สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19 - 25 ก.พ. 2557

ไฟเขียวจ่าย 24 ล้าน เยียวยา รง.เครือสหฟาร์มกว่า 1.5 พันราย

(19 ก.พ.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เปิดเผยว่า จากการประชุมของคณะกรรมการเมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณาและตรวจสอบเอกสารพบว่าการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ของลูกจ้างบริษัทโกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัดและบริษัท สหฟาร์ม จำกัด เป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบ คณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้จ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน จากนายจ้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและค้างจ่ายค่าจ้างบางส่วน รวม 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริษัท สหฟาร์ม จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แก่ลูกจ้างจำนวน 1,575 คน เป็นเงิน 24,246,233 บาท     

ด้าน นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าโดยเร็วในกรณีออกจากงานหรือตาย หรือได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างหรือเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ซึ่งได้รับกองทุนประเดิมจากรัฐบาล   จำนวน 200,000,000 บาท และปัจจุบันได้รับเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 400,000,000 บาท รวมทั้งเงินค่าปรับจากการลงลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เงินบริจาค เงินดอกผล ของกองทุนฯ และเงินรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อกองทุนจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างแล้วก็จะเรียกให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปัจจุบันกองทุนฯได้จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างไปแล้ว จำนวน 55,388 คน เป็นเงิน 413,156,209 บาท และคงเหลือเงินจำนวน 236,941,445.21 บาท      

ทั้งนี้ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนดังกล่าว ได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดในทุกจังหวัด

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-2-2557)

แรงงานพม่า 2 แสนครบกำหนดอยู่ไทย กกจ.เปิด 3 ด่านรับกลับทำงานผ่านเอ็มโอยู

(19 ก.พ.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งพม่า กัมพูชา และลาวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยและทำงานอยู่ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าว 1 หมื่นคนที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (เอ็มโอยู) และขณะนี้ได้ครบกำหนดจะต้องกลับประเทศต้นทางไปก่อน 3 ปี จึงจะกลับเข้ามาทำงานในไทย ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กกจ.ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่ต้องรอถึง 3 ปีก็ให้กลับเข้ามาทำงานในไทยใหม่ได้แต่เรื่องค้างอยู่รอเสนอ ครม.ทำให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ต้องกลับออกไปก่อน 3 ปีและจะนำเข้ามาโดยผ่านเอ็มโอยู      

อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน มีแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 3 แสนคน ซึ่งอยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติโดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานพม่ากว่า 2 แสนคน ซึ่งพม่าจะให้แรงงานกลับไปทำบัตรประชาชนและออกหนังสือเดินทาง ดังนั้น กกจ.จึงกำหนดให้หากเป็นแรงงานพม่าที่มีหนังสือเดินทางอายุมากกว่า 2 ปี ก็สามารถใช้เล่มเก่าได้ แต่ถ้าหนังสือเดินทางมีอายุน้อยกว่า 2 ปี ก็ต้องกลับไปทำหนังสือเดินทางใหม่ และกกจ.ได้เปิดด่าน 3 ด่านคือ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก และเกาะสอง จ.ระนอง เพื่อให้แรงงานพม่าเดินทางออกจากไทยและกลับเข้ามาใหม่ได้โดยระบบเอ็มโอยู แต่ละด่านจะมีการจัดอบรมและให้ทำสัญญาจ้าง ส่วนแรงงานพม่าที่มีใบ ทร.38/1 ให้อยู่ในไทยได้ชั่วคราวซึ่งมีอยู่ 3 หมื่นคน ก็ให้มายื่นเอกสารเพื่อพิสูจน์สัญชาติที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กกจ.จะส่งเอกสารไปให้สถานทูตพม่า เมื่อมีหนังสือตอบกลับมาแรงงานพม่าก็ไปยังด่าน กกจ.ได้ทั้ง 3 ด่าน    

“ส่วนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวนั้น ทางลาวไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตามศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทย โดยแจ้งว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในไทยยังไม่สงบ ขณะที่ กัมพูชาส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อไปออกพาสสปอร์ต อย่างไรก็ตาม ปีนี้กกจ.จะเร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวที่ยังเหลือตกค้างอยู่ประมาณ 1 แสนคน และได้รับการประสานจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ว่าจะเข้ามาดูการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งก็แจ้งไปว่ากกจ.ยินดีให้เข้ามาดูและนโยบายกกจ. หลังจากนี้จะไม่เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่อีกเพราะหากเปิดจดทะเบียนก็ต้องเปิดอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะนำเข้าผ่านเอ็มโอยูเท่านั้น” นายประวิทย์ กล่า;      

อธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า ส่วนการประสานกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเข้าประกันสังคมนั้นจะใช้ใบอนุญาตทำงานจริง ไม่สามารถใช้ใบเสร็จการออกใบอนุญาตทำงานได้เพราะไม่มีเลขที่ใบอนุญาต ขณะนี้ กกจ.ได้ส่งหนังสือใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเกือบ 9 แสนคน ไปให้แก่นายจ้างครบทั้งหมดแล้ว รวมทั้งได้ส่งข้อมูลเลขหนังสือใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวไปให้สปส.เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จึงเป็นหน้าที่ของ สปส.ที่จะต้องไปแจ้งเตือนนายจ้างให้นำลูกจ้างต่างด้าวมาเข้าประกันสังคม

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-2-2557)

พบ 'กระเป๋ารถเมล์-พนักงานขับรถ' ขสมก. ปัญหารุมเร้าเครียดสูง เสี่ยงโรครุม มะเร็งปากมดลูก

21 ก.พ.2557 ปัญหาการทำงานเกินเวลาของพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถโดยสารประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งเกิดจากความไม่เพียงพอของอัตราพนักงาน ประกอบกับสถานีรถปลายทางไม่มีห้องสุขา ส่งผลให้พนักงานจำนวนมากเจ็บป่วยเรื้อรัง จนกระทบต่อคุณภาพชีวิตนั้น

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "เปิดเผยชีวิตพนังงานผู้หญิง ขสมก." พร้อมกับรายงานผลสำรวจคุณภาพชีวิตพนักงานหญิงในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาการทำงานและปัญหาสุขภาพ จากการต้องทนทำงานเกินเวลาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายปี

นางชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคุณภาพชีวิตของพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถ ขสมก. กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากฝ่ายบริหาร ซึ่งผลกระทบและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการทำงานเกินเวลา โดยจากการสำรวจคุณภาพชีวิตพนักงานหญิง ขสมก. จำนวน761 คน อายุ20 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2557 ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถ พบว่า เกือบครึ่งหรือ 43.3% ต้องทำงานล่วงเวลาเกิน 2ชั่วโมงต่อวัน สาเหตุเกิดจากความไม่เพียงพอของอัตรากำลังพนักงานและจำนวนรถที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ต้องเดินออกรถวิ่งให้บริการประชาชนหลายรอบในแต่ละวัน ประกอบกับสภาพการจราจรที่ติดขัดทุกเส้นทาง ทำให้เฉลี่ยแล้วพนักงานส่วนใหญ่ต้องทนทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน

นางชุติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 94.3% เกิดความเครียดจากปัญหารถติด เพราะต้องอยู่บนรถเมล์และบนท้องถนนเป็นเวลานาน 93.3% มีอาการเหนื่อยจากการทำงานหรือเดินทาง 90.9% มีปัญหากล้ามเนื้ออักเสบและกล้ามเนื้ออ่อนแรง 90.3% ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่มีเวลาพักผ่อน ทั้งนี้นอกจากปัญหาข้างต้นจะทำให้เกิดความเครียดสะสม จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาทและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพนักงานบางคนต้องแบกรับภาระดูแลครอบครัวเพียงลำพังแล้วนั้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลกระทบโดยตรงปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 80.8% ป่วยเป็นโรคกระเพาะ 79.6%เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะเพราะกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ 72.8 % ระบบขับถ่ายมีปัญหา

"ที่ร้ายแรงที่สุดคือ 1ใน4 หรือ28.4% จำเป็นต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูประหว่างทำงานเพราะไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ โดยเฉพาะเส้นทางรถบางเส้นทางที่ระยะทางจากสถานีต้นทางและปลายทางค่อนข้างไกล บางรอบใช้เวลาเดินทางถึง 7 ชั่วโมง และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือส่วนใหญ่สถานนีปลายทางไม่มีห้องน้ำ พนักงานหญิงต้องทนกลั้นปัสสวะกลับมาเข้าห้องน้ำที่สถานนีต้นทาง จนส่งผลให้เจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสวะและระบบขับถ่ายเรื่อรัง"

นางชุติมา กล่าวต่อว่า จากปัญหาทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และแรงกดดันต่างๆ ทำให้พนักงานเกิดความเครียดไม่มีพื้นที่ระบายทุกข์และไม่ได้รับการแก้ปัญหา หลายรายหาทางออกด้วยการดื่มสุรา โดยผลสำรวจพบว่า 20.1%ดื่มบ่อย และ 22.5%ดื่มเพราะเครียดต้องการคลายความทุกข์ ทั้งนี้สำหรับข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทุกคนระบุว่าตรงกันว่าต้องการให้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะห้องน้ำสะอาด มีการจัดตารางเวลางานที่เหมาะสม ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานมีเวลาดูแลตัวเอง

นางสาววัชรี  วิริยะ อายุ 54 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. กล่าวว่า ตนทำงานที่นี่มากว่า22 ปี ใน1วันต้องวิ่งรถประมาณสองรอบครึ่งหรือ13-16ชั่วโมงต่อวัน เส้นทางจากอู่เพรกษา สมุทรปราการ ปลายทางท่าช้างสนามหลวง ตลอดเส้นทางต้องเจอปัญหารถติด อีกทั้งปลายทางไม่มีห้องน้ำไว้คอยบริการจนต้องกลั้นปัสสวะ จนทำให้ท่อปัสสวะอักเสบ ตอนนี้ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำงาน ยิ่งวันไหนที่มีรอบเดือนจะปวดท้องทรมานมาก อีกทั้งเมื่อปี2547 เคยประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากมีรถตัดหน้า พนักงานขับรถต้องเบรคกะทันหัน ส่งผลให้มีปัญหาหมอนรองกระดูกช่วงหัวเขาฉีก ข้อต่อร้าวต้องผ่าตัดใส่เหล็กและสะโพกเคลื่อน

"ล่าสุดแพทย์เพิ่งพบว่ามีเนื้องอกที่มดลูกจึงตัดสินใจผ่าตัด เพราะเป็นจุดเริ่มต้อนของมะเร็งปากมดลูก เพราะหมอบอกว่าส่วนใหญ่กระเป๋ารถเมล์จะเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 หลังจากพักรักษาตัวดีแล้วจึงกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม เพราะไม่มีทางเลือกทั้งที่แพทย์ก็แนะนำไม่ให้ทำงานหนัก ตรงนี้จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นปัญหาสุขภาพของพนักงานอย่างจริงจัง มีสวัสดิการที่เพียงพอทั่วถึง และพลักดันนโยบายปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามความเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้เคยยื่นคำร้องขอเปลี่ยนตำแหน่งงานไปแล้ว ตั้งแต่หลังเกิดอุบัติเหตุ แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีนโยบายเปลี่ยนตำแหน่งงานถ้าทนไม่ได้ก็ลาออกไป จึงต้องทนเป็นกระเป๋ารถเมล์มาจนถึงทุกวันนี้"

ด้าน นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้พนักงานขสมก.ต้องทำงานล่วงเวลาเกิดจากการขาดอัตรากำลังของพนักงานขับรถ และสภาพปัญหาจราจรที่รถบนถนนเพิ่มมากขึ้นแต่เส้นทางมีเท่าเดิม อีกทั้งได้รับปัญหาการร้องเรียนจากผู้โดยสารว่ารถขาดระยะมาตลอด ทำให้ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีคมนาคมให้เพิ่มกำลังการวิ่งรถเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งที่อัตราพนักงานขาดจนพนักงานหนึ่งคนต้องวิ่งรถหลายรอบ โดยที่หัวหน้างานไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง นอกจากนี้อีกปัญหาสำคัญที่น่ากังวนก็คือเรื่องความปลอดภัยของการขับขี่ เกิดจากอุปกรณ์บนรถโดยสารไม่สมบูรณ์หรือตัวรถโดยสารมีอายุการใช้งานมานานกว่า20ปี จนรถเสื่อมสภาพ จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

"ปัญหาทั้งหมดได้ส่งผลถึงพนักงานขสมก.โดยตรงทั้งสุขภาพร่างกายและความเครียดจนทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา ซึ่งหน้าที่ดูแลพนักงานเป็นหน้าที่ของนายจ้างอยู่แล้วตามกฎหมาย ดังนั้นนายจ้างต้องใส่ใจเรื่องของคุณภาพชีวิต ทั้งห้องน้ำปลายทางที่สะอาด รถยนตร์ที่ปลอดภัย รถรับส่งพนักงานก่อนเข้าและหลังเลิกงาน อีกทั้งขอร้องให้ผู้โดยสารเห็นใจเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่พนักงานต้องเจอ"

นายวีระพงษ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมรวบรวมเป็นเด็นปัญหาทั้งหมด ที่ะกิดขึ้นกับพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงงานขับรถทั้ง 8 เขต และสรุปเป็นข้อเสนอแนะเพื่อยื่นต่อฝ่ายบริหารให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยคาดว่าในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะเข้าพบ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก. เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย

(คมชัดลึก, 21-2-2557)

กสร.เสนอร่างคุ้มครองแรงงาน-ป้องกันค้ามนุษย์ บอร์ด มรท.คาดเริ่มใช้มีนานี้

นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้จัดทำร่างมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.)ด้านคุ้มครองแรงงานและป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการนำไปใช้ปฏิบัติในการป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นมาตรการส่วนหนึ่งช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาของอเมริกาในการเป็นประเทศที่ต้องจับตามองด้านค้ามนุษย์โดยร่างมรท.ด้านคุ้มครองแรงงานฯ มีสาระสำคัญ 6 ประเด็นได้แก่ 1.การใช้แรงงานบังคับ เช่น สถานประกอบการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ ไม่เก็บบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารใดๆ 2.ค่าตอบแทนการทำงาน เช่น สถานประกอบการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงานหรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างไม่ว่ากรณีใดเว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้      

3.ชั่วโมงการทำงาน เช่น สถานประกอบการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันหรือตามที่กฎหมายกำหนด 4.การเลือกปฏิบัติ เช่น สถานประกอบการต้องไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรมและพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งหน้าที่ 5.การใช้แรงงานเด็ก เช่น สถานประกอบการต้องไม่ว่าจ้างหรือสนับสนุนให้มีการว่าจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ให้หรือสนับสนุนให้เด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย และความปลอดภัย 6.การใช้แรงงานหญิง เช่น สถานประกอบการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยต่อการมีครรภ์รวมทั้งต้องไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่งหรือลดสิทธิประโยชน์เพราะเหตุจากการมีครรภ์ รวมถึงวินัยและการลงโทษ เช่น สถานประกอบการต้องไม่ลงโทษทางวินัยโดยการหัก หรือลดค่าจ้างและค่าตอบแทนหรือเงินอื่นที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้าง      

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ตนจะเสนอร่าง มรท.นี้เข้าสู่คณะกรรมการ มทร.ในเดือน มี.ค.นี้ หากคณะกรรมการเห็นชอบคนก็จะลงนามประกาศใช้ต่อไป หลังจากนั้นจะดำเนินการนำร่องการใช้ มรท.นี้ โดย กสร.จะขอความร่วมมือสมาคมผู้ประกอบการประมงทะเล สมาคมผู้ประกอบการอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลรวมทั้งผู้ประกอบการกิจการประมงทะเล ล้งกุ้งใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายทะเล เช่น สมุทรสาคร ระนอง สตูล ให้นำ มรท.นี้ไปใช้โดยจะจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวปฏิบัติตาม มรท.ในเดือน มี.ค.นี้     

“เมื่อสถานประกอบการนำไปใช้ได้ระยะหนึ่งและมีความพร้อมก็สามารถยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้ได้รับใบรับรองด้านคุ้มครองแรงงานฯ กสร.ก็จะลงไปประเมิน หากผ่านจะได้ใบรับรองซึ่งมีอายุ 3 ปี และจะมีการไปตรวจสอบทุกปี การที่สถานประกอบการได้รับใบรับรองด้านคุ้มครองแรงงานฯจะช่วยให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กกดขี่แรงงานและค้ามนุษย์ส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจ”นายพานิช กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-2-2557)

สภาพัฒน์ เผยปี 56 อัตราว่างงานเพิ่มเล็กน้อย คาดดีขึ้นในปีนี้/หนี้ครัวเรือนชะลอลง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4/56 และภาพรวมปี 56 ว่า ภาพรวมภาวะการจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย แลประชาชนยังมีรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานในปีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้เพียง 3-4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4-5% แต่ยังคงแสดงถึงแนวโน้มการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไตรมาส 4/56 การจ้างงานลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.65% หรือมีผู้ว่างงาน 257,850 คน สูงกว่า 0.48% ในช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรมลดลง 0.2% ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.7% เป็นการลดลงของการจ้างงานสาขาก่อสร้าง สาขาค้าส่ง/ค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และการศึกษา ขณะที่การจ้างงานสาขาขนส่งและการผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 190,245 คน ยังเป็นผลจากจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นและกำลังแรงงานลดลง ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 114,606 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 87.1% ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 143,244 คน เพิ่มขึ้น 11.0%

สรุปสถานการณ์แรงงานในปี 56 การจ้างงานลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ภาคเกษตรจ้างงานลดลง 0.12% และนอกภาคเกษตรจ้างงานลดลง 0.01% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาลที่ต่อเนื่อง เช่น รถยนต์คันแรก โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองส่งผลให้การจ้างงานลดลง ผู้ว่างงานเฉลี่ย 284,011 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.72% เพิ่มขึ้นจาก 0.66% ในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/56-ไตรมาส 4/56 โดยเท่ากับ 0.8% ในไตรมาสแรก และลดลง 0.9% 2.2% และ 3.6% ในไตรมาส 2-4 ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในปี 56 เพิ่มขึ้น 10.2% ขณะที่เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2% ทำให้ค่าจ้างที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 7.8 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 2.9%

ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในปี 57 ปัจจัยบวกที่คาดว่าอาจจะมีผลต่อภาวะการมีงานทำและรายได้ของประชาชน ได้แก่ ภาวะการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลลบต่อการจ้างงาน ได้แก่ ความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ ความเชื่อมั่นของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และเกตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง  นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงเนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้อย จะมีผลต่อการมีงานทำและรายได้ของเกษตรกร

"ในปีนี้ควรเร่งเตรียมสภาพแวดล้อมของตลาดรแงงานให้พร้อมรับมือกับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับด้านการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงาน และการเพิ่มทักษะแรงงาน"สภาพัฒน์ ระบุ

ด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สินครัวเรือนนตั้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ครัวเรือนมีรายได้ 25,403 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.6% ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 19,259 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.2% ทำให้ครัวเรือนยังมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายประมาณ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งจะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้หรือเก็บออม

ครัวเรือนมีหนี้สินจำนวน 159,492 บาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.7% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้ ลดลงจาก 55.8% ในปี 54 เป็น 54.4% ในปี 56 โดยประเภทการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หนี้เพื่อใช้ซื้อหรือเช่าชื้อบ้านและที่ดิน เพิ่มขึ้น 17.0%ต่อปี เพราะมีการใช้จ่ายซื้อที่พักอาศัยตามความต้องการโดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 7.8%ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการซื้อรถยนต์ตามมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก และมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อชดเชยที่เสียหายจากเหตุอุทกภัยในปลายปี 54 ประกอบกับการจูงใจจากการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และหนี้เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี ส่วนหนึ่งจากแรงจูงใจของโครงการรับจำนำข้าวทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก

ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 มีแนวโน้มการใช้จ่ายครัวเรือนลดลง ดังจะเห็นได้จากการข้อมูลด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง 2.9% ซึ่งทำให้ตลอดปีการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง 0.2% ในขณะที่ภาระหนี้สินมีแนวโน้มชะลอลง ชี้ให้เห็นจากยอดคงค้างการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี โดย ณ สิ้นปี 56 มีมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% ชะลอลงจาก 21.6% ณ สิ้นไตรมาส 4/55 โดยยอดคงค้างสินเชื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 13.1% การจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 12.6% และการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถ จักรยานยนต์ 8.4%

อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชาระหนี้เพิ่มขึ้น โดย ณ ไตรมาส 4/56 ยอดคงค้าง NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 26.6% สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชาระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นสูง 45.8% หรือเป็นมูลค่า 10,920 ล้านบาท ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 31.3%

(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 24-2-2557)

กอรมน.เชียงใหม่กวาดล้างแรงงานต่างด้าวย่านตลาดคำเที่ยง จังหวัดเชียงใหม่

สืบเนื่องจากกรณีที่พลโทอนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีและการเงิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในตรวจติดตามสภาพปัญหาในจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดพันเอกอัครวุฒิ วุฒิเดชโชติโภคิน รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ชุมชนคลองเงิน 1 และ 2 ย่านตลาดคำเที่ยง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งชุมชนดังกล่าวมีชาวต่างด้าวมาอาศัยเป็นชุมชนแออัด เป็นแหล่งอาชญากรรม และก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายได้ 17 คน รื้อถอนบ้านร้างที่เป็นแหล่งมั่วสุมขายยาเสพติดไปแล้ว 9 หลังและมีโครงการจะรื้อถอนอีก ทั้งนี้มีข้อมูลว่า ปัจจุบันพบว่ามีคนพเนจร เร่ร่อน ไม่มีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคง

สำหรับพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวแหล่งใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ คณะทำงานได้กวาดล้างเป็นระยะ มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่หลายร้อยคน มีปัญหาด้านสุขภาพอนามัย อาชญากรรมและยาเสพติด โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปตั้งหน่วยในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องปรามการกระทำผิด และป้องกันการออกมายืนรอนายจ้างจนเป็นทัศนะอุจาดของเมืองเชียงใหม่ ในอนาคตอันใกล้ กอรมน.เชียงใหม่จะรื้อถอนบ้านร้างอีกหลายหลัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งมั่วสุมอีกด้วย

(สวท.เชียงใหม่, 25-2-2557)

แผ่นปูนอาคารก่อสร้าง รพ.รามาฯ ย่านบางพลีถล่มทับคนงานดับแล้ว 10 ราย

เมื่อเวลา 12.40 น. ของวันนี้(25 ก.พ.) เกิดเหตุแผ่นปูนทางเชื่อมอาคารภายในโรงพยาบาลรามาธิบดี-บางพลี สมุทรปราการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มทับคนงานล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 10 ราย เป็นคนงานไทย 2 ราย ต่างด้าว 8 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบราย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาผู้ที่ติดอยู่ภายในอาคาร และ อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุ

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าวว่า ช่วงเที่ยง ขณะที่คนงานจำนวนมากพักรับประทานอาหารกลางวัน แท่งปูนซึ่งทำเป็นช่องลิฟต์ ได้พังถล่มทับแผ่นปูนเชื่อมระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 2 ก่อนถล่มทับคนงานที่อยู่ด้านล่าง

 (RYT9, 25-2-2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท