นิธิ เอียวศรีวงศ์: คนกลางของผู้ใหญ่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ใหญ่" พากันออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับทางออกจากวิกฤตทางการเมืองในครั้งนี้ไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือต้องลืม, พักร้อน, เว้นวรรคหลักการความชอบด้วยกฎหมายไว้ก่อน เพื่อทำให้วิกฤตคลี่คลายลง ดังนั้น ทางออกจากวิกฤตจึงอาจเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกหลักประชาธิปไตย รวมทั้งอาจไม่ถูกใจคนจำนวนมากก็ได้

แต่ไม่มีใครใช้คำว่ารัฐประหารสักคนเดียว น่าประหลาดแท้ๆ ทั้งๆ ที่การกระทำที่พวกเขาเสนอก็คือรัฐประหารนี่แหละ

กฎหมายเป็นเรื่องไม่สู้สำคัญนัก อย่างที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ชี้ว่ากฎหมายก็เขียนขึ้นโดยมนุษย์ แก้เสียก็ได้ หรือ (หากแก้ไม่ทัน) ก็ตีความให้มีความหมายไปในทางที่ปฏิบัติได้ หรือปฏิบัติแล้วดีแล้วกัน สอดคล้องกับที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า "... ในเมื่อกฎหมายคนเขียน แม้แต่เวลาการประชุมนี่ คุณก็สามารถเปลี่ยนกฎการประชุมได้..." (ผมเรียกท่านว่านายกฯ นอกตำแหน่งตามคำสอนของครูผม - พระยาอนุมานราชธน - ซึ่งอธิบายว่า อดีตหมายถึงคนที่ตายแล้ว หากเขายังไม่ตายแต่อยู่นอกตำแหน่งก็ให้เรียกว่านอกตำแหน่ง เป็นความแตกต่างอย่างเดียวกับคำว่า past และ ex ในภาษาอังกฤษ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ แม้แต่กฎหมายยังไม่สำคัญ กะอีแค่เรื่องถ้อยคำจะสำคัญอะไรกันนักหนา อยากเรียกอะไรก็เรียกไปเถิดครับ)

เทคโนแครตซึ่งคณะรัฐประหารปี 2549 ชวนให้เข้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล บอกอย่างไม่ต้องเหนียมเลยว่า ให้นายกฯคนปัจจุบันลาออกเสีย เพื่อเปิดให้นายกฯคนกลางเข้ามารับตำแหน่งแทน

ไม่มีคำอธิบายว่า นายกฯคนกลางนั้นจะมาจากไหน อาศัยความชอบธรรมอะไร แต่นั่นเป็นเรื่องกฎหมายอีกแล้ว ก็กฎหมายไม่สำคัญไงครับ ที่สำคัญกว่าก็คือจะออกจากวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ได้อย่างไรสำคัญกว่า

ผมก็เพียงทะลึ่งคิดว่า กฎหมายอาจไม่สำคัญก็ได้ แต่ความชอบธรรมนั้นสำคัญแน่แม้แต่ในซ่องโจร ซึ่งไม่มีกฎหมายอะไรเลย อันที่จริงวิกฤตครั้งนี้ ไม่ใช่วิกฤตทางการเมืองเท่ากับวิกฤตความชอบธรรม เพราะอะไรที่คนทั่วไปยอมรับว่าถูกต้องชอบธรรม (ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่) ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเคยเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่ได้มาจากเสียงข้างมาก กฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือ จากการยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ หรือจากการรับรองจากสถาบันตามประเพณี ที่เราออกจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ ก็เพราะมันไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่ทุกฝ่ายยอมรับเหลืออยู่ในสังคมไทยอีกแล้วต่างหาก

เรากำลังเผชิญกับการพังสลายของสังคมทั้งสังคม และเรื่องนี้ใหญ่กว่าการพังสลายของเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ห่วงใยของ "ผู้ใหญ่" ทั้งหลายเสียอีก แต่ท่านเหล่านั้นดูเหมือนไม่ใส่ใจกันเลย

ที่สำคัญกว่าความชอบธรรมของนายกฯคนกลางก็คือ เขาคนนั้นเป็น "กลาง" ระหว่างอะไรหรือครับ หากคิดว่าเป็นกลางระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและ กปปส. คนอื่นๆ อีกจำนวนมากในสังคมไทยจะเห็นว่าเขาเป็น "กลาง" หรือครับ ทั้งพรรคเพื่อไทยและ กปปส.ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยส่วนใหญ่ ความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่อยู่ข้างล่างซึ่งท่าน "ผู้ใหญ่" ไม่มอง หรือไม่เชื่อว่ามีอยู่นั้น ใหญ่กว่านั้นมาก ทั้งไม่อาจละเลยญาณทัสนะ (perception บางคนเรียกมโนทัศน์) ของเขาไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างรูปธรรมก็ได้นะครับ นายกฯคนกลางยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด คิดหรือครับว่า ชาวนาจำนวนมากซึ่งได้รับเม็ดเงินจากโครงการรับจำนำค่อนข้างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นครั้งแรก จะยังมองเขาในฐานะเป็น "กลาง" ระหว่างชาวนา, รัฐ, โรงสี, ผู้ส่งออก และผู้ขายข้าวในประเทศ อีกหรือ

ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ อาจมองเห็นความซับซ้อนของปัญหานี้ จึงกล่าวก่อนจะสรุปลงท้ายให้ผิดฝาผิดตัวไป (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) ว่า "แต่คราวนี้ตัวละครเล่น ตัวเล่นมันมีมาก อาจจะมี 2 พรรค อาจจะมี 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายแต่ละพรรคก็ไม่ใช่มีตัวเล่นคนเดียว แต่ยังมีพวกตัวเล่นที่อยู่วงรอบนอก ยังมีอีกมาก ประเด็นก็มากมาย..."

ใช่เลยครับ มันซับซ้อนกว่าที่เทคโนแครตทางเศรษฐศาสตร์อย่างคุณปรีดิยาธรจะเข้าใจได้ ผมเพียงแต่อยากเตือนความเห็นแบบท่านนายกฯนอกตำแหน่งว่า หากเรายังมองพลังของความขัดแย้งในสังคมเป็นตัวบุคคล เช่นมองเห็นว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเล่นที่อยู่วงรอบนอกของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ประการแรก ก็จะทำให้ไม่อาจหยั่งถึงความซับซ้อนของความขัดแย้งได้ปรุโปร่ง เพราะตัวเล่นที่สำคัญกว่าบุคคลคือพลังทางสังคมต่างหาก เช่นเมื่อชาวนาผลิตข้าวสู่ตลาดเต็มตัวเช่นนี้ การแสวงหาความมั่นคงด้านรายได้ในการผลิตเพื่อตลาดย่อมเป็นพลังที่ไม่เกี่ยวกับลุงมาป้าเมี้ยนที่ทำนาเช่าอยู่แถวอยุธยา ประการที่สอง หากย่อพลังทางสังคมให้เหลือเป็นเพียงบุคคลเช่นทักษิณ อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิย่อพลังทางสังคมของฝ่ายตรงข้ามให้เป็นบุคคลได้เหมือนกัน และบุคคลคนนั้นเป็นใครท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์คงพอเดาได้

ผมเข้าใจว่า ข้อเสนอที่หยาบคายขนาดนายกฯคนกลางคงตกไป กลายเป็นการหาคนกลาง (อีกแล้ว) มาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย ข้อเสนอใหม่นี้ตัดปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมายออกไป (อย่างน้อยก็ตัดออกไปก่อน) จึงดูเหมือนเป็นที่รับรองได้ง่ายแก่ทุกฝ่าย ส่วนคนกลางดังกล่าวจะหาได้อย่างไรในสังคมที่ความชอบธรรมทุกชนิดกำลังล่มสลายลง ยกไว้ก่อน สมมุติว่ายังมีฤๅษีที่ไหนในป่าหิมพานต์เหลืออยู่สักคนที่พร้อมจะเป็นคนกลาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้

แต่ปัญหาเดิมก็ยังตามมาอีกว่า ใครควรเข้าร่วมการเจรจา โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งไปแล้ว สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยสัญญาว่าหากได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมากอีก ก็จะบริหารไม่เกิน 1 ปี แล้วจะยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ มันจะแฟร์แก่ผู้ที่ไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยหรือครับ หรือสัญญาว่าหากเป็นรัฐบาลอีกก็จะยกเลิกนโยบายจำนำข้าว มันจะแฟร์แก่ชาวนาหรือครับ หรือสัญญาว่าจะไม่ดำเนินคดีกับแกนนำกปปส. มันจะแฟร์ต่อสังคมไทยหรือครับ เพราะเราจะรื้อฟื้นความชอบธรรม (ทางกฎหมาย, ทางวัฒนธรรม, ทางศีลธรรม ฯลฯ) กลับคืนมาได้อย่างไร หรือเราจะอยู่ในสังคมที่ไม่มีฉันทานุมัติเกี่ยวกับความชอบธรรมเหลืออยู่อีกเลยต่อไป

ผมคิดว่าการเจรจาถ้าจะเกิดขึ้นอาจทำได้ผลเฉพาะในเรื่องที่แคบที่สุดเท่านั้น จนไม่สามารถทำให้วิกฤตคลี่คลายไปได้

ท่านนายกฯนอกตำแหน่ง อานันท์ ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศมามาก เสนอเทคนิคการเจรจาซึ่งได้ผลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้ นั่นคือไม่เจรจาเรื่องที่ไม่อาจจะมีความเห็นพ้องกันได้ไว้ก่อน แล้วหยิบเรื่องที่น่าจะสามารถเห็นพ้องกันได้ขึ้นมาเจรจาก่อน

ท่านยกตัวอย่างสองเรื่องที่ท่านเชื่อว่าล้วนอยู่ในวาระของทั้งสองฝ่าย คือเรื่องความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

ผมไม่แน่ใจว่าทั้งสองเรื่องนี้อยู่ในวาระของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ แต่สมมุติว่าอยู่จริง ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายมองมิติของสองเรื่องนี้แตกต่างกันมากพอสมควร ยังไม่พูดถึงมองทางออกของสองปัญหานี้แตกต่างกันสุดขั้วเลย

ยิ่งไปกว่านั้น หากรวมตัวเล่นในวงนอกที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่งพูดถึง (ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมวงเจรจาด้วย) สองประเด็นนี้ยิ่งมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น และยากจะประสานเป็นหนึ่งเดียวได้ เช่น ไม่มีฝ่ายใดในสองฝ่ายสนใจกับความยากจนของคนที่ถูกจัดอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพราะจำนวนไม่มากเท่าคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซ้ำเข้าถึงได้ยากทางการเมือง จึงไม่เป็นฐานคะแนนเสียงให้ใครได้

เคยมีงานวิจัยที่สอบถามความคิดเห็นของเสื้อแดงและเสื้อเหลือง น่าประหลาดที่คนเสื้อแดงไม่ค่อยเห็นว่าตัวคือคนจน ซ้ำยังรู้สึกว่ารับได้กับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย ในขณะที่คนเสื้อเหลืองรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมากจนรับไม่ได้

ความยากจนก็ตาม ความเหลื่อมล้ำก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วเป็นเรื่องของญาณทัสนะ หรือ perception อย่างที่ท่านกล่าวไว้นั่นแหละ ผมคิดว่าญาณทัสนะนั้นยังสัมพันธ์กับความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของบุคคลด้วย ผมจึงมองไม่เห็นว่าจะเจรจาระหว่างสองฝ่ายโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง ต่อสู้และต่อรองในกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร

สองฝ่ายคงเห็นพ้องต้องกันว่า สองเรื่องนี้มีความสำคัญ แล้วยังไงครับ ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านงั้นหรือ

คู่เจรจาในความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่างเป็นตัวแทนของประชาชนในฝ่ายของตน (แทนจริงหรือแทนไม่จริงก็ตาม แต่ข้อตกลงของเขาผูกมัดประชาชนของสองฝ่ายได้จริง) แต่การเจรจาของสองฝ่ายในวิกฤตภายใน จะไม่ผูกมัดใครเลยสักคนเดียว ขนาดการ์ดที่ตัวเสียเงินจ้างมาแท้ๆ ยังคุมไม่ได้ จะหวังให้แกนนำ กปปส.ไปผูกมัดอะไรกับผู้ร่วมชุมนุม เช่นเดียวกับประชาชนอีกจำนวนมากที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็ลงคะแนนเสียงช่องไม่ใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้

เพราะความซับซ้อนของวิกฤตดังที่ท่านนายกฯนอกตำแหน่งได้แสดงสำนึกไว้แล้วนั่นแหละ ทำให้การพักร้อนประเด็นร้อนเพื่อเจรจากันในประเด็นเย็นของสองฝ่าย ไม่สามารถนำไปสู่การระงับความขัดแย้งของพลังทางสังคมได้

ในความขัดแย้งระหว่างประเทศ แม้แต่ในภาวะสงครามแย่งดินแดน หากทั้งสองฝ่ายมองเห็นแล้วว่าไม่มีฝ่ายใดชนะเด็ดขาดได้เลย ข้อเสนอหยุดยิงในการเจรจาก็อาจเป็นผลได้ เพราะสอดคล้องกับความต้องการของสองฝ่ายที่ไม่ต้องการสูญเสียมากไปกว่าจำเป็น แต่หากสองฝ่ายยังหวังจะกำชัยชนะเด็ดขาดได้ในบั้นปลาย ข้อเสนอหยุดยิง อาจถูกปัดไปจากโต๊ะเจรจาทันที แม้กระนั้น ก็ยังอาจมีอีกบางประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกัน เช่น แลกเปลี่ยนเชลยศึก เพียงเรื่องเดียวก็นำไปสู่การเจรจารายละเอียดได้อีกหลายเรื่อง

แต่ความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนซึ่งเกิดในประเทศไทยเวลานี้ ไม่ง่ายอย่างนั้น ผมมองไม่เห็นว่ามีอะไรที่ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะเรื่องเล็กๆ ที่ดูไม่เป็นสาระสำคัญของความขัดแย้ง ล้วนมีนัยะไปถึงเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่านั้นเสมอ เช่นแลกเปลี่ยนการเปิดสถานที่ราชการบางแห่ง กับการถอนคดีของแกนนำบางคน ดูเป็นเรื่องง่ายและไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แต่การเปิดสถานที่ราชการขัดแย้งกับหลักการอารยะขัดขืนที่ฝ่าย กปปส.อ้างตลอดมา ไม่มีกำลังจะปิดได้เป็นเรื่องหนึ่ง การยอมถอยออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเท่ากับยอมรับที่จะ "เชื่อฟัง" กฎบางอย่างที่ทางฝ่ายรัฐบาลมีส่วนร่วมสร้างขึ้น เช่นเดียวกับการถอนฟ้อง เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าที่ต่อสู้กันมาตั้งนานนั้น ไม่ใช่ความพยายามจะรักษาระเบียบแบบแผนของสังคมท่ามกลางอุปสรรครอบด้านหรอก เป็นแค่การต่อสู้กับศัตรูทางการเมืองของตนเองเท่านั้น

บนโต๊ะเจรจา เราจะพักร้อนประเด็นใดก็ได้ แต่ในสถานการณ์จริง เช่น ในสงครามหรือในการแบกรับภาระเป็นรัฐบาลรักษาการของประเทศ ไม่มีใครมีสิทธิเลือกพักร้อนประเด็นอะไรได้ตามใจชอบ เช่น ในสงคราม การรุกของข้าศึกย่อมเป็นประเด็นที่เอามาพักร้อนไม่ได้ รัฐบาลรักษาการก็พักร้อนการเลือกตั้งไม่ได้เหมือนกัน การเลือกตั้งคือการคืนกลับสู่สภาวะของระเบียบสังคมเดิมอันเป็นสิ่งที่ กปปส.ปฏิเสธ ฉะนั้น กปปส.ก็พักร้อนประเด็นนี้ไม่ได้เหมือนกัน

แน่นอนว่า ในความขัดแย้งใดๆ การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอ แต่การเจรจาเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้การเจรจาเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแก่ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ผมคิดว่าขณะนี้เงื่อนไขนั้นพอมี แต่ยังไม่สุกงอมพอ เช่น ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยผ่านมาในสังคมไทยระยะหลัง มักมีอำนาจนอกระบบออกมายุติความขัดแย้งในรูปใดรูปหนึ่ง แต่ครั้งนี้ยังไม่มี (จึงทำให้ท่านนายกฯนอกตำแหน่งเห็นว่ากินเวลายาวนานกว่าวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา) หากเป็นที่แน่ชัดว่า จะไม่มีอย่างแน่นอนเมื่อไร ผมเชื่อว่าเงื่อนไขสำหรับการเจรจาก็จะสุกงอมจนเกิดการเจรจาขึ้นจนได้

ในสภาพที่สังคมกำลังปริ่มๆ จะพังสลายลงนี้ ผมคิดว่าเราต้องกู้สังคมให้ฟื้นกลับคืนมา นั่นคือยืนยันในหลักความชอบธรรมของกฎหมายไว้ก่อน จริงอยู่กฎหมายไม่ได้ผดุงความชอบธรรมไปหมดทุกมาตราหรือทุกฉบับ และด้วยเหตุดังนั้น จึงแก้ได้และควรแก้ แต่ก็มีกระบวนการแก้กฎหมายที่ชอบธรรม ซึ่งเราต้องยึดถือไว้อย่างมั่นคงด้วย

สักแต่ให้วิกฤตการเมืองหมดๆ ไป โดยไม่ต้องห่วงว่าสังคมที่เหลือคืออะไร จะเป็นสภาวะการลงทุนที่ดีได้อย่างไร ทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนภายใน คงอยากวางทุนของตนไว้ในสังคมที่มีระเบียบแบบแผน มากกว่าไว้ในซ่องโจร ซึ่งแม้ไม่มีการชุมนุมปิดถนนเลย แต่ก็คือซ่องโจรอยู่ดี
 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน 24 ก.พ.2557

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท