม่ใช่ปัญหาปกติของนักเขียนยุคนั้นที่ไม่มีใครเป็นนักเขียนอาชีพ สุดท้ายการขายต้นฉบับขาดให้สำนักพิมพ์ก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นนักเขียนทั่วๆ ไปก็จึงไม่ใช่ผู้จะยินดิยินร้ายกับการที่งานของตัวเองถูกตีพิมพ์ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว

สิ่งที่ต้องเข้าใจคือการออกมาโวยวายของ Defoe ดูจะเป็นกรณียกเว้นมากๆ ซึ่งข้อยกเว้นนี้ก็เข้าใจได้เพราะ Defoe เป็นนักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์อันดับหนึ่งด้วยซ้ำของอังกฤษต้นศตวรรษที่ 18 ดังที่บทกวีเสียดสีการเมืองในปี 1701 ของ Defoe อย่าง “The True-Born Englishman” ตีพิมพ์แบบที่ได้รับอนุญาตไป 9 ครั้ง และถูกพิมพ์แบบ “ไพเรต” ไป 10 กว่าครั้ง รวมเป็นยอดพิมพ์รวมกว่า 80,000 ฉบับภายใน 4 ปี [7] ซึ่งนี่ก็คงจะไม่ใช่ตัวเลขธรรมดาแน่ๆ ในยุคที่ปกติหนังสือเล่มหนึ่งๆ พิมพ์กันไม่ถึง 1,000 เล่มด้วยซ้ำโดยเฉลี่ย

Defoe ดูจะเป็นเสียงที่ไม่ได้เป็น “ตัวแทน” ของนักเขียนในยุคนั้นได้แน่ๆ แต่ก็ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วที่บรรดาพ่อค้าศิลปวัฒนธรรมไม่ได้สนใจคำถามว่าเสียงเหล่านี้จะเป็นตัวแทนได้ดีหรือไม่ไปมากกว่าคำถามว่า เสียงเหล่านี้สามารถรับใช้วาระทางการเมืองของพวกเขาได้หรือไม่ ซึ่งผลคือหลังจาก An Essay on the Regulation of the Press ทางสมาคมพ่อค้าหนังสือแห่งอังกฤษก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การกดดันสภาให้ออกกฎหมายจากเดิมเพื่อสิทธิในการผูกขาดของทางสมาคม มาเป็นให้ออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิกรรมสิทธิ์เหนืองานเขียนของนักเขียน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วกรรมสิทธิ์นี้ก็จะถูกนักเขียนขายขาดและโอนมาเป็นของพ่อค้าหนังสืออยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ Defoe เสนอนั้นก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตนักเขียนหน้าไหนดีขึ้น และการโวยวายเรื่องการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ของผู้ผลิตงานก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐของ “อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์” มาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว

การกดดันครั้งใหม่ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสภาในที่สุด เมื่อมีการร่างกฎหมายมาในปี 1709 และผ่านกฎหมายมาในที่สุดในปี 1710 ซึ่งกฎหมายนี้ก็รู้จักกันในนาม Statute of Anne ดังที่ได้ว่ามา

ปัญหาคือสภาอังกฤษในยุคนั้นคล้อยตาม “แรงกดดันจากอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์” ง่ายๆ ดังนี้เลยหรือ? หากวิเคราะห์ตัวบทของ Statute of Anne เองไปจนถึงการใช้กว่าครึ่งศตวรรษให้หลังคำตอบดูจะเป็นไม่ใช่

เบื้องต้น สภาไม่ได้ทำตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนที่เรียกร้องให้สภาออกกฎหมายยืนยันว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ไม่ได้มีความต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ ที่สามารถซื้อขายและถือครองได้ตลอดไป เพราะสิ่งที่สภาทำใน Statute of Anne คือการไม่ยอมใช้คำว่า Property แม้แต่คำเดียวในกฎหมาย พร้อมการระบุชัดเจนว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือ สิทธิในการพิมพ์ซ้ำ (ซึ่งในตอนนั้นหมายถึงการพิมพ์ซ้ำทุกตัวอักษรจริงๆ) ภายใต้กฎหมายฉบับนี้มีวันหมดอายุโดยวันหมดอายุสำหรับหนังสือที่ได้ตีพิมพ์มาแล้วนั้นนับไป 21 ปีหลังจากกฎหมายบังคับใช้ และนับไป 14 ปีหากมีการพิมพ์หนังสือหลังกฎหมายบังคับใช้แล้ว การกำหนดวันหมดอายุของลิขสิทธิ์นี้เป็นไปตาม Statute of Monopolies จากปี 1624 [8] อันเป็นกฎหมายสิทธิบัตรอังกฤษที่ออกมาเพื่อจำกัดการออกสิทธิบัตรพร่ำเพรื่อโดยกษัตริย์ไปจนถึงการต่ออายุสิทธิบัตรไปเรื่อยๆ ในแง่นี้สภาไม่ได้เห็นว่าสิทธิในการผูกขาดการผลิตหนังสือควรจะได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้าไปยาวนานกว่าสิทธิในการผูกขาดการผลิตศิลปะเชิงกลไก (mechanical art) หรือนวัตกรรมอื่นๆ

พูดง่ายๆ คือสภาไม่เห็นว่าสิทธิในการผูกขาดการผลิตหนังสือที่พิมพ์ใหม่เล่มหนึ่งๆ ไม่ควรจะมีอายุยืดยาวไปกว่าสิทธิในการผูกขาดยาชนิดใหม่ไปจนถึงเครื่องจักรกลชนิดใหม่ สภาเห็นว่าระยะเวลา 14 ปีก็มากเกินพอแล้วสำหรับการผูกขาดการตีพิมพ์หนังสือสักเล่ม ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่สมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนต้องการแน่นอนเพราะหนังสือที่ขายดีสุดๆ และขายได้เรื่อยๆ คือพวกหนังสือคลาสสิคของนักเขียนรุ่นก่อนๆ ที่ตายไปหลายสิบปีหรือกระทั่งเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และทางสมาชิกสมาคมถือสิทธิ์ในการผูกขาดพิมพ์มายาวนานก่อน Licensing Act จะจบสิ้นลง

ทำไมสภาถึงทำเช่นนี้? อันที่จริงแล้วหากไปดูส่วนอื่นๆ ของ “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” นี้เจตนารมณ์ของกฎหมายจะชัดเจนขึ้น เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือบทบัญญัติที่พูดถึงการร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีที่พวกพ่อค้าหนังสือขายหนังสือแพงเกินไป ซึ่งบทบัญญัติก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปรับเปลี่ยนราคาใหม่ตามที่เหมาะสมพร้อมกับกำหนดค่าปรับสูงลิบกับพ่อค้าหนังสือที่ยังยืนยันจะขายหนังสือราคาแพงอยู่อีกหลังรัฐประกาศปรับราคาใหม่ นอกจากนี้ก็ยังมีบทบัญญัติที่เรียกร้องให้พวกพ่อค้าหนังสือส่งหนังสือที่ตีพิมพ์ด้วยกระดาษที่ดีที่สุดถึง 9 เล่มไปให้เหล่าห้องสมุดที่รัฐกำหนดอีก และนี่ก็มาพร้อมกับค่าปรับสูงลิบสำหรับพ่อค้าหนังสือที่ไม่ยอมส่งหนังสือให้รัฐ บทบัญญัติเหล่านี้ดูจะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ในสังคมอังกฤษตอนนั้นมากกว่าจะเป็นกฎหมายเอาใจอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ดังกฎหมายลิขสิทธิ์ทุกวันนี้ เพราะอย่างน้อยๆ บทบัญญัติที่ว่ามาดูจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ในระดับสูงจนผู้สนับสนุนกฎหมายลิขสิทธิทุกวันนี้ด้วยเหตุผลว่ามัน “สร้างสมดุล” ในระบบการผลิตศิลปวัฒนธรรมควรจะละอาย

หากนี่ยังเป็นเหตุผลไม่พอ กฎหมายที่ออกมาควบคุมภาษีกระดาษและหนังสือในปี 1711 ที่เรียกว่า Stamp Act ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ในการให้อำนาจรัฐในการลดหย่อนภาษีหนังสือบางประเทศอีกด้วย [9] ดังนั้นบรรยากาศของสภาในช่วงนั้นจึงเป็นไปในเชิงออกกฎหมาย “ส่งเสริมการเรียนรู้” จริงๆ ไม่ใช่เป็นการเอา “การส่งเสริมศิลปวัฒนธรม” มาเป็นข้ออ้างที่ไม่สวยหรูด้วยซ้ำของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทุกวันนี้เพื่อทำให้ลิขสิทธิ์มีขอบเขตการคุ้มครองมากขึ้น และหากเจตนารมณ์ของสภาจะยังไม่ชัดอีก ชื่อเต็มของ Statute of Anne ที่ว่า “An Act for the Encouragement of Learning, by Vesting the Copies of Printed Books in the Authors or Purchasers of such Copies, during the Times therein mentioned” ก็คงจะไม่ใช่เหตุบังเอิญที่กฎหมายนี้เริ่มด้วยถ้อยคำว่า “พระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้...” [10]

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปแล้ว กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเหล่าพ่อค้าหนังสือหรือกระทั่งผู้เขียน แต่มันเป็นไปเพื่อให้สาธารณชนคนอังกฤษได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มขึ้น มันไม่ได้เป็นอะไรนอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปกฎหมายให้สิทธิในการผูกขาดในระยะเวลาจำกัดเพื่อกระตุ้นให้มีการตีพิมพ์หนังสือมากขึ้น

อ้างอิง:

  1. อ่านตัวบทได้ที่ http://www.copyrighthistory.com/anne.html
  2. ซึ่งจริงๆ นี่ไม่ถือว่าเที่ยงตรงนักเพราะไม่มีคำว่า Copyright ปรากฏแม้แค่คำเดียวใน Statute of Anne คำว่า “Copy-Right” ดูจะมีบันทึกว่าปรากฎครั้งแรกในร่างกฎหมายเพื่อแก้ Statute of Anne ในปี 1735 ดู Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004), p. 95, 101
  3. Ronan Deazley, ibid, pp. 28-29
  4. อ่านได้ที่ http://www.luminarium.org/renascence-editions/defoe2.html
  5. ซึ่งที่น่าสนใจคือความคิดเรื่อง “เจ้าของ” ของเขาดูจะวางอยู่บนฐานคิดว่าผู้เขียนเป็น “พ่อ” ของงานเขียน และงานเขียนก็เป็นดั่ง “ลูก” ดังนั้นในแง่หนึ่งแนวคิดเรื่องทรัพย์สินวรรณกรรมของ Defoe จึงเป็นแบบ “พ่อปกครองลูก” ตามลำดับอำนาจของสังคมอังกฤษในสมัยนั้นที่ลูกและเมียก็เป็นทรัพย์สินแบบหนึ่ง Mark Rose, Authors and Owners: The Invention of Copyright, (Cambridge, Harvard University Press, 1993), pp. 34-41
  6. คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่คนอย่าง Defoe ใช้คำว่า Piracy ในความหมายที่ไม่ได้เกี่ยวกับ “โจรสลัด” ในแบบดั้งเดิม แต่หมายถึงการตีพิมพ์หนังสือเถื่อน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไพเรซี่อย่าง Adrian Johns เองก็ชี้ว่าคำๆ นี้ยังมีความหมายเกี่ยวกับโจรสลัดอยู่เลยในปี 1600 แต่พอมาปี 1700 คำๆ นี้ถูกใช้ในความหมายของการตีพิมพ์หนังสื่อเถื่อนอย่างแพร่หลาย และหลังจากนั้นคำนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วสังคมอังกฤษโดยหมายถึงอะไรที่มีลักษณะ “เถื่อน” หรือ “ลอกเลียนแบบ” เพราะสุดท้ายพวกหมอยังเรียกหมอคนอื่นที่ลอกเลียนวิธีรักษาของเขาว่า “ไพเรต” เลยในช่วยทศวรรษ 1730 อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องเข้าใจไปพร้อมกับก็คือ “โจรสลัด” ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ “ป็อปคัลเจอร์” ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 เพราะยุคนั้นก็คือยุคทองของโจรสลัดในทะเลแคริบเบียนที่มีโจรสลัดดังๆ ที่คนอังกฤษรู้จักมากมาย ส่วนจะชื่นชมหรือเดียดฉันท์ก็จะต่างกันไปในแต่ละบุคคล อันที่จริงตัว Defoe เองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโจรสลัดพอควรเพราะ Defoe น่าจะเป็นตัวจริงของบุคคลลึกลับนามว่า Captain Charles Johnson ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโจรสลัด A General History of the Pyrates ในปี 1924 (นี่เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมรุ่นหลังเชื่อจากการวิเคราะห์สำนวนของนักเขียนลึกลับผู้นี้เทียบกับ Defoe) หรืออย่างน้อยๆ เรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัดก็มีอยู่ในนวนิยายเรื่องดังของเขา Robinson Crusoe ในปี 1719 ดู  Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 23-24
  7. ดู Richard D. Altick, The English Common Reader: A Social History of the Mass Reading Public, 1800-1900, Second Edition, (Columbus: Ohio State University Press, 1957), p. 71
  8. Mark Rose, ibid, pp. 44-45
  9. Ronan Deazley, ibid, pp. 43-44
  10. สิ่งที่น่าสนใจอีกประการที่มักจะเป็นได้รับการกล่าวถึงก็คือกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ใส่ใจจะคุ้มครองนักเขียนโดยตรงเลย เพราะอย่างน้อยที่สุดกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีการระบุใดๆ ว่างานเขียนที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จะได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท