Skip to main content
sharethis

Prachatai Eyes View: ท่องเมืองทวาย... ตามรอย Dawei Project

 

สถานการณ์ล่าสุด ‘โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย’ ความหวังเพื่อการพัฒนาอันโชติช่วงของอาเซียนโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าดูเหมือนจะประสบภาวะชะงักงันระลอกสอง จากปัญหาการเมืองภายในของไทยขณะนี้ หลังจากการดำเนินการโดยเอกชนอย่าง บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 ประสบปัญหาการดำเนินงานล่าช้าจนต้องเปลี่ยนมือ

ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ของไทย กับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า ได้ร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) เพื่อบริหารโครงการฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 50 ต่อ 50 และได้เชื้อเชิญนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนด้วย แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ

ขณะที่การดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่ชะลอลง เพื่อรอรับการลงทุนครั้งใหม่... เมื่อวันที่ 16-19 ก.พ.2557 สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนท้องถิ่นของทวาย ร่วมกับเสมสิกขาลัย (SEM) และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) จัดทริปลงพื้นที่ เพื่อร่วมรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการในทวาย โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบที่เกิดกับประชาชน

หลังจาก เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2556 ตัวแทนสมาคมพัฒนาทวายได้เดินทางมายื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย โดยระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของโครงการฯ ซึ่งลงทุนโดยบริษัทไทยและผลักดันโดยรัฐบาลไทย

ข้อมูลจากสมาคมพัฒนาทวายที่เรารับรู้ก่อนการเดินทาง ระบุว่า โครงการทวายจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทวายกว่า 83,000 คน ใน 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ 204.5 ตร.กม.ของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งมีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21 หมู่บ้าน จะต้องถูกอพยพ

2.หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งมีแผนก่อสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ เพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรม มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน จะต้องถูกอพยพ และ 3.พื้นที่ก่อสร้างถนนระยะทาง 132 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คน จะได้รับผลกระทบ

เราข้ามด่านตรงจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรน บ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เดินทางด้วยรถตู้ขนาดเล็กวิ่งไปบนถนนลูกรังทำมือซึ่งบางส่วนซ้อนทับกับเส้นทาง ‘โครงการสร้างถนนเชื่อมต่อจากโครงการทวายถึงชายแดนไทย’ ที่ยังคงมีคนทำทางอยู่เป็นระยะ ผ่านจุดตรวจทั้งของ KNU และรัฐบาลพม่า ถึง 6 จุด

การเดินทางมุ่งหน้าสู่ทวายข้ามแม่น้ำตะนาวศรี ระยะทางราว 130 กม. ใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง และ 4 วัน หลังจากนั้น เวลาส่วนใหญ่ของเราก็หมดไปกับการเดินทางตามรอย ‘โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย’  และการรับฟังเรื่องราวของคนในพื้นที่ผลกระทบ

ที่วัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ชื่อ Yalaing Kyaung Gyi ที่หมู่บ้านยาลาย (Yalaing) ในนาบูเล (Nabule) ซึ่งเดิมเคยอยู่ในแผนต้องถูกโยกย้ายเนื่องจากการก่อสร้างโครงการฯ

โก เล ลวิน (Ko Lay Lwin) วัย 45 ปี เล่าว่าทั้งหมู่บ้านและวัดแห่งนี้ไม่อยู่ในโครงการฯ แล้ว หลังจากที่มีการปรับแผนเป็นครั้งที่ 3 โดยมีเพียงที่ทำกินบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสำหรับชาวบ้านนี่เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันว่าโครงการที่เปลี่ยนแผนไปมานี้จะไม่มากระทบพวกเขาในสักวันหนึ่ง

โก เล ลวิน บอกด้วยว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการขณะนี้คือค่าชดเชยที่เป็นธรรม แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาการให้ค่าชดเชยจะมากน้อยขึ้นอยู่กับการต่อรอง ชาวบ้านแต่ละคนแม้อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน แต่ค่าชดเชยก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งเอกสารหลักฐานก็ไม่ชัดเจน บางคนได้เพียงกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เขียนเพียงว่าได้จ่ายค่าชดเชยแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่านี่เป็นช่องทางหนึ่งของการทุจริตคอรัปชั่น

ที่หมู่บ้านรองรับผู้อพยพบาวา (Bawar) ที่นี่คือที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านบาวาซึ่งถูกนำมาใช้สร้างหมู่บ้านจำนวน 480 หลังคาเรือน เพื่อรองรับผู้อพยพจากโครงการฯ แต่ขณะนี้มีผู้อพยพเพียงครอบครัวเดียวที่อาศัยอยู่ที่นี่ โดยไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีไฟฟ้าใช้ และจะมีรถน้ำเข้ามาส่งน้ำทุกๆ 3 วัน เพราะแม้จะมีแทงค์น้ำแต่ก็ไม่ได้เปิดใช้งาน

โจว (Kyaw) อายุ 40 ปี คนดูแลหมู่บ้านและทำหน้าที่เป็นล่าม เขาพูดไทยได้เพราะเคยไปทำงานที่เมืองไทย เล่าว่าที่นี่จะมีคนดูแลแบ่งเป็นกะกลางวัน 10 คน กลางคืน 20 คน เมื่อก่อนก็มีไฟฟ้าใช้จากการปั่นไฟ แต่พอคนไทยย้ายกลับไปก็ไม่มีไฟใช้

ที่หมู่บ้านพายาดัต (Pa Ya dut) 1 ใน 6 หมู่บ้านที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ในล็อตแรก เนื่องจากอยู่ในเขตก่อสร้างอุตสาหกรรมหนัก เราแวะกินข้าวที่นี่และได้คุยกับคนขายน้ำอ้อยที่พูดไทยคล่องมากเพราะเธอทำงานที่เมืองไทยมาเป็น 10 ปี ล่าสุดเธอทำงานโรงงานทำยางที่ระนอง ก่อนจะย้ายกลับมาอยู่บ้าน

ตอนที่เธออยู่เมืองไทยทำงานได้ค่าจ้างวันละ 315 บาท ถ้ารวมโอทีค่าล่วงเวลา 15 วันเธอรับเงิน 7,500 บาท

เธอบอกว่าคนแถวหมู่บ้านนี้ไปทำงานที่เมืองไทยกันเยอะ ไปอยู่ที่ระนองก็มาก เพื่อนเธออีกคนซึ่งเป็นเจ้าของร้านน้ำอ้อยตัวจริงก็เพิ่งกลับมาจากการไปทำงานที่กรุงเทพฯ

ถามเธอว่าคิดอย่างไรกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย เธอบอกว่า ถ้าโครงการฯ มาแล้วพวกเธอได้ทำงานก็ดี แต่ถ้ามาแล้วบ้านเธอต้องถูกย้ายออก เธอก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ที่วัด Le Shuang Thang Ai Kyaung ในหมู่บ้านเลชอง (Le Shuang) ชาวบ้านจาก หมู่บ้านเลชอง (Le Shuang) พายาดัต (Pa Ya dut) และ เท็นจี (Htein Gyi) ในนาบูเล่ (Nabule) ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการถูกโยกย้าย กว่า 20 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่พวกเขายืนยันเหมือนกันคือชีวิตของพวกเขาผูกติดกับผืนดินที่อยู่อาศัย ไม่สามารถย้ายไปที่ไหนได้

“ให้ตายก็ไม่ย้าย เรายอมตายที่นี่” Aung Ba ชาวบ้านวัย 66 ปี จากหมู่บ้านเลชองกล่าว

Aye Lin กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามา ชาวบ้านไม่ต้องการย้ายจากที่ดิน หากจะเอาที่ดินทำกินไปก็ต้องจ่ายในราคาที่ชาวบ้านพอใจ และที่สำคัญชาวบ้านไม่เอาอุตสาหกรรมสกปรก เพราะที่ดินจะคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน หากมีอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ชาวบ้านก็อยู่ต่อไปไม่ได้

เมื่อถามว่าการพัฒนาแบบไหนที่ชาวบ้านต้องการ ดูเหมือนพวกเขายังคิดไม่ตก แต่สิ่งที่ถูกยืนยันกลับมาคือการไม่เอาอุตสาหกรรมสกปรกและการพัฒนาที่สุดโต่งไปแบบใดแบบหนึ่ง พร้อมเสนอว่าในพื้นที่นี้น่าจะมีการพัฒนาการประมงและการเกษตรไปพร้อมกันด้วย ให้เกิดความสมดุล 

ที่หมู่บ้านกาโลนท่า (Ka Lone Htar) ใน Yebyu พื้นที่ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำตะลายยาร์ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำทวาย เพื่อป้อนน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมในโครงการฯ เริ่มมีการเข้ามาในพื้นที่เมื่อปี 2553 ด้วยข้ออ้างการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างถนน แต่ต่อมาเมื่อชาวบ้านรู้ว่าเป็นการสร้างเขื่อนซึ่งจะทำให้ชาวบ้าน 182 ครัวเรือนต้องถูกโยกย้าย จึงเกิดการต่อต้าน

จากข้อมูลการปรับแผนโครงการครั้งล่าสุด เขื่อนบนแม่น้ำตะลายยาร์ จะเริ่มต้นพัฒนาในปี 2563 ขณะนี้การเดินหน้าโครงการฯ ในพื้นที่จึงดูเหมือนหยุดชะงักไป

Pyinna Wonta พระแกนนำการต่อสู้ของชาวบ้านหมู่บ้านกาโลนท่า กล่าวว่า ถึงอย่างไรโครงการก็จะกลับมา แต่ก็จะสู้ให้ถึงที่สุด ที่ผ่านมาถือเป็นยุคแรกของการต่อสู้ เป็นการฝึกฝนเรียนรู้ ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อน ต่อไปถ้าบริษัทเข้ามาก็จะสู้ได้เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว

ที่บ้านเมียวพิว พื้นที่ผลกระทบจากเหมืองแร่เฮ็นดา (Heing Da) ซึ่งลงทุนโดยบริษัทไทย เราพบกับวาวา หญิงสาวอายุ 26 ปี เธอทำงานในส่วนธุรการและเป็นล่ามให้กับบริษัทอิตาเลียนไทย หลังจากกลับมาอยู่บ้านได้ 1 ปี เพื่อดูแลพ่อที่ป่วยก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตลง ทำให้เธอต้องกลับมาอยู่ที่บ้านอย่างถาวรเพื่อดูแลแม่ แต่ที่ดินเดิมของครอบครัวเธอกลับทำการเพาะปลูกไม่ได้เพราะน้ำปนเปื้อนสารเคมีจากเหมืองแร่ที่อยู่เหนือหมู่บ้านขึ้นไปไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน

วาวา บอกว่า เมื่อเทียบกัน บริษัทอิตาเลียนไทยช่วยเหลือโรงเรียน นำขนม เสื้อผ้ามาแจกเด็กๆ มีการทำถนนด้วย ดีกว่าบริษัทเหมืองที่ไม่เคยมีอะไรมาให้ชาวบ้าน

ตอนนี้วาวากำลังรอบริษัทอิตาเลียนไทยเปิดรับสมัครคนเข้าทำงานรอบใหม่ในเดือน มิ.ย.นี้ แม้ว่าเงินค่าตอบแทนจะน้อยเมื่อเทียบกับที่เมืองไทย คือราว 200 บาทต่อวัน แต่เธอก็ได้อยู่บ้านดูแลครอบครัว และดีกว่าไม่มีงานทำ เพราะถึงตอนนี้จะให้เธอไปทำงานหนักอย่างรับจ้างตัดหญ้า เธอก็ทำไม่ได้แล้ว

…  

ที่ชุมชนกามองต่วย ต้นน้ำตะนาวศรี Saw Kao ประธานกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development: CSLD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวกะเหรี่ยง 12 หมูบ้าน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการถนนเชื่อมสู่ไทย เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่หลังเริ่มมีการดำเนินโครงการว่า ถนนที่ตัดผ่านมานอกจากจำทำลายพื้นที่เกษตรและทำให้เกิดตะกอนดินตกลงไปในแม่น้ำแล้ว ยังนำพาธุรกิจการทำเหมืองแร่และการทำไม้เข้ามาในพื้นที่ด้วย

Saw Kao กล่าวด้วยว่า กระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาเป็นเหมือนการเปิดให้คนภายนอกเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่

ประธานกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนาให้ความเห็นว่า ในอดีตความขัดแย้งนำมาซึ่งการสูญเสียมากมาย การหยุดยิงไปจนถึงการเจรจาสันติภาพเป็นสิ่งที่ดี และสุดท้ายมันควรนำมาซึ่งความสงบสุขปลอดภัยของคนในพื้นที่ เป็นความหวังสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป และการพัฒนาต่างๆ ต้องไม่ทำลายความสุข ความปลอดภัยตรงนี้ด้วย

ตอนนี้ การเข้ามาของบริษัทต่างๆ ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ในอนาคต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net